|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การประกาศถอนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นาโนของบริษัทตาต้ามอเตอร์สฯ จากพื้นที่โครงการเดิมในรัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนภาคธุรกิจและการเมืองของอินเดีย แต่ก็ยังไม่สร้างความประหลาดใจและคำถาม เท่ากับการประกาศในชั่วเวลา 4 วัน ว่าโครงการดังกล่าวจะย้ายไปปักหลักในรัฐกุจาราต ใต้ปีกผู้ว่าการรัฐนาเรนทรา โมดี้ โดยตาต้าให้เหตุผลถึงการตัดสินใจอันรวดเร็วนี้ ว่ากุจาราตให้ข้อเสนอที่ตอบโจทย์การลงทุนของตนได้ทุกข้อ ทั้งเงื่อนผลประโยชน์และเวลา แต่ในทางกลับกัน ตาต้าดูจะลืมตอบคำถามสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรจะละเลย นั่นคือจริยธรรมในการลงทุน
เดิมนั้นตาต้ามอเตอร์สฯ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 3 ของอินเดีย มีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ Nano ในเขต Singur รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งรถยนต์รุ่นล่าสุดนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ตาต้าฯ วาดให้เป็นรถในฝันของชนชั้นกลางอินเดีย โดยประกาศเปิดตัวพร้อมเป้าหมายการผลิตและการตลาดว่าจะมีราคาเพียง 100,000 รูปี (ราว 80,000 บาท) ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวก็เป็นฝันของรัฐบาลท้องถิ่นพรรคฝ่ายซ้ายของรัฐเบงกอลฯ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและนำร่องให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ตลอดสองปีนับแต่ริเริ่มโครงการ ตาต้าฯ ต้องเผชิญกับมรสุมการประท้วงต่อต้านของกลุ่มเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยมี Mamata Banerjee หัวหน้าพรรคตรีนามุล คองเกรสส์ พรรคฝ่ายค้านท้องถิ่นเป็นแกนนำ ล่าสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงได้ปักหลักยึดพื้นที่ด้านนอกของเขตก่อสร้างโรงงานอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักเป็นเวลากว่าเดือน
ความชะงักงันดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจประกาศถอนโครงการของตาต้าฯ ในวันที่ 3 ตุลาคม แม้ว่ามูลค่าความเสียหายทางการลงทุนจะสูงถึง 15,000 ล้านรูปี
นับจากนาทีนั้น ข้อเสนองามๆ จากรัฐอื่นก็ลามไหลเข้าสู่หน้าตักของ Ratan Tata ซีอีโอของตาต้าฯ นับจากรัฐที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว อาทิ คาร์นาตะกะ ทามิลนาดู ปัญจาบ มหาราชตระ จนถึงรัฐน้องใหม่ที่ยังวุ่นกับการตัดถนนและติดตั้งเสาไฟอย่างอุตรขันธ์ และด้วยเวลาเพียง 4 วัน ตาต้ามอเตอร์ก็ทำการลงนามเซ็นสัญญา (MoU) แบบสายฟ้าแลบ และประกาศเปิดโครงการนาโนอย่างเป็นทางการในเขต Sanand ใกล้กับเมืองอาห์เมดาบัด รัฐกุจาราต
โดยโรงงานของตาต้าฯ จะตั้งอยู่บนที่ดินในกรรมสิทธิ์ของรัฐขนาด 1,100 เอเคอร์ ที่รัฐบาลกุจาราตขายให้กับตาต้าฯ ในขั้นต้นตาต้ามอเตอร์สคาดว่าจะระดมเงินลงทุนในโครงการราว 2 หมื่นล้านรูปี โดยมีเป้าหมายการผลิตรถนาโนที่ 2.5 แสนคันต่อปี ทั้งคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 10,000 ราย
ในการแถลงข่าว ราตัน ตาต้าให้เหตุผลของการตัดสินใจว่า “เราเสียเวลามามาก ความเร่งด่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งผู้ว่าการรัฐกุจาราตขับเคลื่อนทุกอย่างเร็วมาก และให้ความมั่นใจแก่เราได้ในทุกเรื่อง” แม้จะไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงในรายละเอียด แต่ตาต้าแย้มว่าข้อเสนอของกุจาราต ‘ดีกว่า’ ที่เขาเคยได้จากเบงกอลฯ เสียอีก ซึ่งในกรณีของรัฐเบงกอลฯ เป็นที่รู้กันว่าโครงการนาโนได้รับการงดเว้นภาษีสรรพสามิต 10 ปี ภาษีรายได้ 5 ปี ที่ดินในราคาที่เหมือนกับขายทิ้ง รวมถึงการลดหย่อนในเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ รวมเป็นตัวเงินราว 8,500 ล้านรูปีหรือกึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการ
แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจยังเชื่ออีกว่า รัฐกุจาราตเสนอให้เงินชดเชย 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานของตาต้าฯ จากซินกูร์มายังกุจาราต และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้ราตัน ตาต้าสรรเสริญถึงข้อได้เปรียบของกุจาราต ว่าเป็นมิตรกับการลงทุน มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียบพร้อม อยู่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรมมุมไบ-เดลี และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระเบียบและเข้มงวด แต่ภาพที่ดูเชื่องเชื่อเป็นระเบียบของรัฐกุจาราตนั้น เป็นที่รู้กันดีว่าเกิดจากการบริหารแบบกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของนาเรนทรา โมดี้ ที่ขึ้นชื่อในการคุมเข้มบรรดาสหภาพแรงงาน และสั่งซ้ายหันขวาหันได้ทุกหน่วยงานราชการ
“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” นายใหญ่ของตาต้าฯ ย้ำหนักหนาด้วยน้ำเสียงไร้เดียงสา เสมือนไม่รู้ว่าก้าวย่างของคอร์เปอเรทระดับตาต้าฯ ไม่มีทางไม่ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจและการเมือง เช่นที่ Praful Bidwai คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารฟร้อนท์ไลน์ให้ความเห็นว่า ด้วยประวัติของตระกูลตาต้าและอาณาจักรธุรกิจที่ตาต้าถือครองในปัจจุบัน คนทั่วไปมักมองตาต้าว่าเป็นบรรษัทแบบอย่างที่หลักการประกอบการข้ามพ้นเรื่องผลกำไร จนมีคำกล่าวว่า ราตัน ตาต้าไม่มีวันผิดพลาด (Ratan Tata can do no wrong)
เช่นนี้แล้ว ท่าทีของราตัน ตาต้านับจากกลางปีก่อน ที่กล่าวในที่ประชุมนักธุรกิจว่า “ถ้าไม่ไปลงทุนในกุจาราตก็เรียกว่าโง่แล้ว” การเปรียบเปรยว่าเหตุผลการย้ายที่ตั้งโครงการนาโนนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘bad M’ (มามาตา บัญนาจี) ‘good M’ (นาเรนทรา โมดี้) จนถึงการโผเข้าไปลงทุนใต้เงาปีกของโมดี้ ตาต้าปฏิเสธไม่ได้ว่าตนกำลังให้ความชอบธรรม สนับสนุน และช่วยล้างมลทินให้แก่ผู้ว่าการรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่า “วางแผนและสปอนเซอร์” เหตุการณ์สังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในปี 2002 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดนับแต่อินเดียประกาศเอกราชในปี 1947
เหตุความรุนแรงดังกล่าวปะทุขึ้นหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในรถไฟขบวน Sabarmati Express ที่สถานี Godhra ในรัฐกุจาราต เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 ทำให้ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แสวงบุญชาวฮินดูเสียชีวิต 58 คน ในค่ำวันเดียวกันนั้น ขณะที่ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่าง นาเรนทรา โมดี้ ผู้ว่าการรัฐในขณะนั้นแถลงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการก่อการร้ายที่มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อหวังประทุษร้ายต่อชุมชนชาวฮินดู ยังผลให้ชาวฮินดูที่โกรธแค้นรวมกลุ่มกันเข้าโจมตีร้านค้าและชุมชนชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เหตุความรุนแรงดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 มีนาคม โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้พยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งจากการสืบสวนข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา พบว่านอกจากจะเพิกเฉยแล้วเจ้าหน้าที่ทางการยังมีส่วนเปิดช่องและอำนวยความสะดวกแก่บรรดาม็อบที่โกรธเกรี้ยว
กว่าหกปีที่ผ่านมา เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์นอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรม การสงเคราะห์หรือการเยียวยาใดๆ ล่าสุด Nanavati Commission คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีเพลิงไหม้ในรถไฟที่สถานีโกดรา ยังคงสรุปผลยืนข้างรัฐบาลกุจาราตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการสมรู้ร่วมคิดและวางแผนล่วงหน้า ซึ่งจากรายงานข่าวเชิงลึกของทีมนักข่าวนิตยสารเตเฮลกา ที่ลงพื้นที่เก็บตกข้อมูลเป็นเวลา 6 เดือน พบว่ารายงานของคณะกรรมการดังกล่าวเต็มไปด้วยพยานเท็จและการปั้นแต่งข้อมูล เพื่อบิดภาพเหตุวิวาทชุลมุนที่เกิดกะทันหันและบานปลายไปสู่โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ ให้เป็นการก่อการร้ายที่วางแผนสมคบโดยชาวมุสลิมในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้รูปการณ์ทั้งปวงสนับสนุนคำแถลงของโมดี้ และสร้างความชอบธรรมว่า การโจมตีและสังหารชนกลุ่มน้อยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปฏิกิริยาจากความโกรธแค้นที่เป็นควันหลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ตลอดหกปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนเพียง 3 คนเท่านั้นที่กล้าหาญพอจะตั้งคำถามต่อโมดี้ ถึงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2002 นั่นคือผู้บริหารของเครือธนาคาร HDFC ซีอีโอของ Thermax และผู้บริหารของ Airfreight ซึ่งทั้งสามคนล้วนเป็นชาวกุจาราตีแต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ในกุจาราต
แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไป โมดี้ถือเป็นผู้ว่าการรัฐเนื้อหอมเพราะรู้กันดีว่า ในกุจาราตคำสั่งของโมดี้คือกฎหมาย หากสามารถผูกข้อมือกับโมดี้ได้หนทางการลงทุนที่เหลือก็ปูลาดด้วยพรมแดง มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่โมดี้เคยถูกตั้งคำถามในที่ประชุมทางธุรกิจ เมื่อ Jairus Banaji นักสังคมวิทยาจากมุมไบลุกขึ้นถามโมดี้หลังสุนทรพจน์อันสวยหรูว่า “คุณจะพูดถึงเศรษฐกิจที่ฟูเฟื่องได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนในรัฐของคุณที่ถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นยังไม่ได้รับความยุติธรรม...มร.โมดี้ ผมคิดว่ามือคุณเปื้อนเลือด”
ท่ามกลางเหตุคุกคามและล่าสังหารชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาที่ปะทุขึ้นในรัฐโอริสสาและคาร์นาตะกะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ ราตัน ตาต้าปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจทางธุรกิจของตน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเมือง
กว่าจะถึงวันที่นาโนรถในฝันวิ่งสู่ท้องถนน ตาต้ายังมีโจทย์อีกมากที่ต้องทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องปัญหามลพิษและระบบความปลอดภัย เพราะตาต้าไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ง่ายๆ ว่า ในราคาหนึ่งแสนนั่นคือความปลอดภัยที่ชีวิตคุณควรได้รับ
เช่นเดียวกับโจทย์ทางการลงทุน ตาต้าก็มีคำถามอื่นที่ต้องตอบ นั่นคือในเมื่อโมดี้และรัฐบาลกุจาราตยังล้างมลทินไม่ได้ว่าตนมือเปื้อนเลือดหรือไม่ เช่นนั้นการเข้ามาลงทุนใต้ปีกอุปถัมภ์ของรัฐดังกล่าว ย่อมเท่ากับว่าตาต้ายอมรับและยอมตนมีส่วนร่วมสร้างความชอบธรรมแก่นโยบาย วิธีการ และสิ่งที่เกิดขึ้น – ใช่หรือไม่
|
|
|
|
|