Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2551
เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหลักหดตัว             
 


   
search resources

Economics




ตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกที่ทยอยประกาศออกมา บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจหลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบต่อปี (Annualized QoQ) และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์การหดตัวในระดับที่รุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ตามนิยามที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจได้หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ขณะที่เศรษฐกิจที่ผ่านเข้าไปอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิคอย่างชัดเจนแล้ว คือ ญี่ปุ่น ยูโรโซน (ประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอยประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และสเปน) สิงคโปร์ และฮ่องกง เมื่อตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 หดตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวมาก่อนแล้วในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

นอกจากภาพที่ปรากฏจากตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้แล้ว ยังมีสัญญาณร้ายหลายประการที่สร้างความกังกลว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศในปี 2552 อาจจะเลวร้ายลงไปกว่าที่คาด และนั่นหมายถึงข่าวร้ายต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยด้วยเช่นเดียวกัน จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 2552 ลง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

รายงานของกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ (วันที่ 21 พฤศจิกายน) การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2551 มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ในเดือนกันยายน) ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี นับตั้งแต่กันยายน 2546 โดยมีมูลค่า 15,266 ล้านดอลลาร์ฯ การชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการหดตัวของสินค้ารายการสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัวต่ำ เช่น อัญมณี ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดหลักส่วนใหญ่ชะลอตัวลงอย่างมาก เช่น ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.4 (จากร้อยละ 10.4 ในเดือนก่อน) สหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 5.8 (จากร้อยละ 10.1 ในเดือนก่อน) ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 7.8 (จากร้อยละ 20.3 ในเดือนก่อน) ส่วนตลาดจีนขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน (ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1) ส่วนตลาดที่หดตัวลง เช่น อาเซียน (โดยเป็นการลดลงในตลาดสิงคโปร์) และฮ่องกง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลาดใหม่บางตลาดยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เช่น อินเดีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ ภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรก การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 151,192 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 21.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้จะยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 19.0 แต่ปัญหาในภาคการส่งออกจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้นในปี 2552

สถานการณ์ที่น่าวิตก คือ นอกจากเศรษฐกิจหลักหลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว ยังมีสัญญาณหลายด้านที่เตือนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้อาจขยายผลรุนแรงขึ้น และต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้นกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับปกติ จากที่เคยคาดหวังกันว่าการฟื้นตัวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทั้งนี้ ปัญหาในภาคธุรกิจที่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังประสบภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ถึงขั้นเสี่ยงที่จะล้มละลาย ทำให้ต้องประกาศปลดหรือลดพนักงาน ลดกำลังการผลิตในบริษัทในเครือที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ปัญหาการว่างงานที่รุนแรงขึ้นจะยิ่งฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่แล้วดำดิ่งลงลึกขึ้น และต่อเนื่องไปอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การที่บริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติที่บริษัทแม่กำลังประสบปัญหาเริ่มลดจำนวนพนักงานในไทยแล้ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมส่งออกหลายกลุ่มได้ออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อขณะนี้หายไปอย่างมาก (ลดลงร้อยละ 20-40 ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรม) และบริษัทบางส่วนได้ปรับตัวรับสถานการณ์โดยเริ่มประกาศลดกำลังการผลิต บางแห่งหยุดสายการผลิตชั่วคราว แจ้งต่อซัปพลายเออร์ถึงการลดการสั่งซื้อชิ้นส่วนและส่วนประกอบ รวมถึงลดจำนวนพนักงานหรือให้หยุดงานโดยจ่ายเงินเดือนในอัตราที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่างๆ ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 50 จากระดับราคาที่ขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยชะลอตัวลงรุนแรง

นอกจากนี้ความหวังที่หลายฝ่ายฝากไว้กับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีนอาจไม่สดใสดังคาด เนื่องจากจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวมากยิ่งขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ขณะที่การนำเข้าของจีนขยายตัวร้อยละ 15.4 ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน และจากตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่น การส่งออกไปยังจีนในเดือนตุลาคมหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี สะท้อนถึงอุปสงค์ในตลาดจีนที่ชะลอตัวลง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจรุนแรงกว่าที่คาดเป็นเหตุผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงพอที่รองรับกำลังแรงงานจำนวนมาก

ภาวะอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการลดการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกของไทย จะส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกอย่างน้อยในช่วงไตรมาสข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทย มีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 35 ของการส่งออกโดยรวม ทำให้การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2552 คงจะประสบปัญหาค่อนข้างหนัก และถ้าคำสั่งซื้อในไตรมาสแรกยังคงลดลง ผลกระทบต่อการส่งออกก็อาจต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ลงมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 มาที่ร้อยละ 2.2 (จากประมาณการเมื่อเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 3.0) โดยปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มาเป็นหดตัวลงร้อยละ 0.7 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ (จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 ร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.5 ในประมาณการครั้งก่อน) และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลุ่มประเทศก้าวหน้า (Advanced Economies) จะมีอัตราการขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ดี ในกรณีของเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานั้น แม้ว่า IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตลง แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะยังสามารถขยายตัวในอัตราที่นับว่าค่อนข้างดี คือ จีนยังอาจจะขยายตัวร้อยละ 8.5 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 7.1 (จากร้อยละ 9.3 และร้อยละ 7.7 ในประมาณการครั้งก่อน ตามลำดับ)

ความเสี่ยงด้านลบที่เพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 โดยมีสมมติฐาน 2 กรณี คือ ในกรณีพื้นฐาน กลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลก หรือ กลุ่ม G3 อันได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มีแนวโน้มหดตัวลงจากปี 2551 ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ส่วนในกรณีเลวร้าย ประเทศตลาดเกิดใหม่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องมาสู่การชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศลงอย่างมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าระดับที่ IMF คาดการณ์ไว้ โดยอาจมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะเป็นสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่หลังปี 2534 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามอ่าวเปอร์เชีย ทั้งนี้ในกรณีพื้นฐานคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 แต่ในกรณีเลวร้ายที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียและตลาดใหม่ของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาด การส่งออกอาจหดตัวลดประมาณร้อยละ 2.0

โดยหากพิจารณาตลาดที่สำคัญ คาดว่าตลาดสหรัฐฯ อาจหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 ถึงร้อยละ 10.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ในปี 2551 ซึ่งในกรณีเลวร้าย การส่งออกไปสหรัฐฯ อาจจะหดตัวใกล้เคียงกับในช่วงปี 2544 ที่สหรัฐฯ ประสบภาวะถดถอยในรอบที่แล้วจากการแตกตัวของฟองสบู่ในภาคไอที ในปีนั้นการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ หดตัวถึงร้อยละ 11.2 สำหรับตลาดส่งออกหลักอื่นๆ คาดว่าสหภาพยุโรปกลุ่ม 15 ประเทศ จะหดตัวร้อยละ 2.0 ถึง 7.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0 ในปี 2551 ญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ 3.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.0 ในปี 2551 ส่วนตลาดเอเชีย เช่น จีนและอาเซียน อาจยังมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ โดยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0-6.0

สำหรับแนวทางที่จะช่วยผลักดันการส่งออกท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการหาลู่ทางเปิดตลาดการค้าในประเทศที่มีศักยภาพใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา รัสเซียและยุโรปตะวันออก ให้ครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสขยายตลาดสินค้าอาหาร ในภาวะที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังกังวลต่อความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศจีน

รวมถึงขยายตลาดอาหารฮาลาลที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต นอกเหนือจากสินค้าอาหารแล้ว ในตลาดสินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ก็มีทิศทางที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าที่สามารถมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกัน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับคุณภาพมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ควรต้องปรับผลิตภัณฑ์และบริหารต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการในตลาดที่ผู้บริโภคอาจหันมาเน้นความประหยัดมากขึ้น ซึ่งในอีกด้านหนึ่งอาจหมายถึงการแข่งขันด้านราคาที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรขั้นต้นให้เกิดผลในทางการค้าอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบในช่วงที่ราคาสินค้าอยู่ในช่วงขาลง และยังจะเป็นการสร้างรายได้ส่งออกจากโอกาสทางการตลาดใหม่ขึ้นอีกด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us