ทั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
ต่างก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยกันทั้งคู่
จึงมีปัญหาระหองระแหงในเรื่องการแบ่งแยกงานกันอยู่เสมอ
มาเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรี มนตรี พงษ์พานิช ก็ออกแถลงข่าวว่าได้ประชุมหน่วยงานทั้งสอง
เพื่อตกลงแบ่งงานในส่วนที่ซ้ำซ้อนกันออกจากกันให้ชัดเจนแล้วโดยมีสาระสำคัญ
6 ประการเช่นในข้อสองระบุว่า บริการให้เช่าใช้วงจรเพื่อจัดระบบใช้งานเป้นการภายในโดยเฉพาะและระบบการติดต่อระหว่างจุด
หากผู้ใช้ประสงค์จะใช้งานในประเทศและต้องการติดต่อต่างประเทศด้วยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกสท.
แต่ถ้าผู้ใช้ต้องการติดต่อในประเทศอย่างเดียวจะใช้ทศท. หรือกสท.ก็ได้
ข้อสามระบุว่า ระบบสลับสายสำหรับการให้บริการโทรภาพ โทรสารและข้อมูลให้อยู่ในความรับผิดชอบของกสท.ข้อสี่ระบุว่า
การให้บริการโทรศัพท์ไปยังประเทศใกล้เคียงให้ทศท.จำกัดบริการเพียงมาเลเซียนอกนั้นให้กสท.
ที่สำคัญก็คือ ในแถลงดังกล่าว มนตรีอ้างว่าร่างข้อตกลงแบ่งงานดังกล่าวได้ตกลงยอมรับเรียบร้อยแล้วจากทั้งทศท.และกสท.
หลังจากนั้นปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านจากทางด้านทศท.อย่างหนักหน่วง โดยมีสหภาพแรงงานของทศท.
เป็นหัวหอก และมีพลเอกจรวย วงศ์สายัณห์ในฐานะประธานทศท.และไพบูลย์ ลิมปิพยอม
ผู้อำนวยการทศท.เป็นทัพหลัง โดยอ้างเหตุผลว่าร่างข้อตกลงดังกล่าวให้ประโยชน์แก่กสท.ฝ่ายเดียว
และทศท.กลับต้องเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เป็นอันมาก นอกจากนี้ผู้บริหารของทศท.ก็ยังยืนยันด้วยว่าไม่เคยรับรู้หรือมีส่วนร่วมในร่างข้อตกลงดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ร่างแบ่งงานฉบับนี้น่าจะเป็นฝีมือของศรีภูมิ ศุขเนตร
ปลัดกระทรวงซึ่งเป็นประธานกสท. อยู่ด้วยแตในทศท.เป็นแค่กรรมการร่างดังกล่าวจึงค่อนข้างโอนเอียงไปทางกสท.
ปฏิกิริยาต่อเนื่องจากนั้นคือข่าวลือที่ว่าพนักงานทศท.ตัดการติดต่อโทรศัพท์ทางไกลข้ามทวีปของกสท.
ที่ใช้ชุมสายของทศท.ในช่วงกลางดึงของวันที่ 13 ตุลาคม เป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมงเป็นผลให้โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศกว่า
8,000 เลขหมายใช้การไม่ได้ เพื่อเป็นสัญญาณเตือนกสท. ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับทศท.มากนัก
แต่เรื่องดังกล่าวผู้บริกหารทศท.ปฏิเสธ
กระแสข่าวยังยืนยันว่า ความขัดแย้งนั้นยังดำรงอยู่ แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงก็ยังประนีประนอมกันไม่ได้