|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เส้นทางธุรกิจกว่า 27 ปีของอาร์เอส ถ้าจะมอบตำแหน่งค่ายเพลงที่ยืนยงยาวนานที่สุดในประเทศ ก็คงไม่ผิดตัว แต่หากพิจารณาลึกลงไปถึงกองทัพดนตรีอาร์เอส นับแต่องค์กรเปลี่ยนชื่อจาก โรส ซาวด์ เหลือเพียงอักษรย่อ RS คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ขุนพลนักร้อง นักดนตรีของค่ายเพลงนี้ จะถดถอยอยู่ในวงแคบเท่าวันนี้
การกำหนดเส้นทางธุรกิจที่เดินตามเทรนด์วัยรุ่นในแต่ละยุค แต่ละสมัย อาร์เอส สามารถสร้างผลงานที่กวาดตลาดเข้าไปถึงกลุ่มคนในช่วงอายุที่ต่ำกว่าและสูงกว่ากลุ่มเป้าหมายหลักมาโดยตลอด นับแต่ยุควงสตริงอย่าง คีรีบูน เรนโบว์ ซิกเซนต์ มีเพลงฮิตเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ต่อมาถึงศิลปินรวมดาว ที่ขยายตลาดผู้ฟังกว้างตั้งแต่เด็กที่เพิ่งร้องเพลงเป็นไปจนถึงผู้ใหญ่วัยสูงอายุ และเมื่อตลาดเริ่มแบ่งเซกเมนต์ของเพลง อาร์เอส ก็ยังสามารถส่งศิลปินเพลงสร้างผลงานเพลงเข้าไปยึดในแต่ละเซกเมนต์ ตั้งแต่กลุ่มเด็กพรีทีน อย่าง แร๊พเตอร์ อนัน อันวา ตามด้วยกองทัพศิลปินวัยทีน อย่าง ลิฟท์กับออย บอยสเก๊าต์ เต๋า สมชาย ขยับขึ้นหากลุ่มผู้ฟังคนทำงาน มีอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เอ อนันต์ จนถึงเจมส์ เรืองศักดิ์ เป็นศิลปินแนวหน้าในตลาด เจาะย่อยเซกเมนต์เข้ากลุ่มเพลงร็อก ขุนพลร็อกรุ่นใหญ่อย่าง อิทธิ พลางกูร หรือวงร็อกฝีมือดี ไฮร็อก ก็มียอดขายไม่รองใคร
แต่มาถึงเวลานี้ อาร์เอส กลับเหลือความแข็งแกร่งที่ชัดเจนอยู่เพียงแค่ตลาดผู้ฟังวัยทีน ขณะที่ตลาดส่วนอื่นมีความหลากหลายไม่เท่าค่ายคู่แข่ง และเมื่อธุรกิจใหม่ที่เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นเส้นทางใหม่ในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กร ทั้งคอนเทนต์กีฬา และธุรกิจอีเวนต์บันเทิง ต้องประสบปัญหาขาดทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงถึงเวลาที่อาร์เอส จะกลับมาทวงคืนตำแหน่งผู้นำในตลาดเพลงอีกครั้ง
Music Segment Fulfillment ผนึก 6 ค่ายเพลงก้าวสู่แชมเปี้ยน
พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า อาร์เอสได้ปรับโมเดลธุรกิจเพลงสู่กลยุทธ์ Music Segment Champion มาตั้งแต่กลางปีนี้ เพื่อสร้างผลงานเพลงที่สามารถตอบโจทย์และตรงใจกลุ่มผู้ฟังให้มากที่สุด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในกลุ่มวัยรุ่น ที่อาร์เอสสามารถครองตำแหน่งผู้นำในเซกเมนต์นี้อย่างต่อเนื่อง แนวรุกต่อมาของกลยุทธ์นี้ คือการเติมเต็มช่องว่างในธุรกิจเพลงที่อาร์เอสเคยมีอยู่ด้วยแนวคิด Music Segment Fulfillment โดยการเปิดพื้นที่ใหม่ของานดนตรี ด้วยคนดนตรีรุ่นใหม่ และงานเพลงของคนรุ่นใหม่
อาร์เอสเติมเต็มธุรกิจเพลงในครั้งนี้ด้วยการเปิดค่ายเพลงขึ้นใหม่อีก 4 ค่าย โดยดึงศิลปินด้านเสียงเพลงที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพจากภายนอกเข้ามาหลายต่อหลายรายเพื่อร่วมสร้างความสำเร็จให้กับการรุกตลาดเพลงรอบใหม่นี้ อาทิ โก้ มิสเตอร์แซกแมน, ป้อม ออโต้บาห์น จิรพรรณ อังศวานนท์ สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ โป้ โยคีเพลย์บอย ฯลฯ ผนวกกับ 2 ค่ายเดิม ที่ยึดตลาดกลุ่มทีน และวัยรุ่นได้อย่างแข็งแกร่งทั้ง กามิกาเซ่ และอาร์เอส มิวสิก
ในอดีต อาร์เอสเคยมีการแตกค่ายย่อยมาแล้ว จากเดิมที่เริ่มจากการรวมศูนย์อยู่ที่อาร์เอสโปรโมชั่น ขยับขยายออกเป็นบริษัทค่ายเพลงย่อยไม่ต่างจากค่ายเพลงคู่แข่งรายสำคัญ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แต่สุดท้ายทั้ง 2 องค์กรก็ลงเอยไม่ต่างกัน คือการทยอยปิดค่ายเพลงย่อยเหล่านี้ เหลือแขนขาเพียง 1-2 ค่าย
พรพรรณกล่าวว่า แนวคิดการเปิดค่ายเพลงย่อยในอดีตมีการโฟกัสไปที่ผู้บริหารค่ายเพลงเหล่านี้ เชื่อมั่นในศักยภาพการทำงานของคนๆ นั้นว่าจะสร้างงานคุณภาพออกมา มุ่งไปที่คนทำงาน การผลิต และแบรนด์ของคน แต่สุดท้ายผลงานที่ผลิตออกมาแทบไม่มีความแตกต่างกันในตลาด จึงไม่อาจสร้างความสำเร็จได้ แต่แนวทางการแตกค่ายย่อยในวันนี้ เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ค่ายเพลงให้มีความชัดเจนในแนวเพลง และกลุ่มเป้าหมายที่เซกเมนต์ลงไป ผลงานที่ออกมาแต่ละค่ายจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีการแตกเซกเมนต์ย่อยมากมายในวันนี้
4 ค่ายเพลงที่อาร์เอส เปิดขึ้นใหม่ ประกอบด้วยเมลโล โทน ที่จะสร้างผลงานเพลงในแนว Easy Listening ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีกลุ่มผู้ฟังค่อนข้างกว้างอีกตลาด นอกเหนือจากลุ่มทีน แนวเพลงมีทั้งป๊อป ป๊อปแจ๊ส อะแคปเป-ล่า และฟิวชั่น เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังชาย-หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป หรือคนในวัยทำงาน ได้นักร้อง-นักดนตรีฝีมือดีจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เศกพล อุ่นสำราญ หรือโก้มิสเตอร์แซกแมน มาร่วมงาน พร้อมนักดนตรี และวงดนตรีคุณภาพ อาทิ จิรพรรณ อังศวานนท์ และวงออโต้บาห์น ร่วมทีม
เพลนตี้ มิวสิค ค่ายเพลงดนตรีแนวใหม่ในแนว Dance & Remix โดยได้ทีมงานฝีมือดีจากเบเกอรี่ มิวสิค อย่าง สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ รับหน้าที่บริหาร มีนักร้องร่วมค่ายกันมาอย่าง โป้ โยคีเพลย์บอย เป็นแม่เหล็ก เน้นความเป็นเทรนดี้ของดนตรีและการร้องที่มีเอกลักษณ์ หวังเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังอายุระหว่าง 17-24 ปี นักเรียน นักศึกษา คนวัยเริ่มต้นทำงาน ที่ชอบอัพเดตตามแฟชั่น ทำตัวตามกระแสตลอดเวลา
9 Richter การกลับเข้าสู่แนวเพลงร็อกอีกครั้งของอาร์เอส มอบหมายให้ลูกหม้อขององค์กร เจษฎา หันช่อ เป็นผู้ดูแล โดยเริ่มต้นจากการสร้างศิลปินร็อกรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นในวัย 12-30 ปี ที่เปิดรับวงดนตรีร็อกรุ่นใหม่
Reggae Village ค่ายเพลงแนวเต้นรำในแนว Reggae & Ska ที่อาร์เอสมองว่า แม้วันนี้จะเป็นตลาดนิช ที่มีกลุ่มผู้ฟังไม่ใหญ่นัก แต่ก็เห็นโอกาสเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังไม่มีค่ายเพลงใดครองตลาดนี้ จึงดึงเอาศิลปินชื่อดังของวงการมารวมกัน ทั้ง ทีโบน จ๊อบ-บรรจบ หรือไคโจ บราเธอร์ส โดยสรพันธ์ กิ่งพะโยม เป็นผู้บริหาร เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังอายุระหว่าง 18-30 ปี ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่
โดยการเปิดค่ายเพลงใหม่ทั้ง 4 ค่ายนี้ อาร์เอส ใช้ความสำเร็จจากการสร้างค่ายกามิกาเซ่ ในกลุ่มวัยทีน ด้วยการไม่เพียงแต่การนำเสนอผลงานอัลบัมเพลงเข้าสู่ตลาดเท่านั้น แต่ยังมีการวางแนวคิดการทำตลาดเพลงรูปแบบใหม่ๆ ด้วยการทำตลาดเชิงประสบการณ์ หรือ CEM(Customer Experiental Marketing) ทั้งการสร้างประสบการณ์ทางดนตรีทั้ง 4 แนวนี้ด้วยกิจกรรมบีโลว์ เดอะ ไลน์ ที่เป็นอีเวนต์เฉพาะแนวแต่ละค่าย รวมถึงการสร้างชุมชนเป็นคอมมูนิตี้ เน็ตเวิร์ก ผ่านเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
พรพรรณกล่าวว่า ทั้ง 4 ค่ายจะออกผลงานค่ายละประมาณ 4-6 อัลบัมต่อปี โดยมุ่งที่จะสร้างแบรนดิ้งของแต่ละกลุ่มให้มีความชัดเจน เพื่อสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ให้เหมือนกับที่เคยสร้างกามิกาเซ่ ให้เป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจกลุ่มเป้าหมายวัยทีนได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนรายได้คาดว่าในช่วงปีแรกจะมีสัดส่วนราว 5-8 % ของรายได้จากธุรกิจเพลงทั้งหมดของอาร์เอส ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่ม Physical ซีดี วีซีดี ดีวีดี, Digital การดาวน์โหลด และ Show Biz แต่เชื่อมั่นว่าหลังปี 2552 กลุ่มเพลงทั้ง 4 นี้จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 15%
อาร์เอสตั้งเป้าว่าโจทย์ทางธุรกิจ Music Segment Champion จะถูกไขออกภายในเวลา 3 ปี จนถึงเวลานี้ พรพรรณมองว่า ได้ก้าวมาถึง 1 ใน 3 ของเป้าหมายความสำเร็จแล้ว 6 ค่ายเพลงที่เจาะเซกเมนต์แตกต่างกันถึง 6 กลุ่ม คือคำตอบสุดท้าย ที่เวลา 2 ปี ที่เหลือคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแต่ละเซกเมนต์
ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปี 2553 อาร์เอสจะทวงตำแหน่งผู้นำในธุรกิจเพลงกลับมาอีกครั้ง
|
|
|
|
|