|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในขณะที่เรากำลังกินยาแก้ท้องเสีย หรือยาแก้ไข้ แทบจะไม่ได้สนใจว่ายาที่ใช้มีแหล่งผลิตมาจากไหน เป็นของใคร ทว่าโลโกอักษรภาษาอังกฤษสีแดง 3 ตัว SMC พื้นด้านหลังสีเขียวที่ติดอยู่บนกล่องยา มีเจ้าของเป็นบริษัทคนไทยที่มีตำนานผลิตยามานานกว่า 62 ปี
แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาถึง 62 ปี ทว่าบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ท่ามกลางกระแสการแข่งขันธุรกิจยาที่ทวีความรุนแรงภายใต้โลกาภิวัตน์
ปรียา สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ในฐานะลูกสาวผู้สืบทอดกิจการรุ่นที่ 2 ของนพ.เกริก ผลนิวาส ผู้เป็นพ่อที่วางรากฐานธุรกิจมากว่า 30 ปีก่อนที่จะปล่อยให้เธอมาสานต่อธุรกิจในฐานะผู้บริหาร
นพ.เกริก ผลนิวาส และพญ.จรูญ ผลนิวาส คู่สามีภรรยาที่ปัจจุบันมีอายุ 94 ปีในปีนี้ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ร่วมกับเพื่อนอีก 5-6 คน เมื่อปี พ.ศ.2489 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดได้เพียง 1 ปี
เพื่อนร่วมทำธุรกิจเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง อาทิ พญ.ไทยเชียง ธรรมารักษ์ เป็นแพทย์มือหนึ่งด้านทำคลอด หรือแม้แต่นพ.เกริก ก็เป็นนักเรียนแพทย์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากโรงพยาบาลศิริราช
การก่อเกิดของบริษัทสีลมการแพทย์ไม่ได้คาดหวังเพื่อแสวงหารายได้จากธุรกิจ ทว่ามีเป้าหมายเพื่อตั้งโรงงานผลิตยาที่ขาดแคลนในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะยาควินินเพื่อรักษาโรคมาลาเรียที่แพร่ระบาดไปทั่วสารทิศ
บริษัทแห่งนี้นอกจากผลิตยาแล้ว ยังเปิดเป็นคลินิกที่ระดมทั้งแพทย์ เภสัชกร เพื่อรักษาคนไข้ไปด้วยทำให้คนไข้เพิ่มมากขึ้นและความต้องการยาก็หลากหลายเช่นเดียวกัน
จึงทำให้บริษัทเริ่มผลิตยาเพิ่มหลายประเภท อาทิ ยาแก้ท้องร่วง ยาแก้ไข้ ยาน้ำ และแตกแขนงออกไปอีกหลายประเภทจนปัจจุบันมียาที่ผลิตอยู่กว่า 100 ประเภท
ด้วยพื้นฐานการก่อตั้งบริษัทที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์เพื่อผลิตยาใช้งานโดยไม่มีหัวทางด้านธุรกิจแม้แต่น้อย ในช่วงแรกที่ก่อตั้งจึงระดมทุนเพื่อนแพทย์ด้วยกันเองไม่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพราะในช่วงเวลานั้นธนาคารมีน้อย
ในฐานะที่เป็นแพทย์และมีความรู้ความชำนาญทางด้านการแพทย์มากกว่าธุรกิจจึงไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ
บริษัทจึงได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารงาน ส่วนนพ.เกริกในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งก็เพียงแต่เข้ามาดูแลธุรกิจได้เพียงวันละหนึ่งชั่วโมงเท่านั้นเพราะเวลาส่วนใหญ่ยังทุ่มเทให้กับการรักษาดูแลคนไข้มากกว่า
บริษัทเติบโตด้วยการผลิตยาป้อนให้กับโรงพยาบาลเป็นหลัก อาทิโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลตำรวจ
ยาของของสีลมการแพทย์ จึงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในกลุ่มโรงพยาบาลมากกว่าร้านขายยาทั่วไปเพราะไม่มีการโฆษณา
วิธีการบริหารงานของผู้บริหารรุ่นแรกจึงไม่หวือหวาเป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ แต่ก็มีเงินทุนก้อนหนึ่งขยายกิจการเปิดโรงงานผลิตยาที่พญาไท บนเนื้อที่ไม่ถึงหนึ่งไร่และเป็นโรงงานที่ยังผลิตยาอยู่จนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่นพ.เกริกได้ดูแลกิจการมากว่า 30 ปีก็ได้ส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่น 2 พี่ชายของปรียาเข้ามาดูแลส่วนการตลาด ส่วนปรียาเข้าไปดูแลโรงงานแต่หลังจากที่พี่ชายได้เกษียณทำงาน ทำให้ปรียากลายเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมด
แม้ว่าธุรกิจจะเปลี่ยนผ่านจากรุ่นแรกมาสู่รุ่นที่ 2 แล้วก็ตามแต่บริษัทสีลมการแพทย์ฯ ก็ยังยึดหลักการบริหารในรูปแบบของธุรกิจขนาดกลาง หรือในปัจจุบันที่มักจะเรียกกลุ่มธุรกิจนี้ว่าเป็นผู้ประกอบการ SMEs
ปรียาบอกว่าการทำธุรกิจของสีลมการแพทย์จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของในหลวง ใช้เงินลงทุนจากรายได้ของกิจการ ไม่มีการบริหารงานจนเกินตัวจนไม่สามารถควบคุมได้
ดูเหมือนว่าแนวการทำงานของรุ่น 2 จะยึดหลักของรุ่นแรกไว้อย่างเหนียวแน่น
และการยึดหลักการบริหารงานเหมือนเช่นรุ่นแรก จึงทำให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจหรือต้มยำกุ้งในปี 2540 มาได้
"ในช่วงเวลานั้นบริษัทไม่ได้ลดคนงาน แต่บริษัทรับมือกับวิกฤติด้วยการทำงานใกล้ชิดมากขึ้นและควบคุมการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด และลดเงินเดือนผู้บริหาร รายงานสถานการณ์พูดคุยกันอย่างต่อเนื่องจนสามารถประคับประคองบริษัทรอดพ้นวิกฤติมาได้" ปรียาบอกกับ "ผู้จัดการฯ"
ทว่าบริษัทจะยึดหลักการทำงานของผู้ก่อตั้งรุ่นแรกไว้ก็ตามแต่แนวทางการบริหารงานของบริษัทก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป
การบริหารงานของรุ่นแรกจะแตกต่างจากรุ่น 2 โดยรุ่น 2 จะดูแลกิจการใกล้ชิดมากขึ้น จ้างผู้เชี่ยวชาญหลายด้านเข้ามาทำงาน ผู้บริหารดูแลโรงงาน เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด
ซึ่งการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง ปรียารู้ดีว่าไม่สามารถต้านกระแสการแข่งขันที่ถาโถมเข้ามาทั้งคู่แข่งภายในประเทศและต่างประเทศ
การแข่งขันภายในประเทศ บริษัทไม่ได้แข่งขันกับผู้ผลิตภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับองค์การเภสัชกรผู้ผลิตยารายใหญ่ที่ผลิตและจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐ และนโยบายการเปิดเสรีการค้าข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศหรือภูมิภาคหรือที่เรียกว่า MRA (Mutual Recognition Agreement) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้จะส่งให้ยาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังต้องรับมือกับการเปิดเสรีการค้ายาภายใต้ข้อตกลง FTA ที่มีผลไปแล้วก่อนหน้านี้
การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทสีลมการแพทย์ฯ รู้ล่วงหน้า ทำให้ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวตลอดโดยยึดหลักไม่ขยายกิจการให้โตจนเกินไป
ในช่วงปี 2544 บริษัทมีนโยบายจ้างบริษัทภายนอก 4 ราย เป็นผู้ผลิตยาภายใต้ใบอนุญาตของบริษัทเพื่อควบคุมต้นทุน
การพัฒนามาตรฐานการผลิตยาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่บริษัทสีลมการแพทย์ทำมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทเข้าโครงการกลุ่มอุตสาหกรรมยาผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม จนได้รับมาตรฐานการผลิต ISO 9001 เมื่อปี 2543 และปรับมาเป็นมาตรฐาน ISO2000
เมื่อปี 2546 ได้รับมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งบริษัทสีลมการแพทย์ เป็น SME รายแรกของไทยที่ได้มาตรฐานดังกล่าว
นอกจากการพัฒนามาตรฐานการขนส่งยาเป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องดูแลเพราะยาบางประเภท เช่นยาตาจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นและเหมาะสม จึงทำให้บริษัทว่าจ้างบริษัทดีทแฮล์มจัดจำหน่าย เพื่อรักษาคุณภาพของยาจนถึงมือผู้รับ
หรือแม้แต่กระบวนการผลิตยาที่นำสติกเกอร์ม้วนมาใช้ในการปิดฉลากบนสินค้า ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่ใช้สติกเกอร์ปิด 2 ด้าน ที่อาจทำให้ติดสติกเกอร์ผิดพลาดได้ง่ายซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ปี 2551 บริษัทได้จัดซื้อเครื่องจักรเพื่อให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น รวมถึงการย้ายแผนกวิจัยและพัฒนาไปอยู่สำนักงานใหญ่ จากเดิมที่อยู่พญาไทเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารงาน
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของบริษัทสีลมการแพทย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายพัฒนามาตรฐานให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล รวมทั้งศึกษายาชื่อสามัญ (Generic Drug) ให้เทียบเท่ากับต้นแบบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ (Innovator) ซึ่งเป็นการศึกษาชีวสมมูล (Bioequivalence Study)
จากนโยบายการจ้างบริษัทภายนอกเป็นผู้ผลิตยาและอยู่ภายใต้มาตรฐานของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทหันไปเน้นการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนในการจำหน่ายยาจะขายให้กับโรงพยาบาลในสัดส่วน 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% จะจำหน่ายให้กับร้านขายยา
การทำตลาดจะผ่านเภสัชกรที่เรียกว่าดีเทลเลอร์ ที่สามารถเข้าไปคุยได้ทั้งหมอและเภสัช ส่วนพนักงานขายทั่วไปที่ได้รับการอบรม ก็สามารถคุยได้ทั้งหมอและเภสัช แต่ถ้าเป็นยาเฉพาะด้านจะมีทีมงานนักวิชาการช่วยสนับสนุน
วิธีการสร้างแบรนด์ของบริษัท บริษัทเลือกที่จะไม่ใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพราะแนวทางดังกล่าวไม่เหมาะจะต้องใช้เงินทุ่มทุนมหาศาล และมีฐานร้านจำหน่ายยาที่แข็งแรง ในขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าเป็นโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดีบริษัทเคยมีบทเรียนจากการใช้สื่อโฆษณามาแล้วเมื่อในอดีต 20 กว่าปีที่ผ่านมา และยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อเพราะใช้เงินไม่เพียงพอ
การปรับเปลี่ยนของบริษัทสีลมการแพทย์เป็นไปตามวิวัฒนาการใหม่ๆ ของวงการแพทย์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาธุรกิจของผู้เป็นบิดาที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน
หลายครั้งที่บริษัทสีลมการแพทย์สามารถฝ่าวิกฤติมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะอายุของธุรกิจที่มีมายาวนาน ทำให้ไม่ต้องลงทุนธุรกิจมากมาย และโรงงานที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 30 ปี ช่วยเป็นรากฐานที่พยุงให้ธุรกิจยังอยู่จนถึงปัจจุบัน
ปรียาบอกกับ "ผู้จัดการฯ" ว่า บริษัทสีลมการแพทย์ยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะกินของเก่าที่มีอยู่ไม่ต้องลงทุนธุรกิจใหม่มากมาย
การที่จะหวังพึ่งพิงรัฐบาลให้มาช่วยเหลือธุรกิจยาในประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะวิสัยทัศน์การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจยาในไทยยังไร้ทิศทางและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทไม่กล้าที่จะขยายธุรกิจออกไปใหญ่โต
การช่วยเหลือตนเองเป็นสิ่งแรกเป็นสิ่งที่ปรียามองว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินใจถูกต้อง เธอก็หวังแต่เพียงว่ารุ่นที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานของเธอเอง หรือของหุ้นส่วนจะสืบทอดจะรักษากิจการไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
|
|
|
|
|