Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
เตรียมควักกระเป๋าซื้อรถ eco-car             

 


   
search resources

Auto Manufacturers
Environment




ญี่ปุ่นก้าวล้ำหน้ากว่าใครในการพัฒนารถที่ใช้พลังงานทางเลือกแทนน้ำมัน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นเตรียมรับอานิสงส์จากความรุ่งเรืองครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น

รถรุ่น FCX CLARITY ของฮอนด้ามองดูเหมือนรถธรรมดาทั่วไป แต่นี่แหละที่อาจเป็นคุณสมบัติที่น่าตกตะลึงที่สุดของรถคันนี้ ไม่ว่ารูปลักษณ์หรือการขับขี่ รถรุ่นนี้ดูไม่แตกต่างไปจากรถเก๋ง sedan 4 ประตูทั่วไป ที่คุณสามารถนั่งหลังพวงมาลัย กระแทกเท้าเหยียบคันเร่ง และเร่งความเร็วได้ทันใจ แต่หลังจากที่ขับไปเพียงไม่กี่นาที คุณจะสังเกตเห็นว่า มีบางอย่างที่หายไป เสียงเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวที่คุณจะได้ยินคือเสียงหึ่งเพียงแผ่วเบา ซึ่งเบามากเสียจนทำให้คุณอาจได้ยินเสียงล้อรถของคุณที่กำลังบดถนนแทนเสียงเครื่องยนต์

นั่นเป็นเพราะ Clarity เป็นรถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเป็นรถยนต์ที่ล้ำยุคที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก เซลล์เชื้อเพลิงซึ่งครั้งหนึ่งเคยใหญ่เทอะทะอันเป็นแหล่งป้อนพลังงานให้แก่เครื่องยนต์ของรถ ได้ถูกพัฒนาจนมีขนาดเล็กลงเพียงครึ่งของเมื่อ 10 ปีก่อน ในขณะที่สามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้น 50% Clarity กำลังจะเป็นรถ eco-car รุ่นแรกที่จะได้รับการรับรองจากหน่วยงานคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) และจะเป็นรถ eco-car คันแรกที่ได้ส่งมอบถึงมือลูกค้า (แม้ว่าจะเป็นเพียงการให้เช่าก็ตาม) ส่วนปัญหาการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไอเสียเพียงอย่างเดียวที่จะออกมาจาก Clarity คือน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และบางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรถคันนี้เสียมากกว่า นั่นคือ โรงงานที่ทันสมัยที่สุดของฮอนด้า ซึ่งพร้อมที่จะผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับพันๆ คัน ในทันทีที่ตลาดมีความพร้อม ในขณะที่บรรดาคู่แข่งส่วนใหญ่ของฮอนด้า ยังคงอยู่เพียงแค่ขั้นของการนำรถ concept car ออกโชว์ตามงานมอเตอร์โชว์เท่านั้นเอง

แต่ Clarity ยังเป็นเพียงรถรุ่นหนึ่งในรถสีเขียวเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่กำลังเริ่มจะทยอยเปิดตัวออกมาในญี่ปุ่น ความจริงแล้วรถยนต์ประเภทนี้ไม่ว่าจะใช้เซลล์เชื้อเพลิงหรือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน หรือจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มานานหลายปีแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามักเป็นรถที่จงใจออกแบบมาเพียงคันเดียวเพื่อเรียกเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชนเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นเพียงรุ่นทดลองเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สีเขียวของบริษัทรถยนต์ แต่ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังก้าวล้ำหน้าใครๆ ไปอีกระดับ โดยกำลังจะเปิดตัวรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตลาดระดับ mass market ก่อนหน้าคู่แข่งไปนานหลายปี

นิสสันวางแผนจะเปิดตัวรถยนต์ใช้ไฟฟ้าทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นภายในปี 2010 หรืออีกเพียง 2 ปีข้างหน้า และจะเปิดตัวต่อทั่วโลกในปี 2012 โตโยต้ากำลังทดสอบบนถนนสำหรับรถลูกผสมที่สามารถชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ได้ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า รถ “เสียบปลั๊ก” plug-in hybrid พร้อมกันทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป และมีแผนจะเปิดตัวจริงๆ ในปีหน้า (นอกจากนี้ยังมีเสียงกระซิบมาจากโตโยต้าด้วยว่า รถลูกผสมรุ่นนี้อาจสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้อีกต่างหาก) ฮอนด้าซึ่งเป็นที่ 2 ตามหลังโตโยต้ามาห่างๆ ในเรื่องการพัฒนารถลูกผสม กำลังเตรียมจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่รอคอยที่จะได้เห็นเทคโนโลยีสีเขียวที่ล้ำสมัย ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุด มาสด้าจะเปิดตัวรถลูกผสมที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกในโลกในญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมปีหน้า

บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งหมดที่กล่าวมานี้กำลังได้รับประโยชน์จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และบรรดา supplier ซึ่งต่างช่วยกันผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเทคโนโลยีรถ eco-car ได้สำเร็จ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของ J.D. Power and Associates ในแคลิฟอร์เนียชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในโลกแล้วในขณะนี้ และคาดว่าจะยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งต่อไปอีกในอนาคตและข่าวดีนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สาเหตุที่ญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี eco-car หรือ green car มาจากนิสัยความมัธยัสถ์ของญี่ปุ่นนั่นเอง ญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังอย่างมากกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่ทั่วโลกจะเริ่มวิตกถึงปัญหาโลกร้อนเสียอีก เป็นเวลาหลายทศวรรษที่บริษัทญี่ปุ่นพยายามจะจัดการกับค่าใช้จ่ายมหาศาล เกิดจากการต้องนำเข้าน้ำมันเนื่องจากญี่ปุ่นแทบจะไม่มีน้ำมันเลย โดยการให้ความสำคัญกับการคิดค้นเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งกำลังเริ่มจะส่งผลดีแล้วในขณะนี้ แม้กระทั่งโรงงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าในญี่ปุ่นก็ยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการลดรายจ่ายด้านพลังงาน

ญี่ปุ่นยังคงไม่หยุดพัฒนาแบตเตอรี่หลังจากคู่แข่งในสหรัฐฯ หยุดไปนานแล้ว จนขณะนี้ญี่ปุ่นสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกได้แล้ว ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นอาจจะสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ขายของถูกกว่า แต่ไม่มีใครจะแซงหน้าผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นไปได้ ในเรื่องความสามารถในการผลิตเหล็กกล้าเบาพิเศษที่ใช้สำหรับต่อตัวถังรถยนต์โดยเฉพาะ ความแข็งแกร่งที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างสรรค์รถ green car และขณะนี้ความสำเร็จของการพัฒนารถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็กำลังกลับมาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ผู้ผลิตมอเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตหน่วยควบคุม ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้สำหรับการผลิตรถยนต์ ให้ยิ่งเร่งสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้นไปอีก

แม้ขณะนี้ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินผลดีที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยตรง จากการแข่งขันกันพัฒนารถ green car แต่ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ตลาดนี้จะใหญ่โตและเติบโตอย่างแน่นอน ขณะนี้ Prius เป็นรถ green car ที่โด่งดังที่สุดในโลกไปแล้ว โตโยต้าเจ้าของรถรุ่นนี้ยังมีแผนจะเพิ่มการผลิต Prius อีก 60 เปอร์เซ็นต์เป็น 450,000 คันภายในปี 2009 Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ตลาดรถลูกผสมซึ่งรวมถึง plug-in hybrid จะโตเป็น 2.5 ล้านคันภายในปี 2015 จากครึ่งล้านคันในปี 2007 โดยโตโยต้าและฮอนด้าจะเป็นเจ้าตลาด นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า plug-in hybrid ซึ่งสามารถวิ่งโดยใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวในระยะทางสั้นๆ จะเป็นรถยนต์ที่จะช่วยให้เราค่อยๆ ก้าวออกจากยุคที่รถต้องใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียว เข้าสู่ยุคใหม่ที่รถใช้พลังงานไฟฟ้า นักวิเคราะห์ของ Goldman ชี้ว่า รถลูกผสมจะสร้างรายได้เป็นสัดส่วน 5-10% ของผลกำไรทั้งหมดของฮอนด้าและโตโยต้าในปี 2010 ตลาดรถลูกผสมยิ่งดูมีศักยภาพที่จะโตมากขึ้น เมื่อราคาน้ำมันยังคงแพงทำสถิติสูงสุดอยู่เรื่อยๆ แถมกฎเกณฑ์ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมก็มีแต่จะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น

การมุ่งพัฒนารถ green car ยังเผยให้เห็นวิสัยทัศน์ที่เหนือชั้นของญี่ปุ่น ซึ่งคนอื่นๆ เคยคิดว่าญี่ปุ่นไม่มีและทำให้ญี่ปุ่นถูกตำหนิมานานหลายทศวรรษ โตโยต้าเริ่มโครงการ G21 Project ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่การผลิตรถ Prius มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังถูกมากและคนอเมริกันยังหลงใหลในรถขนาดใหญ่อย่าง SUV จุดประสงค์ของโปรเจ็กต์ G21 คือความคิดที่จะสร้างรถสำหรับศตวรรษที่ 21 และเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ของโตโยต้าที่ถูกตำหนิว่าสร้างแต่รถที่ “น่าเบื่อ” นักวิเคราะห์จาก Nikko Citigroup ในโตเกียวชี้ว่า เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า โตโยต้ามีสายตาที่ยาวไกลกว่าคนอื่นๆ ที่มองเห็นว่า เศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันจะไม่คงอยู่ตลอดไปด้วยเหตุผลหลายประการทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

โตโยต้ายังสามารถลดต้นทุนการผลิตรถ Prius ด้วยการประหยัดจากขนาดเมื่อสามารถผลิตรถรุ่นนี้ได้เป็นจำนวนมาก และถึงจุดคุ้มทุนไปแล้วสำหรับการขายรถลูกผสม ตรงกันข้ามกับคู่แข่งต่างชาติของโตโยต้าอย่าง GM ที่ยังคงจะต้องเลือดไหลซิบๆ จากการขาดทุนต่อไปอีกนานหลายปี โตโยต้ายังบอกด้วยว่า ชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับการผลิตรถลูกผสมรุ่นต่อไปของตน ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวในปีหน้าจะมีต้นทุนที่ถูกลงอีกครึ่งหนึ่งจากในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้โตโยต้าสามารถลดราคารถรุ่นใหม่ลงมา ในขณะที่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้

ในอดีตโตโยต้าเคยต้องขาดทุนถึง 10,000 ดอลลาร์ต่อคัน เมื่อครั้งที่เพิ่งเปิดตัวรถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 1997 แต่นักวิเคราะห์จาก Nikko ชี้ว่า Prius รุ่นใหม่ที่กำลังจะออกมาตีตลาดนี้จะนำผลกำไรมหาศาลมาสู่โตโยต้าจากกำไรต่อคันหลายพันดอลลาร์ และโตโยต้ายังมีแผนจะลดต้นทุนการผลิตรถลูกผสมลงอีกภายในทศวรรษหน้า ด้วยประสบการณ์การผลิตรถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมากกว่าคู่แข่ง ยังจะทำให้โตโยต้าเป็น “ผู้นำในการกำหนดราคา” สำหรับรถยนต์ลูกผสมรุ่นใหม่

ขณะนี้บริษัทรถยนต์เกือบทุกแห่งในโลกนี้ต่างก็กำลังเร่งออกโครงการ green car แม้กระทั่งบริษัทที่เชื่องช้าอย่าง GM ก็ยังมีแผนจะเปิดตัวรถ plug-in hybrid ที่มีชื่อว่า Volt ในปี 2010 แต่คนที่ GM ต้องแข่งด้วยอย่างที่ตัวเองต้องอยู่ในฐานะที่ตกเป็นรอง คือคู่แข่งจากญี่ปุ่น ซึ่งเหมือนกับมีเครือข่ายของบริษัทพันธมิตรที่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่างๆ ระดับชาติ คอยหนุนหลังอย่างเข้มแข็งมานานหลายทศวรรษ

ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นตั้งเป้าจะปกป้องความได้เปรียบของตน ด้วยการผนึกกำลังกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของรถไฮเทครุ่นใหม่ โตโยต้ามีบริษัทร่วมทุนกับ Panasonic (ซึ่งโตโยต้าถือหุ้นใหญ่อยู่) ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลก เช่นเดียวกัน นิสสันเพิ่งจะซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัทร่วมทุนผลิตแบตเตอรี่กับ NEC และลงทุนสร้างโรงงานใหญ่แห่งใหม่ โดยหวังจะทำตลาดแบตเตอรี่แบบ lithium ion ของตนต่อผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ บริษัทแบตเตอรี่ของญี่ปุ่นก้าวล้ำหน้ากว่าใครทั้งในด้านการออกแบบและการผลิตเพื่อตลาดระดับ mass ซึ่งจะทำให้คู่แข่งยากจะแข่งขันในด้านราคาได้ A.T. Kearney ชี้ว่า ถึงแม้หากว่าญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถออกแบบแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้าได้สำเร็จอีก แต่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ในระดับ mass ก็น่าจะตกเป็นของญี่ปุ่น

รถใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของมิตซูบิชิ ซึ่งมีชื่อว่า i MiEV เป็นหลักฐานอีกอย่างที่แสดงให้เห็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเป็นผู้นำในด้านรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ รถใช้ไฟฟ้าโดยมากมักมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เร่งความเร็วได้น้อย และใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่นาน แต่ i MiEV สามารถแล่นได้ไกลถึง 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (เทียบกับเพียง 40 กิโลเมตรของ Volt ของ GM) และจากการทดสอบขับขี่รอบกรุงโตเกียวเมื่อไม่นานมานี้พบว่า การเร่งความเร็วสำหรับการขับขี่ภายในเมืองของรถรุ่นนี้ แทบไม่แตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมันแบบเก่า รถใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่อื่นๆ อย่างเช่นที่ใช้แบตเตอรี่ของ Tesla บริษัทแบตเตอรี่หน้าใหม่รายเล็กซึ่งชูจุดขายด้านนวัตกรรม อาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่า แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับ Tesla คือ มิตซูบิชิเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของญี่ปุ่นคือ GS Yuasa และทั้งสองบริษัทกำลังเตรียมจะผลิตแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุดในระดับ mass ภายในสิ้นปี 2009

แบตเตอรี่ของ i MiEV มีน้ำหนักเพียง 204 กิโลกรัม (เทียบกับของ Tesla ซึ่งหนัก 454 กิโลกรัม) ซึ่งมีผลต่อราคาอย่างชัดเจน มิตซูบิชิมีแผนจะเริ่มขาย i MiEV ในญี่ปุ่นภายในสิ้นปีหน้าในราคาประมาณ 28.000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาหลังจากการอุดหนุนเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ เทียบกับ Tesla ที่มีแผนจะอุดหนุนถึง 100,000 ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ผลจากการทำงานร่วมกับบริษัทแบตเตอรี่อย่างใกล้ชิด ทำให้มิตซูบิชิบอกว่า ใกล้จะเสร็จสิ้นการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยชาร์จแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วได้แล้ว ซึ่งจะสามารถชาร์จแบตฯ ได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งทำให้คุณอาจชาร์จแบตฯ ใหม่ได้อีกครั้ง ในระหว่างที่คุณจอดรถทิ้งไว้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและลงไปจับจ่ายซื้อของ พอกลับมาที่รถแบตฯ ก็เต็มพอดี

บริษัทญี่ปุ่นมุมานะในการพัฒนารถ green car มานานหลายปีอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่ฝังอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ก็ทุ่มลงทุนใน R&D เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อนหลังของผู้ผลิตสหรัฐฯ นั้นแตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ ยังคงทุ่มลงทุนไปกับการพัฒนารถขนาดใหญ่อย่าง SUV ในขณะที่ญี่ปุ่นเดินเข้าสู่เส้นทางรถลูกผสมนานแล้ว ญี่ปุ่นยังทุ่มเงินไปกับส่วนอื่นๆ ของอุตสาหกรรมด้วย และส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นักวิเคราะห์จาก Fuji Chimera Research Institute ชี้ว่า มีบริษัทจำนวนมากของญี่ปุ่นได้มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อสนองความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ผลผลแห่งความพยายามนั้นก็เห็นผลแล้ว

ความลับของการที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ดีกว่าใครๆ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากแต่เป็นการค่อยๆ ต่อยอดนวัตกรรมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทักษะที่ญี่ปุ่นถนัดเป็นพิเศษ ทั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้จับมือกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายต่างใช้คำว่า suriawase ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่า การประสานและร่วมแรง ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปีที่แล้วในงานมอเตอร์โชว์ที่ดีทรอยต์ว่า Katsuaki Watanabe ประธานโตโยต้า ได้ตกแต่งเวทีของโตโยต้าด้วยป้ายยี่ห้อขนาดใหญ่ของ Panasonic เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บริษัทดังกล่าว (Panasonic เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ป้อน Prius ของโตโยต้า) การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและ supplier มีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกันอย่างมากเช่นนั้น ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์จาก UBS Securities ชี้ว่า การผลิตรถยนต์ไม่เหมือนกับการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม่ใช่เพียงการนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะได้รถยนต์ที่ดีที่สุด แต่รถยนต์แต่ละคันต้องสร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นตามคำสั่งอย่างเหมาะเจาะพอดี

สัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก นิสสันกำลังพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่โดยจับมือกับ NEC และจะเริ่มผลิตในระดับ mass ในปีหน้า A.T. Kearney ชี้ว่า เทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่นเป็นความลับสุดยอดของความลับสุดยอด แม้ว่า Ford กับ GM จะพยายามประโคมความดีของรถลูกผสมของตน แต่คาดว่าคงจะมีราคาแพงกว่ารถของญี่ปุ่นอย่างมาก และผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ อาจจะต้องหันไปซื้อแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้ากว่าและเก็บพลังงานได้นานกว่าจากญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

เนื่องจากแบตเตอรี่ที่เป็นพลังงานในรถยนต์ อาจจะขยายไปสู่การใช้งานในบ้านได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ทำให้การเป็นผู้นำในตลาดนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นด้วย Automotive Energy Supply Corp. (AESC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนิสสันกับ NEC กำลังพัฒนาแบตเตอรี่แบบ lithium ion ด้วยการใช้ส่วนประกอบของแมงกานีส ซึ่งเป็นสิ่งที่ NEC ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1990 Nobuaki Yoshioka ผู้บริหารระดับสูงของ AESC ชี้ว่า เราต่างรู้ว่าน้ำมันจะต้องหมดไปจากโลก จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีเก็บพลังงานที่เราสร้างขึ้น แต่ตอนนี้เรายังเน้นที่การเก็บพลังงานในรถยนต์ แต่ต่อไปในอนาคตแน่นอนว่า เทคโนโลยีการเก็บพลังงานจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมายรวมถึงการใช้งานในบ้าน

ยกตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงพิเศษในอนาคตอาจสามารถเก็บกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ในเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้ แบตเตอรี่ยังอาจนำไปใช้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นแต่ทั่วทั้งเอเชีย นักวิเคราะห์จาก Nomura Research Institute เชื่อว่า การรวมแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆ เข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จะปฏิวัติระบบพลังงานที่ใช้ในบ้านเรือนไปโดยสิ้นเชิงในอีกไม่นานนี้ โดยที่ราคาของระบบนี้จะมีราคาที่สมเหตุสมผล

แบตเตอรี่ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังรวมไปถึงมอเตอร์ไฟฟ้า inverter และอื่นๆ ซึ่งญี่ปุ่นล้วนแต่ครอบครองความเป็นหนึ่งอยู่ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ตลาดชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ลูกผสมเพียงอย่างเดียว อาจโตขึ้น 3 เท่าเป็น 5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2015 Yozo Hasegawa ผู้ประพันธ์หนังสือ Clean Car Wars ชี้ว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงมากที่จะผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก หนังสือของเขาให้รายละเอียดของการแข่งขันเทคโนโลยีรถสีเขียวในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้ผลิตรถยนต์คู่แข่งในต่างชาติ

ความพยายามผลักดันการสร้างสุดยอดรถสีเขียวของญี่ปุ่น ได้ล้นไปถึงธุรกิจภาควัตถุดิบด้วย อย่างเช่นอุตสาหกรรมเหล็กกล้า (เหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบสำคัญของตัวถังรถยนต์) ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เข้มข้นและการควบรวมกิจการทั่วโลก แต่ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นยังคงสามารถรักษาความได้เปรียบ ด้วยการเน้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับสูงป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ (ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งสร้างส่วนต่างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ผลิตเหล็กกล้า) ศาสตราจารย์ Yasuhiro Daisho แห่ง Waseda University ชี้ว่า ผู้ผลิตเหล็กกล้าของญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตเหล็กกล้าเบาพิเศษและทนทานสูงมานานหลายปีแล้ว โดย Nippon Steel และ JFE Steel มีเทคโนโลยีล้ำหน้าชนิดที่คู่แข่งต่างชาติอย่าง Arcelor-Mittal กระสันต์อยากได้ ผู้ผลิตในเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ก็กำลังพยายามจะไล่ตามญี่ปุ่นให้ทันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตเหล็กกล้า

ส่วนผู้ผลิตวัตถุดิบอื่นๆ ต่างก็กำลังเร่งรีบที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อป้อนให้แก่การผลิตรถยนต์ไฮเทคของญี่ปุ่น Toray ผู้บุกเบิกวัตถุดิบไฮเทคหลายอย่างเช่นเส้นใยคาร์บอน ซึ่งใช้กับปีกเครื่องบินและลำตัวเครื่องบินของเครื่อง Boeing Dreamliner ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล่านั้น Toray เพิ่งตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่สำหรับการผลิตวัตถุดิบที่ล้ำหน้าสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะที่ Nagoya Toray ครองส่วนแบ่ง 34% ในตลาดเส้นใยคาร์บอนของโลก และหวังจะพัฒนาเส้นใยคาร์บอนที่มีราคาถูกพอที่จะใช้กับตัวถังรถยนต์ได้ และหวังจะดันยอดขายสินค้าที่ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2015

Teijin ผู้ผลิตวัตถุดิบไฮเทคอีกรายของญี่ปุ่น หวังจะลดน้ำหนักของรถยนต์ลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการใช้วัสดุใหม่ๆ หลายอย่าง อย่างเช่น polycarbonate resin และได้นำต้นแบบของ resin ดังกล่าวซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนฟองสบู่ แสดงในโชว์รูมของบริษัทในกรุงโตเกียว ขณะเดียวกัน รถ sports car น้ำหนักเบาพิเศษ ซึ่งผลิตโดย Ken Okuyama Design ก็เตรียมจะออกจำหน่ายปลายปีนี้ในญี่ปุ่น การใช้เส้นใยคาร์บอนและอะลูมิเนียมทำให้รถรุ่นดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงแค่ 750 กิโลกรัม

อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพจะเติบโตอีกอย่างคือ bioplastics ซึ่งได้ดูดเงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาไปจากมาสด้าและโตโยต้า รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ไปมากพอดู เนื่องจากวัสดุนี้ทำมาจากพืชมากกว่าจากปิโตรเลียม (พลาสติกส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากปิโตรเลียม) ทำให้ bioplastics ปลอดจากคาร์บอนและใช้พลังงานน้อยกว่ามากในการผลิต บริษัทหลายแห่งในอุตสาหกรรมนี้กำลังทดลองนำ bioplastics ไปผลิตเป็นส่วนประกอบหลายๆ อย่างที่ใช้กับการผลิตรถยนต์ ซึ่งรวมถึงแผงหน้าปัดและผ้าปูพื้นรถ

การมุมานะพยายามอย่างหนักในการพัฒนาเทคโนโลยีทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับ green car ทำให้บางครั้งญี่ปุ่นต้องก้าวพลาดอย่างง่ายๆ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น บริษัทมือถือของญี่ปุ่นต้องถึงคราวจบเห่ เมื่อสนับสนุนมาตรฐานแบบผิดทางในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้พลาดโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ในยุคมือถือครองโลกในช่วงนั้น แบตเตอรี่ lithium ion ที่บริษัทญี่ปุ่นทุ่มลงทุน จนถึงบัดนี้ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย และดูเหมือนจะเป็นไปได้ว่า อาจมีผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นที่คล่องแคล่วกว่า สะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดนี้ที่ดีกว่าขึ้นมาได้

ในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า เทคโนโลยี green car ชนิดไหนจะได้ชัยชนะในการแข่งขันผลิตรถที่แล่นได้นานที่สุด รถที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานอย่างเช่น Clarity ของฮอนด้า ยังคงมีปัญหาใหญ่หากต้องการตีตลาดให้ได้ เช่นราคาที่ยังคงแพง สถานีเติมเชื้อเพลิงและโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเติมเชื้อเพลิงให้แก่รถรุ่นนี้ ยังต้องสร้างขึ้นใหม่หมดจากศูนย์ ส่วนรถยนต์ใช้ไฟฟ้าแม้จะมีความได้เปรียบมหาศาลที่สามารถใช้ระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ได้ แต่รถประเภทนี้ก็ยังคงมีราคาแพง และแม้แต่แบตเตอรี่ที่ดีที่สุด ก็ยังไม่อาจจะทำให้รถแล่นได้ระยะทางไกลเท่ากับเติมน้ำมันเต็มถัง ส่วนแบตเตอรี่แบบ lithium ion ก็มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะมักจะร้อนเกินไปและอาจทำให้ไฟไหม้ ผู้ผลิตบางรายต้องเรียกคืนแบตเตอรี่ lithium ion ที่ใช้ในเครื่อง laptop เพราะปัญหานี้ Don Hillebrand ผู้อำนวยการและนักวิจัยชั้นนำของ Argonne National Labs ในชิคาโกเคยให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยเตือนว่า ผู้นำในการพัฒนาแบตเตอรี่ในวันนี้อาจไม่ได้เป็นผู้นำตลอดไป เพราะว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แม้กระทั่งรถลูกผสมที่นิยมกันมากที่สุดก็ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มหรือ niche เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น รถใช้น้ำมันไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขาอีกต่อไป Hillebrand เชื่อว่า เทคโนโลยีสีเขียวกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หาก Ford คือผู้คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ทันสมัยอย่างที่เราใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อครั้งที่ Ford ได้สร้างสายการประกอบรถยนต์ขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับรถรุ่น Model T ถ้าเช่นนั้น Hillebrand ก็ชี้ว่า เทคโนโลยีรถยนต์สีเขียวที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นี้ ก็จะนับเป็น “การประดิษฐ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 2” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ และญี่ปุ่นกำลังเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว

บัดนี้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังแล่นออกจากงานแสดงรถยนต์เข้าสู่ถนนที่แท้จริงแล้ว ฮอนด้าได้เริ่มให้เช่ารถ FCX Clarity แก่ลูกค้าชั้นสูงบางคนในแคลิฟอร์เนีย Jean Harris นักแสดงฮอลลีวูด หนึ่งในลูกค้าชั้นสูงที่ได้รับการเลือกสรรจากฮอนด้าให้เป็นผู้ใช้รถ Clarity บอกว่า เธอชอบที่ Clarity ไม่ได้แตกต่างไปจากรถยนต์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นรถธรรมดาในยุคอวกาศ หากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นทำสำเร็จ คำชมง่ายๆ ข้างต้นก็อาจเป็นกุญแจไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของญี่ปุ่นได้

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 15 กันยายน 2551   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us