|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ณรงค์ชัย" มองจีดีพีปีหน้า โต 0.7% หนุนภาคการเมือง เร่งจัดตั้งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน พร้อมลดความขัดแย้ง ระบุหากช้าไปอีก 1 เดือน ได้เห็นเศรษฐกิจติดลบแน่นอน แนะเดินหน้าใส่เงินเข้าระบบ ตามแผนงบประมาณ ทั้งกระจายเงินถึงมือชาวบ้าน พัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และลงทุนคมนาคม ด้าน "พิชิต" ย้ำ รัฐบาลเป็นขั้วการเมืองไหนก็ได้ แต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้งอีกรอบ หวังสร้างความมั่นใจต่างชาติ
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้เพียง 0.7% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงจากเดิมมาก เพราะก่อนที่จะมีเหตุการปิดสนามบินคาดการณ์ไว้ว่าปีหน้าจะเติบโต 3-4% แต่อย่างไรก็ตาม หากในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ ยังไม่มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว หรือหากฝ่ายความมั่นคงยังปล่อยให้มีการชุมนุมเรียกร้องอะไรที่เกิดกว่ากฎหมายอีก เชื่อว่าเศรษฐกิจอาจจะต้องติดลบ
ทั้งนี้ มองว่าประเด็นที่รัฐบาลต้องทำโดยด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ มี 4 ประเด็นด้วยกัน ประการแรกคือ ต้องกระจายเงินให้ถึงมือชาวบ้านโดยเร็วที่สุด โดยอาจเป็นในรูปกองทุนต่าง ๆ ประการที่สอง โครงการด้านสังคม สาธารณสุข และการศึกษา เพื่อให้เงินถึงมือชาวบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ประการที่สาม ดำเนินโครงการด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้าย คือดำเนินโครงการด้านคมนาคม เช่น การสร้างถนน ที่มีความจำเป็นตามที่วางไว้ในงบประมาณ ซึ่งหากมีรัฐบาลเข้ามาจัดการเรื่องนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตเกิน 1% ได้
ส่วนหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ จะมาจากขั้วการเมืองใด ไม่ขอวิจารณ์ เพราะสิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยการเมืองในประเทศมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยมากกว่าวิกฤติการณ์การเงินโลก ส่วนใครจะจะชุมนุมเรียกร้องอะไรในช่วงนี้ ก็ขอให้ผ่านไปก่อนอีก 3-4 เดือนข้างหน้า เพราะเรื่องเศรษฐกิจสำคัญกว่า
"สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือหยุดความขัดแย้งทั้งหมดให้สงบ เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาค้าขายหาเลี้ยงตัวเอง ขณะเดียวกัน ต้องมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในโครงการที่อยู่ในแผนงบประมาณทั้งหลาย"นายณรงค์ชัย
ส่วนมาตรการ 6 มาตรการที่รัฐบาลชุดก่อนวางไว้นั้น มองว่าคงไม่จำเป็นจะต้องสานต่อ เพราะเป็นนโยบายทางด้านราคามากกว่า ซึ่งปัจจุบัน ราคาสินค้าเองก็ไม่ได้ปรับขึ้น ยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงด้วยซ้ำ
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงถึง 1% ในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น นายณรงค์ชัยมองว่า ไม่น่าจะช่วยให้สภาพคล่องดีขึ้น และมองว่าในปีหน้าการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จะมีความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น แม้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% ไม่น่าจะช่วยให้มีการเติบโตมากนัก จึงมองว่าธปท.ควรจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบในตลาดการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากกว่าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายน่าเป็นห่วงว่าจะมีผลต่อสภาพคล่อง แม้จะมีการปรับลดลง แต่แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ช่วยให้สภาพคล่องดีขึ้นได้ โดยปัจจุบันจากตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก จะเห็นว่าใกล้ถึง 100 แล้ว ซึ่งถ้าไม่รวมตั๋ว B/E ก็เกิน 100 ดังนั้น เป็นการบอกว่าการลดดอกเบี้ยไม่น่าช่วยให้คนหันมากู้มากขึ้น และอาจจะเป็นเหมือนญี่ปุ่น ที่ลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ไม่มีผล
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ไม่ว่าขั้วการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล ก็คงส่งสัญญาณในแง่บวก เพาะสิ่งสำคัญขณะนี้คือ เอกชนต้องการเห็นความสงบทางการเมือง และให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อให้มีการใช้งบประมาณ และดำเนินโครงการตามที่ประกาศไว้ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2552 คงไม่ถึงขั้นติดลบ คาดว่า จีดีพีคงโตต่ำกว่าร้อยละ 2 โดยต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกระลอกที่ 2 ซึ่งมีผลทำให้การส่งออกชะลอตัว และมีปัญหาเงินทุนไหลออก แต่เชื่อว่า การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วของสหรัฐ และอีกหลายประเทศคงจะช่วยภาวะเศรษฐกิจโลกได้
"ตอนนี้ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีก และจะต้องมีการรักษากฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด เพื่อบอกกับชาวต่างชาติได้ว่าเราเป็นประเทศที่มีกติกา นอกเหนือไปจากนั้น คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังซึ่งต้องรีบทำ รวมถึงการฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง"นายพิชิตกล่าว
|
|
|
|
|