|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551 และหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q, Seasonally Adjusted) ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่ 2/2551 โดยอัตราการขยายตัว (Y-o-Y) ดังกล่าวต่ำกว่าคาดการณ์ทั้งของศูนย์วิจัยกสิกรไทยและค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ร้อยละ 4.3
การชะลอตัวดังกล่าว ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนกันยายน ที่ส่งผลให้มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนและการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของชาวต่างชาติ จึงเป็นสาเหตุให้การลงทุนในทรัพย์สินถาวรอ่อนตัวลงค่อนข้างมาก โดยมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ชะลอตัวต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ 2/2551 ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงหดตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่ 2/2551 (เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3) ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.6 จากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ 2/2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เริ่มอ่อนตัวลงและนโยบาย 6 เดือน 6 มาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของครัวเรือน
สำหรับภาคต่างประเทศ การนำเข้าที่ขยายตัวเร่งสูงขึ้นกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่การสูญเสียรายได้จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายน (ลดลงร้อยละ 16.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ยิ่งทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายรับที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเมื่อแปลงกลับมาเป็นสกุลเงินบาทได้รับผลดีจากการอ่อนค่าลงของเงินบาท ที่อ่อนตัวลงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 จากไตรมาสที่ 2
เมื่อพิจารณาจากสาขาการผลิตต่างๆ แม้ว่าภาคการเกษตรในไตรมาสที่ 3/2551 ขยายตัวร้อยละ 9.9 สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 2/2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 แต่กิจกรรมเศรษฐกิจสาขาอื่นๆ ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง เช่น ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.1 จากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ภาคก่อสร้างหดตัวร้อยละ 4.5 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนภาคโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมืองต่อภาคการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ สศช. ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 เป็นร้อยละ 4.5 จากประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5.2-5.7 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ รวมไปถึงความไม่สงบภายในประเทศในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริการมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นที่ต้องจับตามองในไตรมาสถัดๆ ไป คือผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกที่ผ่านลงสู่การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งผลกระทบจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ จากตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.2 ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดนั้น เป็นสัญญาณว่าการส่งออกนับจากไตรมาสสุดท้ายของปีไปจนถึงต้นปีหน้าคงจะเผชิญปัญหาหนัก เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้า ซึ่งเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าของการส่งออกลดลงแล้วค่อนข้างมาก และจากสัญญาณอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวรุนแรงนี้ทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภททยอยลดกำลังผลิตและลดการจ้างงาน ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปจึงมีโอกาสที่จะชะลอตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งจากปัจจัยด้านการชะลอตัวรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่อาจหดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคดังกล่าว ขณะเดียวกัน ในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ว่าราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง แต่ความกังวลของผู้บริโภคต่อปัญหารายได้และการจ้างงานในอนาคต จะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนรวมทั้งการท่องเที่ยวคงจะเผชิญปัจจัยลบทั้งสองด้าน คือผลจากวิกฤติการเงินโลกที่นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะส่งผลต่อกำลังรายได้ของชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวหลัก และส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญในประเทศไทย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังอาจเผชิญผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง
ท่ามกลางปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจยิ่งลดน้อยลงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมส่งออกเริ่มรับรู้แล้วถึงผลกระทบในรอบแรกจากปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลกระทบในรอบต่อๆ ไปต่อธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในซัปพลายเชนของธุรกิจเหล่านั้นและผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมกำลังจะปรากฏออกมามากยิ่งขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยขณะนี้ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของปี 2551 ทั้งปีอาจมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับที่สศช. คาดไว้ ขณะที่การรับรู้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสถัดไป ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าอาจจะยิ่งเผชิญการชะลอตัวที่รุนแรงมากขึ้นกว่าในไตรมาสที่ 4/2551 ประกอบกับด้วยฐานเปรียบเทียบที่สูงของปี 2551 จึงคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจจะลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2.0
นอกจากนี้จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีค่ากลางในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ที่ร้อยละ 3.5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่อัตราการขยายตัวในกรณีเลวร้าย (Worst Case) จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5
ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจจะเท่ากับร้อยละ 3.5 นั้น อยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น จะมีอัตราการเติบโตที่หดตัวร้อยละ 0.7, 0.5 และ 0.2 ตามลำดับ จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.4, 1.2 และ 0.5 ในปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2552 ชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 3.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 19.0 ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในประเทศยังได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการไทยเร่งดำเนินมาตรการทั้งทางด้านการคลังและการเงิน โดยเฉพาะการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลไทยอาจจะมีงบประมาณขาดดุลสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 ของ GDP ในปี 2552 เทียบกับที่ขาดดุล 8 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมา ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับในกรณีเลวร้าย (Worst Case) คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 อันเป็นผลเนื่องมาจากการหดตัวของการส่งออกและการลงทุนในประเทศ โดยการหดตัวของการส่งออกในกรณีนี้ เป็นผลมาจากภาวะถดถอยของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งการปรับลดของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่รุนแรงกว่าในกรณีแรก ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 2.0 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุน โดยในกรณีเลวร้ายนี้ การลงทุนภาคเอกชนอาจจะหดตัวร้อยละ 1.4 ในขณะเดียวกัน ปัญหาการเมืองในประเทศยังอาจส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถที่จะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนในกรณีแรก โดยอาจจะขาดดุลงบประมาณร้อยละ 2.8 ของ GDP เทียบกับการขาดดุลร้อยละ 3.8 ของ GDP ในกรณีพื้นฐาน นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากเหมือนในกรณีแรก ทำให้ภาวะการใช้จ่ายในประเทศไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2552 นั้น เป็นไปได้ว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q, Seasonally Adjusted) อาจจะติดลบในไตรมาสแรกของปี 2552 ขณะที่ในไตรมาสสองอาจยังเป็นระดับที่ต่ำแต่ไม่ถึงขั้นติดลบต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ยังไม่ถือว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ที่ตามนิยามโดยทั่วไปหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส
โดยสรุป จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 ที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาด โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดๆ ไปนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงมากขึ้น โดยอาจต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดย ณ ขณะนี้ ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของปี 2551 ทั้งปี อาจมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับที่สศช. คาดไว้ ขณะที่การรับรู้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสต่อๆ ไป ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจจะยิ่งเผชิญการชะลอตัวที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก โดยอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรกดังกล่าวอาจจะลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2.0
จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีค่ากลางในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ที่ร้อยละ 3.5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่อัตราการขยายตัวในกรณีเลวร้าย (Worst Case) จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5
จากความเสี่ยงที่รุมล้อมรอบด้านที่อาจเข้ามากระทบทำให้เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงในปีข้างหน้านี้ ผลที่จะตามมาต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งธุรกิจหลายสาขาเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว และเริ่มมีผลโยงไปสู่การลดกำลังการผลิตหรือหยุดสายการผลิตชั่วคราว การเลิกจ้างพนักงาน หรือบางรายถึงขั้นเลิกกิจการ ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจและการจ้างงานทั้งในธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะได้รับผลกระทบตามมา จึงนับเป็นความท้าทายในเชิงนโยบาย ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้มีข้อแตกต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่สำคัญคือ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศและระบบการเงินยังค่อนข้างแข็งแรง ขณะที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีช่องทางและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ แตกต่างจากในช่วงปี 2540 ที่ทางการแทบไม่มีมาตรการออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทเชิงนโยบายของทางการในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่หนักหน่วงในครั้งนี้
|
|
|
|
|