|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในห้องประชุมใหญ่สำหรับแขกของผู้จัดการใหญ่ แม่บ้านพยายามหันแก้วด้านที่มีโลโก "SCG" เข้าหาแขกด้วยความจงใจจัดวางให้โลโกทำมุม 90 องศากับเส้นสายตาของแขก เธอบอกว่าเป็นระเบียบปฏิบัติ ทางเข้าหน้าออฟฟิศมีตัวอักษร SCG เคียงคู่โลโกช้าง ส่วนบนยอดตึกสำนักงานใหญ่ 2 ก็เพิ่งติดตั้งโลโก "SCG" ขนาดใหญ่จนดูโดดเด่น STAND ที่วางด้านหน้าสำนักงานสื่อสารองค์กร ก็ยังพูดเรื่องแบรนด์ SCG หรือแม้แต่ในหนังโฆษณาชุดล่าสุด "แรงบันดาลใจ" เสียงโฆษกก็ยังต้องพูดย้ำไปคู่กันว่า "...เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG..."
แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเครือซิเมนต์ไทยในการรีแบรนด์ โดยเริ่มจากโลโก "ช้าง" ที่มีมูลค่าสูงและเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้มายาวนาน แต่ก็มีภาพพจน์ความเก่าแก่ ไม่ทันสมัย และดูเป็นไทยเกินกว่าที่จะออกไปแข่งขันบนเวทีสากล จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ "SCG" เป็นโลโกใหม่ ซึ่งดูทันสมัย และไม่มีข้อจำกัดมากเท่ากับชื่อเครือฯ ในเรื่องความไม่สอดคล้องกับธุรกิจอื่น ที่ไม่ใช่กลุ่มซิเมนต์
แต่ทั้งนี้การสร้างแบรนด์ไม่ใช่เพียงการตั้งชื่อหรือการสร้างโลโก แต่ยังหมายถึงภาพลักษณ์ ชื่อเสียง การเติบโตอย่างยั่งยืน และ Emotional Benefit ที่อยู่ในตัวแบรนด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการสั่งสม จากจุดเริ่มต้นที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ผู้ผลิตปูนซิเมนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนานหลายสิบปี จนได้รับสมญา "ปูนใหญ่" ด้วยความใหญ่จนสามารถผูกขาดตลาดได้ ประกอบกับการแข่งขันที่ไม่รุนแรงและซับซ้อน สินค้าปูนซิเมนต์ในช่วงนั้นจึงยังเน้นเป็น pure commodity ที่ไม่มี value added และไม่มีความแตกต่าง ภาพพจน์องค์กร "ปูนใหญ่" จึงดูเชื่องช้า ล้าสมัย สมกับยูนิฟอร์มชุดซาฟารีสีเทาที่เคยใช้กันในยุคก่อน ขณะที่สินค้าก็ไม่ซับซ้อน "ดูไม่มีอะไร"
เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน "ปูนใหญ่" ในภาพของเครือซิเมนต์ไทยพยายามปรับตัวเรื่อยมา แม้ว่าไม่ง่ายนักที่จะลบล้างได้ จนเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องบรรยากาศและภาพลักษณ์ขององค์กรอายุเกือบร้อยปีแห่งนี้ เมื่อกานต์ ตระกูลฮุน เข้ามาพร้อมกับเครื่องมือที่มีชื่อว่า "Innovation" อันเป็นแกนในการสร้างแบรนด์ "SCG" ให้มีภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทันสมัย สร้างสรรค์ แอ๊คทีฟ และเป็นผู้นำธุรกิจที่ยั่งยืน
การสร้างแบรนด์ SCG ภายในประเทศไทย เครือซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และโฆษณาในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ไม่น้อย บริษัทเอเจนซี่ชื่อดังอย่าง TBWA ถูกจ้างมาผลิตหนังโฆษณาที่สร้างสรรค์และทันสมัย แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยรีแบรนด์ภาพของแบรนด์ SCG ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือนวัตกรรม หรือ Higher Value Added
นวัตกรรมเป็นกลไกที่ดีในการเลื่อนสถานะสินค้าของเครือฯ จาก pure commodity ราคาต่ำไปสู่ differentiated commodity ที่ราคาสูงขึ้นอีกนิด ไปสู่การขายบริการและโซลูชั่น ที่ Lock-in ลูกค้าด้วยความสะดวกสบาย จนก้าวข้ามไปถึงการขายประสบการณ์ ซึ่ง Lock-in ลูกค้าด้วย emotional benefit เหมือนสินค้า premium brand
ในการขายประสบการณ์ เครือซิเมนต์ไทยต้องให้ความสำคัญกับทุก touch point โดยเฉพาะพนักงาน ในฐานะที่เป็น Brand Ambassador หรือผู้ส่งมอบแบรนด์ผ่านประสบการณ์อันดีไปถึงลูกค้า ดังนั้น ถ้าพนักงานเป็น innovative people ภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ย่อมเป็นเช่นนั้นด้วย
สำหรับการสร้างแบรนด์ SCG ในตลาดอาเซียน เนื่องจากสินค้า commodity เป็นส่วนใหญ่ เครือฯ จึงมุ่งเน้นที่การสร้างภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้นำระดับภูมิภาค หรือ Multinational Company และ workplace of choices ด้วยกลยุทธ์ดึงคนเก่งในท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานกับเครือ เพื่อสร้างรากฐานให้กับเครือฯ และแบรนด์ SCG ในประเทศนั้น และเครือฯ ก็ยังสามารถสร้างแบรนด์ SCG ไปสู่ผู้บริโภคท้องถิ่นได้ด้วย "ทูตวัฒนธรรม" ที่เป็นพนักงานท้องถิ่นเหล่านี้...นโยบายพัฒนาศักยภาพของพนักงานต่างชาติในต่างประเทศจึงมีความสำคัญไม่น้อย
ส่วนการสร้างแบรนด์ในเวทีโลก การที่กานต์ไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศก็เพื่อไปดึงคนเก่งกลับมาช่วยสร้างองค์กรและแบรนด์ SCG พร้อมกับนำพาแบรนด์ SCG ไปสู่ชาวโลกผ่าน "speaker" ที่เป็นถึงคณาจารย์ ผู้บริหาร และนักวิจัยในสถาบันชั้นนำของโลก ขณะที่การได้รับเชิญไปพูดในฟอรั่มระดับภูมิภาคหรือระดับโลกก็ยังเป็นอีกทางในการโปรโมตแบรนด์ SCG ในภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำธุรกิจ
จนเมื่อถึงเวลาที่เครือซิเมนต์ไทยกระโดดออกสู่ตลาดโลกอย่างเต็มตัว ความเพียรสร้างแบรนด์ที่กานต์ทำมาตั้งแต่ก่อนเป็นผู้จัดการใหญ่ของเครือฯ ก็น่าจะสปริงบอร์ดให้ "SCG" โตแบบก้าวกระโดดและกลายเป็น Inter Brand ได้ไม่ยาก
|
|
|
|
|