|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โบราณสถานอย่างพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) ชวนให้หวนกลับอยู่เนืองๆ หากต้องยอมรับว่าไม่เคยชมหมดทุกซอกมุม ความอลังการของตัวปราสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องกระจก (galerie des glaces) อันแสนโอ่อ่า กรุกระจกตลอดแนวด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นหน้าต่างแบบฝรั่งเศสที่เปิดยาวเกือบถึงพื้น ทำให้ห้องสว่างไสว กระจกสะท้อนโคมระย้าที่ติดตลอดแนว เป็นภาพตราตรึงใจ
ไหนจะโรงโอเปราซึ่งเป็นสถานที่ฉลองงานอภิเษกระหว่างเจ้าชายรัชทายาทซึ่งภายหลังคือกษัตริย์หลุยส์ 16 (Louis XVI) และมารี-อองตัวแนต (Marie-Antoinette) เจ้าหญิงแห่งออสเตรีย ได้ไปชมโรงโอเปราเมื่อครั้งศึกษาที่เมืองนีซ (Nice) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และจับฉลากได้ไปเที่ยวกรุงปารีส หน่วยงานที่ดูแลนักเรียนทุนจัดหามัคคุเทศก์ให้ด้วย และได้ชมในส่วนที่ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม หลังจากนั้นไม่นาน ผู้บริหารของพระราชวังแวร์ซายส์ก็ให้ซ่อมแซมโรงโอเปรา ใช้เวลาหลายปีทีเดียว ความพิเศษของโรงโอเปราแวร์ซายส์อยู่ที่ม่านซึ่งทอด้วยเส้นทอง โรงโอเปรานี้ไม่ค่อยได้ใช้งานนักหลังจากสร้างเสร็จ เพราะยังไม่มีไฟฟ้า จึงต้องจุดเทียนซึ่งก็เสี่ยงกับอุบัติเหตุไฟไหม้
แวร์ซายส์ขึ้นชื่อลือชามากจนราชสำนักหลายแห่งนำไปเป็นแบบสร้างพระราชวัง อีกทั้งสวนสวยสไตล์ฝรั่งเศส แต่เดิมนั้นรู้จักกันแต่สวนแบบอิตาลีและอังกฤษ อำนาจบารมีของหลุยส์ 14 แผ่ไพศาล อาณาเขตของฝรั่งเศสยิ่งใหญ่ หลุยส์ 14 จึงได้สมญานามว่า สุริยเทพ – Le Roi Soleil สถาปัตยกรรมและประติมากรรมยุคหลุยส์ 14 รู้ได้จาก “โลโก” ที่เป็นรูปพระอาทิตย์แผ่รังสี
เมื่อเที่ยวตัวปราสาทแล้ว ควรเที่ยวสวนแวร์ซายส์ด้วย เพราะเป็นสวนที่สวนอัศจรรย์ ต้นไม้ที่จัดเป็นระเบียบ พุ่มไม้ที่ตัดเป็นรูปและลวดลายเรขาคณิต บ่อน้ำพุขนาดต่างๆ งามด้วยรูปปั้นที่ประดับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายกรีก (mythologie) เช่น bassin d’Apollon – บ่อน้ำพุเทพอพอลโล หรือ Bassin de Neptune – บ่อน้ำพุเทพเนปจูน เป็นต้น หรือบ่อน้ำพุ 4 ฤดูที่มีรูปปั้นของเทพประจำฤดูกาลประดับด้วย ในบริเวณสวนยังมีตำหนักเปอติต์ ทรีอานง (Petit Trianon) กรองด์ ทรีอานง (Grand Trianon) ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ทั้งหลายให้เป็นที่อยู่ของสนมเอก นอกจากนั้นยังมีบ้านไร่ของมารี-อองตัวแนต ที่เรียกว่า Hameau ที่น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มอีก
สิ่งที่ยังไม่ได้ไปชมเสียทีคือการแสดงน้ำพุที่เรียกว่า les Grandes Eaux de Versailles เปิดน้ำพุพร้อมกันทั้งสวน เสียงน้ำคงจะนำความเย็นฉ่ำใจ ด้วยว่าการแสดงนี้มีแต่ช่วงฤดูร้อนไม่กี่เดือน และเมื่ออากาศเริ่มหนาวเย็น การเดินเล่นในสวนแวร์ซายส์ก็ไม่สนุกแล้ว อีกทั้งเสี่ยงที่มีลมจัด
แวร์ซายส์เป็นข่าวอีกทีเมื่อย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ 2008 ด้วยว่ามีจัดนิทรรศการใหญ่ที่ไม่เข้ากับตัวปราสาทหรือสวนสวยเลย เพราะนำผลงานศิลปะสมัยใหม่ของเจฟ คูนส์ (Jeff Koons) มาแสดง และกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่นาน
เจฟ คูนส์ เป็นอาร์ติสต์ร่วมสมัยชาวอเมริกัน ถือเป็นหนึ่งในระดับแนวหน้า หากเป็นผลงานที่ “เวอร์” ถูกใจบรรดาเศรษฐีใหม่ การนำผลงาน 15 ชิ้นของเจฟ คูนส์มาแสดงในชื่อนิทรรศการว่า Jeff Koons Versailles ไปไม่ได้กับความคลาสสิกของพระราชวังเอดูอาร์ด เดอ รัวแยร์ (Edouard de Royere) ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิแวร์ซายส์เห็นเป็นการบ่อนทำลายโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์และสวยสมบูรณ์แบบอย่างแวร์ซายส์ ดิดีเอร์ ริกแนร์ (Didier Rykner) ผู้เชี่ยวชาญศิลปะโบราณเยาะหยันว่า ราวกับนำชิกโชลีนา (Cicciolina) มานอนบนเตียงของกษัตริย์หลุยส์ 14 อันว่าชิกโชลีนานั้นเป็นดาวโป๊ชาวอิตาเลียนซึ่งในภายหลังมาเล่นการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เธอมีวิธีการหาเสียงเลือกตั้งที่แหวกแนวด้วยการโชว์นมจากเต้า เวอร์สุดๆ เจฟ คูนส์แต่งงานกับชิกโชลีนา ในปี 1991 และหย่าร้างในปี 1994 รสนิยมเรื่องผู้หญิงคงสะท้อนรูปแบบงานศิลป์ของเขา นั่นเป็นความเห็นของราชบัณฑิตผู้หนึ่ง
ก่อนหน้านี้ในปี 2004 มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่แวร์ซายส์ หากไม่ได้ “รุกล้ำ” เข้าไปในตัวปราสาท จำกัดอยู่ที่สวนส้ม (Orangerie) เท่านั้น ต่อมาในปี 2006 จัดนิทรรศการชุดแต่งงาน ผลงานของคริสติออง ลาครัวซ์ (Christian Lacroix) ในโรงสวดมนต์ของกษัตริย์ (chapelle royale) ทว่าต้องยกเลิกนิทรรศการทันทีเมื่อได้รับการต่อต้านจากชาวคาทอลิกหัวโบราณ หาก Jeff Koons Versailles รุกล้ำเข้าไปในห้องบรรทมของหลุยส์ 14 และราชินี
หนังสือพิมพ์เลอ มงด์ (Le Monde) กลับมีความคิดเห็นตรงกันข้าม เห็นว่าเจฟ คูนส์เชิดชูหลุยส์ 14 เลอ มงด์ไม่เห็นแปลกที่งานศิลป์เวอร์ๆ ศตวรรษที่ 20 จะปรากฏในพระราชวังแวร์ซายส์ ด้วยว่าในสมัยหลุยส์ 14 พระราชวังก็เต็มไปด้วยงานศิลป์ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งของกษัตริย์ฝรั่งเศส ก็ในเมื่อผลงานเจฟ คูนส์เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของเศรษฐีใหม่ยุคปัจจุบัน ไฉนจะนำมาแสดงที่แวร์ซายส์ไม่ได้
ส่วนเจฟ คูนส์นั้นย่อมต้องปลื้มเป็นพิเศษที่สามารถนำผลงานมาแสดงที่แวร์ซายส์ เขาเห็นว่านิทรรศการของเขาสะท้อนความชื่นชอบในวัฒนธรรมฝรั่งเศสและอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเศสที่มีต่อวัฒนธรรมร่วมสมัย สำหรับเขา แวร์ซายส์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเบ็ดเสร็จของหลุยส์ 14 ซึ่งเมื่อตื่นบรรทม คงนึกอยากเห็นพุ่มไม้และดอกไม้ขนาดใหญ่ซึ่งคือ ผลงานที่ชื่อ Split Rocker ตัวสัตว์ขนาดใหญ่ที่ทำด้วยต้นไม้ และตั้งอยู่ในสวนส้มระหว่างการแสดงนิทรรศการ
ฌอง-ฌาคส์ อัยยากง (Jean-Jacques Aillagon) ผู้อำนวยการของพระราชวังและพิพิธภัณฑ์แวร์ซายส์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) ว่าการจะเชิญอาร์ติสต์คนไหนมาแสดงผลงานที่แวร์ซายส์ต้องเป็นอาร์ติสต์ที่ได้การยอมรับอย่างกว้างขวาง และเจฟ คูนส์ก็ปลื้มมากที่เป็นอาร์ติสต์คนแรกที่นำผลงานมาแสดงที่แวร์ซายส์
ฌอง-ฌาคส์ อัยยากง เคยเป็นผู้อำนวยการ Palazzo Grassi พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของฟรองซัวส์ ปิโนลต์ (Francois Pinault) นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสผู้ชื่นชอบผลงานของเจฟ คูนส์ จึงเข้าใจได้ว่าฟรองซัวส์ ปิโนลต์เป็นผู้ผลักดันให้มีนิทรรศการนี้ หากฌอง-ฌาคส์ อัยยากง บอกว่าโลรองต์ เลอบง (Laurent Lebon) ผู้รับผิดชอบด้านนิทรรศการเป็นผู้เสนอชื่อเจฟ คูนส์ เพราะเป็นอาร์ติสต์ชื่อดังที่ไม่เคยนำผลงานมาแสดงในฝรั่งเศสเลย เนื่องจากว่าผลงานแต่ละชิ้นจะใหญ่โต จำเป็นต้องมีสถานที่กว้างขวางในการจัดนิทรรศการ ทั้งนี้การจัดงานนี้เป็นไปด้วยความลำบาก ด้วยว่าเจ้าของงานศิลป์ของเจฟ คูนส์ไม่ค่อยยอมให้ยืม เพราะเป็นงานศิลป์ราคาแพงและค่าประกันสูงมาก อย่างไรก็ตาม ฌอง-ฌาคส์ อัยยากง บอกว่า ถ้านิทรรศการนี้ล้มเหลว ก็จะไม่จัดนิทรรศการทำนองเดียวกันนี้ในแวร์ซายส์อีก
เท่าที่เห็นผลงานของเจฟ คูนส์ละม้ายของเล่นขนาดใหญ่ยักษ์ ไหนจะสุนัข ไหนจะกระต่าย ฯลฯ
ก็เป็นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอันจะกินนี่นะ
|
|
|
|
|