Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
Special Report...Eyewitness American Economy in Collapse (No.1)             
โดย มานิตา เค.เบนท์ลี่ย์
 


   
search resources

Economics




ตะเข็บเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐอเมริกาเริ่มปริมาตั้งแต่ต้นปี 2007 จากการล่มสลายขององค์กรที่ให้กู้ยืมซับไพร์มที่มีความเสี่ยงสูง ปัญหาสินเชื่อซับไพร์มเปรียบเสมือนน้ำมันที่ราดลงบนกองไฟ ที่โหมกระหน่ำภาคการเงิน และลุกลามไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่รัฐบาลอเมริกาอ่อนแอที่สุด อ่อนแอในเชิงของการบริหารงานทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจแข็งแกร่ง ในแง่ที่สามารถกระทำการต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ เกิดการคอร์รัปชั่นในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดเหมือนในอดีต พฤติกรรมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก่อให้เกิดความโลภ และความโลภนี้เองนำไปสู่ความหายนะในปัจจุบัน

ปัญหาที่หยั่งรากลึกมาเป็นเวลานานหลายปี ไร้การควบคุม ได้ระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไปก่อนเป็นอันดับแรก ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมรีเทล และอื่นๆ ที่จะตามมาอีก

วิกฤติการณ์ครั้งนี้ถือเป็น Case Study ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้แก่คนไทย โดยรายงานพิเศษเฉพาะกิจชิ้นนี้ ขอเริ่มต้นด้วยลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียดให้ผู้อ่านเข้าใจว่าวิกฤติการณ์ที่ชาวอเมริกันและชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มีสาเหตุมาจากอะไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นมีการดำเนินมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการปูพื้นเรื่องราวที่ซับซ้อนนี้ให้ง่ายต่อการติดตามต่อไป

Timeline:

กุมภาพันธ์ 2007 : ระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี 2005 และไตรมาสแรกของปี 2006 ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาลดลงเฉลี่ย 3.3% และราคาได้ร่วงอย่างต่อเนื่องในปี 2007 ส่งผลให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ซับไพร์ม หรือการปล่อยสินเชื่อจำนองให้กับลูกค้าด้อยคุณภาพและไม่มีเงินดาวน์ ประกาศล้มละลายเป็นทิวแถว แค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เพียงเดือนเดียวมีไม่ต่ำกว่า 25 ราย ส่งผลให้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ร่วง 416 จุด หรือ 3.3% เรียกว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11

เมษายน 2007 : วันที่ 2 เมษายน 2007 บริษัทนิว เซนจูรี่ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมซับไพร์มรายใหญ่ที่สุดในอเมริกา ประกาศล้มละลาย ข่าวนี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของหนี้เสียจากการปล่อยกู้ซับไพร์มต่อภาคการเงิน เนื่องจากมีสถาบันการเงินทั้งรายเล็กรายใหญ่จำนวนมากลงทุนในหนี้เน่าๆ เหล่านั้น

กรกฎาคม 2007 : วันที่ 19 กรกฎาคม ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดสูงสุดครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่ 14,000 จุด

สิงหาคม 2007 : ปัญหาการกู้ยืมซับไพร์มลามไปทั่วโลก เนื่องจากมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และสถาบันการเงินต่างๆ จำนวนมาก มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งในที่นี้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักค้ำประกัน หรือที่เรียกว่า mortgage-backed-securitie เมื่อราคาอสังหาฯ ลดลงกว่าราคาที่เคยประเมินไว้ ลูกหนี้ก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ หนี้ก็เน่า ตราสารหนี้ที่คิดว่าจะทำเงินได้ก็พลอยเน่าไปด้วย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และธนาคาร BNP Paribas แห่งฝรั่งเศส เป็นรายแรกๆ ที่รายงานการขาดทุนในการลงทุนในตราสารประเภทนี้

10 สิงหาคม 2007 : ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ร่วมมือกันอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

31 สิงหาคม 2007 : จอร์จ บุช เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้อสังหาฯ ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

13 กันยายน 2007 : ธนาคารนอร์ธเธิร์น ร็อค (Northern Rock Bank) แห่งประเทศอังกฤษ ร้องขอเงินทุนฉุกเฉินจากธนาคารกลางอังกฤษ ผู้คนแตกตื่นแห่ถอนเงิน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 รัฐบาลอังกฤษเข้าควบคุมกิจการของธนาคารนอร์ธเธิร์น ร็อค

18 กันยายน 2007 : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในวิกฤติการณ์นี้ จาก 6.25% เป็น 5.75%

15-17 ตุลาคม 2007 : สมาคมนายธนาคารสหรัฐฯ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ที่มีซิตี้กรุ๊ป และเจพี มอร์แกนเป็นตัวตั้งตัวตี พยายามตั้งกองทุน "ซูเปอร์ฟันด์" จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อและปลดหนี้ในรูปแบบต่างๆ ด้วยหวังว่าจะสร้างความเชื่อมั่นระหว่างธนาคารให้มีการปล่อยกู้ซึ่งกันและกัน

6 ธันวาคม 2007 : จอร์จ บุช ประกาศแผนตรึงอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้อสังหาฯ บางรายที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ย เริ่มจาก 0% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

1-22 มกราคม 2008 : ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เสียหายกว่า 1,000 จุด มากกว่า 8% ของมูลค่าทั้งอุตสาหกรรม จากการขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และการขาดสภาพคล่องในตลาดกู้ยืม

24 มกราคม 2008 : สมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติประกาศตัวเลขประจำปี 2007 แสดงอัตราการลดลงของการซื้อขายบ้าน ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี คนอยากขาย ขายไม่ได้ คนอยากซื้อ ซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีใครปล่อยกู้ ทุกอย่างจึงหยุดนิ่ง คนอยากขายเพราะไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ ก็ขายมาปลดหนี้ไม่ได้ เป็นวัฏจักรที่ยิ่งเน่า

14 มีนาคม 2008 : Bear Stearns ประกาศขาดสภาพคล่องและต้องขอกู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารกลางนิวยอร์ก วันที่ 16 มีนาคม เจพี มอร์แกน เข้าซื้อ Bear Stearns ในราคาหุ้นละ 2 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดจาก 2 เดือนก่อนที่อยู่ที่หุ้นละ 172 เหรียญสหรัฐ การล้มของ Bear Stearns ในครั้งนั้นเขย่าขวัญอนาคตภาคการเงินสหรัฐฯ

31 มีนาคม 2008 : เฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เสนอแผนยกเครื่องสถาบันการเงินสหรัฐฯ ทั้งระบบ ด้วยการรวมกิจการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC: The Securities and Exchange Commission) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดอนุพันธ์ (CFTC: The Commodity Futures Trading Commission) เข้าด้วยกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจแก่รัฐบาลที่อาจมีวาระแอบแฝง ปัจจุบันแผนยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา และเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันก็จะเปลี่ยนรัฐบาล

11 กรกฎาคม 2008 : สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC: The Federal Deposit Insurance Corporation) เข้าคุมกิจการธนาคารอินดี้ แมค

7 กันยายน 2008 : รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เข้าเทกโอเวอร์เฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันสินเชื่อรายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันโดมิโนในภาคสถาบันการเงิน การอุ้มครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมหาศาล และไม่ได้ช่วยยับยั้งการล่มสลายของสถาบันการเงิน

15 กันยายน 2008 : มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่สั่นสะเทือนวอลล์สตรีท เริ่มจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ประกาศซื้อกิจการวาณิชธนกิจของเมอริลล์ ลินช์ ขณะที่เลห์แมน บราเธอร์ สถาบันการเงินเก่าแก่และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ประกาศล้มละลาย ตามมาด้วยการลดอันดับเครดิตของ AIG บริษัทประกันรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีสภาพง่อนแง่น วันที่ 17 กันยายน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปล่อยกู้ AIG จำนวน 85 พันล้านเหรียญฯ พยุงสถานการณ์ไว้

19 กันยายน 2008 : เฮนรี่ พอลสัน เสนอแผนโครงการฟื้นฟูสินทรัพย์ที่มีปัญหา (TARP: The Troubles Asset Relief Program) จากเงินภาษีของประชาชนจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เบื้องต้นต้องการทำเงินไปซื้อสถาบันการเงินที่มีปัญหา จากนั้นทำการจับมาแต่งตัวใหม่ เพื่อขายทอดตลาดอีกที เขาหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

21 กันยายน 2008 : โกลด์แมน ซาคส์ และมอร์แกน สแตนเลย์ สองวาณิชธนกิจรายใหญ่ประกาศเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้สองสถาบันนี้สามารถรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในเดือนนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ แสดงให้เห็นถึงจุดจบของอุตสาหกรรมวาณิชธนกิจ ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูจนเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของวอลล์สตรีท ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

25 กันยายน 2008 : ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (Washington Mutual) ประกาศล้มละลาย นับเป็นการล่มสลายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การธนาคารของสหรัฐฯ วันต่อมา สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐฯ ขายสินเชื่อบางส่วนของวอชิงตัน มิวชวล ให้แก่เจพี มอร์แกน เชส

29 กันยายน 2008 : ธนาคารวาโคเวีย (Wachovia) ขายกิจการให้เวลล์ส ฟาร์โก (Wells Fargo) ตามด้วยแผนฟื้นฟูฯ ที่ใช้เงินภาษีจำนวน 7 แสนล้านของพอลสัน ไม่ผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ

2 ตุลาคม 2008 : รัฐบาลไอร์แลนด์ประกาศประกันเงินฝาก

3 ตุลาคม 2008 : แผนฟื้นฟูฯ ของพอลสัน ผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ

6-10 ตุลาคม 2008 : ในสัปดาห์นี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดิ่ง 22.1% วันที่ 6 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้เงินกู้เพิ่มอีกจำนวน 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แก่ธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลเดนมาร์กประกาศประกันเงินฝาก ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศสเทกโอเวอร์ธนาคาร Fortis ทำให้กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป วันที่ 7 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อนุมัติงบ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมได้ วันที่ 8 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย ตามด้วยรัฐบาลสหรัฐฯ อียู อังกฤษ จีน แคนาดา สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลดดอกเบี้ยอย่างพร้อมเพียงกัน

11 ตุลาคม 2008 : การประชุมกลุ่มผู้นำด้านการเงิน จี 7 ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ไม่สามารถตกลงแผนที่ชัดเจน แต่ขอให้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศ วันที่ 13 ประเทศในยุโรปบางประเทศเข้าเทกโอเวอร์ธนาคารพาณิชย์ พร้อมอัดฉีดสภาพคล่อง

7 พฤศจิกายน 2008 : ตัวเลขคนตกงานในเดือนตุลาคมมีสูงถึง 240,000 คน ทำให้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 14 ปี

14 พฤศจิกายน 2008 : ผู้นำทางการเงินจาก 20 ประเทศ (G-20) รวมตัวกันถกกอบกู้วิกฤติ ณ วอชิงตัน ดี.ซี. อีกครั้ง หลังจากอียูประกาศเศรษฐกิจถดถอยจากตัวเลขที่หดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 ตามมาด้วยฮ่องกง

17 พฤศจิกายน 2008 : รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการ กรณีเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอยอีกครั้งในรอบ 20 ปี

20 พฤศจิกายน 2008 : รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอย นับเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ส่วนที่นิวยอร์ก ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์รูดปิดที่ 7,552.29 จุด ต่ำสุดในเกือบ 6 ปี ในที่สุดภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ปิดแผลที่อักเสบพุพองไว้ไม่ไหว เข้าแถวร้องขอเงินช่วยกู้ชีพจากรัฐบาล นำด้วย GM ที่มีราคาหุ้นร่วง 10% ปิดที่หุ้นละ 2.79 เหรียญสหรัฐ Ford Motor ปิดที่ 1.26 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดๆ ถึง 25% ต่างประกาศชะลอการผลิต ปิดโรงงาน เลย์ออฟพนักงาน...

จากลำดับเหตุการณ์พบว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดแล้ว และรัฐบาลพยายามหาทางช่วย แต่ก็ไม่ทันการณ์...

โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า ซึ่งน่าจะได้เห็นมาตรการที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และทีมใหม่ที่เข้ามาบริหารงาน นับเป็นการทำงานที่หนักและท้าทายอย่างยิ่ง เพราะต้องทำการล้างบ้านครั้งใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม : The Council on Foreign Relations (CFR)   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us