|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธปท.มีมติหั่นเปรี้ยงเดียว 1% ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.75% เป็นการลดดอกเบี้ยที่แรงที่สุดนับตั้งแต่มีการประชุม กนง.มาตั้งแต่ปี 43 หวังช่วยเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเฉพาะหน้าหลังพบแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปชะลอตัวมาก แย้มมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยอีก หลังการใช้นโยบายการคลังได้ช้าจากปัญหาการเมือง พร้อมทั้งมีโอกาสปรับจีดีพีปี 52 ใหม่เหลือ 1% หลังพบเศรษฐกิจไทยชะลอต่อเนื่องไปยังปีหน้า
น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) ในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ลงอีก 1% จากระดับ 3.75%ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 2.75%ต่อปี ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการประชุมกนง.มาในปี 2543 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งปัจจัยภายนอกประเทศอย่างวิกฤตการเงินโลกส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจนกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจจริงในหลายประเทศ รวมถึงการส่งออก ขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศด้านการเมืองมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทบต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการลงทุน ประกอบกับปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดปี 52 จึงมีช่องให้ใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการใช้นโยบายการคลังที่มีความไม่แน่นอนสูงจากโครงการและมาตรการต่างๆ ล่าช้าออกไป
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในครั้งนี้เป็นการเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นๆ จากแนวโน้มที่ประเมินว่าจะชะลอตัวมาก อีกทั้งต้องการสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินมีช่องในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาคธุรกิจต้องเกิดจากความเชื่อมั่นเป็นสำคัญด้วย ส่วนจะมีผลต่อการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงิน ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละสถาบันการเงินที่จะประเมินทั้งต้นทุนทางการเงินและวิธีการใช้เงินอย่างไรในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังคงเป็นบวก 0.55%
“ธปท.ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เห็นเกิดปัญหาภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงใกล้เคียง 0% เนื่องจากไทยยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ไม่เหมือนกับภาพในต่างประเทศ นอกจากนี้การที่ กนง.เสนอกระทรวงการคลังในการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 52 ที่ใช้ในการดำเนินโยบายการเงินเป็น 0.5-3% เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ธปท.สามารถดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อจนติดลบ รวมถึงจะดูแลการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตด้วย”
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1% กนง.ได้มีการประเมินความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อเศรษฐกิจจริง รวมถึงการส่งออกของไทย แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อภาคการเงินไทยทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนไหลเข้าออก
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้นยังคงเป็นการผ่อนคลายอยู่ แต่ขึ้นกับการประเมินข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมของ กนง.และในอนาคต รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการใช้นโยบายการคลังในขณะนี้อาจจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากนักจากปัญหาการเมืองที่อาจจะเลื่อนออกไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอาจมีการนัดประชุมกนง.เร็วกว่าการประชุมปกติก็ได้ เพราะต้องพิจารณาข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้ความรู้สึกเท่านั้น
นอกจากนี้ในการประชุมของ กนง.ครั้งนี้ได้มีการปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 52 ใหม่ โดยมีความเป็นไปได้จะต่ำกว่าเดิมที่ กนง.ประเมินไว้ คือ 3.8-5% แต่อาจจะใกล้เคียงกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ที่ 1% เนื่องจากหากดูแนวโน้มจากข้อมูลจริงในไตรมาส 3 ของปีนี้และล่าสุดในเดือนต.ค. มีโอกาสที่เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ เติบโตได้น้อยทั้งไตรมาสที่ 4 และชะลอต่อเนื่องไปยังปี 52 ด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กนง.เมื่อวานนี้ไม่ได้นำเหตุการณ์หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศสลายการชุมนุมออกจากสนามบินทั้ง 2 แห่ง และยังไม่ได้ประเมินความเสียหายของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว การลงทุนและการส่งออกบ้าง
|
|
|
|
|