- ตลาดสินค้าไลเซนซิ่งคาแรกเตอร์การ์ตูนหมื่นล้านถึงจุดเดือด
- ยกกองทัพการ์ตูนญี่ปุ่น อเมริกัน เดินหน้าเจาะตลาดเมอร์ชันไดส์
- สร้างเทรนด์กลยุทธ์กระตุ้นตลาดแนวใหม่ ยุคเศรษฐกิจซบเซา
ตัวเลขเม็ดเงินจากการประเมินโดยคร่าวของตลาดลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนในประเทศไทย พบว่า มีเม็ดเงินสะพัดราว 5,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดของเล่นลิขสิทธิ์มีมูลค่าอยู่ในระดับ 4,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกันจะพบว่าตลาดทั้งสองที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่ามหาศาลของทั้งสองตลาดทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ และหน้าเก่า ที่ต่างก็อยากชิมรสชาติของเค้กก้อนโตชิ้นนี้
ปัจจุบันตลาดลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และ ตลาดของเล่นลิขสิทธิ์ เมื่อแบ่งสัดส่วนของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ในตลาดนี้ก็จะพบว่ากว่า 90% เป็นคาแรกเตอร์จากประเทศญี่ปุ่น ที่นำทัพโดย โดราเอมอน คาแรกเตอร์การ์ตูนที่แข็งแกร่งจนกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และที่เหลือก็จะเป็นกลุ่มการ์ตูนจากสหรัฐอเมริกา นำโดยแบรนด์ดังจากดิสนีย์ ทั้งครอบครัวมิกกี้เมาส์ และผองเพื่อนหมีพูห์ โดยแนวโน้มของการนำคาแรกเตอร์ใหม่ๆ เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผู้นำเข้าหรือผู้บริหารสิทธิก็เตรียมที่จะนำตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศเข้ามาแนะนำสู่ตลาด เช่นเดียวกับการผลิตคาแรกเตอร์ของไทยให้มีความแข็งแกร่งและการต่อยอดคาแรกเตอร์ไทยในต่างประเทศ
โรสฯ เจาะเซกเมนต์สร้างตลาดเคโรโระ นำทัพ 14 คาแรกเตอร์บุก
จิรัฐ บวรวัฒนะ รองประธานสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่ง หากกล่าวอีกมุมก็คือ คอนซูเมอร์ โปรดักส์ หมายถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในตลาดนี้คือ กลุ่มเด็ก นับตั้งแต่หมวก เสื้อผ้า กางเกง กางเกงใน ถุงเท้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องเขียน เครื่องดื่ม อาหาร ฯลฯ ซึ่งหากรวมมูลค่าในตลาดเหล่านี้มีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นจุดที่ดึงดูดให้บริษัทที่ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนเริ่มหันมามอง และรุกเข้าสู่การขายลิขสิทธิ์การ์ตูนให้กับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ นำไปใช้ เป็นผลดีที่จะทำให้ตลาดเติบโตมากขึ้น
โรส มีเดียฯ มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่ง มาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยการประกาศทิศทางขององค์กรใหม่ในเวลานั้นให้เป็น Family and Entertainment Lifestyle เน้นการทำธุรกิจ Content and Licensing Management เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจจากการขาย Physical Product วิดิโอเทป วีซีดี ดีวีดี เป็นหลัก มาสู่การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่มีอยู่ทุกช่องทาง ครบวงจร โดยมุ่งเป้าในการเป็นผู้นำของคอนเทนต์การ์ตูนและแอนิเมชั่นในประเทศไทย
ปัจจุบัน โรส มีเดียฯ มีคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่ได้สิทธิ์การขายเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่ง ครบวงจร 14 คาแรกเตอร์ โดยมีตัวการ์ตูนเด่นๆ อาทิ เคโรโระ นารูโตะ ขบวนการแปลงร่างต่าง ๆ โซนิกเอ็กซ์ เทเลทับบี้ ฯลฯ โดยมีการแบ่งเซกเมนต์กลุ่มเป้าหมายที่แต่ละคาแรกเตอร์จะเจาะเข้าไป เพื่อขยายตลาดที่เคยจำกัดอยู่เพียงแค่เด็กอายุระหว่าง 4-16 ปี ให้กว้างออกไปสู่กลุ่มอายุที่ต่ำกว่า Pre School และอายุสูงขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Pre Teen-High Teen
"ตลาดการ์ตูนในวันนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะเราพยายามที่จะสร้างเซกเมนต์ให้เกิดขึ้นให้ได้ มิฉะนั้นทุกคนก็ยังคงแข่งขันกันที่ตลาดเดิมๆ คือกลุ่มอายุ 4-16 ปี ซึ่งเรามั่นใจว่าแนวคิดของเราเกิดขึ้นได้ เพราะเด็กรุ่นเก่าๆ ในวันก่อน วันนี้เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น คนทำงาน ก็ยังดูการ์ตูนอยู่ แต่ที่ผ่านมา คนเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะไปหาคอนเทนต์การ์ตูนที่เหมาะกับเขาได้ที่ไหน วิดีโอก็ไม่มีใครกล้าทำ วันนี้โรส มีเดียฯ กล้าที่จะซื้อการ์ตูนสำหรับเด็กโต ทำตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่งเจาะกลุ่มเหล่านี้ รวมไปถึงเด็กก่อนวัยเรียน ที่จะมีการ์ตูนเพื่อการเรียนรู้รองรับอยู่"
จิรัฐกล่าวว่า โครงสร้างการทำธุรกิจของโรส มีเดียฯ ในตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่งจะต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นเพียงเอเยนต์ที่ดูแลลิขสิทธิ์ให้กับคาแรกเตอร์การ์ตูนแต่ละตัว และมอบสิทธิ์ให้กับผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ นำคาแรกเตอร์การ์ตูนที่ซื้อสิทธิ์ไป พิมพ์ลงในสินค้าและทำตลาดกันเอง แต่โรส มีเดียฯ จะมีบทบาทเป็นทั้งผู้ผลิตสินค้าไลเซนซิ่งเองในกลุ่มสินค้าที่เห็นว่ามีโอกาส เช่น กลุ่มเสื้อผ้า กลุ่มสินค้า Gift Item ทำให้สามารถสร้างรายได้และกำไรเหนือกว่าการขายสิทธิ์ให้ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงการเป็นโปรโมเตอร์ มีสื่อครบวงจรที่สามารถโปรโมตตลาดด้วยตนเอง ทำให้มีความมั่นใจในการทำตลาดเหนือกว่าคู่แข่ง
จุดเด่นของการโปรโมตตลาดสินค้าไลเซนซิ่งของโรส มีเดีย นอกเหนือจากการมีคอนเทนต์การ์ตูนเหล่านั้นอยู่ในมือแล้ว โรส มีเดีย ยังเป็นเจ้าของสื่อครบวงจร นับตั้งแต่รายการโทรทัศน์ Gang Cartoon ทางช่อง 5, ช่องการ์ตูนผ่านดาวเทียม 24 ชั่วโมง Gang Cartoon Channel สื่อแมกกาซีนการ์ตูน zensu, เว็บไซต์ www.gangcartoon.net รวมไปถึงกิจกรรมบีโลว์เดอะไลน์ School Visit 120 โรงเรียน และอีเวนต์ Gang Cartoon Festival ในศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศ 6 ครั้งต่อปี
นอกจากนั้น โรส มีเดียฯ ยังมีจุดแข็งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่เป็นบริษัทผู้บริหารสิทธิ์การ์ตูนรายเดียวในเมืองไทยที่มีร้านค้าปลีกเป็นของตนเอง ร้าน Gang Cartoon 5 สาขาในกรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ ผนวกกับร้านค้าปลีกของโรส มีเดียฯ ที่เริ่มนำสินค้าในกลุ่มไลเซนซิ่ง คาแรกเตอร์การ์ตูนเข้าไปวางจำหน่าย 25 จุดขาย รวมไปถึงการวางสินค้าบางประเภทในร้านสะดวกซื้อ 7-11 กว่า 4,000 สาขาทั่วประเทศ และการจำหน่ายผ่านร้านขายส่งในย่านสำเพ็ง
จิรัฐกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คาแรกเตอร์การ์ตูนตัวใดๆ สามารถอยู่ในใจผู้บริโภคยาวนาน เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องมีการตอกย้ำคาแรกเตอร์นั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น คาแรกเตอร์การ์ตูนที่มีมูลค่าสูงสุดในปัจจุบันอย่าง โดราเอมอน ที่แม้วันนี้จะเติบโตจากคาแรกเตอร์การ์ตูน กลายเป็นแบรนด์อันแข็งแกร่ง เหมือนดังเช่นตัวการ์ตูนจากดีสนีย์ เช่น มิกกี้ เมาส์หรือหมีพูห์ แต่ก็ต้องสร้างกระแสให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้อยู่ตลอดเวลา ดังเช่น การจัดอีเวนต์โชว์ การมีภาพยนตร์ออกฉายในโรงภาพยนตร์ หรือการนำกลับมาฉายใหม่ทางโทรทัศน์ เช่นเดียวกับแบรนด์จากดีสนีย์ ที่ทุกปีต้องมีการสร้างกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดโชว์ ดีสนีย์ ออนไอซ์ และดีสนีย์โชว์ ซึ่งในส่วนของโรส มีเดียฯ ที่มีสื่อเป็นของตนเองครบวงจร และมีคอนเทนต์การ์ตูนรองรับอย่างเพียงพอ ทำให้สามารถสร้างกระแสตอกย้ำสนับสนุนคาแรกเตอร์การ์ตูนตัวต่างๆ ที่ผลิตออกมาเป็นสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในตลาดได้ตลอดเวลา
จิรัฐกล่าวว่า แม้จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนที่มาจากคอนเทนต์บันเทิงในรูปแบบโฮม เอนเทอร์เทนเมนต์ แต่ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กลับพบได้น้อยในตลาดเมอร์เชนไดส์ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยาก ต้องสร้างแม่พิมพ์ มีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ต่างจากการละเมิดสิทธิ์ของกลุ่มสินค้าบันเทิงวีซีดี ดีวีดี ที่สามารถก้อปปี้แผ่นด้วยกระบวนการง่ายๆ ไม่ต้องมีโรงงาน ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างแพร่หลาย แต่สินค้าเมอร์ชันไดส์กลับผมการละเมิดสิทธิ์น้อยมาก
จิรัฐคาดการณ์ว่า ความคึกคักในตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดจะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-30% กระตุ้นให้เจ้าของสินค้าต่างๆ เริ่มหันมามอง ดังเช่น ความพยายามสร้างแบรนด์เคโรโระมาเป็นเวลา 2 ปีจนวันนี้เป็นที่ยอมรับของผู้ชมการ์ตูนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟูด แมคโดนัลด์ ใช้เป็นตุ๊กตาของแถมสำหรับชุดอาหารแฮปปี้มีล เจ้าของสินค้าที่ไม่เคยให้ความสนใจในการใช้คาแรกเตอร์การ์ตูนในการกระตุ้นยอดขายก็หันมาใช้ ในกลุ่มสินค้าของเล่นในประเทศ มีการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงสิทธิ์ตัวการ์ตูนหลายตัวของโรส มีเดียฯ จึงเชื่อว่าตลาดเมอร์ชันไดส์ ไลเซนซิ่ง คาแรกเตอร์ การ์ตูนจะเติบโตขึ้นได้อีก แม้ยังมีความกังวลในสภาพเศรษฐกิจก็ตาม
"ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สินค้าที่ไม่ลวดลาย ไม่มีแบรนด์ จะต้องหันมาติดแบรนด์จากคาแรกเตอร์การ์ตูนเหล่านี้แน่นอน เพราะเป็นการลงทุนทางการตลาดที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง แต่มีกลุ่มเป้าหมายของตัวการ์ตูนรองรับอยู่ แก้วน้ำที่ไม่มีลวดลาย เปลี่ยนมาติดลายคาแรกเตอร์การ์ตูนของผม ทำเป็นคอลเลคชั่น 4 แบบ 4 ลาย ก็สามารถสร้างความโดดเด่นเหนือสินค้าอื่นบนชั้นวาง นี่คือ โลว์คอส โปรโมชั่น วันนี้เศรษฐกิจไม่ดีทุกคนต้องลดรายจ่าย การไปจัดกิจกรรมลด แลก แจก แถม นอกจากใช้งบประมาณสูงแล้ว ยังกระตุ้นยอดขายได้น้อยเพราะผู้บริโภคเริ่มเบื่อ มาหาแบรนด์ คาแรกเตอร์ นอกจากไม่ต้องลดราคาแล้ว บางครั้งจะสามารถตั้งราคาสินค้าได้สูงกว่าเดิม ถือเป็นอาวุธทางการตลาดที่เหมาะสมต่อการต่อสู้สงครามการตลาดในสภาพเศรษฐกิจในวันนี้" จิรัฐ กล่าว
เอไอฯ มุ่งปั้นคาแรกเตอร์แกร่ง ต่อยอดสู่ตลาดเมอร์แชนไดส์
แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) หรือ เอไอ(ไทยแลนด์) ผู้นำเข้าลิขสิทธิ์การ์ตูนชื่อดังจากญี่ปุ่น ประกอบด้วย โดราเอมอน ,ดราก้อนบอล แซด, ชินจัง, ดิจิมอน เป็นหนึ่งผู้บริหารสิทธิ์ที่ประกาศรุกตลาดไลเซนซิ่งอย่างเต็มตัวในปีนี้ โดยมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูนที่มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม
แผนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเหล่าการ์ตูนนั้น จะถูกสื่อออกมาผ่านกิจกรรมทางการตลาดบีโลว์เดอะไลน์ อาทิ การโรดโชว์ตามโรงเรียนต่างๆ การจัดงานแนะนำคาแรกเตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งภายในงานจะมีการนำคาแรกเตอร์การ์ตูนที่เอไอถือลิขสิทธิ์ขึ้นโชว์บนเวที รวมไปถึงการออกร้านขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคาแรกเตอร์ ซึ่งผลจากการจัดงานในแต่ละครั้งนั้นจะเป็นการปลุกกระแสความนิยมและตอกย้ำภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์การ์ตูนอย่างต่อเนื่อง
โดยรายได้ของโดเรเอมอนคิดเป็น 70 %ของรายได้ทั้งหมดที่เอไอทำได้ปีละประมาณ 50 ล้านบาท
ปริพันธ์ หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังคงเป็นไปได้ดี แม้จะเจอกับภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ โดยมองว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการจำหน่ายเป็นสินค้าเกี่ยวกับเด็ก และกลุ่มผู้ที่มีความชอบส่วนตัว ซึ่งเมื่อเห็นตัวสินค้าที่ตัวเองชื่นชมก็จะซื้อเก็บไว้ ทำให้ตลาดนี้ยังคงขายได้
ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจลิขสิทธิ์ในปีหน้านั้น เอไอ คาดว่าตลาดจะดุเดือดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีตัวคาแรกเตอร์ตัวใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด ซึ่งแต่ละบริษัทฯที่ได้รับสิทธิในการบริหารจะต้องงัดเอากลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายเข้ามาใช้กันมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่งในประเทศไทย มีผลต่อการดำเนินงานในระยะสั้น แต่หากในระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจจะส่งผลถึงภาพรวมของธุรกิจได้
"เรามองว่ากิจกรรมเป็นส่วนช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความชอบในตัวสินค้าเรามากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเห็นคาแรกเตอร์ของเราในทีวี และเมื่อมาเห็นการจัดกิจกรรมภายนอก ก็จะเกิดความต่อเนื่อง ผู้บริโภคเกิดการจดจำและชื่นชอบ และนำไปสู่การซื้อสินค้าเพื่อนำไปสะสมหรือนำไปใช้" ปริพันธ์กล่าว
ปริพันธ์ คาดว่า เอไอจะสามารถทำผลประกอบการได้ราว 50 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับผลประกอบการในปีที่ผ่านมา โดยแผนการตลาดในปีหน้า จะมุ่งสร้างแบรนด์คาแรกเตอร์ดิจิมอนให้แข็งแกร่ง หลังจากที่ในปีนี้ได้มีการโปรโมทคาแรกเตอร์ดรากอนบอล แซด นอกจากนั้น เอไอยังเตรียมหาตัวคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนใหม่ๆ เข้ามาเปิดตลาดให้ผู้บริโภคชาวไทยรู้จักเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สงครามสิทธิ์อุลตร้าแมนสิ้นสุด เดกซ์เดินหน้าบริหารสิทธิ์เต็มตัว
ภายหลังจากที่ศาลฏีกาของประเทศไทยมีคำพิพากษาให้บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมนชุดต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว และได้อนุญาตให้บริษัทดรีมเอ็กซ์เพรสเป็นผู้บริหารสิทธิในการทำตลาด กฤษณ์ สกุลพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดรีมเอ็กซเพรส (เดกซ์) จำกัด จึงเตรียมแผนที่จะนำคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ดรีมเอ็กซเพรส(เดกซ์) ถือเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิอย่างเป็นทางการในด้านการค้าลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนแม็กซ์ และอุลตร้าแมนเมบิอุส ซึ่งจะเป็นการดูแลสินค้าเมอร์ชันไดส์ทุกประเภทในประเทศไทย โดยในเบื้องต้นจะมีการจับมือกับคู่ค้าที่มีความชำนาญและมีความแข็งแกร่งในการผลิตสินค้าจำนวน 10 ราย เพื่อผลิตสินค้าลวดลายอุลตร้าแมนทั้งสองตัว อาทิ รองเท้า เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ขนม ออกมาจำหน่าย ซึ่งคาดว่าผลจากการจับมือเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะสามารถสร้างกระแสให้เกิดความนิยมในตัวอุลตร้าแมนทั้ง 2 ตัวได้
นอกจากการขายลิขสิทธิ์ในสินค้าเมอร์ชันไดส์แล้ว ในปีหน้ายังมีการเตรียมนำอุลตร้าแมนแม็กซ์ออกมาฉายในสถานีโทรทัศน์ที่เป็นเคเบิลทีวี และฟรีทีวี ซึ่งคาดว่าจะสามารถออนแอร์ในเวลาครึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยในส่วนของอุลตร้าแมนแม็กซ์ มีจำนวน 40 ตอน และ อุลตร้าแมนเมบิอุส มีจำนวน 50 ตอน นอกจากนั้นแล้วดรีมเอ็กซ์เพรสยังได้สิทธิในการจำหน่ายวีซีดี และ ดีวีดีเพื่อจำหน่ายอีกด้วย
ขณะที่กิจกรรมทางการตลาดของดรีมเอ็กซ์เพรสที่จะทำการกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคต่อตัวอุลตร้าแมนนั้น ในปีหน้าคาดว่าจะมีการใช้งบประมาณทางการตลาดทั้งสิ้น 5 ล้านบาท และจะนำการแสดงสดอุลตร้าแมนเม็กซ์จากญี่ปุ่นมาแสดงที่ประเทศไทย โดยรูปแบบของงานจะเป็น"อุลตร้าแมนเฟสติวัล" ซึ่งอาจจะนำมาแสดงในวันหยุดนักขัตฤกษ์และในช่วงปิดเทอม
นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเข้าหากลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วยการจัดกิจกรรม มีตแอนด์กรีตตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้จะทำให้ฐานผู้บริโภคของอุลตร้าแมนเพิ่มสูงขึ้น
"ในเบื้องต้นบริษัทจะมีการนำคาแรกเตอร์ของอุลตร้าแมนทั้ง 2 ตัว คือ อุลตร้าแมนแม็กซ์ และอุลตร้าแมนเมบิอุส เข้ามาทำตลาดก่อน ซึ่งเราจะทำแบบครบวงจร ตั้งแต่การฉายในจอโทรทัศน์ ไปจนถึงขายสิทธิ์ในการผลิตสินค้า และทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการรับรู้ ซึ่งในเบื้องต้นนี้ได้ให้มอบหมายให้บันได ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับของเล่นและของที่ระลึกออกมาจำหน่ายในช่วงธันวาคมนี้ วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ส่วนแผนการในอนาคตนั้นจะมีการนำคาแรกเตอร์ตัวใดเข้ามาอีก คงต้องรอดูการตอบรับจากผู้บริโภคที่มีต่ออุลตร้าแมนทั้ง 2 ตัวนี้ก่อน " กฤษณ์ กล่าว
ดรีมเอ็กซ์เพรสมีรายได้หลักมาจากการลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ มาสก์ไรเดอร์คาบูโตะและกันดั้ม ที่สามารถทำรายได้รวมกว่า 40 % ให้กับบริษัท นอกจากนั้นแล้วยังมีคาแรกเตอร์อื่นๆ อาทิ บาคุกัน และ เซนเซย่า ขณะที่รายได้จากของดรีมเอ็กซ์เพรสในปีนี้ คาดว่าจะทำรายได้รวม 180 ล้านบาท
ทีเอสฯ ขยายตลาดเน้นเอดูทอย CRM หาความต้องการผู้บริโภค
ในส่วนของสินค้าไลเซนซิ่ง กลุ่มของเล่น ทีเอส ไลฟ์สไตล์ ผู้นำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์ของเล่นจากต่างประเทศ อาทิ ฮาสโบร ,บราตซ์ ,บันได ,เพลย์เมต และ สินค้าลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์ อาทิ สตาร์วอร์ ,ทรานสฟอร์เมอร์ ,โกสต์ ไรเดอร์ ,นินจาเต่า สไปเดอร์แมน และไอรอนแมน ลดา เพ็ญสิทธิพร ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท ทีเอส ไลฟ์สไตล์ (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า แม้สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจะผันผวน แต่ตลาดของเล่นยังคงเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้า Edu-Toy หรือกลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา เนื่องจากผู้ปกครองหรือสถานศึกษาบางแห่งมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งทีเอส ไลฟ์สไตล์ ได้เล็งเห็นความต้องการของตลาดนี้ จึงได้มีแผนการที่จะนำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางการศึกษา สินค้าที่เน้นพัฒนาการของเด็ก และคาดว่าในอนาคตตลาดนี้จะขยายตัวไปได้อีกมาก
ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าลิขสิทธ์มากขึ้น จากเดิมซื้อเพียง 500 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อครั้ง จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้ทีเอส ไลฟ์สไตล์ มีแผนที่จะนำสินค้าที่มีราคาแพง แต่มีลูกเล่น และมีเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการเพิ่มสินค้าที่เป็นไฮเทคโนโลยี ยังทำให้สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มเด็ก ก็จะเพิ่มเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนนั้นๆ และจะทำการซื้อสะสมอย่างต่อเนื่อง
"ผู้บริโภคใช้เวลาพิจารณาสินค้ามากกว่าเมื่อก่อน รอบคอบมากขึ้น แต่เมื่อต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าจริงๆ กลับพบว่ารอบบิลในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มที่เราจับตามองมากที่สุดคือกลุ่ม Edu-Toy ที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเพื่อลูกหลาน " ลดากล่าว
แนวโน้มการตอบรับที่ดีต่อตัวสินค้าลิขสิทธิ์ที่ทีเอส ไลฟ์สไตล์นำเข้ามาจำหน่ายทำให้แผนการตลาดในปีหน้าจะเข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของแบรนด์ต่อผู้บริโภค รวมไปถึงจัดคอมมูนิตี้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบคาแรกเตอร์ต่างๆ ที่ทีเอส ไลฟ์สไตล์นำเข้ามาจำหน่าย และการทำ CRM กับกลุ่มผู้บริโภคอย่างจริงจัง ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการเก็บข้อมูลของลูกค้าที่ซื้อสินค้าของทีเอส ไลฟ์สไตล์ ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีการจับจ่ายใช้สอยบ่อยแค่ไหน, ซื้อในปริมาณเฉลี่ยเท่าไร และสินค้าตัวไหนที่ได้รับความนิยม
"เรามีสินค้าหลากหลาย ดังนั้นการที่เราทำ CRM จะทำให้เรารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร กระแสความนิยมเป็นแบบไหน ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วก็จะสามารถนำมาวางแผนการตลาดได้ และในเบื้องต้นนี้เราได้มีการทำระบบสมาชิกให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเราทุกชนิด ก็จะได้รับส่วนลดพิเศษต่างๆ มากมาย ซึ่งตรงจุดนี้นอกจากเราจะได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้ว ยังทำให้เราได้มอบอะไรกลับคืนไปให้ลูกค้าได้ โดยคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถทำ CRM ได้เป็นรูปเป็นร่างได้ในไตรมาส 2 ของปีหน้า "ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท ทีเอส ไลฟ์สไตล์(ประเทศไทย)จำกัด กล่าว
ส่วนการแข่งขันของตลาดของเล่นหรือสินค้าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ลดา มองว่าจะมีการแข่งขันสูง เพราะมีแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของเล่นลิขสิทธิ์ที่เป็นการ์ตูน หรือเป็นคาแรกเตอร์ที่มาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งประเภทหลังนั้นหากตัวภาพยนตร์โด่งดัง และได้รับความสนใจสูง ตัวสินค้าลิขสิทธิ์ก็จะพลอยได้รับอานิสงค์ด้านความนิยมตามไปด้วย ขณะที่ภาพรวมของตลาดนั้นพบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในส่วนของผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐฯ เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด รวมไปถึงการพิจารณาภาษีนำเข้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้สินค้าบางชิ้นเมื่อนำมาจำหน่ายแล้วมีราคาสูงกว่าต่างประเทศมาก จุดนี้หากภาครัฐฯ เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังจะช่วยลดปริมาณของสินค้าลอกเลียนแบบ เนื่องจากจะทำให้ช่องว่างราคาระหว่างของจริงและของเลียนแบบไม่แตกต่างกัน
ปัจจุบันทีเอส ไลฟ์สไตล์ มีสินค้านำเข้ากว่า 3,000 รายการจากหลากหลายแบรนด์ เน้นหนักไปที่สินค้าเกี่ยวกับภาพยนตร์ และการ์ตูน ซึ่งมีกลุ่มเป็นหมายเป็นผู้ชาย รองลงมาคือสินค้าในกลุ่มผู้หญิง และ กลุ่ม Edu-Toy หรือของเล่นเพื่อการศึกษาที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยสินค้ามีราคาตั้งแต่ 150 - 25,000 บาท และมีการขายผ่านช่องทางจำหน่ายหลักๆได้แก่ เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, คาร์ฟูร์ และอื่นๆ รวมกว่า 80 ช่องทางการจำหน่าย และในปีหน้าจะมีการนำคาแรกเตอร์ใหม่เข้ามารุกตลาดอีกประมาณ 7 ตัวคาแรกเตอร์
วิธิตาส่งออกคาแรกเตอร์ไทย ปังปอนด์โกตลาดอินเตอร์
ด้านคาแรกเตอร์การ์ตูนไทย บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด บริษัทในเครือบันลือกรุ๊ป ที่มีผลงานผลิตคาแรกเตอร์และงานแอนิเมชั่นมากมาย อาทิ ขายหัวเราะ การ์ตูนมหาสนุก หนูหิ่นอินเตอร์ ปังปอนด์ โดยในส่วนของ ปังปอนด์ ถือเป็นคาแรกเตอร์การ์ตูนไทยเจ้าแรกๆ ที่มีการพัฒนาจากหนังสือมาสู่การ์ตูนแอนิเมชั่น บริหารสิทธิ์โดยบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ซึ่งนอกเหนือจากการนำคาแรกเตอร์ไปสร้างเป็นการ์ตูนและเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังมีการขายลิขสิทธิ์ปังปอนด์ไปยังตลาดต่างประเทศทั้งในรูปแบบของแอนิเมชั่นและเกม
การขายสิทธิ์ของปังปอนด์กับตลาดต่างประเทศนั้นเริ่มตั้งแต่ในปี 2549 โดยเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์การ์ตูนปังปอนด์จำนวน 26 ตอน กับ บริษัท CITVC ที่ประเทศจีนและทำการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 12 ช่อง และเคเบิลท้องถิ่น และล่าสุดได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัท เน็ต ลีดเดอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จากประเทศสิงคโปร์เพื่อขายสิทธิ "ปังปอนด์" ไปออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม "YR Asia" ซึ่งจะถ่ายทอดไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเก๊า และฮ่องกง โดยมีระยะเวลาสัญญา 3 ปี และเริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
การจับมือปังปอนด์และพันธมิตรจากต่างประเทศนั้น มีรูปแบบทั้งการขายสิทธิ์ในการเผยแพร่ และการได้สิทธิผลิตและจำหน่ายสินค้าปังปอนด์ ซึ่งถือเป็นการขยายช่องทางรายได้ และเป็นการปูทางให้กับแบรนด์ปังปอนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ได้มีการขายสิทธิ์ทั้งการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ และการขายลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ให้กับผู้ผลิตสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีการผลิตกลุ่มสินค้าออกมาแล้วกว่า 30 หมวด และบริษัทผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาซื้อสิทธิ์ในการผลิตราว 1 -3 ปี
"รายได้จากเมอร์ชันไดส์ แม้จะไม่มาก และไม่ไช่ธุรกิจหลักที่เราพุ่งเป้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าเหล่านี้มีส่วนทำให้คาแรกเตอร์เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันสินค้าตัวหลักที่ทำรายได้คือ ปังปอนด์ ตามมาด้วย วิลลี่เดอะชิคเก้น และที่กำลังจะต่อยอดคือรามเกียรติ์ สามก๊ก รวมไปถึงหนูหิ่น "
|