|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้ผลิตกังหันลมและกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมกำลังมือเป็นระวิงเพื่อเร่งผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น
เหนือขึ้นไป 60 ไมล์จากซานฟรานซิสโก ที่ Solano County กังหันลมอันแล้วอันเล่าผุดขึ้นเป็นทิวแถวสุดลูกหูลูกตา บนภูเขาสูงที่ตั้งตระหง่านง้ำเหนือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Sacramento การก่อสร้าง “ฟาร์ม” กังหันลมแห่งใหม่ล่าสุดซึ่งมีชื่อว่า Shiloh II ที่ Solano เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเร่งก่อสร้างโรงสีลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีนี้ สหรัฐฯ จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,000 วัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในบ้านเรือนเกือบ 3 ล้านหลัง นับเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมอย่างก้าวกระโดดถึง 50% จากที่เคยเพิ่มขึ้นถึง 45% มาแล้วเมื่อปีก่อน
สิ่งที่ผลักดันการเติบโตของพลังงานลมคือ การที่รัฐสภาสหรัฐฯ เพิ่งขยายการให้ tax credit เมื่อเดือนตุลาคม และการที่มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ กำหนดให้การผลิตไฟฟ้าต้องมีส่วนของการใช้พลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ Jeff Immelt CEO ของ General Electric (GE) ผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ชี้ว่า ปัจจัยทั้งสองรวมถึงสาเหตุอื่นๆ ทำให้มีการนำพลังงานลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการเติบโตของการใช้พลังงานลมทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 30% ต่อปี แม้ว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวของโลกอาจจะส่งผลกระทบให้การเติบโตของพลังงานลมชะลอตัวในอนาคตอันใกล้ก็ตาม
นอกจากนี้ มันยังเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่นฟาร์มกังหันลม Shiloh II ข้างต้น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 150 เม็กกะวัตต์แห่งนี้ สร้างโดย enXco บริษัทสหรัฐฯ ที่อยู่ในเครือ EDF บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ส่วนตัวกังหันลมที่จะติดตั้งอยู่ทั่วทั้งฟาร์มหรือโรงสีลมขนาดยักษ์นี้ ผลิตโดย REpower ของเยอรมนี ซึ่งถูกซื้อไปเมื่อปีที่แล้วโดยบริษัท Suzlon ผู้ผลิตกังหันลมของอินเดีย ซึ่งเพิ่งย้ายสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ไปยังเดนมาร์ก Ethan Zindler แห่งบริษัทวิจัยด้านพลังงาน New Energy Finance ในกรุงลอนดอนชี้ว่า หากคุณต้องการลงทุนในพลังงานลม คุณต้องมองไปที่ตลาดหุ้นในต่างประเทศเท่านั้น เพราะมันคือธุรกิจระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมอาจสามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงให้กระโดดเข้าร่วมวงได้ อย่างเช่น GE และ FPL Group แต่ธุรกิจนี้ยังนับว่ามีความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจทั้งหมดของบริษัทเหล่านี้ ส่วนบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานลมแท้ๆ เพียงอย่างเดียวก็ยิ่งมีขนาดเล็กลงไปอีก และยังคงจะมีความผันผวนอยู่อีกมาก นอกจากนี้ยังมักจะมีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E ratio) สูงอีกด้วย ทั้งๆ ที่ราคาหุ้นบริษัทพลังงานลมเพิ่งร่วงลงเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม มีหุ้นอยู่ 4 ตัวที่น่าสนใจซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หุ้นทั้งสี่ต่างเป็นที่นิยมเก็งกำไร ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจะตรวจสอบหุ้นเหล่านี้อย่างระมัดระวังก่อนที่จะตัดสินใจเอาเงินไปเสี่ยง
หุ้นบริษัทพลังงานลมหลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ ได้แก่ผลิตกังหันลมและฮาร์ดแวร์อื่นๆ กับบริษัทที่เรียกว่า developer ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในบรรดาบริษัทประเภท developer นี้ หุ้นของ IBERDROLA RENEWABLES (IBR.MC) ซึ่งซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้นแมดดริดของสเปน เป็นชื่อที่ควรรู้จัก บริษัทนี้แยกตัวออกจาก Iberdrola บริษัทผลิตไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสเปนเมื่อปีที่แล้ว และขณะนี้เป็นบริษัทสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่สุดในโลก ด้วยยอดขาย 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2007 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
สหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกสเปนของ Iberdrola และจะช่วยทำให้บริษัทขยายตัว Terry Hudgens CEO สาขาในอเมริกาเหนือของบริษัท Iberdrola Renewable กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมแห่งใหม่ที่มีกำลังการผลิต 1.000 เม็กกะวัตต์ต่อปีในสหรัฐฯ โดยได้วางแผนเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว ก่อนที่บริษัทอื่นๆ จะตัดสินใจเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เสียอีก บริษัทนี้นับว่าโตเร็วมาก โดยในไตรมาสล่าสุด Iberdrola มียอดขาย 698 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 200% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลกำไรก่อนหักภาษีก็เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 600% เป็น 153 ล้านดอลลาร์ หุ้นของบริษัทมีค่า P/E สูงเกือบ 40 เท่า
Iberdrola ซื้อกังหันลมจากหลายบริษัทมี Suzlon, Mitsubishi, Siemens, Vestas และ GE แต่บริษัทที่ผลิตกังหันลมป้อน Iberdrola มากที่สุดคือบริษัทสเปนที่ชื่อว่า GAMESA (GAM.MC) Iberdrola เพิ่งจะมีคำสั่งซื้อกังหันลมล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยซื้อมาจาก Gamesa ซึ่งขณะนี้เป็นผู้ผลิตกังหันลมใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้ว่าค่า P/E ของ Gamesa ที่ 18 เท่า จะมากกว่าค่า P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้ถึงหนึ่งเท่าตัว แต่ผลกำไรของบริษัทคาดว่าจะโตถึง 30% ในปีนี้
แต่บริษัทที่ผลิตกังหันลมรายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 23% ในตลาดโลกคือ VESTAS (VWS.CO) หุ้นของบริษัทนี้ซื้อขายอยู่ที่ตลาดหุ้นโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก รายได้ของบริษัทโต 26% ในปี 2007 เป็น 7.2 พันล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าตามราคาตลาดเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์ เสน่ห์ของหุ้นตัวนี้สำหรับนักลงทุนที่สนใจบริษัทพลังงานลม ตามสายตาของนักวิเคราะห์จาก Citigroup คือ การที่บริษัทเป็นผู้นำตลาด ทำให้บริษัทนี้เหมือนเป็นตัวแทนที่สะท้อนความแข็งแกร่งโดยรวมของอุตสาหกรรมนี้
ส่วนหุ้นตัวสุดท้ายที่น่าสนใจคือบริษัทหน้าใหม่ที่น่าจับตามองอย่าง CLIPPER WINDPOWER (CWP) ซึ่งมีฐานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย แต่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นลอนดอน ลูกค้าของโรงสีลมที่มีชื่อว่า Liberty ซึ่งมีกำลังการผลิต 2.5 เม็กกะวัตต์ ของ Clipper ได้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง FPL และ BP โดยรายหลังกำลังสร้างโรงสีลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกับ Clipper นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกค้าสูงศักดิ์อย่างสมเด็จพระบรมราชินีนาถ Elizabeth ที่สองแห่งอังกฤษ ซึ่งทรงซื้อต้นแบบโรงสีลมนอกชายฝั่งกำลังการผลิต 10 เม็กกะวัตต์ของบริษัทไป หุ้นของ Clipper ราคาร่วงลงถึง 78% ในปีนี้เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่ CEO Doug Pertz ยืนยันว่า ปัญหาเหล่าได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว แม้ Clipper จะขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะขาดทุนอีกในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์และคนวงในอุตสาหกรรมพลังงานลมเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมของบริษัท บวกกับความต้องการกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ Clipper เป็นผู้ชนะในระยะยาว
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
เรื่อง ฟอร์จูน 10 พฤศจิกายน 2551
|
|
|
|
|