ผู้ประกอบการค้าปลีกโรงหนัง พลิกเกมธุรกิจรับกฎหมายผังเมืองใหม่กำหนดโซนนิ่งขยายสาขา
"เมเจอร์" ยอมรับเปิดสาขาขนาดใหญ่ลำบาก จากศูนย์การค้าชะลอตัว พื้นที่สแตนด์อะโลนเกรดเอเต็ม
ดิสเคานต์สโตร์ถูกโซนนิ่ง ล่าสุดซื้อหุ้นสยามฟิวเจอร์ 25% เตรียมลดไซส์หวังเปิดพื้นที่ทำเลรอง
ในแหล่งชุมชนขนาดเล็ก ด้านอีจีวีไม่สนโครงการเล็ก ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องการบริการครบวงจร
ปีหน้า "คาร์ฟูร" ลุยเปิดสาขาบนถนนเส้นทางรอง หลังถูก กม. ผังเมืองบังคับห้ามเปิดในเมือง
ปัจจุบันพ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะร่างเสร็จแล้วก็ตาม
เนื่องจากอยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่ของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะแตกต่างกันตามความต้องการของคนในพื้นที่
ขณะนี้กฎหมายผังเมืองใหม่ที่ทยอยประกาศใช้ในจังหวัดที่พร้อมแล้ว โดยเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เห็นว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดขณะนี้
คือ การกำหนดให้ค้าปลีกในต่างจังหวัดที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปอยู่ห่างเขตเมือง
15 กิโลเมตร ส่วนในกรุงเทพฯพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตรได้ถูกจำกัดไม่ให้เปิดในบางพื้นที่
ทำให้ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนี้ โดยเฉพาะศูนย์การค้าขนาดใหญ่
ดิสเคานต์สโตร์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับกฎหมายผังเมืองใหม่นี้
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด
เปิดเผยว่าวานนี้ (13 ส.ค.) เมเจอร์ฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปลงทุนในบริษัทสยามฟิวเจอร์
ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 25% โดยจะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสยามฟิวเจอร์
หรือคิดเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 24 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.99 บาท คิดเป็นเงิน 95,760,000
บาท และซื้อสิทธิ์ในการซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นเดิมจำนวน
17,750,000 หน่วย ในราคาหน่วยละ 2.67 บาท คิดเป็นเงิน 47,392,500 บาท และชำระราคาการใช้สิทธิอีก
2 บาทต่อหน่วย ในวันใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ ในส่วนนี้ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท
การเข้าไปถือหุ้นในสยามฟิวเจอร์ครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
และการขยายสาขาใหม่ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เนื่องจากสยามฟิวเจอร์เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จ
และมีที่ดินหลายทำเลอยู่ในมือ ดังนั้นการร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างทั้ง 2 บริษัทในครั้งนี้จึงมีความเหมาะสมและเอื้อประโยชน์การทำธุรกิจระหว่างกัน
นายวิชา กล่าวต่อว่าปัจจุบันการขยายสาขาของเมเจอร์กรุงเทพฯ เขตเมืองทำได้ยากลำบากมากขึ้น
เนื่องจากคอมเพล็กซ์หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีพื้นที่ขนาด 20-25 ไร่ขยายตัวลดลง
และแต่ละแห่งก็ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานมากเฉลี่ย 3-5 ปี ส่วนการขยายสาขา ในดิสเคานต์สโตร์
ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน จากกฎหมายผังเมืองใหม่ที่ห้ามพื้นที่ค้าปลีกเกิน
10,000 ตารางเมตรอยู่ในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ส่วนการขยายสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลนที่เมเจอร์ดำเนินการอยู่ ปัจจุบันทำเลพื้นที่เกรดเอได้ถูกผู้ประกอบการจับจองไปหมดแล้ว
ดังนั้นจะเหลือแต่พื้นที่เกรดบี และซี เท่านั้น ซึ่งทำเลดังกล่าวไม่คุ้มที่จะลงทุนในระดับ
1,000 ล้านบาท
ในขณะที่พื้นที่ทำเลรองที่เป็นแหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีขนาด 5-10
ไร่ ยังมีทำเลที่เหมาะจะเปิดสาขาได้อีกมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น
ดาวคะนอง บางแค รัตนาธิเบศร์ แจ้งวัฒนะ ส่วนปริมณฑล เช่น นครปฐม เป็นต้น ซึ่งเป็นทำเลที่เมเจอร์สนใจจะเข้าไปเปิดดำเนินการ
โดยจะอาศัยพันธมิตรใหม่อย่างสยามฟิวเจอร์ ที่เป็นผู้ชำนาญในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชน
"หลังจากเมเจอร์เข้าไปถือหุ้นในสยามฟิวเจอร์แล้ว ทั้ง 2 บริษัทก็จะเอาทำเลในมือของ
แต่ละบริษัทมาดูว่าเหมาะสมกับการขยายธุรกิจประเภทไหน โดยเมเจอร์จะไม่เข้าไปเปิดสาขาในโครงการของสยามฟิวเจอร์ที่เปิดดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนสาขาใหม่ๆ จะเลือกในบางทำเลที่เหมาะจะเปิดธุรกิจโรงหนังและโบว์ลิ่งเท่านั้น"
นายวิชากล่าว
การร่วมเป็นพันธมิตรกับสยามฟิวเจอร์ทำให้เมเจอร์สามารถหันมาเน้นการดำเนินธุรกิจโรงหนังและโบว์ลิ่งที่มีความชำนาญได้
และให้สยามฟิวเจอร์เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารพื้นที่ค้าปลีก โดยเมเจอร์ไม่ต้องเข้าไปลงทุนในโครงการทั้งหมด
ส่วนผลประโยชน์ก็จะเป็นลักษณะการแบ่งรายได้ร่วมกัน
โดยปกติการเปิดสาขาในศูนย์การค้า และสแตนด์อะโลน จะมีโรงหนัง 6-10 โรง โบว์ลิ่ง
38 เลน แต่การไปเปิดพื้นที่ค้าปลีกขนาดเล็กในแหล่งชุมชน จะเป็นการย่อส่วนไป โดยจำนวนโรงหนังและโบว์ลิ่งอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง
หรือในบางโครงการก็อาจจะมีเฉพาะโรงหนังอย่างเดียวก็ได้
นายวิชา กล่าวต่อว่าการดำเนินธุรกิจในปี 2547 บริษัทต้องการเห็นอัตราการเติบโตแบบแข็งแกร่ง
ด้วยกำไรที่สูงขึ้น จากรูปแบบธุรกิจที่เมเจอร์จะดำเนินการร่วมกับสยามฟิวเจอร์ ที่ทำให้เมเจอร์สามารถผ่าทางตันการกำหนดโซนนิ่งค้าปลีก
เพื่อขยายสาขาในทำเลรองในชุมชนขนาดเล็กได้มากขึ้น นอกจากนี้เมเจอร์จะพิจารณา การขยายสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้น
หลังจากปีนี้ได้ทดลองเปิดสาขาในต่างจังหวัดที่นครสวรรค์ และปลายปีนี้จะเปิดสาขาที่อุดรธานีอีกแห่ง
และมีแผนจะเปิดในต่างจังหวัดอีกหลายแห่งในปีหน้า
สำหรับปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนจำนวน 740 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขาโรงหนัง
3 แห่ง 230 ล้านบาท โบว์ลิ่ง 3 แห่ง 230 ล้านบาท การซื้อหุ้นสยามฟิวเจอร์ 180 ล้านบาท
และงบโครงสร้างพื้นฐานในสาขาสยามพารากอน 100 ล้านบาท
อีจีวีชี้ทำเลดีมีเพียบไม่สนไซส์เล็ก
นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัทอีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์
จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเดิมรูปแบบโรงหนังจะเป็นลักษณะสแตนด์อะโลน หลังจากนั้นเกิดการรวม
ตัวในลักษณะโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ที่มีจำนวนแห่งละ 10-12 โรง ซึ่งได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบันนี้
และสอดคล้องกับพฤติกรรมของ ผู้บริโภคที่ต้องการความบันเทิงแบบครบวงจร
ดังนั้น การทำโรงหนังขนาดเล็กที่มีจำนวนโรงน้อยในทำเลชุมชน และอาจมีบริการต่างๆ
ไม่ครบวงจรอาจไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ปัจจุบันผู้ประกอบการรู้ดีว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายมีจำนวนเยอะมาก
ทำให้หนังแต่ละเรื่องมีอายุอยู่ในโรงได้สั้นลง แต่การแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนโรงหนังในบางทำเล
ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้
ปัจจุบันอีจีวีมองว่ายังมีพื้นที่ในกรุงเทพฯอีกหลายทำเลที่มีโอกาสขยายสาขาขนาดใหญ่ได้
และน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าการเปิดแบบไซส์เล็ก ที่มีบริการไม่ครบวงจร
ปีหน้าคาร์ฟูร์ลุยเปิดทำเลรอง
นายธนภณ ตั้งคณานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเซ็นคาร์ จำกัด ผู้บริหาร
"คาร์ฟูร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต" เปิดเผยว่า กฎหมายผังเมืองใหม่ ที่ห้ามค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศขยายสาขาในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่หากขยายสาขาจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน
10,000 ตารางเมตร โดยขณะนี้การขออนุญาตเปิดสาขา ใหม่ในเมืองไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปลายปีนี้คาร์ฟูร์มีสาขาเปิดใหม่ 2 แห่ง คือ ลาดพร้าว บริเวณโรงเรียนปานะพันธ์เก่าและพัทยาเท่านั้น
จากปัจจุบันที่มีอยู่ 17 สาขา แต่ปีหน้ายังไม่สามารถกำหนดเป้าหมายและทำเลการขยายสาขาได้
เนื่องจากในหลายทำเลในเขตเมืองที่คาร์ฟูร์ศึกษาเพื่อเปิดสาขาก็ไม่สามารถดำเนินการได้
ทำให้คาร์ฟูร์ต้องศึกษาการขยายสาขาในทำเลที่ไม่ได้ถูกรัฐจำกัดไว้ คือเป็นพื้นที่ที่มีความ
หนาแน่นรองจากเขตเมือง หรือบริเวณที่ไม่ใช่ถนนเส้นทางหลัก เช่น บริเวณ 4 แยกบ้านแขก
บนถนนอิสรภาพซอย 22 ที่อยู่ฝั่งเดียวกับสถาบันราชภัฏธนบุรี โดยรอให้ผู้อาศัยในอาคารพาณิชย์ที่หมดอายุสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินแล้วย้ายออกไปให้เรียบร้อยก่อน
เพื่อก่อสร้างเป็นคาร์ฟูร์
สำหรับสาขาสี่แยกบ้านแขกจะมีพื้นที่เล็กกว่าสาขาอื่นๆ แต่จะมีพื้นที่ขายใกล้เคียงกับสาขาปกติทั่วไปประมาณ
9,000-10,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการวางรูปแบบพื้นที่ใช้สอยว่าจะดำเนินการอย่างไร
โดยอาจจะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 4 ชั้น จากเดิมที่เคยสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น คือสาขา
อ่อนนุช และบางประกอก เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
"ภาครัฐเป็นผู้จำกัดวงให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเดินตามกติกา ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเดินตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
แต่ก็ต้องหาทางออกอื่นๆ เพื่อไปเดินในพื้นที่ที่ภาครัฐไม่มีข้อจำกัดและไม่มีกฎกติกาบังคับด้วย"
นายธนภณกล่าว