Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
ความต่างของเวลาในโลกศิลปะ             
โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
 


   
search resources

Art




หากเปรียบ "งานศิลปะ" คือหน้าต่างที่เปิดให้เห็นความศิวิไลซ์ของคนในชาติแล้ว งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็คือหน้าต่างที่เผยถึงความก้าวหน้าของวงการศิลปะ ถ้าเช่นนั้นแล้วความศิวิไลซ์ของไทย ก็ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกผ่านงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติมากว่า 60 ปีแล้ว

งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2492 โดยศิลป์ พีระศรี ได้ริเริ่มจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมศิลปินไทยให้มีเวทีแสดงศิลปะสมัยใหม่ และพัฒนาสู่นานาชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้สืบสานปณิธานนี้มาถึงปัจจุบัน

นับจากนั้นมาก็ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญของแวดวงศิลปะ สำหรับในปี 2551 เป็นครั้งที่ 54 เวทีนี้ให้เสรีภาพแก่ศิลปิน โดยไม่กำหนดหัวข้อ ไม่จำกัดขนาด การใช้วัสดุ เทคนิค การจัดวางและการนำเสนองาน ซึ่งแบ่งประเภทเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม

ผลงานที่เข้าร่วมหลากหลายทั้งรูปแบบ ขนาด และสื่อที่ใช้ ด้วยงบแต่ละชิ้นมากกว่าเงินรางวัลหลายเท่า

สน สีมาตรัง ผู้อำนวยการ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า

"ศิลปากรขึ้นชื่อว่าวางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ของไทย และต้องการชี้นำสังคม จึงยกหอศิลป์เป็นหน่วยงานพิเศษ ในปี 2527 มีงบประมาณปีละ 10 ล้านบาท เทียบเท่าคณะวิชา ซึ่งถ้าเป็นที่อื่นก็เป็นเพียงห้องแสดงงานของคณะ รัฐบาลก็มองศิลปากรในภาพพจน์นี้ จึงได้รับการสนับสนุนมาตลอด"

งานแสดงศิลปกรรมฯ มีงบจัดงานต่อครั้งราว 2 ล้านบาท เป็นงบประมาณแผ่นดิน 1 ล้านบาท และเงินสปอนเซอร์ ได้แก่ บริษัทเอสโซ่ ให้เปล่าปีละ 5 แสนบาท และธนาคารกรุงไทย ปีละ 5 แสนบาท (ไม่รวมรางวัลจัดซื้อ) รศ.สน กล่าวถึงความสำคัญของเวทีนี้ว่า

"คณะผลิตบัณฑิต เราเป็นเวทีให้ เพราะ "ศิลปะ" ไม่มีที่สิ้นสุด ศิลปินต้องพิสูจน์ตัวเอง หอศิลป์ "ไม่เน้นความรู้" แต่เน้นการสร้างสรรค์ ซึ่งต้องเป็น "ขบถ" ต่อ "ขนบนิยม" ปฏิเสธของเดิม ถึงจะเกิดมาตรฐานใหม่ได้ หอศิลป์จึงเป็นเพียงเวทีทดลอง เป็นช่วงที่ "ท้าทาย" ให้ถกเถียง เกิด "ประกาย" จากแรงบันดาลใจก็เอาไปย่อยกับประสบการณ์ลึกๆ ของศิลปิน ออกมาเป็นงานศิลปะ"

งานศิลปกรรมแห่งชาติมีบทบาทต่อศิลปะสมัยใหม่ แต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ข้อมูลว่า งานแสดงศิลปกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2486 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง โดย "คณะจักรวรรดิ์ศิลปิน"

เป็นการรวมตัวครั้งแรกของศิลปินสาขาต่างๆ มีคำขวัญคือ "ศิลปะคืออาภรณ์ของศิลปิน" โดย สด กูรมะโลหิต ได้รวบรวมเพื่อนไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เพื่อประทานขอความเห็นและตราสัญลักษณ์ ซึ่งได้ตราเป็น "รูปมือ 5 นิ้ว" พร้อมลงพระนาม "นริศ 16 มิถุนา 2485" นั่นคือ "เบญจศีล" และศิลปกรรมแขนงต่างๆ ได้แก่ วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏกรรม และสถาปัตยกรรม ศิลปะทุกแขนงทำและสำเร็จได้ด้วยมือ สุชาติชี้ว่า

"ดูภาพรวมเริ่มต้นโดยเอกชน สะท้อนว่าคนทำงานศิลปะในบ้านเรา "ขวนขวาย" นำเสนอผลงาน รวบรวมกลุ่ม และพยายามอยู่รอดด้วยตัวเอง เมื่อมีงานศิลปกรรมแห่งชาติ "อย่างเป็นทางการ" แล้ว ถนนทุกสายมุ่งสู่ศิลปากร โดยลืมส่วนอื่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้เริ่มต้นที่ "เพาะช่างฯ" และมีที่อื่นด้วย..."

งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกให้ความสำคัญกับงาน Impressionism โดยมองว่าศิลป์ พีระศรี ก็เป็นแบบ Academic ซึ่ง "เข้ากันได้" กับรสนิยมการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จนบางคนบอกว่า..."เป็นศิลปะคณะราษฎร"

ที่จริงแล้วการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ทรงนำพระราชนิยมทางศิลปะตะวันตกเข้ามา ในลักษณะ "เหมือนจริง" ขณะนั้นทางตะวันตกได้สู่ Post Impressionism Abstract และ Surrealist ไปแล้ว จึงเกิด "ความเหลื่อมทางเวลา" ในเรื่องพื้นที่และบุคคล นี่คือ "ช่องว่างที่หายไป" สุชาติวิเคราะห์ว่า

"ความเหลื่อมเวลาที่ช้ากว่าตะวันตก 70 ปี แต่อาจารย์ศิลป์ใจกว้าง มีลูกศิษย์รุ่นแรกๆ เข้าใจศิลปะตะวันตก ให้ความสำคัญกับรากเหง้า "ไทยประเพณี" ก็เกิด "จุดสมดุล" ที่ศิลปากร ศิลปินไทย "ลัดเวลาได้" ในลักษณะ "ตัดกิ่งทาบตา" เราได้ฝีมือทันเขา แต่ไม่เห็นจิตวิญญาณ เพราะ "ต้นกำเนิด" ไม่ใช่ของเรา พอสวมเป็น "หน่อใหม่" แต่มีครูดีลัดเวลาค้นหาความเป็น "ตัวของตัวเอง" ได้"

การลัดเวลาของแวดวงศิลปะไทยได้กลายเป็นเค้าเงื่อนปัญหาที่สะท้อนออกมายังงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อศิลป์ได้จากไปและทิ้งมรดกนี้ไว้ ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ศิลปากรที่เคยผ่านทั้งการประกวดและบริหารจัดการเวทีนี้มาก่อน ชี้จุดอ่อนว่า

"สมัยเรียนเพาะช่างฯ ผมตั้งตารอว่า "เมื่อไรจะได้ดูงานศิลปกรรมแห่งชาติ" แม้จะมีงานไม่มาก แต่มี "ความเร้าอกเร้าใจ" อยากมาดู เดี๋ยวนี้ไปดูงานเกือบจะ "เฉยๆ" ไม่ใช่เพราะผ่านเวทีนี้มาแล้ว แต่นิทรรศการนี้ขาดวัฒนธรรม ทุกคนรบด้วยอาวุธที่ตัวเองมีอยู่ ไม่มีผู้วางแผน ไม่มีไดเรกชั่น งานศิลปกรรมแห่งชาติ คือ "ต้นไม้ในกระถาง" ที่อาจารย์ศิลป์เพาะไว้ ไม่มีใครเอาลงดิน ก็แคระแกรน"

ความเห็นของถาวร ต่อการแสดงงานในระยะหลังๆ สอดคล้องกับความเห็นของวิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินผู้เคยผ่านเวทีนี้มาเช่นกัน

"ผมรู้สึกว่างานที่ส่งประกวด ยังเป็นงาน "Study" อยู่ ไม่ใช่งานที่เกิดจาก "จิตวิญญาณ" ของตัวเอง งานดูสนุกดี น่าสนใจ ลึกล้ำ ทำนาน ซับซ้อน แต่พอดูไปเหมือนกันหมด"

สุชาติขยายว่า "งานศิลปกรรมแห่งชาติ" ขาดชีวิตจิตใจ เพราะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องทำต่อไป ที่น่าห่วงคืองานประกวดเกิดขึ้นมาก กอปปี้งานศิลปกรรมแห่งชาติ ทำให้เกิดการล่ารางวัล ส่งผลให้ไม่ก้าวหน้า สาเหตุอีกอันคือ การจัดการศึกษาศิลปะ "ไม่สัมพันธ์" กับความเป็นไปในปัจจุบัน

"คนเรียนศิลปะต้องมี "วิญญาณขบถ" หรือ "คิดนอกกรอบ" ได้ มีสิ่งที่ทำให้ "ไปพ้นจากพิธีกรรม" แต่ปัจจุบันเรียนเพื่อ "ปริญญา" ใครมีพลังมากก็เข้าประกวด แต่คนรุ่นก่อนต้องการเข้าใจ "ความเป็นไปต่างๆ" ทั้งตัวเองและสังคม ก็มองหาตัวตน และปลูกฝังวิญญาณจากการอ่าน จึงเติบโตและมีจิตใจกว้าง ซึ่งตะวันตกถือว่าศิลปะ "ไม่ต้องเรียน" แต่ใฝ่ใจและใช้ทั้งชีวิตทำงาน เพื่อนิยาม "ตัวเอง"..."

เขามองว่าการศึกษาศิลปะและสถาบันสอนศิลปะของไทย อยู่ภายใต้ "อำนาจนิยม" หรือ "ข้าราชการนิยม" แล้วคำว่า "ร่วมสมัย" หมายถึง เวลา พื้นที่ และบุคคล ในทางตะวันตกใช้เวลา 20 ปี จากรุ่นพ่อถึงลูกสะท้อนงานศิลปะที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ในบ้านเรา "สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป" เห็นไม่ชัด เนื่องจากอำนาจนิยมครอบ แล้ว "ทุนนิยม" ก็เข้ามาครอบอีกต่อ มันเลยมองไม่เห็น

ผลคือถ้าดูตัวบ่งชี้เรื่องสำนัก (School) ปัจจุบันศิลปากรก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางแล้ว เรื่อง Style ทั้งเทคนิคฝีมือหรือเนื้อหาคล้ายๆ กัน เรื่องกระบวนการทางความคิด (Movement) บ้านเราก็ไม่ค่อยมี เพราะบ่อเกิดของวัฒนธรรม มี "ทัศนะทาส" ยิ่งเป็น "ร่วมสมัย" ยิ่งชัด สุชาติกล่าวว่า

"ในรุ่นใหม่ๆ ก็มีความคิดใหม่ๆ กรอบใหม่ๆ และไม่พึ่งสำนัก สไตล์ก็ทันกัน คนทำงานต้องมั่นคงต่อวิถีของเขา คำว่า "รางวัล" "ศิลปินชั้นเยี่ยม" หรือ "ศิลปินแห่งชาติ" ไม่มีความหมาย แต่ต้องมีวิญญาณขบถ ตื่นตัวตลอดเวลา จะหลุดจากกรอบ ต้องอ่านมาก เห็นมาก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาก"

ศิลปะร่วมสมัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสังคม จะมีจิตวิญญาณอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดการวัฒนธรรม ซึ่งมีปัญหา "ทัศนะทาส" จากข้อต่อที่หายไป คือการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ไม่สร้างความคิดส่งต่อ การแสดงงานแต่ละครั้งจึงสะท้อนตัวตนไม่ได้

สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ จากกระทรวงวัฒนธรรม มองพัฒนาการศิลปะร่วมสมัยของไทยไปในทางเดียวกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี และเพิ่มเติมว่า ยุคแรกเป็นการยากที่เอกชนจะสร้างความสนใจให้สังคมเห็นว่างานศิลปะมีความจำเป็นที่จะทำให้เห็นความศิวิไลซ์ของชนในชาติ

งานครั้งที่ 7 - 8 เริ่มเห็นอิทธิพลแบบ Cubicism หลังจากไม่มีศิลป์ พีระศรี แล้ว งานครั้งที่ 15 ประทับ ปรีชาประเสริฐ ได้เหรียญทองเป็นงานจิตรกรรมที่คลี่คลายจาก "ไทยประเพณี" ในยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่ ก็เกิดศิลปินกลุ่มก้าวหน้าขึ้นขัดแย้ง สมัยนั้นการจัดการศึกษาศิลปะมีน้อย งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจึงรองรับงานนักเรียนและครูศิลปะเป็นส่วนใหญ่

หลังจากครั้งที่ 23 - 25 เรื่อยมา บริบทสังคมศิลปะร่วมสมัยในไทยเปลี่ยนไป แต่หลักเกณฑ์หรือโครงสร้างการจัดประกวด ทำอย่างต่อเนื่อง คือ เฟ้นหา "ศิลปินชั้นเยี่ยม" คนที่ส่งงานและกรรมการวนเวียนอยู่ในระดับสถาบันการศึกษา ไม่มีมืออาชีพ และธุรกิจมีบทบาทมากขึ้น สมศักดิ์สะท้อนว่า

"ในสากลศิลปะเป็น "ธุรกิจ" การสร้างชื่อเสียงไม่ต้องผ่านการประกวด จะมีแกลเลอรี่หรือหอศิลป์ต่างๆ ให้แสดงงาน และในช่วง 10 ปีมานี้ ภัณฑารักษ์จากทั่วโลกมาแสวงหาศิลปินไทยไปแสดง ศิลปินก็กระหายเป็น "ศิลปินอินเตอร์" มากกว่า "ศิลปินชั้นเยี่ยม" ดังนั้นจึง "ไม่มีศิลปินอาชีพ" ส่งงานเข้าร่วม แล้วตลาดโลกศิลปะก็พูดกันที่ "ราคา" ศิลปินจีนรุ่นใหม่ขยับราคาเป็น "สิบล้านร้อยล้าน" แล้ว"

เพื่อให้ทัดเทียมสากล ก็ต้องปรับการจัดงานศิลปกรรมแห่งชาติให้ทันยุค สะท้อนภาพวงการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยสัมมนาอย่างรอบด้านต่อผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ มีข้อเสนอว่าควรเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการ ให้ภัณฑารักษ์ต่างประเทศที่มีชื่อมาร่วม เปลี่ยนวิธีตัดสินเป็นสรรหางาน และแบ่งประเภทให้เหมาะสม เช่น แบ่งเป็น 2 มิติ และ 3 มิติแทน เพื่อไม่ติดยึดรูปแบบและกระแสนิยม

วิจิตรมองว่า "มันถึงเวลา" ต้องเปลี่ยนตามโลก เพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณ ความรู้ความสามารถของศิลปินไทยที่สะท้อนแวดวงศิลปะไทยในสายตานานาชาติได้ ขณะที่ถาวรเสนอว่าควรมีกระบวนการส่งต่อหลังจากได้รางวัล ให้ศิลปินทำงานต่อไปและขายงานได้จริง โดยชี้ให้เห็นว่า

"เราต้องสังคายนาทั้งระบบ เพราะวิธีการจัดการ "มันล้มเหลว" ขาดศักยภาพในการทำให้มากกว่าเป็นแค่งานประจำปี เป็นรูปแบบพิธีกรรมที่ทำกันต่อมาเรื่อยๆ เราจะทำให้ศิลปกรรมแห่งชาติเหมือนเซี่ยงไฮ้เบียนนารี่ได้ไหม ที่จัดแค่ 4 นิทรรศการ มีคนต่างชาติมาดูถึง 6 ล้านคน"

แม้ว่างานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ตาม สนก็เชื่อมั่นว่ามันมีความก้าวหน้า แต่ค่อยเป็นค่อยไปตามข้อจำกัดรอบด้าน

"ผมอยู่ที่ศิลปากรมา 42 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เร็วอย่างที่คนหนุ่มหรือคนที่คาดหวังสูงอยากเห็น เวทีนี้เป็นช่องทางเดียวที่ทำให้สังคมเข้าใจเรา ยอมรับและทำให้ฐานะเราเปลี่ยนแปลง"

การล่าช้าเป็นเรื่องโครงสร้างรองรับศิลปะสมัยใหม่ในระดับชาติที่ยังไม่พัฒนา คือมีสถาบันผลิตศิลปิน แต่ไม่มีหอศิลป์ระดับชาติ ส่วนใหญ่กลายเป็นห้องแสดงภาพขายงาน ขาดคลังเก็บงานที่ได้รางวัลเกือบ 1,000 ชิ้น รวมถึงการขาดงบดูแลรักษาและจัดแสดงงาน ขาดคนที่เป็น "ช่างเทคนิค" ในการดูแลและซ่อมแซมงาน และศิลปินใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีทุนน้อย

ข้อจำกัดต่างๆ สะท้อนว่าศิลปากรพัฒนาคณะวิชามากเกินไป ทำให้เกิดภาระด้านงบประมาณ ปัญหานี้จะแก้ต้องกลับไปสู่ระบบการศึกษาแบบยุโรป คือเป็น Academy ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

"วงการศิลปะยังมีวัฒนธรรมดูงานศิลปะฟรี ศิลปะไม่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีเงินก็ไม่คิดจะซื้องานศิลปะ แต่ไปซื้อรถเบนซ์ 20 ล้าน คนมีสตางค์ไม่มีรสนิยม ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น สิ่งที่ทำให้ล่าช้าเพราะรัฐบาลตาบอดทุกยุค ไม่มีนโยบายสนับสนุนจริง ไม่โตแต่ก็ไม่ตาย" สนกล่าว

วงการศิลปะก้าวหน้าดูจากเนื้อหางานสะท้อนสังคมที่สับสนวุ่นวาย ไร้มนุษยธรรม สับสนต่อคุณธรรม การแสวงหาค่านิยมใหม่ๆ มีการท้าทายขนบนิยมตลอดเวลา แต่จะได้รับการยอมรับหรือไม่ ต้องอาศัยเวลาบ่มเพาะศิลปิน ต้องให้กำลังใจและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชีวิต

ที่สำคัญ "อย่าหลงทาง" เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเข้าไปอยู่ในวังวนธุรกิจ และการประกันคุณภาพการทำงาน จะเกิดกลไกครอบ "ความก้าวหน้า" คนอยากก้าวหน้าต้องทำสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของ "ศิลปิน" เพราะมาตรฐานความรู้ด้านศิลปะอยู่ใน "ตัวคน" ไม่ได้อยู่ที่ตำรา สนกล่าวในที่สุดว่า

"เวลานี้มีสอนศิลปะหลายแห่ง แต่ที่ผลิตศิลปินได้ยังเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะที่อื่นสอนเด็กเป็นความรู้ เราทวนกระแส ไม่ยึดติดความรู้ เพียงแค่รู้หลัก เรื่องอื่นก็ไปท้าทายแสวงหากันต่อไป"

ไม่ว่าโลกจะหมุนไปอย่างไร ศิลปะสากลจะไปไกลแค่ไหน งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปอย่างช้าๆ จนกว่าจะมีสิ่งที่ "ลัดเวลา" เพื่อค้นหา "ความเป็นศิลปะร่วมสมัยของไทย" เราก็จะได้เห็นวงการศิลปะไทยก้าวกระโดด ซึ่งเป็นก้าวเดียวกับความศิวิไลซ์ของสังคมโดยรวมเช่นกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us