BANPU เตรียมออกหุ้นกู้ 2 พันล้านบาท นำเงินรีไฟแนนซ์หนี้เดิม หลังจากชำระหนี้คืนทำให้ลดต้นทุนดำเนินงานได้
รุกลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าต่างประเทศหลังทิ้งโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้โดยจะเข้าไปลงทุนแบบซื้อโรงเก่าหรือร่วมกับเจ้าของในท้องถิ่นที่เปิดทางให้
และทยอยขายธุรกิจนอนคอร์ทั้งหมด
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้าน ปู จำกัด(มหาชน) (BANPU)
กล่าวถึงแผนงานของบริษัทว่า บ้านปูจะทยอยขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ได้บริหารเอง
รวมทั้งหุ้นของบริษัท อะโรเมติกส์ไทย จำกัด (มหาชน) (ATC) ที่บ้านปูจะทยอยขายออกไป
แต่ขึ้นอยู่กับเวลาและความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งรีบเพราะขณะนี้ ภาวะทางการเงินของบ้านปูถือว่ามั่นคง
โดยจะเน้นมาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าและถ่านหินซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทชำนาญ ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปสำรวจโรงไฟฟ้าในจีน
อินโดนีเซียรวมทั้งที่อินเดีย เพื่อเข้าไปซื้อหรือลงทุนร่วมกับเจ้าของเดิม ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า
ขนาด 200-300 เมกะวัตต์
"เราจะไม่เข้าไปสร้างโรงงานใหม่หรือไปนับหนึ่ง แต่ต้องการเข้าไปลงทุนและดำเนินการได้เลย
เพื่อสร้างเงินให้กับเราได้เร็วกว่า" นายชนินท์กล่าว
สำหรับปีนี้ตั้งเป้าการลงทุนในกิจการไว้ประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนจาก 2
ใน 3 จะใช้ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน โดยเฉพาะที่เหมืองทูบาอินโดที่ประเทศอินโดนีเซีย
บ้านปูต้องใช้เงินทุนซื้อเครื่องจักรและเตรียมการเพื่อดำเนินการผลิตในปลายปีหน้า
ถือว่าแหล่งนี้เป็นแหล่งของถ่านหินที่สำคัญมาก เนื่องจากถ่านหินจากแหล่งนี้เป็นถ่านหินมีคุณภาพดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน โดยคาดว่าการผลิตเริ่มแรกประมาณ 3 แสนตัน
ในปีแรกคือปลายปีหน้าเหมืองแห่งนี้ จะสร้างเงินให้กับบ้านปูประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งถือว่าเป็นการทดลองตลาด ก่อนที่ปี2549 รายได้จากเหมืองนี้ประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่เหมืองคิตาดินจากที่มีกำลังการผลิต 3 ล้านตันต่อปี ในปี 2548 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น
4.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องเน้นการลดต้นทุนการผลิตของเหมืองเหล่านี้ด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยต้นทุนจะแตกต่างกันไปในแต่ละเหมืองประมาณ10-30%
โดยเหมืองที่มีถ่านหินคุณภาพดีกว่าต้นทุนการผลิตก็จะต่ำกว่าเหมืองที่ถ่านหินคุณภาพต่ำ
ขณะที่ต้นทุนทางการเงินจะพยายามควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) ให้ต่ำเช่นปัจจุบันอยู่ที่
0.7 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก และบริษัทยังสามารถก่อหนี้ได้อีกพอสมควร และถือว่าฐานะทางการเงินเข้มแข็ง
นายชนินท์กล่าวว่า บ้านปูจะออกหุ้นกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ชนิดทยอยคืนเงินต้นอายุ
7 ปี เพื่อนำเงินไปใช้รีไฟแนนซ์เงินกู้เดิมลดต้นทางการเงิน ในยามที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในท้องตลาดต่ำติดดิน
โดยคาดว่าจะได้ดอกเบี้ยในการออกหุ้นกู้ไม่ต่างจากคราวที่แล้ว ที่ระดับ 2.95%
ไตรมาส 2 กำไรพุ่ง 274%
นายชนินท์กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้ว่า บริษัทมีกำไรเพิ่มจาก 147.81
ล้านบาท เป็น 553.26 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มจาก 70 สตางค์เป็น 2.13 บาทต่อหุ้น
หรือ 274% คิดเป็นงวด 6 เดือนแรก พบว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 959 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น
3.70 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียว กันของปีก่อน และมีกำไรขั้นต้นจากการขายถึง 1,829
ล้านบาท หรือ 30% ของยอดขายรวม
ขณะที่มีรายได้จากการขายรวม 6,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน
1,361 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% เนื่องจากปริมาณและราคาขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้น
โดยเป็นกำไรสุทธิ 959 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 422 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีรายได้อื่นที่มาจากเงินปันผลจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง
จำกัด (มหาชน)(RATCH) จำนวน 326 ล้านบาท และกำไรจากบริษัทร่วม 196 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกำไรจาก
บริษัท ไตรเอนเนอจี้ จำกัด
สำหรับยอดขายยังเติบโตขึ้น เนื่องจากผลดีส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินของออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น
ประกอบกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้เหมืองถ่านหินในออสเตรเลียลดการผลิต
ทำให้ส่งออกถ่านหินน้อยลง และจากการที่ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก
ส่งผลดีต่อคู่แข่งอย่างจีนและอินโดนีเซีย ส่งออกถ่านหินได้มากขึ้น บ้านปูเองก็ได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
จากค่าน้ำมันที่สูงขึ้น สวนทางกับภาวะราคาถ่านหินที่ปรับลดลง ขณะที่การแข่งขันก็เพิ่มขึ้น
แต่การที่บริษัทควบคุมต้นทุนการผลิตส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทดีขึ้นจากเดิม
29% เป็น 31%
"ในไตรมาส 3 ถ่านหินที่ขายจากเหมืองอินโดมินโคและคีตาดีน จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
และเหมืองทูบ้าอินโดปีหน้าจะเริ่มผลิตและทำเงินให้บ้านปูในไตรมาสที่ 2 นี้ เหมืองถ่านหินในไทย
จะผลิตลดลง แต่ถ่านหินที่เหมืองโจร่งผลิตเพิ่ม 4% ถือว่าชดเชยกันได้ ทำให้เรามั่นใจว่ายอดขายถ่านหินทั้งปีของบ้าน
ปูที่ตั้งเป้าไว้ 15 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท และจะทำได้ตามที่ตั้งไว้
และในอนาคตเราจะเพิ่มตลาดในญี่ปุ่นและยุโรปมากขึ้น" นายชนินท์กล่าว
นายชนินท์กล่าวว่า ขณะที่บ้านปูได้เปลี่ยนระบบการลงบัญชีจากเงินหลายสกุลมาเป็นเงินดอลลาร์ทั้งหมด
เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารและกำไร ไตรมาส 2 ปีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่บริษัท
มี กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี ทำให้ราคาขายเฉลี่ยไม่ได้ลดลงมากนัก และมาร์จินก็เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กำไรจากการขายธุรกิจโรงไฟฟ้า ไตรเอนเนอจี้ จำกัด รวมทั้งการขายหุ้นของราชบุรี
โฮลดิ้ง ทำให้มีกำไรรวมแล้วถึง 447 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ทำให้กำไรของบริษัทพุ่ง
ขณะที่ต้น ทุนดอกเบี้ยจ่ายลดลงอย่างมาก จากการชำระคืนเงินกู้ไปหมด ด้วยการออกหุ้นกู้เพื่อ
นำไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า BLCP ขณะนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้บล.ฟินันซ่า และบล.เอบีเอ็น
แอมโร เอเชีย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเงินลงทุนในโครงการจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท
ที่จะทำการกู้จากสถาบันการเงินและคาดว่าภายในเดือนกันยายน นี้จะทำการเซ็นสัญญาเงินกู้ได้
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการขายหุ้นไตรเอนเนอจี้ของ BANPU ให้แก่ราชบุรีโฮลดิ้ง
มูลค่า 2.1 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้คาดว่าจะทำการซื้อขายและชำระราคาเสร็จสิ้นภายในไตรมาส
4 โดยในเดือน ต.ค.นี้ทางทั้งไตรเอนเนอจี้และราชบุรีฯจะมีการประชุมเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท
และหลังจากนั้นจะสามารถทำการซื้อขายและชำระราคาได้ทันที ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นไตรเอนเนอจี้นั้น
บ้านปูจะนำไปชำระหนี้และอีกส่วนหนึ่งจะกันไว้เป็นเงินทุนของบริษัท