ข่าวเกี่ยวกับการเปิดโรงงานกระจกแผ่นแห่งหนึ่งที่ใช้กระบวนการผลิตแบบโฟลทของกลุ่มปูนซิเมนต์ที่ร่วมทุนกับ
บ.การ์เดี้ยนของสหรัฐฯ ยังไม่สรุปแน่ชัดว่าจะได้รับอนุญาตให้เปิดได้หรือไม่จากรัฐบาลไทย
แม้นว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีคำสั่งห้ามเปิดโรงงานผลิตกระจกแผ่นอีกภายใน
5 ปีก็ตาม แต่ รมต.กรทัพพะรังสี ซึ่งรับผิดชอบทางด้านสำนักงานส่งเสริมการลงทุนก็ยังไม่ยุติเรื่องนี้เสียทีเดียว
"ทางเรากำลังรอข้อมูลยืนยันผลการศึกษาและเหตุผลชี้แจงรายละเอียด ตัวเลขความต้องการในอนาคตของฝ่ายการ์เดี้ยน
เพื่อจะได้นำมาพิเคราะห์เปรียบเทียบความเป็นไปได้จริง กับทางข้อมูลของบีไอโอและกระทรวงอุตสาหกรรมดู"
รมต.กร พูดกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลที่ยังไม่ยุติเรื่องนี้
ทางฝ่ายบริษัทไทยอาซาฮี ซึ่งร่วมทุนระหว่างกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้งและพานิชชีวระกับอาซาฮีญี่ปุ่น
ทีมีอำนาจผูกขาดการผลิต และการจำหน่ายกระจกภายในประเทศมานาน 23 ปี ได้คัดค้านการเปิดโรงงานใหม่ของการ์เดี้ยนอย่างเต็มที่
โดยยกตัวเลขความต้องการในอนาคตว่าไม่น่าจะเพิ่มมากกว่าที่เคยเป็นมาคือ 7.5%/ปี
ขณะที่การ์เดี้ยนยืนยันว่าจะโตมากกว่า 7.5 แน่นอน และจะสูงถึง 15%/ปี ในอีก
5 ปีข้างหน้า
แม้ว่าเรื่องอนุญาตหรือไม่ในการให้การ์เดี้ยนเปิดโรงงานผลิตกระจกแผ่นเรียบระบบโพลทจะยังไม่ยุติ
แต่บริษัทกระจกไทยอาซาฮีก็ได้กระจายหุ้นสู่สาธารณะไปแล้วเมื่อปลายเดือนตุลาคมนี้
โดยวิธีนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทบุคคลัภย์ ทิสโก้
และคาเธ่ย์ทรัสต์ เป็นผู้จัดการค้ำประกันการจำหน่ายแก่ประชาชน
ไทยอาซาฮีมีทุนจดทะเบียน 660 ล้านบาท เพิ่ม 90 ล้านบาท เป็น 750 ล้านบาท
ทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ 80 ล้านบาท (ตามราคาพาร์) ของไทยอาซาฮี ระดมจากประชาชนทั่วไปโดยการขายหุ้นในราคา
135-139 บาท/หุ้น เทียบกับราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท และราคามูลค่าหุ้นตามบัญชี
(BOOK VALUE) หุ้นละ 11.62 บาท ส่วนที่เหลือ 10 ล้านบาท ระดมจากผู้บริหาร
และพนักงานบริษัทโดยการขายให้ราคา 90 บาท/หุ้น
ขณะนี้ มีการกล่าวกันมากว่า ราคาหุ้นเข้าตลาดของบริษัทต่าง ๆ ที่ขายให้กับประชาชนทั่วไปมีราคาแพงกว่าความเป็นจริงมากหลายเท่าตัว
ราคาหุ้นไทยอาซาฮีก็ตั้งไว้ 135-139 บาท เมื่อเทียบกับราคาตามบัญชี 11.62
บาท ก็นับว่าสูงเกือบ 10 เท่าตัว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะดูแพง หุ้นไทยอาซาฮีก็อาจถูกจัดชั้นเข้าอยู่ในกลุ่มหุ้นยอดนิยมได้เมื่อดูจากความเหมาะสมด้านปัจจัยพื้นฐาน
(FUNDAMENTAL FACTER) ครึ่งปีแรกของปีนี้ทางบริษัทได้แถลงว่า ผลการประกอบการมีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ
300 ล้านบาท เทียบกับทุนจดทะเบียน 660 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมกำไรสะสม) อัตราผลตอบแทนต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจหลักทรัพย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เหตุผลหนึ่งที่สำคัญในการขายหุ้น
9 ล้านหุ้นหรือคิดตามราคาพาร์ 90 ล้านบาทนี้ ก็เพื่อบริษัทจะนำรายได้จากการขายหุ้นซึ่งจะได้ประมาณ
1,170 ล้านบาทมาลบล้างหนี้สิ้นที่บริษัทมีต่อแหล่งเงินกู้ทั้งภายในและภายนอกประเทศจำนวน
900 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น