"ยุโรป 1992"……….คำเรียกที่คุ้นหูกันมาหลายปี…..เป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล
เพราะตัวเลขข้อเท็จจริงที่ฟ้องตัวมันาเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้บริโภคซึ่งเมื่อ
12 ชาติสมาชิกอีซีรวมตัวกันอย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นพลังมหาศาลมากกว่า 330
ล้านคน ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมซับซ้อนแล้ว ยังมีอำนาจซื้อสูงถึง
4 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็นตลาดมหึมาที่สุดในโลกไปทันที
เพราะยุโรป 1992 นีเองที่ทำให้ทั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ สถาบันภาครัฐบาล
และสถาบันการเงินในทั่วโลกวิ่งแข่งกันขาแทบขวิด ต่างต้องการเข้าไปมีส่วนในการจับจองให้ได้อยู่ในตำแหน่งที่ท้าทายความเป็นตลาดร่วมหนึ่งเดียวกันนี้
SANTHANAM C. SHEKAR MARTIN และ PYYKKONEN สองที่ปรึกษาประจำ "ARTHUR
D. LITTLE" บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารและเทคโนโลยีชั้นนำแห่งของโลก
สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์, แมสซาชูเซ็ทท์, สหรัฐอเมริกา ได้ให้ภาพรวมการแข่งขันของทุกค่ายสำคัญทั่วโลกไว้ว่า
- ญี่ปุ่นนั้นคันพบยุโรป 1992 แล้วอย่างแท้จริง เห็นได้จากกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม
(มิติ) กำลังขะมักเขม้นร่วมมือกับอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เจาะสู่ตลาดยุโรปโดยตรง
โดยเฉพาะการสำรวจเข้าสู่ตลาดอีซีทางประตูหลังให้ได้
" กลุ่มประเทศในเครือจักรภพอย่างอินเดียและออสเตรเลียก็พยายามหาหนทางเข้าถึง"
ตลาดร่วมยุโรปทางอ้อม โดยมีอังกฤษเป็นตัวกลางเข้าร่วมกับทั้งสองฝ่าย
" ออสเตรียและนอร์เวย์ก็กำลังพิจารณาจะกระโจนเข้าตลาดอีซีเหมือนกัน
ขณะที่ฟิน"
แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่น ๆ กลัวเหมือนกันว่า ถ้าปล่อยให้อีซีกลายเป็นตลาดร่วมเดียวกันอย่างแท้จริงโดยปราศจากพวกตนเข้าร่วมแล้วอะไรจะเกิดขึ้น
" ค่ายรัสเซียและกลุ่มประเทสสนธิสัญญาวอร์ซอก็เข้าหากลุ่มประเทศอีซี
เพื่อได้มีส่วน"
ร่วมในการค้าครั้งสำคัญของยุโรปตะวันตกด้วย ซึ่งข้อตกลงทางการค้าระหว่างเยอรมนีตะวันออกหวังประโยชน์มหาศาลจากตลาดร่วมที่กำลังจะเกิดขึ้น
การที่บริษัทไหนจะสร้างสรรค์กลยุทธ์อะไรไว้รองรับยุโรป 1992 ได้มากแค่ไหนนั้นไม่มีข้อ
จำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่องค์ประกอบเรื่อง "เวลา" เท่านั้นที่บีบบังคับอยู่
เพราะประตูแห่งโอกาสที่เปิดรับอยู่เวลานี้จะเริ่มปิดตัวเองลงจนกว่าจะถึงปี
1992 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ
เมื่อถึงเวลานั้น พวกที่ยังละล้าละลังก็ต้องเผชิญหน้ากับการรวมตัวเป็นพันธมิตร
กับตลาดร่วม และกับกำแพงที่กั้นสูงขึ้นเพื่อกีดกันการเข้าสู่ตลาดร่วมที่ว่าอย่างช่วยไม่ได้
การจะรีบเข้าไปจับจองตำแหน่งที่ให้ได้ก่อนประตูจะเริ่มปิดลงนั้น ธุรกิจต่างชาติต้องรีบลงมือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและแผนงานบริหารของยุโรปให้ได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างง่าย ๆ จากเยอรมนีตะวันตกเพียงประเทศเดียวรัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายยกเลิกการเก็บภาษี
50% จากกำไรที่ทำได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
ARTHUR D. LITTLE จึงประเมินว่า ผลจากกฎหมายนี้มีบริษัทเยอรมนีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง
5,000 บริษัทซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจครอบครัว กำลังแสวงหาหนทางขายกิจการของตนและหวังสร้างกำไรมหาศาลจากการนี้
ซึ่งกิจการที่มีคุณภาพส่วนใหญ่จะถูกบริษัทขนาดใหญ่กว่าเข้าซื้อเพื่อก่อตั้งเป็นพันธมิตรรายใหม่ให้ได้ก่อนปี
1992 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมอเมริกันจะสูงมาก
ทั้งในแง่ของยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน
ต่อไปนี้เป็นแนวโน้มและเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่มีส่วนในการกำหนดโฉมหน้าและบรรยากาศการแข่งขันในยุโรป…
ยุโรปกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน
บรรดาบริษัทยุโรปซึ่งในอดีตได้รับการปกป้องและดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมมาโดยตลอดกำลังตรวจสอบการดำเนินงานของตัวเองเสียใหม่
เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่แข่งขันได้ด้วยความแข็งแกร่งขึ้น มีอยู่มากเหมือนกันทีเลือกวิธีเข้าจับมือกับคู่แข่งและลูกค้า
เพื่อตั้งกิจการร่วมทุนและพันธมิตรทางยุทะศาสตร์ข้ามทวีป
แต่เดิมมามองกันว่า บริษัทที่มีรูปแบบร่วมทุนเป็นกิจการที่ทำให้ต้องดำเนินการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนสูงลิ่ว
แต่ปัจจุบันบริษัทยุโรปจำต้องหันมายอมรับวิธีนี้อีกครั้งหนึ่ง
เกิดยักษ์ใหญ่รายใหม่ของยุโรปมากขึ้น
ระหว่างปี 1985-1987 ตัวเลขการผนวกกิจการในกลุ่มอีซีด้วยกันสูงขึ้นราว 50%
ทำให้เกิดบริษัทยุโรปด้วนอิเล็กทรอนิกส์อาวุธยุทโธปกรณ์ โทรคมนาคม ธนาคาร
อาหาร และบริการด้านสื่อมวลชนน้อยรายลง แต่ขนาดใหญ่ขึ้น อาทิ…
ปี 1987 "ธอมสัน" บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของฝรั่งเศสซื้อแผนกสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ของ
"ธอร์น-อีเอ็มไอ" แห่งอังกฤษ และซื้อแผนกคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ของ
"เจเนอรัลอิเล็กทริก" แลกเปลี่ยนกับแผนระบบการแพทย์ของตน
หรือในช่วงไม่กี่ปีมานี้ "เดมเลอร์ - เบนซ์" แห่งเยอรมนีตะวันตกก็สยายปีกอย่างเงียบ
ๆ จนในที่สุดผงาดขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีรายใหญ่สที่สุดของประเทศ
ด้วยการกว้านซื้อกิจการ "เออีจี" "โมโตเรนแอนด์ ทรานส์-ฟอร์มาโทเรน
ยูเนียน" (เอ็มทียู), "ดอร์เนียร์" และหุ้นใหญ่ของ "เมสเซอร์ชมิด-โบลโคว์บลอม"
(เอ็มบีบี)
"ราคัล" ของอังกฤษก็อยู่ในระหว่างซื้อกิจการ เพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจสื่อสารข้อมูลจากฐานบริษัทขนาดเล้กถึงขนาดกลางทั่วทวีปยุโรป
และในปลายปี 1988 ยักษ์โทรคมนาคม "ซีเมนส์" ของเยอรมนีตะวันตกและ
"จีอีซี" แห่งอังกฤษจับมือกันร่วมเสนอซื้อกิจการ "เพลสซีย์"
ยักษ์ด้านโทรคมนาคมอีกแห่งหนึ่งของอังกฤษ
…ข่าวลักษณะนี้จะมีให้เห็นต่อไปอีกเรื่อย ๆ
การผนวกกิจการก็ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะในทวีปยุโปรด้วยกันเท่านั้น ค่ายยุโรปกำลังรุกเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาอย่างหนักหน่วง
เห็นได้จาก 1988 ปีเดียว ยุโรปเข้าซื้อบริษัทในอเมริการวมแล้วเป็นมูลค่า
33,000 ล้านดอลลาร์ เกือบ 3 เท่าของมูลค่าที่ค่ายญี่ปุ่นเข้าซื้อบริษัทอเมริกันเสียอีก
ดูง่าย ๆ ที่ชื่อ "เบอร์เทลส์มานน์" ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีตะวันตกที่ทำกิจการทั้งด้านสื่อมวลชนและสำนักพิมพ์
แต่นักธุรกิจอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทนี้มาก่อน จนกระทั่งในรอบ
5 ปี หลังนี้เองที่เบอร์เทลส์มานน์เดินเกมรุกหนัก เข้าซื้อกิจการบริษัทแผ่นเสียง
"ดับเบิ้ลเดย์" และ "อาร์ซีเอ" รวมทั้งกิจการประเภทเดียวกันนี้อีกหลายแห่ง
กลายเป็นพี่เบิ้มแห่งธุรกิจบริหารด้านสื่อมวลแบบครบวงจรไป
ปี 1988 นี้เช่นกันที่ "ซีเมนส์" ซื้อแผนก "เบนดิกซ์"
ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ของ "อัลลายด์-ซิกนอล" ด้วยมูลค่า
250 ล้านดอลลาร์
เกิดกิจการเน้นแทรกช่องว่างทั่วยุโรป
ทั้งบริษัทขนาดเล็กและกลางของยุโรปตระหนักดีว่า ต่อไปพวกเขาไม่อาจอยู่รอดได้
ถ้าคิดหวังพึ่งเฉพาะส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเท่านั้น และหลังจากปี 1992 ไปแล้ว
พวกเขามีทางเลือกเพียงว่า จะเติบโตต่อไปและกระโจนเข้าแข่งขันทั่วยุโรป หรือไม่ก็อยู่เผชิญกับความตกต่ำอย่างถึงที่สุดเมื่อเสียเปรียบในเชิงแข่งขันทุกรูปแบบ
การผนวกกิจการระหว่าง "ซีเอพีกรุ๊ป" บริษัทให้บริการด้านคอมพิวเตอร์ชั้นำของอังกฤษกับ
"ซีมา-เมตร้า" ของฝรั่งเศสซึ่งทำกิจการคล้ายคลึงกันเป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่า
บริษัทเล็ก ๆ ในยุโรปก็กำลังปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อให้อยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบด้านการแข่งขันมากขึ้น
ในอนาคตอันใกล้นี้ การผนวกหรือซื้อกิจการหรือร่วมทุนระหว่างบริษัทยุโรปด้วยกันและคนละทวีปจึงจะทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
เพราะยุทธศาสตร์นี้ทำให้บริษัทขนาดเล็กและกลางแข่งขันในช่องว่างของตลาดยุโรป
สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกไกลได้มีประสิทธิภาพขึ้น
เกิด "เถ้าแก่" ยุโรปเต็มไปหมด
กิจการประเภท VENTURE CAPITAL ที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับกระตุ้นความเติบโตทางอุตสาหกรรมแขนงที่มีความสำคัญที่สุดของกลุ่มอีซี
อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม บริการการเงินและคมนาคม ปัจจุบันทั้งในเยอรมนีตะวันตกและอังกฤษก็มีสวนอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีซึ่งมีกิจการ
VENTURE CAPITAL เป็นแหล่งเงินทุนรวมทั้ง MINI-SILICON VALLEYS เกิดขึ้นแล้วมากมาย
เงินทุนมีทิศทางหมุนเวียนสู่ภายในยุโรปมากขึ้น
ถ้าสถาบันการเงินยอมรับ ธุรกิจยุโรปต้องประสบความสำเร็จมากขึ้นและมีการแข่งขันมากกว่าอดีตที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่าเงินทุนจากทั่วโลกอาจถูกผันเข้าสู่ประชาคมยุโรปมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ว่า
เงินทุนมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายสู่ภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับว่ามีอัตราการเติบโตสูงและมีผลตอบแทนต่อการลงุทนดีมาก
นอกเหนือจากนี้ นโยบายลดความเข้มงวดด้านการธนาคารและการลงทุนในอีซี ก็จะเป็นองค์ประกอบที่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทุกรูปแบบระหว่างพรมแดนของประเทศ
ปัจจุบันจึงมีประเทศอีซีหลายแห่งกำลังพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีบริษัทใหม่เหมือนอย่างที่อังกฤษทำไปเมื่อปี
1987
ในภาครวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า บริษัทที่กำลังแสวงโอกาสในยุโรปจำเป็นต้องวางแผนเดินเกมอย่างรอบคอบที่สุด
เพื่อให้ตนอยู่ในตำแหน่งได้เปรียบทั้งด้านการแข่งขัน การตอบสนอง และการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที
และพึงจำไว้เสมอว่า ในท้ายที่สุดแล้วการรวมตัวระหว่างกันจะออกมาในรูปแบบใดก็แล้วแต่
ยุโรปทศวรรษ 1990 ก็ต้องถูกเปลี่ยนโฉมหน้าและบรรยากาศทางธุรกิจไปโดยสิ้นเชิง
รวมทั้งต้องไม่ลืมว่า ตอนนี้ประตูแห่งโอกาสยังเปิดกว้างอยู่ก็จริง แต่เวลาที่เหลืออยู่นั้นน้อยเต็มที่
จึงถือเป็นภาระและหน้าที่ของฝ่าบริหารระดับสูงที่ต้องรีบฉกฉวยผลประโยชน์ให้ได้สูงสุดจากเวลาที่เหลือนี้