|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อุตสาหกรรมผลิตพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเริ่มตีตลาด แต่จะมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว
คงไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะรัก Arnold Schwarzenegger มากไปกว่าอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อีกแล้ว ในการกล่าวเปิดงานประชุมและแสดงสินค้าเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อว่างาน Solar Power International 2008 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วันเมื่อเดือนตุลาคมที่ศูนย์ประชุม San Diego Convention Center โดยมีผู้เข้าร่วมงาน 20,000 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก อดีตพระเอกหนังฮอลลีวูด ซึ่งผันตัวเองมาเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า สิ่งใดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมดีสำหรับเศรษฐกิจด้วย และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทั้งอนาคตและปัจจุบันของเรา และจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งมันได้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ใช่ว่าจะรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก ซึ่งส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมแล้วอุตสาหกรรมเล่า นับตั้งแต่ธนาคาร สถาบันการเงิน ไปจนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำทุกแห่งต่างเจอปัญหาราคาหุ้นร่วงอย่างหนักจนล้ำหน้าตลาดหุ้น Nasdaq ที่ร่วงลง 36% ในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม มูลค่าของดัชนีที่เรียกว่า Claymore/MAC global solar energy index (TAN) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท ETF ที่ประกอบด้วยหุ้นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ร่วงลงถึง 56% นับตั้งแต่เริ่มทำการซื้อขายเมื่อกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา
นักวิเคราะห์บางคนกลัวว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ อาจทำให้ลูกค้าของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ประสบปัญหาการเงิน จนไม่อาจสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งต้องใช้แผงเซลล์สุริยะจำนวนมหาศาล ส่วนการติดตั้งแผงเซลล์สุริยะตามบ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000-30,000 ดอลลาร์ต่อหลัง ก็ทำให้เจ้าของบ้านอาจต้องถึงกับกู้ยืม เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงเซลล์สุริยะ ในสเปนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มลดการอุดหนุนลง และยังไม่รู้ว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเพิ่งเริ่มให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อย่าง เช่น อิตาลี กรีซ และฝรั่งเศส จะสามารถชดเชยช่องว่างตรงนี้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม คราวนี้อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่ซวดเซอย่างหนักเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 อีกต่อไป ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ต้องล้มหายตายจากไป
เมื่อใดที่น้ำมันมีราคาถูก รัฐบาลระงับการให้เงินอุดหนุน หรือเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก แต่ขณะนี้ได้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นขึ้นมาว่า อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถอยู่รอดได้ต่อไป และไม่เพียงแต่อยู่รอดเท่านั้น แต่ยังจะเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง บวกกับราคาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกลง ทำให้การนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งปลอดคาร์บอนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นที่ปรารถนามากกว่าที่เคยเป็นมา ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์จึงโตขึ้นเป็นสองเท่าในปีที่แล้ว เป็น 33,000 ล้านดอลลาร์ และนักวิเคราะห์คาดว่า รายได้ของอุตสาหกรรมนี้จะโต 33% ต่อปีในอนาคตอันใกล้
เริ่มต้นจากการเป็นเพียงเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรักต้นไม้ แต่บัดนี้อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์กลับกลายเป็นตลาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งบริษัทวิจัยตลาด Lux Research ในนครนิวยอร์กทำนายว่า จะสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 5 ปีข้างหน้า และเยอรมนี ญี่ปุ่นและสเปนจะเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ชาติยุโรปตะวันตกอื่นๆ ก็กำลังไล่ตามมาติดๆ เช่นเดียวกับจีนและสหรัฐฯ รัฐสภาสหรัฐฯ ยังได้ขยายการให้ tax credit 30% สำหรับการลงทุนในพลังงานสะอาด โดยอยู่ภายใต้แผนกอบกู้วิกฤตการเงินสหรัฐฯ 7 แสนล้านดอลลาร์ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ ไปเมื่อไม่นานมานี้ คาดว่ามาตรการจูงใจทางภาษีดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ ให้โตยิ่งขึ้นไปอีก
Marc Porat แห่ง Serious Materials บริษัทวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชี้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงไปแล้ว และชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ช่องว่างทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ถูกถมเต็มด้วยการเกิดขึ้นของบริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ๆ มากมาย หลังจากได้รับการพัฒนามาอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักแล้ว แผงเซลล์สุริยะที่สามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าได้โดยตรง ซึ่งเรียกว่า แผงเซลล์สุริยะแบบ photovoltaic (PV) สามารถพบเห็นได้มากขึ้นตามหลังคาบ้าน หลังคาโรงงานจนกระทั่งถึงหลังคาของห้าง Wal-Marts และยังพบเห็นได้ใน “ฟาร์ม” แผงเซลสุริยะ PV เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ลงทุนสร้าง “ฟาร์ม” ผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์แบบ solar thermal farms ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีแผงเซลสุริยะแบบ PV โดยเทคโนโลยีนี้จะใช้ความร้อนของแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนของเหลวเป็นไอน้ำ เพื่อจะไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งวิธีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทันสมัยที่สุดจากแผงเซลล์สุริยะ PV ก็ยังทำให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มีราคาโดยเฉลี่ยแพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตด้วยพลังงานถ่านหินถึงเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ราคาจะค่อยๆ ลดลงมาพร้อมๆ กับที่ประสิทธิภาพก็จะเพิ่มขึ้น และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เชื่อว่า ราคาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถแข่งขันกับราคาไฟฟ้าที่ผลิตแบบดั้งเดิมได้ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แม้ว่าในเวลานี้ หลายๆ ประเทศยังคงต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ก็ตาม เพื่ออุดช่องว่างส่วนต่างของราคาไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังคงแพงกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเดิม
เมื่อหลายประเทศผ่านกฎหมายจำกัดคาร์บอนและการค้าคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ อย่างเช่นสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง Barack Obama และ John McCain ต่างก็เคยออกปากสนับสนุนการออกกฎหมายดังกล่าว ก็จะทำให้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเริ่มมีราคาแพงขึ้น ซึ่งก็จะช่วยอุดช่องว่างความต่างของราคาไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานแสงอาทิตย์กับเชื้อเพลิงแบบเดิมได้อีกทางหนึ่ง และสุดท้าย อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะขยายตัวและสามารถประหยัดจากขนาดได้เมื่อมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่ธุรกิจ “หลังบ้าน” อีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถสร้างรายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี และเป็นธุรกิจที่ทำได้ทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ตราบใดที่มีแสงอาทิตย์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นจนสามารถประหยัดจากขนาดได้นี้ ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยฉุดราคาไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้ถูกลงไปอีก
แม้ว่าในวันนี้อุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์จะสามารถขายเซลล์สุริยะและแผงเซลล์สุริยะได้มากเท่ากับที่ผลิตได้ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปีหน้า (2009) ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่า จะมีพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินเกิดขึ้น และอาจก่อให้เกิดสงครามตัดราคาระหว่างผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยกันเอง นักวิเคราะห์จาก Lux ชี้ว่า บริษัทที่อ่อนแออาจจะต้องออกไปจากตลาดหรือถูกซื้อกิจการ ด้านบริษัทผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์นักในเรื่องที่จะเกิดสงครามราคา แต่เห็นด้วยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้ในเร็วๆ นี้ Tom Werner CEO ของ SunPower บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ชี้ว่า จะเกิดการรวมกิจการในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาอย่างในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดเพียงรายใหญ่ๆ ไม่กี่รายเท่านั้น
จากบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์จดทะเบียนซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 14 ราย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีอย่างน้อย 3 แห่งที่จะผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่น โดยบริษัทที่เป็นผู้ชนะคือผู้ที่มีเทคโนโลยีที่แตกต่างมีเงินสดมากพอที่จะอยู่รอด และมีสายป่านยาวพอที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตแผงเซลล์สุริยะไปจนถึงการขายไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ แม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงผันผวนไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่นักลงทุนระยะยาวอาจควรที่จะพิจารณาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว ซึ่งกำลังมีมูลค่าที่น่าดึงดูดใจ
FIRST SOLAR(FSLR) เป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นขวัญใจของนักวิเคราะห์หุ้น บริษัทนี้ก่อตั้งในปี 1999 โดยแต่แรกเริ่มได้รับการสนับสนุนจากตระกูล Walton เจ้าของ Wal-Mart จากนั้น First Solar เข้าตลาดในปี 2006 หรือตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของกระแสการเริ่มขายหุ้น IPO ของบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ หากอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ผันผวนตามที่คาด First Solar น่าจะอยู่รอด เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดที่เรียกว่า thin film ซึ่งทำให้บริษัทสามารถผลิตแผงเซลล์สุริยะได้ถูกกว่าคู่แข่ง
ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเก่าที่เรียกว่า crystalline-silicon photovoltaic จะประกบแผ่นซิลิคอนไว้ตรงกลางระหว่างแผ่นกระจก แต่เทคโนโลยี thin film ของ First Solar จะฉาบซิลิคอน เป็นชั้นบางๆ โดยตรงลงบนผิวหน้าของกระจก ซึ่งเป็นวิธีการที่เร็วกว่า และเนื่องจากใช้เพียงเศษเสี้ยวของซิลิคอนที่แสนแพงเท่านั้น เมื่อเทียบกับการที่ต้องใช้ซิลิคอนในปริมาณที่มากกว่าในเทคโนโลยี PV แบบเก่า ทำให้ thin film มีราคาถูกกว่ามาก First Solar ซึ่งมีโรงงานอยู่ในโอไฮโอ มาเลเซียและเยอรมนี สามารถสร้างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในราคาเพียง 1.14 ดอลลาร์ต่อวัตต์ เทียบกับ 2.90 ดอลลาร์ต่อวัตต์ของการใช้เทคโนโลยีเซลล์สุริยะแบบ crystalline-silicon แบบเก่า ถ้าเพียงแต่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล First Solar ก็สามารถจะแข่งขันกับโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติหรือพลังถ่านหินไม่ว่าจะที่ใดๆ ในโลกได้อย่างสบายๆ
First Solar ยังมีทีมบริหารที่แน่วแน่ในการบรรลุเป้าหมายและหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้บริษัทสามารถสร้างผลงานได้ทะลุเป้าทั้งของตนเองและของนักวิเคราะห์ ส่วนทีมผลิตของบริษัทก็เยี่ยมยอดและสามารถผลิตได้เกินความคาดหมาย หรือเกิน 100% ของความสามารถในการผลิต
ราคาหุ้นของบริษัทซึ่งมีฐานอยู่ที่ Tempe ในรัฐแอริโซนาแห่งนี้ เคยพุ่งสูงสุดที่ระดับ 317 ดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม แต่ขณะนี้ซื้อขายกันที่ระดับ 144 ดอลลาร์ นักวิเคราะห์คาดว่า ยอดขายของ First Solarในปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 138% จากปี 2007 และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2.1 พันล้านดอลลาร์ในปีหน้า โดยกำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว First Solar ยังนั่งทับเงินสดอีก 633 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าราคาหุ้นของ First Solar อาจจะดูเหมือนแพง ด้วยค่า current P/E ที่ 50 เท่า และ forward P/E ที่ 21 เท่า แต่การเติบโตในอนาคตที่ดูสดใสของบริษัท และงบดุลที่แข็งแกร่งทำให้เป็นหุ้นที่ดูน่าซื้อ
ในขณะที่ First Solar อ้างว่า แผงเซลล์สุริยะของตนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในราคาต่ำที่สุดต่อวัตต์ SUNPOWER (SPWRA) ก็อ้างว่าแผงเซลสุริยะของตนมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด เมื่อเทียบกันแบบนิ้วต่อนิ้ว แผงเซลสุริยะของ SunPower สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าระบบของ SunPower จะแพงที่สุดก็ตาม แต่คุณก็ต้องการเซลสุริยะที่น้อยกว่า ซึ่งทำให้ระบบของ SunPower เหมาะสำหรับใช้กับบ้านหรือธุรกิจซึ่งมีพื้นที่จำกัด SunPower มีฐานอยู่ในซานโฮเซ่ เป็นบริษัทที่แยกตัวออกจาก Cypress Semiconductor เมื่อปี 2005 และขณะนี้ มีมูลค่าตามราคาตลาด 4.2 พันล้านดอลลาร์ หรือมีขนาดใหญ่กว่า Cypress บริษัทแม่เดิมถึง 8 เท่า SunPower เปรียบเสมือน Apple แห่งอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงเซลล์สุริยะของบริษัทนี้ผ่านการออกแบบมาอย่างดีและสวยงาม SunPower สร้างความแตกต่างให้ตัวเองในตลาด ด้วยการวางตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแผงเซลสุริยะที่มีคุณภาพสูงที่สุด และทำให้แบรนด์มีความหมายขึ้นมาในอุตสาหกรรมนี้
นอกจากจะผลิตและติดตั้งระบบแล้ว SunPower ยังเริ่มเดินไปบนเส้นทางใหม่อีกด้วย โดยตัดสินใจที่จะขายกระแสไฟฟ้าที่ใช้แผงเซลล์สุริยะของตนผลิตไปสู่มือลูกค้าโดยตรง อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ใหม่ดังกล่าวก็ยังไม่อาจช่วยให้หุ้นของ SunPower รอดพ้นจากการถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา หุ้นของ SunPower ราคาตกลงจากระดับที่เคยสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ 164 ดอลลาร์ เหลือเพียง 37 ดอลลาร์เมื่อต้นเดือนตุลาคม Werner ผู้บริหารสูงสุด SunPower ถึงกับช็อกและบ่นว่า ตลาดทำกับบริษัทที่มีการเติบโตสูงอย่าง SunPower อย่างกับเป็นบริษัทที่ไร้ค่า แต่ก็เชื่อว่าเวลาจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้เป็นเวลาที่สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจย่ำแย่จริงๆ
ขณะนี้หุ้นของ SunPower ซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 54 ดอลลาร์ โดยมีค่า current P/E ที่ 60 เท่า และ forward P/E ที่ 12 เท่า จึงเป็นหุ้นที่ดูน่าซื้ออีกราย นักวิเคราะห์คาดว่า ยอดขายของ SunPower ในปีนี้จะสูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 80% จากปี 2007 และจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2009 ส่วนกำไรต่อหุ้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.33 ดอลลาร์ในปีนี้เป็น 3.55 ดอลลาร์ในปี 2009 หรือเพิ่มขึ้น 52%
ในขณะที่ SunPower ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ SUNTECH POWER (STP) บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีกแห่งหนึ่ง กลับนำเสนอในด้านปริมาณ Suntech Power มีฐานอยู่ที่ Wuxi ในจีน และเป็นผู้ผลิตแผงเซลล์สุริยะแบบ solar PV modules รายใหญ่ที่สุดของโลก และกำลังเตรียมแผนจะรุกตลาดครั้งใหญ่เพื่อผงาดขึ้นเป็นเจ้าตลาด ด้วยเงินสดในมือถึง 752 ล้านดอลลาร์ และการสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานราคาถูก รวมทั้งมีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เงินหนาของจีนหนุนหลัง Suntech จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดจีนซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Roger Efird ผู้บริหาร Suntech ในทวีปอเมริกา และเป็นประธานสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ เชื่อว่า ความเสี่ยงที่แผงเซลล์สุริยะจะประสบปัญหาราคาตกต่ำในปีหน้าตามที่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์นั้น จะถูกชดเชยด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในจีนและสหรัฐฯ ซึ่งยังคงต้องการแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
Efird ยังชี้ว่า ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงสิ้นปี ไม่มีบริษัทใดที่มีแผงเซลล์สุริยะเหลือให้ขายอีกแล้ว เพราะขายจนหมดเกลี้ยงไปแล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนลืมไปคือ ยังคงมีโครงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีกนับร้อยนับพันโครงการโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ยังอยู่บนหิ้งและกำลังรอเวลาเหมาะๆ ที่จะเผยโฉมออกมา และเขาเชื่อว่าเวลาเหมาะๆ นั้นจะมาถึงในปีหน้า
เพื่อความไม่ประมาท Suntech ก็เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง SunPower กำลังขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจะขายกระแสไฟฟ้าตรงสู่ลูกค้าธุรกิจ นอกจากนี้ Suntech ยังทุ่มทุนหลายสิบล้านดอลลาร์ตรึงราคาของซิลิคอนตลอด 5-10 ปีข้างหน้า โดยเชื่อว่าความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาซิลิคอนแพงขึ้น และจะทำให้บริษัทคู่แข่งที่ไม่มีแหล่งทรัพยากรอย่าง Suntech จะต้องเผชิญกับปัญหาหนักแน่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าในตลาดซื้อขายซิลิคอนส่งมอบทันที อย่างไรก็ตาม หากราคาซิลิคอนกลับตกลง ซึ่งจะทำให้บริษัทคู่แข่งมีศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น การลงทุนของ Suntech ดังกล่าวก็คงจะเป็นความผิดพลาดราคาแพง
ราคาหุ้นของ Suntech ก็เช่นเดียวกับอีก 2 บริษัทข้างต้น ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ 90 ดอลลาร์ในเดือนมกราคม เหลือเพียง 18 ดอลลาร์เมื่อกลางเดือนตุลาคม หุ้นของ Suntech ดูมีราคาถูกเมื่อพิจารณาจากค่า current P/E ซึ่งอยู่ที่ 17 เท่า และ forward P/E ที่ 9 เท่า ส่วนยอดขายของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากธุรกิจในเอเชีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 62% จากปี 2007 และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3.2% ในปี 2009 ซึ่ง Suntech จะรุกตลาดมากขึ้นในสหรัฐฯ ส่วนกำไรต่อหุ้นคาดว่าจะเพิ่มจาก 1.67 ดอลลาร์ในปีนี้เป็น 2.50 ดอลลาร์ในปีหน้า
แม้ว่าหุ้นของบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุดอาจจะตกต่ำลงเมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจ แต่สำหรับใครที่เชื่อว่า โลกกำลังจะเมินหน้าหนีจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังงานจากคาร์บอน การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งตั้งไข่นี้ ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่จะไม่ทำให้ใครเสียใจในระยะยาว หากมีความอดทนพอ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 10 พฤศจิกายน 2551
|
|
|
|
|