|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เวลาที่พูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยถามว่าเมื่อไหร่เราจะมีรถยนต์ยี่ห้อของไทยเอง แต่ถ้าใครได้ชมข่าวเศรษฐกิจในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะพบกับภาพคนงานและวิศวกรราวๆ พันคนเดินคอตกจากประตูโรงงานทอนส์เล่ปาร์ค ฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปโอเชียเนียและยืนยงมากว่า 57 ปี เพราะต้องหางานใหม่กันหมด ซึ่งทั้งหมดได้แสดงถึงความไม่แน่นอนของวงการธุรกิจยานยนต์ในโลก สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีอุตสาหกรรมยานยนต์ในดาวน์อันเดอร์ต้องล้มตามไปอีกไม่น้อย
ถ้าใครได้เดินทางมาเที่ยวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อ 15 ปีก่อนจะเห็นได้ว่ารถยนต์ที่วิ่งกันทั่วไปบนท้องถนนนั้นมีแต่รถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีขายแต่ในโอเชียเนีย เหตุผลของการที่ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ในอดีตนิยมรถขนาดใหญ่นั้นเกิดจากระยะทางระหว่างเมืองสำคัญนั้นห่างกันมาก แค่มหานครที่ใกล้กันที่สุดอย่างซิดนีย์กับเมลเบิร์นนั้นก็ห่างกัน 881 กิโลเมตร ยิ่งนครเพิร์ธนั้นห่างกันถึง 4,352 กิโลเมตร แค่เดินทางโดยเครื่องบินยังต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชม. ถ้าขับคงต้องใช้เวลา 50 ชม. เนื่องจากการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ ยังต้องใช้รถยนต์เป็นหลัก และถ้าต้องขับรถระหว่าง 10 ถึง 50 ชั่วโมงในการไปติดต่อธุรกิจ คงไม่มีใครเอารถญี่ปุ่นคันเล็กๆ เครื่อง 1,300 ไปวิ่งแน่นอน ในประเทศนิวซีแลนด์ก็เช่นกันแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดแค่ครึ่งเดียวของประเทศไทย แต่ด้วยประชากรแค่ 4 ล้าน 3 แสนคน ทำให้ระยะทางจากเมืองสำคัญในนิวซีแลนด์ห่างกันมาก
ในอดีตที่ผ่านมา เวลาที่จะซื้อรถยนต์ชาวกีวีและออสซีมักจะเลือกซื้อรถขนาดใหญ่ของโฮลเด้น ฟอร์ด หรือมิตซูบิชิ ที่ต่อในทวีปของตนเอง คนไทยโดยมากอาจจะคิดว่ารถมิตซูบิชิ หรือรถฟอร์ดเป็นรถเล็ก แต่ว่าในดาวน์อันเดอร์นั้นไม่ใช่ รถที่ผลิตในออสซีจะมีขนาดใหญ่มากและใช้เครื่อง 3800-5400 ซีซี ยาว 4.8-5.1 เมตร กว้าง 1.85 เมตร เป็นอย่างต่ำ ในอดีตการมีภาษีนำเข้าทำให้ดีลเลอร์สามารถตั้งราคารถได้สูง ในช่วงนั้นรถออสซีจะมีสนนราคาที่ 42,000 ถึง 65,000 ดอลลาร์ และรุ่นพิเศษราคาสูงถึง 89,000 ดอลลาร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมรถในทวีปนี้ ในปี 1995 ถ้าใครจะซื้อรถใหญ่ ติดออปชั่นพอสมควรต้องจ่ายราวๆ 5,8000 ดอลลาร์
สวรรค์ของอุตสาหกรรมรถในนิวซีแลนด์ก็ล่มในปี 1998 เมื่อรัฐบาลกีวียกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก แต่ว่าในนิวซีแลนด์มีรถวิ่งอยู่ทั้งหมด 3 ล้าน 4 แสนคัน จากประชากร 4 ล้าน 3 แสนคน เฉลี่ยว่าชาวนิวซีแลนด์ทุกๆ 4 คน จะมีรถ 3 คัน การตัดสินใจนำเข้ารถเสรีโดยไม่มีภาษีนั้นทำให้ราคารถยนต์ในนิวซีแลนด์ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ด้วยค่าแรงที่สูงทำให้โรงงานใหญ่ๆ ในนิวซีแลนด์เหลือทางเลือกเพียงสองทาง โดยมากเลือกที่จะปิดตัวเองลง ส่วนน้อยเลือกที่จะปรับตัวโดยหันมาผลิตอะไหล่หรือรับปรับสภาพรถที่นำเข้าแทน ซึ่งส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมาก
คลื่นลูกต่อมาที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์คือการเข้ามาของสายการบินราคาถูกในปี 2001 ก่อนหน้านี้การเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นมีราคาที่สูงมาก เที่ยวบินไปกลับ โอ๊กแลนด์กับไครส์เชิร์ช หรือซิดนีย์กับเมลเบิร์นนั้นจะต้องจ่ายประมาณ 380 ถึง 550 ดอลลาร์ ทำให้คนส่วนมากยังไม่นิยมบินและเห็นว่าการขับรถเป็นเรื่องที่ประหยัดกว่า อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลทั้งสองประเทศเปิดเสรีทางการบินทำให้สายการบินราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทำการแข่งขันกับเสือนอนกินในอดีต ทำให้แควนตัสกับแอร์นิวซีแลนด์ต้องทำการแข่งกับบรรดาสายการบินโลว์คอสต์และส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของราคาในอดีต
คลื่นลูกที่สามคือราคาน้ำมันโลกที่พุ่งไม่หยุดโดยเพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินนโยบายตามประเทศในยุโรป คือเก็บภาษีมลพิษ ภาษีการใช้รถใช้ถนนลงไปบนราคาน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันในนิวซีแลนด์สูงถึงลิตรละ 2.16 ดอลลาร์ หรือ 54 บาทต่อลิตร ในช่วงที่น้ำมันในไทยอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท คิดง่ายๆ คือเป็นภาษีถึง 54% ของราคาน้ำมันที่ขายในไทย ในขณะที่ราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศลดลง แต่ราคาน้ำมันกลับแพงขึ้นทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจที่จะบินระหว่างเมืองมากกว่าการขับรถยนต์ที่ทั้งเหนื่อยและแพงกับเสียเวลามากกว่า ปัจจัยนี้ทำให้คนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หันมาซื้อรถยนต์ที่เครื่องและตัวถังที่เล็กลงแทนรถใหญ่ที่กินน้ำมันมาก
คลื่นลูกสุดท้ายที่ถล่มวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในดาวน์อันเดอร์คือ การที่เงินออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ดอลลาร์มีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นเมื่อวัดกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก ในอดีตเงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 เหรียญ = 2 ออสเตรเลีย และ 2.20 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ แต่การที่เงินออสซีและกีวีมีมูลค่าสูงขึ้นในปัจจุบันทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐอยู่ที่ 1.20 ออสเตรเลีย และ 1.30 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ แม้แต่เงินยูโรหรือปอนด์ที่ว่าแข็งก็มีมูลค่าลดลงถ้าเทียบกับเงินทั้ง 2 ประเทศถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อค่าเงินแข็งการส่งออกก็มีปัญหา สินค้าส่งออกราคาแพงเพราะค่าแรงในประเทศลดไม่ได้ แต่ราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศกลับลดลงอย่างผิดหูผิดตา
ผลกระทบของวงการยานยนต์ได้ขยายตัวไปกว้างกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะในอดีตถ้าวัดราคารถที่ต่อเองในทวีปกับรถยุโรปยี่ห้อดีๆ ขนาดกลาง รถยุโรปจะมีสนนราคาที่แพงกว่าประมาณ 2 หมื่นดอลลาร์ แต่การที่ค่าเงินแข็งทำให้ส่วนต่างลดลงเหลือเพียง 2 พันดอลลาร์ในออสเตรเลีย และในนิวซีแลนด์ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าส่วนต่างกลายเป็นว่ารถยี่ห้อดีๆ จากยุโรปถูกกว่ารถที่ต่อในทวีปเสียอีกทั้งหมดนี้เองได้ส่งผลให้การบริโภคสินค้าทางยานยนต์ในนิวซีแลนด์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ 15 ปีก่อน ชาวนิวซีแลนด์จะซื้อรถครอบครัวคือ โฮลเด้น คอมมอดอร์ ฟอร์ด ฟอลค่อน มิตซูบิชิ ไดมันเต (กาแลนต์เครื่อง 3800 ซีซี) หรือ โตโยต้า อวารอน (คัมรี่ เครื่อง 3500) แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รถครอบครัวที่ต่อในออสเตรเลียกลับโดนรถยุโรปมาแทรก เพราะสนนราคาของบีเอ็ม ซีรีส์ 3 กับ 5 ออดี้ เอ 4 กับ 6 เบนซ์ ซีกับอีคลาส หรือ จากัวร์ เอ็กกับเอสไทป์ ต่างมีราคาเท่ากันหรือถูกกว่ารถครอบครัวในอดีต ยิ่งค่าดูแลรถญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา หรือรถยุโรปในนิวซีแลนด์นั้นไม่ต่างกันเพราะว่าในนิวซีแลนด์มีการประกันเครื่องยนต์เข้ามาคุ้มครองค่าอะไหล่จึงเหลือแต่ค่าแรงของช่างซึ่งแพงพอๆ กัน นอกจากนี้สภาพอากาศในนิวซีแลนด์มีลักษณะเป็นเมืองหนาวแบบยุโรปและรถไม่ติด จึงมีความเหมาะสมกับรถยุโรปเป็นพิเศษ ก็เหมือนกับการไปถามคนไทยว่าถ้าราคารถบีเอ็มกับคัมรี่เท่ากัน ราคาและค่าบริการของรถเบนซ์เท่ากับฮอนด้า คุณจะขับรถยี่ห้อไหน คำตอบจากชาวนิวซีแลนด์ทำให้รถญี่ปุ่นและรถที่ประกอบในทวีปออสเตรเลียต้องมาหลังชนฝา ซึ่งทางฝั่งรถญี่ปุ่นยังหาทางออกโดยการนำเข้ารถเล็กจากไทยและญี่ปุ่นอย่าง แจ๊ซ โคลท์ หรือวิช มาขาย โดยเปลี่ยนการตลาดไปเน้นรถเล็กประหยัดน้ำมัน แต่ที่กระอักคือรถอเมริกากับรถออสซีที่ไม่มีรถเล็ก ไม่มีเครื่องยนต์เล็ก ลดราคาก็ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในดาวน์อันเดอร์ถึงทางตัน
ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้เกิดการหดตัวในตลาดรถใหญ่ถึง 35% ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขณะที่ตลาดรถเล็กและรถยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการหดตัวของตลาด และปัจจัยอื่นๆ มิตซูบิชิซึ่งเป็นยักษ์เล็กที่สุดในสามใบเถาบริษัทประกอบรถใหญ่ในออสซีตัดสินใจปิดโรงงานที่ทอนเล่ย์ปาร์ค ซึ่งทำส่วนแบ่งตลาดรถใหญ่ในดาวน์อันเดอร์มานานถึง 57 ปีลงในที่สุด และหันมาเน้นการนำเข้ารถกระบะและรถเล็กจากไทยและญี่ปุ่นแทน ขณะที่ฟอร์ดนั้นได้ประกาศไปแล้วว่าจะยุติการผลิตรถใหญ่พิเศษในปีนี้ เนื่องจากยอดขายตกจากปีละเกือบ 5,000 คันในยุคเฟื่องฟู เหลือแค่ 1,000 คันต่อปีในปัจจุบัน และทางโฮลเด้นเองก็หาทางออกด้วยการปิดโรงงานบางแห่งในประเทศและย้ายฐานการผลิตรถเล็กไปที่โรงงานแดวูเดิมในเกาหลีใต้ และใช้ประโยชน์จาก FTA ระหว่างอเมริกากับออสเตรเลียในการนำเข้ารถคาดิแล็คมาขาย ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอาจจะเป็นสัญญาณที่โฮลเด้นอาจจะยุติสายการผลิตรถใหญ่และหรูพิเศษในอนาคตเช่นกัน รัฐบาลแรงงานของออสเตรเลียได้หันมาแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคือการขึ้นภาษีรถหรูหราจากยุโรปเพื่อช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ส่วนอนาคตของรถออสเตรเลียขนาดใหญ่ในระยะยาว ยังคงเป็นคำถามที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของดาวน์อันเดอร์จำเป็นต้องหาคำตอบกันต่อไป
|
|
|
|
|