Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
Red tides ปรากฏการณ์แพร่กระจายของสาหร่าย             
โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
 


   
search resources

Environment




มักมีข่าว red tides หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสีเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ในอ่าวไทยบ้าง ในทะเลใกล้ๆ และในทะเลย่านอื่นๆ บ้าง แต่มีคนไม่มากนักที่รู้ว่า red tides นี้คืออะไรกันแน่ และเราจะจับสัตว์น้ำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หรือเราควรระวังไว้เช่นเดียวกับการกิน เป็ด ไก่ ต้องระวังโรคหวัดนก หรือการกินเนื้อวัวต้องระวังโรควัวบ้า

Red tides หรือ ปรากฏการณ์สาหร่ายแพร่กระจาย มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มีมาแต่โบราณกาลแล้ว ในคัมภีร์ไบเบิลเล่มเก่า ตอนที่ชื่อว่า Exodus ซึ่งบรรยายถึงการอพยพครั้งใหญ่ของชาวยิวในสมัยคริสตกาล ได้กล่าวไว้ว่า มีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้น 10 โรคในครั้งนั้น หนึ่งในโรคระบาดนั้นคือการเจ็บป่วยที่เกิดจาก red tides หรือสภาวะที่น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดง ปลาลอยขึ้นมาตายเป็นแพ และน้ำมีกลิ่นเหม็นคลุ้ง มีคนตายจำนวนมากจากการกินสัตว์น้ำเป็นอาหาร โดยคัมภีร์ไบเบิลระบุไว้ว่า เป็นเพราะพระเจ้าทรงลงโทษและบันดาลให้เป็นไป ต่อมาจึงทราบว่ามีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของสาหร่ายจำพวกหนึ่ง

red tides คืออะไรกันแน่

สาหร่ายในทะเลมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าต้นไม้ใต้ทะเล ประเภทที่มีขนาดเล็กมากส่วนใหญ่จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำ เรียกว่า phytoplankton และมักจะมีการแพร่ระบาดเป็นครั้งคราวเมื่อมีสภาพที่เหมาะสม สภาพที่เหมาะสมคือมีสารอาหารและแสงแดดเพียงพอ สาหร่ายเล็กๆ เหล่านี้จะสังเคราะห์แสงและแพร่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้ท้องทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดเปลี่ยนเป็นสีแดง บางชนิดก็เป็นสีเขียวปนเหลือง ชนิดของ phytoplankton ที่ทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงนั่นแหละที่มีอันตราย ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า red tides นักวิทยาศาสตร์เลือกที่จะใช้คำว่า harmful algae bloom มากกว่าคำว่า red tides เพราะให้ความหมายที่ตรงกว่าและชัดกว่า ในท้องทะเลแอตแลนติกเหนือบริเวณชายฝั่ง New England ของสหรัฐฯ มีการสำรวจพบ phytoplankton 60 ชนิด มีเพียง 4-5 ชนิดเท่านั้นที่เป็นอันตราย

เมื่อ red tides ระบาดอยู่สองสามวันแล้วก็จะสลายตัวไป แต่วงจรชีวิตของมันมิใช่จบอยู่แต่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อมันตายลงจะสร้างปลอกหรือ cyst หุ้มตัวไว้ แล้วปล่อยตัวให้จมลงสู่ก้นทะเล แม้น้ำที่เย็นมากก็อยู่รอดได้ เมื่อมีคลื่นลมหรือกระแสน้ำขึ้นน้ำลงก็สามารถพา cyst พวกนี้ขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้อีก และถ้าได้แสงแดดและสารอาหารพอเพียง มันก็พร้อมที่จะ bloom ขึ้นมาอีกในครั้งต่อไป การที่มีน้ำขึ้นน้ำลงและคลื่นลมในทะเลช่วยให้มันฟื้นขึ้นมาอีกได้ ผู้คนในสมัยก่อนจึงเรียกมันว่า red tides ด้วยคำว่า tides แปลว่า น้ำขึ้น น้ำลง

สารอาหารสำหรับสาหร่ายเล็กๆ พวกนี้ คือ สารประกอบไนเตรทและฟอสเฟต สารประกอบพวกนี้มิได้มาจากที่แปลกใด แต่อยู่ในสารซักฟอกในน้ำชะล้างสิ่งสกปรกจากครัวเรือนนี้เอง อีกส่วนหนึ่งก็มาจากปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำที่ปนเปื้อนปุ๋ยเคมีและน้ำชะล้างสิ่งสกปรกในที่สุดก็จะไหลจากบนบกลงสู่ทะเล ในฤดูฝนที่มีน้ำหลากมาก สารพวกนี้ก็ไหลลงสู่ทะเลได้มากขึ้นด้วย ประกอบกับฤดูมรสุมมีคลื่นลมแรง ก็เป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของสาหร่ายได้ง่ายๆ

อันตรายที่มีต่อคน

อันตรายจากปรากฏการณ์ red tides จะมาถึงคนต่อเมื่อเรากินอาหารทะเลที่มีพิษของสาหร่ายเข้าไป หอยเป็นสัตว์น้ำที่ซึมซับสารพิษไว้ได้มากที่สุด มีข้อมูลวิจัยว่า หอยนางรมตัวใหญ่ๆ ตัวหนึ่งสามารถกรองสาหร่ายในน้ำทะเลไว้ได้ถึง 7 แกลลอน (24 ลิตร) ต่อชั่วโมง นั่นหมายถึง ในช่วงที่มี red tides หอยจะสามารถสะสมพิษไว้ได้มากทีเดียวใน 1 วัน ส่วนตัวหอยก็อ้วนท้วนแข็งแรง ไม่มีอาการผิดปกติอย่างใดเลย แต่คนที่กินหอยเข้าไปนั้นซิ ที่จะได้รับผลจากสารพิษที่สะสมอยู่ในตัวหอย นกก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่จะได้รับผลได้เช่นเดียวกับคน เมื่อบริโภคสัตว์น้ำที่มีพิษของสาหร่าย

สัตว์น้ำบางอย่าง เช่น ปลามีครีบ (finned-fish) กุ้ง lobster กุ้งเล็ก (shrimp) และ ปู ไม่กินสาหร่ายพวกนี้ เราจึงสามารถจับสัตว์น้ำพวกนี้มากินได้อย่างปลอดภัย (แต่อาจจะมีเชื้อโรคอย่างอื่นก็ได้) มีผู้แนะว่า วิธีที่จะกินหอยให้ปลอดภัยขึ้น คือจับหอยเป็นๆ มาทิ้งไว้ในน้ำสะอาดหนึ่งอาทิตย์ เพื่อให้คายพิษ ทางที่ดีที่สุด หากชอบกินหอยมากๆ ก็ต้องคอยฟังข่าวและสังเกตว่าในพื้นที่นั้นมีปรากฏการณ์ red tides เกิดขึ้นอยู่หรือไม่ เท่าที่ผู้เขียนจำได้ เคยมีข่าวเล็กๆ รายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยฉบับหนึ่งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ว่า มีคุณหมอคนหนึ่งเกิดอาการเกร็งและเสียชีวิต หลังจากรับประทานหอยนางรมตัวใหญ่เข้าไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตรงกับข้อมูลทางวิชาการว่า สารพิษจาก red tide มักทำให้เกิดอาการต่อระบบประสาท อาจจะมีอาการเป็นอัมพาตภายใน 30 นาที จากที่กินอาหารทะเลเป็นพิษเข้าไป หรือมีอาการชาที่ริมฝีปาก มือสั่น หรืออาการซวนเซเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน พูดติดขัด ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เพื่อนๆ ในวงเสวนารอบโต๊ะอาหารเข้าใจไปได้ว่าเป็นอาการเมาสุรา ในกรณีที่รุนแรง อาการอัมพาตอาจจะเข้าไปจับที่ระบบการหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับคุณหมอรายนั้น แต่โชคดีที่สถิติระบุว่า ส่วนใหญ่จะไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่มีอาการผิดปกติหรืออาเจียนออกมาได้ทัน

ที่สำคัญคือขณะนี้ยังไม่มียาแก้พิษชนิดนี้ จำเป็นต้องอาศัยการปฐมพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ด้วยการกดท้องบริเวณกระเพาะและทำให้คลื่นไส้อาเจียน เพื่อเอาอาหารที่กินเข้าไปออกมา อาการเป็นพิษนี้มีระยะเวลาอยู่เพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะคลายตัวจนแทบไม่มีอาการหลงเหลืออยู่เลย เรียกได้ว่าเป็นอาการเฉียบพลัน ที่เราต้องเรียนรู้ไว้ โดยเฉพาะคนที่ชอบกินหอยทะเล

สุดท้ายเมื่อ red tides ค่อยๆ สลายตัว เพราะสาหร่ายเริ่มตายลง ก็ยังก่อให้เกิดปัญหาตบท้ายด้วยการดึงเอาออกซิเจนในน้ำไปย่อยสลายตัวมัน ทำให้น้ำทะเลเน่าเสียมีกลิ่นเหม็น ด้วยมีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ สภาพเช่นนี้จะเป็นอยู่ระยะหนึ่ง ผู้ที่ชื่นชอบทะเลต้องจึงต้องคอยระวัง นอกจากจะไม่กินหอยทะเลแล้ว ยังต้องไม่เล่นน้ำในช่วงนั้นอีกด้วย

red tides เกิดได้ที่ไหน เกิดเมื่อไร

อย่าเข้าใจผิดว่า red tides เกิดในทะเลเขตร้อนเพราะมีแสงแดดจัด red tides เกิดขึ้นได้ในทะเลทุกแห่ง ยกเว้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แม้แต่ในเขตอบอุ่นค่อนข้างหนาวก็เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ดังเช่น รัฐที่อยู่แถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า New England ซึ่งอยู่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ เคยเกิด red tides ระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 1972 และปี 2005 ได้มีการประกาศเตือนห้ามกินหอยทะเล จนผู้คนตกอกตกใจหยุดกินอาหารทะเลทุกอย่างกันไปพักใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวและขายอาหารทะเลซบเซาไปมิใช่น้อย สาเหตุที่เกิดเพราะปีนั้นมีฝนตกและหิมะละลายมากกว่าปกติ และยังมีลมพัดแรงขึ้นด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแถบ New England เป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้สรุปได้ว่า กระแสน้ำบนบกที่ไหลลงทะเลมีส่วนที่ทำให้เกิด red tides ได้มากทีเดียว ปีใดที่มีน้ำมากก็จะมีน้ำไหลลงทะเลมาก พร้อมๆ กับมีน้ำเสียจากครัวเรือนปนเปื้อนอยู่มากตามไปด้วย ประกอบกับปีที่ฝนตกมากก็จะมีกระแสคลื่น กระแสลมแรงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดการรวมตัวของสาหร่าย เกิดความเข้มข้น ณ บริเวณหนึ่ง เมื่อมีสารอาหารของสาหร่ายอยู่ด้วย มีแสงแดดพอเพียง ก็สามารถแพร่กระจายขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ในเมืองไทยก็น่าจะมี red tide เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่เราไม่มีข้อมูลเผยแพร่ และไม่มีหน่วยงานตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง ประชาชนจึงไม่ค่อยรับรู้และระวังตัวในเรื่องนี้กันมากนัก เรียกว่าตัวใครตัวมันก็แล้วกัน

เราจะมีวิธีการควบคุมได้อย่างไร

การเกิดปรากฏการณ์ red tides แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยแปรผันอีกอย่างหนึ่งที่เราควบคุมได้ คือสารอาหารในน้ำ หรือสารประกอบไนเตรทและฟอสเฟตที่เป็นอาหารของสาหร่ายที่ไหลปนเปื้อนมากับน้ำเสียบนบก แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมภูมิอากาศได้มากนัก แต่เราสามารถควบคุมน้ำเสียมิให้มีปริมาณสารประกอบไนเตรทและฟอสเฟตมากเกินไปได้ ด้วยการบำบัดหรือใช้สารอย่างอื่นทดแทน และมีระบบตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันพิษภัยจากปรากฏการณ์ red tides ได้ไม่น้อย ในสหรัฐฯ และประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรป จะมีระบบการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล เฝ้าระวังการเกิด red tides รวมทั้งมีการตรวจสอบสภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อพบสารพิษอยู่ในสัตว์ทะเล ก็จะมีการประกาศเตือนภัยต่อผู้บริโภคเป็นการใหญ่

ถึงแม้ว่า red tides จะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลที่ไม่ใหญ่หลวงนัก แต่ก็มีผลต่อเศรษฐกิจและความปลอดภัยของชีวิตมิใช่น้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรจะออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้มากขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่า มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐอยู่บ้าง เพียงแต่ยังไม่มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนมากพอเท่านั้น ถ้าประชาชนทั่วไปได้รู้ไว้ ก็จะรู้จักป้องกันตัวได้บ้าง เป็นการลดความสูญเสียได้มิใช่น้อย โดยไม่ยากนัก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us