|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ประเทศไทยยังคงถูกมองว่ามีอัตราความเสี่ยงสูงขึ้น แม้ว่าการประท้วงปิดสนามบินในกรุงเทพฯ จะยุติลงชั่วคราวแล้ว เนื่องจากยังไม่เห็นวี่แววว่าจะมีทางออกใดๆ สำหรับการต่อสู้ชิงอำนาจกันในระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เป็นเนื้อหาในบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่นำออกเผยแพร่วานนี้
บทวิเคราะห์ที่เขียนโดย แอนดริว มาร์แชล ผู้สื่อข่าวด้านความเสี่ยงทางการเมืองในเอเชีย มีเนื้อหาสาระดังนี้-
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเป็นพวกนิยมกษัตริย์ ได้ให้คำมั่นว่าจะหยุดการชุมนุมประท้วงรวมทั้งยุติการปิดสนามบินทั้งสองแห่งหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคการเมืองที่มีการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งรวมทั้งพรรครัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรด้วย
ทว่า คนส่วนใหญ่ก็คาดการณ์กันอยู่แล้วว่าผลการพิพากษาของศาลจะออกมาเป็นเช่นนี้ บรรดาพันธมิตรของทักษิณก็ได้เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองสำรอง ที่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาและเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมา ดังนั้นการต่อสู้ระหว่างฝ่าย “เสื้อแดง” ซึ่งสนับสนุนทักษิณและมีฐานการสนับสนุนหนาแน่นในชนบท กับฝ่าย “เสื้อเหลือง” ของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเมือง จึงยังคงดำเนินต่อไป
“กลุ่มพลังต่อต้านทักษิณชนะการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ความขัดแย้งรุนแรงก็แผ่กว้างออกไปโดยไม่มีวี่แววจะยุติลง” คริส แมคคี บรรณาธิการใหญ่ขององค์กรประเมินความเสี่ยงของประเทศทั่วโลก หรือ “International Country Risk Guide หรือ ICRG” แห่งสหรัฐฯ กล่าวและวิเคราะห์ต่อว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาของประเทศไทยก็คือการแบ่งแยกชนชั้น ระหว่างคนในเมือง (พวกผู้นำในระบบราชการและพวกชนชั้นกลาง) กับคนในภาคชนบทซึ่งดูเหมือนจะไม่สามารถสมานฉันท์กันได้ระยะเวลาหนึ่ง”
ทางด้าน เดวิด คิว นักวิเคราะห์แห่งยูเรเซียกรุ๊ป ก็บอกว่า คำตัดสินของศาลไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความแตกแยกกันอย่างรุนแรงในประเทศไทย และแม้อาจจะมีการเลิอกตั้งใหม่ในไม่ช้า แต่ความขัดแย้งพื้นฐานของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีอยู่
นักวิเคราะห์หลายรายยังชี้ด้วยว่า แม้คำพิพากษาของศาลจะเป็นวิธีการช่วยรักษาหน้าให้กับฝ่ายที่ปิดสนามบินและหยุดยั้งวิกฤตทางการเมืองได้ แต่ในระยะยาวแล้วก็ยังจะเกิดความไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้นอีก
วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพ”
คริสตินา คาซมี นักวิเคราะห์แห่งไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งใหม่ก็มิใช่ทางออกเช่นกัน เพราะฝ่ายสนับสนุนทักษิณมีแนวโน้มจะได้เสียงส่วนใหญ่อีก เนื่องจากมีฐานสนับสนุนที่กว้างขวางในชนบท จากนั้นพวกชนชั้นนำที่ต่อต้านทักษิณก็จะออกมาประท้วงอีก ทำให้ไทยต้องติดกับอยู่ใน “วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพ” ดังนั้นจากสถานการณ์ในอนาคตที่พอจะประเมินได้ทำให้ไอเอชเอสประกาศลดอันดับประเทศไทยโดยเพิ่มอัตราความเสี่ยงด้านการเมืองและความปลอดภัย พร้อมกับระบุว่า
“ความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบในภาคประชาชนมีแนวโน้มสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะฝ่ายทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วย”
ทั้งนี้ไทยเริ่มติดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ตั้งแต่ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เปิดฉากรณรงค์ขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005 โดยในดัชนีวัดระดับการบริหารประเทศทั่วโลกของธนาคารโลก ซึ่งจัดทำเป็นรายปีนั้น ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีค่าคะแนนความมีเสถียรภาพทางการเมืองเพียง 16.8 จาก 100 คะแนนเมื่อปีที่แล้ว ลดลงอย่างมากจากค่าคะแนน 44.7 เมื่อปี 2003
นอกจากนั้น การที่เสถียรภาพของไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ยังทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการลงทุนให้กับเพื่อนบ้านไปด้วย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศได้ตกลงไป 44.3 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มประท้วงเมื่อ 3 ปีก่อน ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตาเพิ่มขึ้น 13.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียลดลง 7.9 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่าแม้การเมืองไทยจะอยู่ในสภาพตค่อนข้างวุ่ยวายมาตลอดจากการที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ่อยครั้งและมีการปฏิวัติรัฐประหารถึง 18 ครั้ง ในระยะ 76 ปีของระบอบประชาธิปไตยแบบสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กลไกพื้นฐานของรัฐบาลรวมทั้งสถาบันสำคัญๆ ก็ค่อนข้างเข้มแข็ง
ธนาคารโลกก็ยังจัดอันดับเรื่องความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลไทย โดยปรับลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2007 ทว่านักวิเคราะห์ความเสี่ยงกล่าวว่าความสามารถในการบริหารของรัฐบาลในปีนี้จะดิ่งลงเนื่องจากเห็นชัดเจนว่าไม่สามารถดำเนินการบริหารใดๆ ได้
ยิ่งกว่านั้น พวกนักลงทุนทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในรูปพอร์ตโฟลิโอซึ่งเดิมเคยเชื่อมั่นในบรรยากาศการลงทุนของไทยว่ามีความมั่นคงและเอื้อต่อการทำธุรกิจไม่ว่าสภาพทางการเมืองจะเป็นเช่นไร มาวันนี้ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดไปเสียแล้ว กล่าวคือ ความผันผวนทางการเมืองตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้นักลงทุนจำนวนมากได้คิดทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับภาวะความเสี่ยงของประเทศไทย การปิดสนามบินเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่บอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงเพียงใดต่อเศรษฐกิจ และเมื่อมองต่อไปข้างหน้าก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก
ในต้นสัปดาห์นี้ ทั้งสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์และมูดี้ส์ ต่างปรับลดทิศทางอนาคตสำหรับเรตติ้งความน่าเชื่อถือของตราสารรัฐบาลไทย โดยระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากความไม่สงบได้เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกับที่ไทยกำลังมีความสามารถที่จะชดเชยเรื่องนี้ได้น้อยลงมากเสียแล้ว
ขณะที่ วินเซนต์ โฮ แห่ง ฟิตซ์ ก็กล่าวเตือนในทำนองเดียวกัน
|
|
|
|
|