Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
ตัวแทนความจริงใจของไทยกับเพื่อนบ้าน             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
www resources

โฮมเพจ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

   
search resources

สรจักร เกษมสุวรรณ
International
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา




ในทางภูมิศาสตร์ ไทยซึ่งอยู่ในจุดกึ่งกลางของ GMS น่าจะได้ประโยชน์จากการเป็นภูมิภาคที่กำลังมีพัฒนาการที่เร้าใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับฉกฉวยโอกาสจากพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ไม่เต็มที่นัก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน นับจากอดีตจนปัจจุบัน มักจะแฝงไว้ด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จะด้วยมิติทางประวัติศาสตร์หรือเหตุผลใดก็ตาม แต่ความหวาดระแวงดังกล่าวได้ทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกับประเทศเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่นัก ทั้งที่โดยภูมิศาสตร์แล้ว ไทยถือว่าได้เปรียบมากที่สุด

ITD เป็นหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งมองเห็นถึงข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการแสวงหาหนทางสร้างผลประโยชน์ร่วมกันดังกล่าวนี้ สิ่งที่ ITD สามารถทำได้ คือการออกมาแสดงบทบาทเป็นตัวแทน บ่งบอกถึงความจริงใจ ที่ประเทศไทยมีให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา ยกระดับคุณภาพของบุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ ด้วยหวังว่าในอนาคต เมื่อประเทศเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาและมีรายได้เพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง ก็ต้องย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ITD หรือสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development) เป็นองค์กรมหาชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ผลการประชุมครั้งนั้น ได้มีข้อตกลงว่ารัฐบาลไทยกับอังค์ถัดจะร่วมกันจัดตั้งสถาบันขึ้นมา เพื่อทำงานด้านการสร้างเสริมศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปเอเซีย

"ปกติอังค์ถัดจะมีการประชุมกันทุก 4 ปี ทุกครั้งเมื่อประชุมเสร็จ ก็ไม่มีอะไรตามมา แต่คราวนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมได้ทิ้งอะไรไว้ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งคือการให้มีการจัดตั้ง ITD" สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการบริหาร ITD บอก

ปี 2544 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์กรมหาชน) ขึ้น หลังจากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ได้มีพิธีเปิดสถาบันแห่งนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีสถานที่ทำการอยู่ที่อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นองค์กรมหาชน องค์กรแรกๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้น นับจากพระราชบัญญัติองค์กรมหาชนถูกประกาศใช้ในปี 2542

ความหมายของการทำงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ ITD ต้องออกมาเล่นบทบาททางวิชาการ ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้น มีความรู้ ความสามารถ พร้อมกลับเข้าไปเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศของเขา

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย ที่ ITD ได้เข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาบุคลากรอย่างค่อนข้างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา คือประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ซึ่งประกอบด้วยไทย จีนตอนใต้ ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา โดยมีประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลาง รวมทั้งบทบาทในแง่ของงานวิจัย

แม้ว่า ITD จะเป็นองค์กรที่รับภาระหน้าที่หลักในเรื่องนี้ แต่ก็ได้ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร โดยเฉพาะในด้านการขอรับการสนับสนุนเงินทุน และการวางหลักสูตรการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของแต่ละประเทศ

องค์กรเครือข่ายที่เป็นพันธมิตรของ ITD ในภารกิจนี้ อาทิ ADB (Asian Development Bank), SDC (Swiss Development Corporation Agency), IIFT (Indian Institute of Foreign Trade) ฯลฯ

ในแง่บทบาทด้านการฝึกอบรม ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ITD ได้ร่วมกับ ADB ทำโครงการ Trade Facilitation and Capacity Building โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศในกลุ่ม GMS ให้มีความรู้ความเข้าใจระบบต่างๆ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ระบบขององค์กรการค้าโลก (WTO) ระบบกฎหมาย การจัดการปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคการค้าและบริการ

โดย ADB จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่ง รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมกับวิทยากรชาวไทยที่ ITD เป็นผู้จัดหามา เพื่ออบรมให้กับบุคลากรที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใน GMS คัดเลือกส่งเข้ามาอบรมที่ ITD ครั้งละประมาณ 30-35 คน และได้มีการอบรมไปแล้วหลายรุ่นด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ ITD ได้รับการสนับสนุนจาก SDC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาของรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ และ IIFT ของอินเดีย จัดทำเวิร์คชอปให้กับเจ้าของ หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศในกลุ่ม GMS ให้มีความรู้ในเรื่องกลไกการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในด้านภาพรวม อาทิ อุปสรรคทางการค้าทั้งทางด้านภาษี และไม่ใช่ภาษีที่ประเทศในกลุ่ม GMS กำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งมีการฝึกปฏิบัติในเรื่องกลไก และขั้นตอนการส่งออก ระบบโลจิสติกส์และระบบบัญชี

ที่ผ่านมา ITD ได้ออกไปจัดเวิร์คชอปให้กับผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้มาแล้วที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ของจีน และกรุงโฮจิมินห์ ซิตี้ ของประเทศเวียดนาม และมีเป้าหมายว่าจะไปจัดที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา กับมาจัดที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่ ITD ได้ทำให้กับสปป.ลาว โดยเฉพาะ คือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐบาลและภาคเอกชนของลาวให้มีความรู้และมีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการที่ลาวจะเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ในปี ค.ศ.2010 ซึ่งได้มีการจัดอบรมไปแล้วประมาณ 9 ครั้ง

อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือการจัดค่ายยุววานิช โดยการคัดเลือกเยาวชนจากลาว มาเข้าค่ายรวมกับเยาวชนไทย โดยภายในค่ายดังกล่าวจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้กับเยาวชนเหล่านี้แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ เพราะการที่เยาวชนจากทั้ง 2 ชาติ มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 7 วัน ย่อมเกิดเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ที่สามารถต่อยอดเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าต่อไปได้ในอนาคต

ในปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมา ITD ได้จัดค่ายยุววานิชไปแล้วประมาณ 5 ครั้ง ตามจังหวัดชายแดนไทย-ลาว คือที่เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี โดยเฉพาะค่ายที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการจัด 3 ฝ่าย คือมีเยาวชนจากไทย ลาว และกัมพูชามาร่วมเข้าค่าย

ITD ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีงบประมาณ 2552 ITD จะจัดค่ายยุววานิชในลักษณะ 3 ฝ่ายให้มากขึ้น และอาจจะขยายขึ้นไปทางเหนือ โดยการดึงเยาวชนจากพม่ามาร่วมเข้าค่ายด้วย

นอกจากความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมให้ความรู้แล้ว ITD ยังได้เข้าไปมีบทบาทในด้านการวิจัย โดยมีผลงานชิ้นแรกที่ทำเสร็จแล้ว คือโครงการศึกษาการพัฒนาการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพกลไกในการส่งออกข้าวของสปป.ลาว โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ITD ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลกลางของลาวให้เข้าไปศึกษาระบบการผลิตข้าว เพราะลาวต้องการจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียว
ITD จึงได้ร่วมกับสถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติ (NERI) ของสปป.ลาว ตั้งคณะวิจัยขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเข้าไปศึกษาระบบและกลไกการผลิตการค้าข้าวของลาวทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะช่วยพัฒนาและสามารถยกระดับให้ลาวสามารถเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวได้ การวิจัยครั้งนี้ ทำเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา และได้มีการประชุมสรุปผลการวิจัยไปเรียบร้อยแล้ว

ผลการวิจัยดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่าลาวควรตั้งเป้าในการส่งออกข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว และต้องมีการปรับแผนการผลิตใหม่ โดยในฤดูปลูกข้าวนาปี ให้เน้นปลูกข้าวเหนียวเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และในนาปรัง ให้เน้นปลูกข้าวเจ้าเพื่อการส่งออก

ถือเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ไปสร้างผลงานในระดับการจัดโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ITD ได้เริ่มงานวิจัยชิ้นใหม่ คือการส่งทีมไปศึกษาศักยภาพการลงทุนและผลกระทบเชิงสังคมที่เกิดขึ้นตามเส้นทางหมายเลข 9 (มุกดาหารของไทย-สะหวันนะเขตของลาว-เมืองเว้ของเวียตนาม) ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลอีกระยะหนึ่ง

ด้วยบทบาททั้งด้านวิชาการและงานวิจัย ที่ ITD ทำให้กับประเทศในกลุ่ม GMS เป็นส่วนใหญ่ ที่ได้ยกตัวอย่างมา ทำให้ชื่อของ ITD กลับกลายเป็นที่รู้จักกันในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐบาล และภาคเอกชนของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ในขณะที่คนไทย กลับมีน้อยคนที่รู้จัก ITD และเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้เลยว่า ITD เป็นหน่วยงานของไทย และมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

"ก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะบางคนพอผมบอกว่ามาจาก ITD เขาจะนึกว่าเป็นพนักงานของบริษัทอิตาเลียนไทย" วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ITD บอก

แต่ประเด็นการรู้จักหรือไม่ ยังไม่เท่ากับความเข้าใจของคนที่รู้จัก ITD ในบทบาทและหน้าที่ที่ ITD กำลังทำอยู่

"สมัยสนช. มีสมาชิกสนช. บางคนมาถามผมว่าทำถูกแล้วหรือที่เอาเงินของเราไปช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ ซึ่งผมก็ตอบว่าทำถูกแล้ว" สรจักรสะท้อนความรู้สึก

สรจักรถือเป็นคนที่มีความเข้าใจปมความสัมพันธ์ของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะเคยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในยุคที่สุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรี
โดยเฉพาะความเข้าใจที่หลายคนยังมีความเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้กลายมาเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต

ซึ่งแนวคิดเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดการหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และท้ายที่สุด ไทยเองกลับเป็นฝ่ายสูญเสียโอกาส หรือไม่ได้รับประโยชน์มากเท่าที่ควร

สรจักรเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านแนวคิดนี้อย่างที่สุด

"การที่ให้ลาวหรือกัมพูชา เขาโต เขามีเศรษฐกิจที่แข็งแรง มันก็คือผลประโยชน์ของไทย การที่เขาค้าขายได้ มีเงินเข้าประเทศ มันก็คือผลประโยชน์ของไทย โดยเฉพาะลาว กัมพูชา เขาซื้อของจากไทยมาก เพราะฉะนั้น การที่ให้เขามากเท่าไร เราก็จะได้คืนมากเท่านั้น ซึ่งคนอื่นเขาก็มองเหมือนเรา แล้วเขาก็ทำมากกว่าเราด้วย ทั้งจีนและเวียดนาม เขาก็มองเช่นกัน แล้วช่วงหลัง จีน เวียดนามเขาก็แซงเราไปแล้ว"

ด้วยปัจจัยดังกล่าว สรจักรมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศเพื่อนบ้านจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจกับไทย หนทางเดียวที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ คือไทยถอยหลังลงไปหาประเทศเหล่านี้เอง

"เพราะฉะนั้นในแง่ของ ITD อันไหนเราทำได้ เราก็จะทำ ถ้าเราพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การค้าของเขาได้ เราก็ควรจะทำ"

ITD ถือเป็นอีก 1 หน่วยงานของไทย ที่เข้าไปมีบทบาทอยู่ใน GMS ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่กำลังมีการเจริญเติบโตที่เร้าใจ และมีหลายประเทศที่ให้ความสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมกับกับเจริญเติบโตของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ เพียงแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากภาครัฐหรือเอกชน สิ่งหนึ่งซึ่งต้องแสดงให้เจ้าของประเทศในภูมิภาคนี้มองเห็น คือความจริงใจที่จะเข้าไปช่วยในการพัฒนา มิใช่หวังเพียงว่าจะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์กลับออกไปแต่เพียงฝ่ายเดียว

บทบาทในการยกระดับคุณภาพ เสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของแต่ละประเทศ จึงถือเป็นการแสดงความจริงใจในการช่วยพัฒนาประเทศเหล่านี้ ที่เด่นชัดที่สุด บทบาทนี้ของ ITD จึงเป็นบทบาทที่ไม่ควรมองข้ามไปได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us