|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"จงอย่าพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่" เป็นปรัชญาของคุณหมอท่านหนึ่งที่ผันแปรตัวเองจากวิชาชีพแพทย์ มาเอาดีด้านการบริหารและการลงทุน โดยเริ่มทดลองการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต ก่อนที่จะบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่อเมริกาที่มหาวิทยาลัย John Hopkins ทางด้าน Health Science (MHS) Health Finance & Management พร้อมด้วย MBA จากมหาวิทยาลัย Colorado State
แทนที่จะเอาดีทางด้านวิชาชีพแพทย์ กลับหันมาเอาดีทางด้านการลงทุนในตลาดทุนและการทำธุรกิจส่วนตัวจนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ
หลายคนคงคุ้นเคยกับคำพูดว่า "จงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่" เพราะนั่นหมายความว่ารู้จักเพียงพอกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งเป็นปรัชญาของไทยมาเป็นเวลานาน แต่ทำไม นพ.ชวลิต จรัสโชติพินิต กลับแปลงสุภาษิตดังกล่าวไปอีกลักษณะตรงกันข้าม ซึ่งดูเหมือนว่าขัดแย้งกับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ค่อนข้างชอบความสะดวกสบายและไม่ต้องการดิ้นรน
นพ.ชวลิตให้เหตุผลว่า การคิดในแนวดังกล่าวจะทำให้คนเรา "ไม่อยู่นิ่งและคิดหาวิธีการใหม่ๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้เจริญขึ้นและไม่น่าเบื่อ เพราะมีสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตลอดเวลาทำให้มีความท้าทาย มีพลังในการคิดค้นหาเหตุผลและทำให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่อยู่เฉย"
เขาเชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบเก่าๆ คือเป็นหมอรักษาคนไข้ เป็นงานอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนที่เรียนจบมาทางด้านวิชาชีพอิสระอย่างหมอ ซึ่งเป็นอาชีพที่ดี มีเกียรติ และเป็นที่ยกย่องเคารพนับถือในสังคมไทย
"อาจารย์ผมคนหนึ่งทำงานเป็นหมอรักษาคนไข้ทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ประมาณ 30 ปี มีเงินเก็บประมาณ 30 ล้านบาท"
แต่คนที่คิดนอกกรอบและเปลี่ยนอาชีพ หรือวิธีการก็สามารถหารายได้จำนวนเดียวกันในระยะเวลาที่น้อยลง และเขาเองก็เป็นคนอย่างนั้น
เขายกตัวอย่างให้ฟังว่าในสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เขามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชาที่มักจะสอนให้ท่องจำมากนัก แต่ก็สามารถผ่านเกณฑ์การสอบได้ และมีเพื่อนที่มักจะคร่ำเคร่งกับการเรียนโดยมุ่งหวังความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือได้เกรดดีๆ จนบางครั้งขาดเรื่องมนุษยสัมพันธ์หรือละเลยเรื่องอื่นๆ ไป โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้ป่วยหรือคนอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกันได้ระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะสื่อสารกันคนละภาษา
มีตัวอย่างให้เห็นกันบ่อยๆ เพราะเมื่อเรียนจบแพทย์ก็ต้องไปใช้ทุน แล้วค่อยกลับมาเรียนทางด้านแพทย์เฉพาะทาง ปรากฏว่ามีบางครั้งแพทย์ที่เรียนเก่งกลับไม่ได้รับการคัดเลือกให้เรียนเฉพาะทางเพราะไม่สามารถสื่อสารหรือทำความเข้าใจกับผู้ป่วยได้ ทั้งๆ ที่ผลการเรียนหรือเกรดอยู่ในระดับแนวหน้าด้วยซ้ำ แต่อาจารย์แพทย์กลับพิจารณาคนที่ได้ผลการเรียนน้อยกว่า เพราะสามารถสื่อสารและทำความเข้าใจได้ดีกว่า
"ตัวอย่างเช่น คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ท่านก็ไม่ได้เป็นแพทย์ที่เรียนเก่งมาก แต่ท่านก็ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและเป็นคนมีชื่อเสียง หากเราทบทวนดูก็มีแพทย์หลายคนที่มีลักษณะเช่นนี้"
ทั้งนี้เพราะบ่อยครั้งการเรียนหนักและคร่ำเคร่งกับตำรับตำราและข้อมูลวิชาการนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ที่สำคัญคือการเรียนรู้ด้วยจิตใจ เข้าใจเรื่องราวต่างๆ อย่างถูกต้องมีเหตุมีผล ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมเป็นประโยชน์และถูกต้องดีกว่าการเรียนรู้แบบท่องจำซึ่งเป็นที่นิยมกันในการเรียนการสอนแบบไทยๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
สำหรับองค์ประกอบความสำเร็จ ทั้งด้านการเรียนและการประกอบอาชีพ ที่หมอท่านนี้สะสมมานั่นคือ "การเป็นผู้ฟังที่ดีและการรักษาวาจาสัตย์ และการเรียนรู้ด้วยใจที่เรียกว่า Learned by heart" หรือการให้ความสนใจเรียนรู้ให้ถ่องแท้ชัดเจน
เขาเปรียบเทียบการเรียนการสอนระหว่างไทยกับอเมริกาว่า เมืองไทยมักสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยการ "ท่องจำ" โดยผู้สอนมักจะเป็นคนบอกให้นักเรียนนักศึกษาจดตามคำพูดหรือสไลด์ที่ผู้สอนนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน แต่ทางอเมริกานั้นสอนให้ผู้เรียนใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ทำให้สามารถแยกแยะว่าอะไรดี ไม่ดี เพราะเหตุผลอะไร ตัวอย่างเช่น บางคนบอกว่าหากเรียนกฎหมายต้องเรียนที่จุฬาลงกรณ์หรือธรรมศาสตร์ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง เนื่องจากบอกเล่ากันมา
"หากบอกผมอย่างนี้ผมจะไม่เชื่อ เพราะยังมีที่เรียนอื่นๆ เช่นรามคำแหงก็สอนกฎหมายเหมือนกัน แต่หากบอกว่าสถาบันแต่ละแห่งนั้นดีอย่างไร มีจุดเด่นอย่างไร การเรียนการสอนเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุผล ผมก็จะรับมาพิจารณาเพราะใช้เหตุผล ไม่ใช่ฟังเขาเล่าต่อๆ กันมา หรือว่าเพราะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือมีพรรคพวกเรียนอยู่และจบมาบอกว่าดี อย่างนี้ไม่ถูกต้อง"
เมื่อถูกถามถึงประสบการณ์วัยเด็กและพื้นเพอาชีพเดิม เขาบอกว่าพ่อเป็นพ่อค้าเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊และมักจะพูดเข้าหูเสมอๆ ว่า "อย่าเรียนเลยหนังสือ เสียเวลาเปล่าๆ ค้าขายรวยกว่า พ่อมักบ่นว่าเรียนไปทำไมหนังสือ ออกมาค้าขายดีกว่า ไม่เสียเวลา"
ทำให้เขารู้สึกกลัวว่าหากอ่านหนังสือ หรือเรียนหนังสือแล้วจะถูก "พ่อว่า" ดังนั้นเขามักจะเอาหนังสือมาแอบอ่านหลบๆ พ่ออยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยวัยเด็ก ทำให้เขาเรียนด้วยการสอบเทียบทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยเรียนไม่จบหลักสูตร เพราะสอบเทียบผ่านมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดไตรมิตร สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่เรียนมัธยมปีที่ 4 แต่สอบได้คณะเทคนิคการแพทย์ซึ่งเขายังไม่ชอบ และปีต่อมาเมื่อเขาเรียนมัธยมปีที่ 5 ก็สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ และเรียนมาจนจบ
แม้มีความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนไปเรียนทางด้านบริหารธุรกิจ โดยลาออกจากนักศึกษาแพทย์ตามที่ใจปรารถนา แต่มีอาจารย์ทักท้วงเอาไว้
"ผมได้งานทำในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ เพราะเรียนจบทางด้านแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และผันตัวเองไปเรียนปริญญาโททางด้านการบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่มุ่งเน้นเรียนทางด้านการแพทย์เฉพาะทางและกลับมารักษาคนไข้ แต่ผมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 เพราะคิดจะลาออกไปเรียนทางด้านการบริหารโดยการสอบเอนทรานซ์ใหม่ แต่มีอาจารย์คนหนึ่งแนะนำว่า"ควรเรียนแพทย์ให้จบเสียก่อนเพราะจะได้มีวิชาชีพ หลังจากนั้นแล้วค่อยไปเรียนทางด้านบริหารในต่างประเทศน่าจะดีกว่า"ผมจึงเรียนแพทย์จนจบและไปใช้ทุนที่จังหวัดนครราชสีมา ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา"
"ตอนแรกผมคิดผิดที่ไปใช้ทุนที่โคราช เพราะที่นั่นไม่มีที่เรียนภาษาเลย ผมต้องวิ่งรอกไปเรียนภาษาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อทดสอบทางด้านภาษาก่อนจะไปเรียนต่อที่อเมริกา แต่ก็เป็นประสบการณ์ในการทำงานที่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะได้ใช้ชีวิตที่อิสระและเรียนรู้อะไรมากขึ้น เมื่อใช้ทุนเสร็จผมก็บินไปเรียนต่อที่อเมริกา และเรียนรู้เพิ่มเติมทางด้านการบริหาร นอกเหนือจากด้านการแพทย์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับผมมาก และผมก็กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเอกชนอีก 2-3 แห่ง แต่ผมคิดว่าเวลาที่ผมทุ่มเทให้กับงานในโรงพยาบาลเอกชนนั้นเป็นงานที่กินเวลาผมไปแทบจะหมดทั้งชีวิต ทำให้ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เริ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็น แถมบางกรณียังต้องออกไปพบปะบุคคลภายนอก ทำให้บริหารเวลาค่อนข้างยาก เพราะผมมีคลินิกส่วนตัวต้องทำ และมีธุรกิจของครอบครัวที่ต้องดู และทำให้การทำงานยากขึ้น ที่สำคัญ เขาบอกผมว่าห้ามไม่ให้ติดตามความเคลื่อนไหวของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะอาจจะทำให้เสียภาพพจน์ของโรงพยาบาล หากมีใครมาเห็นเข้า ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่กดดันเกินไป เพราะนี่เป็นสิทธิส่วนตัวที่ไม่กระทบต่อเรื่องงานของผม"
ด้วยเหตุนี้เขาจึงลองมาพิจารณาผลตอบแทนจากเงินเดือนที่ได้จากการเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล และธุรกิจ และการลงทุนที่เขามีอยู่ และพบว่ารายได้นั้นเป็นรายได้รอง เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า "ผมมีรายได้เดือนละเป็นแสนจากการเป็นผู้บริหาร แต่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดร้อยละ 30 และต้องเสียเวลาแทบจะทั้งหมดเพื่องานดังกล่าว"
ขณะที่เขาเสียเวลาน้อยกว่าในการวิเคราะห์การลงทุน และการดูแลคลินิกและกิจการของครอบครัว แต่ให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งให้ประสบการณ์ที่ดีและสร้างผลตอบแทนให้เขาดีที่สุด นั่นเป็นความประทับใจที่ได้จาก "อย่าพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่"
"ผมเริ่มเล่นหุ้นเป็นสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 ซึ่งตามปกติ คนที่เรียนทางด้านแพทย์จะต้องมีการค้ำประกัน ในวงเงิน 400,000 บาท หรือไม่ก็ต้องมีข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจมาเป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้นเขาจึงได้เปลี่ยนผู้ค้ำประกัน โดยให้ญาติที่เป็นข้าราชการมาค้ำประกัน หลังจากนั้นก็นำเงิน 400,000 บาทมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” และโชคก็เข้าข้างเขา เขาได้ผลตอบแทนจากหุ้นในอัตราที่น่าพอใจ โดยทำให้เขามีเงินล้านได้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ และจากทุนเริ่มต้นดังกล่าวทำให้เขามีทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุนมากพอๆ กับ คุณหมอที่ทุ่มเทเวลาในการรักษาคนไข้มากว่า 30 ปี แต่เก็บเงินได้ประมาณ 30 ล้านบาท ขณะที่เขาใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่า แต่ได้ผลงานที่ดีหากเทียบกันในเรื่องเงื่อนเวลา
สำหรับประสบการณ์ในการลงทุนในเรื่องหุ้นนั้น เขาค่อนข้างมีพอสมควร เพราะเขาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่สมัยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง และผ่านพ้นมรสุมตลาดหุ้นดิ่งเหวได้โดยไม่เสียหาย และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เมื่อไปเรียนที่อเมริกา เขาก็ไปลงทุนที่ตลาดหุ้นอเมริกา ทำให้เขาสั่งสมประสบการณ์และใช้อาชีพ "นักลงทุน"ได้อย่างผู้ชนะ เพราะสามารถหยิบเงินจากตลาดได้
เขากล่าวถึงเรื่องการลงทุนในหุ้นอย่างค่อนข้างระมัดระวังว่า "ผมยังไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จที่มีทุนเริ่มต้นจาก 400,000 บาท แต่สามารถสร้างการเติบโตของเม็ดเงินได้เป็นเลข 9 หลัก ด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่ารู้จักจังหวะในการลงทุน และก่อนการลงทุนมีการศึกษาข้อมูลของหุ้นนั้นอย่างละเอียด ทั้งด้านปัจจัยพื้นฐาน และทางเทคนิค หลังจากนั้นก็หาจังหวะในการลงทุนที่เหมาะสม และหากคิดว่า "ไม่ใช่" ก็ต้องลดการลงทุนทันทีแม้ว่าจะเสียหายก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเพื่อนผมที่เป็นหมอหลายคน เห็นผมกำไรจากหุ้น ก็เอาเงินมาลงทุนบ้าง แต่ปรากฏว่าลงไปลงมาขาดทุนจนต้องเป็นหนี้ก็มี ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้น จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ และมองตลาดที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เพราะคนเล่นหุ้นนั้นส่วนใหญ่มักจะเสียมากกว่าได้ คนที่ได้จริงๆ ในตลาดหุ้นมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น"
"มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณพ่อผมเห็นหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ราคาถูก คืออยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท ท่านก็สั่งผมว่าให้ซื้อหุ้น TMB ให้สัก 500,000 หุ้น ผมมาพิจารณาดูแล้วเห็นว่าแนวโน้มหุ้นยังลงอยู่ เลยทำเฉยไม่ซื้อให้ เพราะคาดว่าหากซื้อเข้าไปคงจะขาดทุนและเสียหายจากมูลค่าหุ้น ก็เลยทำเฉยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งท่านคุยกับเพื่อนของท่าน แล้วก็ถามว่า ซื้อหุ้น TMB ให้แล้วหรือยัง ผมบอกว่ายังไม่ได้ซื้อท่านเลยต่อว่า จึงกัดฟันซื้อให้เพราะไม่อยากถูกบ่น ประมาณ 1.30 บาทต่อหุ้น ประมาณนั้น และราคาหุ้นก็ปรับขึ้นมาสัก 1-2 สตางค์ ก็บอกให้ท่านขาย เพราะเห็นว่าแนวโน้มไม่ดี ราคาหุ้นน่าจะลงได้อีก ท่านก็ต่อว่าผมว่าเล่นหุ้นอย่างไรกำไรแค่ตังค์สองตังค์ก็ขายแล้ว ปรากฏว่าหลังจากนั้นราคาหุ้น TMB ก็ลงมาอย่างที่เห็นต่ำกว่าบาท ทั้งนี้เพราะท่านไปฟังข้อมูลภายนอกและเชื่อมากเกินไป แต่ผมจะพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ปัจจัยรวมๆ กันเพื่อหาทิศทางตลาดและกลยุทธ์การลงทุน"
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาบอกว่าเขาเอาตัวรอดได้ในการลงทุน และดูเหมือนเป็นคนคนเดียวในครอบครัวที่ไม่มีปัญหาเรื่องขาดทุนหุ้น แต่หยิบกำไรจากตลาดหุ้นมาได้
แม้ว่านายแพทย์ชวลิตจะยังเป็นนักลงทุน แต่เขาก็ไม่ได้ซื้อขายหุ้นทุกวัน แต่เขาติดตามสถานการณ์การลงทุนเสมอ และลงทุนเมื่อมีโอกาส แต่เริ่มมีการ "ใช้เงินไปทำงาน" โดยเขาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าคลินิก และนำสินค้าด้านสุขภาพมาจำหน่าย โดยมีการติดตามเรื่องการลงทุนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้เขามีเวลาในการพิจารณาและศึกษาข้อมูลมากขึ้น สำหรับหุ้นที่สร้างความประทับใจให้เขามีกำไรเช่น UMS GEN SYNTEC PTTAR JAS TTA และหุ้นอื่นๆอีกหลายตัวที่เขาสามารถหยิบกำไรระดับหลักล้านได้อย่างไม่ยากนัก
ส่วนอนาคต เขาหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะเดินทางสายการเมือง เพราะการเมืองไทยยามนี้ดูเหมือนว่าคนที่เข้าไปอยู่ในวังวนดังกล่าวมาจากหลากหลายอาชีพ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาชีพทางด้านนักกฎหมายค่อนข้างมาก หากได้คนที่มีความรู้ด้านอื่นๆ เข้าไปบ้างการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น
นั่นเป็นความหวังอย่างหนึ่งของแพทย์เจ้าของวลีว่า "จงอย่าพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่"
|
|
|
|
|