เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับการเกิดอย่างดาษดื่นของสินค้าปลอมในเมืองไทย
และยิ่งนับวันสินค้าปลอมจากไทยกำลังกลายเป็นสินค้าออกที่ขึ้นชื่อลือชาในย่านเอเชียแปซิฟิกไปแล้ว
การขยายตัวของกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้กำลังมีบทบาทอย่างน่าสนใจ
รวมไปถึงอาชญากรรมและความรุนแรงดูจะหนักข้อมากขึ้น
มีสำนักงานกฎหมายในเมืองไทยประมาณ 7-8 แห่งที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้า
ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สำนักงานกฎหมายเหล่านี้ก็เช่น สำนักกฎหมายดำเนิน
สมเกียรติ และบุญมา, ติลลิกีแอนด์กิบบินส์, เอนกแอนด์บริดจ์, คัวช่า, เภามรรคเจริญวุฒิ
และที่ปรึกษากฎหมายสากลเป็นต้น
สาเหตุที่สำนักกฎหมายเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องหมายการค้าเป็นพิเศษ
เพราะความมีสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจต่างประเทศเป็นเวลาช้านานติลลิกีแอนด์กิบบินส์เป็นสำนักงานกฎหมายที่มีประวัติมากกว่า
80 ปี โดยการก่อตั้งของนักกฎหมายชาวศรีลังกา และอเมริกันแม้จะมีการเปลี่ยนโฉมหน้าผู้ถือหุ้นมาเป็นคนไทยเสียสองในสาม
การดำเนินธุรกิจและคดีความต่าง ๆ ก็มีลักษณะเดิมอยู่ สำนักกฎหมายเอนกแอนด์บริดจ์เป็นการร่วมทุนระหว่าง
อเนก ศรีสนิท กับสำนักกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งเอื้ออำนวยให้การรับลูกความจากต่างประเทศเป็นไปได้โดยง่ายส่วนเภา
มรรคเจริญวุฒิก็เพิ่งแตกตัวมาจากสำนักกฎหมายที่เคยเชี่ยวชาญในเรื่องนี้อยู่คือคัวช่า
ความเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องหมายการค้าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรไม่ใช่เป็นเรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด
การดำเนินความเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ เพียงแต่ว่าในช่วงปีสองปีมานี้
ความคึกคักเกี่ยวกับเรื่องการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเจ้าของสินค้าจากต่างประเทศผ่านสำนักกฎหมายเหล่านี้มีมากขึ้นอย่างผิดสังเกต
"เมื่อปีที่แล้วทั้งปี เฉพาะที่ผ่านบริษัทของเรามีการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสิ้น
1,500 รายการ แต่มาปีนี้แค่ช่วง 3 เดือนแรกของปี เรายื่นขอจดไปแล้วเกือบ
1,500 รายการ" ทนายผู้หนึ่งในบริษัทกฎหมายชั้นนำให้ข้อมูลตัวเลข
แม้ว่าตัวเลขข้างต้นนี้จะไม่ได้แยกแยะว่าผู้เป็นเจ้าของสินค้าเป็นบริษัทในประเทศ
หรือต่างประเทศ แต่แหล่งข่าว ก็ยืนยันว่า ความกระตืนรือร้นจากต่างประเทศมีมากกว่าปกติ
การเพิ่มขึ้นของการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ในความหมายหนึ่งคือ
การขยายอาณาเขตของสิทธิทางกฎหมายในตัวสินค้าของตนให้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น
พร้อมที่จะปก้องสิทธิของตนอันพึงมีพึงได้ ยามที่สินค้าตัวนั้นรุกเข้าตลาดเมืองไทย
อีกความหมายหนึ่งคือ การสร้างความชอบธรรมในการกำจัดสินค้าเลียนแบบและสินค้าปลอม
ซึ่งนับวันสถานการณ์ในเมืองไทยจะรุนแรงขึ้น
ทนายความหลายคนในสำนักกฎหมายต่าง ๆ กันให้ข้อมูลตรงกันว่า ไทยกำลังเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอมที่ใหญ่ที่สุดรองจากเกาหลีใต้และไต้หวัน
ทั้งนี้อ้างจากเสียงสะท้อนของบรรดาเจ้าของสินค้าที่ตั้งหน้าตั้งตาปราบสินค้าปลอมอย่างจริงจัง
ขณะที่ไต้หวันมุ่งเน้นไปที่สินค้าปลอมประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ไทยก็มีชื่อเสียงทางด้านสินค้าเสื้อผ้า
เครื่องหนังสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม นาฬิกา เป็นต้น
เจ้าของ "หลุย วิตตอง" (LOUIS VUITTON) จากฝรั่งเศสเป็นเจ้าของสินค้าที่มีความกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษในการแก้ไขปัญหาสินค้าปลอม
โดยดูจากการพยายามให้ข้อมูลการหาหลักฐานเพื่อดำเนินคดี การติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ
ๆ ในการติดตามจับกุม การประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่ของไทย
"หลุย วิตตอง ใช้สำนักกฎหมายหลายแห่งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยอาจจะแบ่งเป็นสำนักหนึ่งจัดการเรื่องคดีแพ่งอีกแห่งจัดการเรื่องคดีอาญา
นอกจากนั้นยังจ้างสายสืบคอยจัดการอีกต่างหาก" แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อปีที่แล้ว หลุย วิตตอง ซื้อเนื้อที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องสินค้าปลอม
โดยมุ่งย้ำเน้นให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าที่แตกต่างากันอย่างมหาศาลระหว่างสินค้าจริงกับสินค้าปลอม
แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลนัก เพราะในที่สุดหลุย วิตตองก็หยุดโฆษณาชุดนี้ไปคนในวงการโฆษณาให้ความเห็นว่า
ขณะที่หลุย วิตตองเป็นสินค้าระดับสูง แต่โฆษณาหวังมุ่งเน้นกลุ่มระดับกลางเพื่อหวังสร้างทัศนคติใหม่ในการเลือกซื้อสินค้า
จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนระดับกลางไม่ได้ยึดติดที่สินค้าปลอมหรือสินค้าจริง
สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ สินค้าที่ราคาถูก คุณภาพเหมาะสมกับราคา ส่วนยี่ห้อสินค้าเป็นเรื่องตามมาทีหลัง
"ในช่วงโอลิมปิกที่โซล เกาหลีใต้หลุย วิตตองทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากไปที่นั่น
ทั้งในเรื่องการโฆษณาตัวสินค้าและการแก้ไขปัญหาสินค้าปลอม ที่ต้องทุ่มเป็นพิเศษเพราะด้านหนึ่งตำรวจมัวแต่ไปลาละวนกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยในกีฬาโอลิมปิก
ไม่มาสนใจเรื่องการจับสินค้าปลอมเท่าไรนัก หลุย วิตตองเลยกลับต้องเหนื่อยกว่าปกติ"
แหล่งข่าวในวงการโฆษณาเล่า
ส่วนสถิติการจับกุมในเมืองไทยนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ขายสินค้าปลอมและแหล่งผลิตได้รวม
81 รายในช่วง 3 เดือนแรกของปี อีก 3 เดือนถัดมาจับได้เกือบ 50 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าแผงลอย
และที่เป็นร้านค้าใหญ่แถวถนนสีลมก็มีไม่น้อยเอาเลยทีเดียว
"ปรับแค่ 1 พันบาทกับจำคุก 6 เดือนแต่รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งน้อยมาก"
ทนายผู้หนึ่งที่นำทีมติดตามและจับกุมกล่าวอย่างเหนื่อยหน่าย
การไล่ล่าตัวการใหญ่หรือแหล่งผลิตสินค้าปลอมกระทำได้ยากเย็นเต็มทีกรณี
"ลาคอสท์" หรือเสื้อยืดตราจระเข้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สำนักกฎหมาย
นักสืบต่างร่วมระดมกำลังกันกวาดล้างครั้งใหญ่ก่อนที่เจ้าจระเข้ตัวจริงจะเข้ามาวางตลาดในไทย
การผลิตสินค้าปลอมเช่น เสื้อยืดหรือนาฬิกานี้กระทำเหมือนสงครามกองโจรเสื้อยืดผลิตที่หนึ่ง
ตราก็ผลิตอีกทีหนึ่งแล้วมาเย็บรวมกันอีกที่หนึ่ง แม้แต่ตัวเสื้อยืดก็แยกผลิตกันหลายที่
ตามโรงงานห้องแถวเล็ก ๆ กระจายกันไป โดยเฉพาะแถบธนบุรีละแวกถนนสารภี วงเวียนใหญ่
"มีโรงงานอยู่แห่งหนึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ อยู่แถวถนนเพชรเกษม จับแล้วจับอีกก็ยังไม่เข็ด
เพราะปรับแค่ทีละพันบาทส่วนตัวจำเลยก็เปลี่ยนหน้ากันไปในหมู่พี่น้อง แล้วก็รอลงอาญา
เรื่องมันก็ไม่จบไม่สิ้นสักที" แหล่งข่าวระบุ
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและบรรดานักกฎหมายเข้าล้อมจับแหล่งผลิตสินค้าประเภทเสื้อยืดรายใหญ่
เป็นตึกแถว 3 ชั้นในตรอกเล็ก ๆ ปิดประตูแน่นหนานักสืบได้ว่าเป็นโกดังเสื้อปลอมประมาณ
7-8 พันตัว ทั้งนักสืบ ตำรวจและทนายความเข้าล้มจับแต่เผชิญการโต้ตอบอย่างก้าวร้าวด้วยนักเลงหลายคน
พร้อมอาวุธครบมือและท่าทีที่แสดงถึงอำนาจและอิทธิพลที่แฝงอยู่เบื้องหลัง
กรณีนั้นจบลงด้วยการประนีประนอมตำรวจยึดเสื้อออกมาไม่กี่ตัว ปรับไปตามธรรมเนียม
แล้วเรื่องก็เลิกรากัน
"คุณรู้ไหม เสื้อยืดปลอม 7-8 พันตัวที่อยู่ในตึกนั้นน่ะ มันเกือบ
40% ของเสื้อยืดจริงที่เขาขายอยู่ในท้องตลาด" แหล่งข่าวกล่าว
กรณีการปลอมนาฬิกา ยิ่งกระทำได้ง่ายมาก เพียงมีโต๊ะหนึ่งตัวกับเครื่องมืออีก
2-3 ชิ้นก็ทำได้แล้ว เพราะอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ ผลิตจากที่ต่าง ๆ กันมารวมไว้เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นโรงงานประกอบนาฬิกาปลอมจึงสามารถเปลี่ยนสถานที่ได้ตลอดเวลา
ความก้าวหน้าของการผลิตสินค้าปลอมในไทยก้าวไปถึงการรับออร์เดอร์โดยตรงจากเมืองนอก
แล้วผลิตส่งไปขายโดยตรงเช่น กรณีเสื้อยืดเด็ก KIDKOOL ของเบลเยียม มีฝรั่งจากประเทศเบลเยียมด้วยกันเองมาสั่งผลิตไปขายแข่งตัดราคาเพราะเมืองไทยมีวัตถุดิบและราคาค่าแรงต่ำอย่างพร้อมมูล
ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นเจ้าตำรับผลิตสินค้าปลอมเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ถูกฤทธิ์เดชจากไทยไปไม่น้อย
เมื่อสินค้าเสื้อผ้าจากญี่ปุ่นที่ส่งออกไปขายแถบตะวันออกกลางถูกตีตลาดด้วยเสื้อผ้าจากเมืองไทยในยี่ห้อเดียวกัน
แถมยังประทับตรา "MADE IN JAPAN" ทำเอาพ่อค้าญี่ปุ่นบ่นพึมว่า
ของแบบนี้มันรู้ ๆ กันอยู่ว่าปลอมแน่ ๆ เพราะเป็นสินค้าจากไทยแต่ประทับตราญี่ปุ่น
แต่เมืองไทยปล่อยออกไปได้อย่างไร
"เรื่องแบบนี้ศุลการักษ์ไม่มีอำนาจไปจับกุมหรืออายัด เขาไม่ได้ไปสนใจหรอกว่าลายบนผ้าหรือตราจะเป็นอย่างไร
สินค้านี้เป็นสินค้าที่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายก็เท่านั้น" เจ้าหน้าที่ศุลการักษ์คนหนึ่งกล่าว
แหล่งข่าวระบุว่า ปัจจุบันมีการก่อตัวของเอเยนต์ที่รับสั่งจากต่างประเทศเพื่อรับผลิตสินค้าปลอมแล้ว
เอเยนต์นี้โดยแท้จริงก็คือเอเยนต์ที่รับออร์เดอร์จากผู้ผลิตสินค้าของแท้มาเป็นปกติอยู่แล้ว
แต่พอภายหลังเริ่มมีสินค้าปลอมแทรกแซมมาด้วย
"เป็นเอเยนต์รายใหญ่ชื่อดัง อยู่แถวถนนสีลม เราจับเขาไม่ได้เลย เพราะไม่มีหลักฐาน
เขารับออร์เดอร์มาแล้วก็สั่งต่อตามสายก็เท่านั้น ถ้าจับเขา เขาก็ต้องบอกว่าไม่รู้ว่าเป็นออร์เอร์ของปลอม"
ทนายความคนหนึ่งกล่าว
การระบายสินค้าปลอมนั้นเป็นไปตามความต้องการของตลาด การผลิตจะเป็นไปตามออร์เดอร์เท่านั้น
แหล่งระบายสินค้าปลอมส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปคือแถบประตูน้ำ สีลม พัฒน์พงศ์
สยามสแควร์ เป็นต้น
ในหลายครั้งตัวผู้ขายสินค้าเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่า สินค้าที่ตนเองขายอยู่เป็นสินค้าปลอม
เช่น กรณีแชมพูยี่ห้อหนึ่ง ถูกปลอมแม้กระทั่งรถจัดจำหน่ายที่ประทับตราชื่อบริษัทและสินค้าอย่างแนบเนียน
จนเจ้าของร้านเองมารู้เอาเมื่อมีรถจัดจำหน่ายของจริงมาอีกครั้ง
แหล่งข่าวระบุอย่างหนักแน่นว่า ช่วงหนึ่งมีสุราปลอมระบาดอยู่ในร้านอาหารละแวกถนนรัชดาภิเษกบางแห่งถึง
50%
โลกของการปลอมสุราต่างประเทศเป็นอีกโลกหนึ่งของการปลอมสินค้าโดยทั่วไป
ผู้ปลอมสุราส่วนใหญ่เป็นร้านขายสุราต่างประเทศเจ้าใหญ่เสียเอง โดยการผสมสุราคุณภาพต่ำในสุราต่างประเทศนั่นคือสุราต่างประเทศหนึ่งขวดแปรออกมาเป็นสุราปลอมได้
4 ขวด กำไรไม่รู้กี่ต่อ
แม้แต่วิธีการต้มสุราเองก็มีขึ้นได้ง่ายด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย
ผสมหัวเชื้อ 25% กับเอธิลแอลกอฮอล์ผ่านกรรมวิธีง่าย ๆ บรรจุในขวดที่กว้านซื้อมา
ติดแสตมป์ปอลมหรือแสตมป์ที่ใช้แล้วเพียงเท่านี้ก็ออกมาขายได้
เมื่อไม่นานมานี้ เอเยนต์สุราแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เข้ามากว้านซื้อสุราต่างประเทศในไทยเข้าไปขายในญี่ปุ่น
เพราะราคาสุราในไทยถูกกว่ามาก เชื่อกันว่าเอเยนต์จากนั้นไม่ได้มีเจตนาจะซื้อสุราปลอม
แต่เผอิญโชคร้าย สุราต่างประเทศที่สั่งไปกว่า 3 พันขวดกลายเป็นสุราปลอม สุราดังกล่าวถูกอายัดและส่งคืนมาให้กรมสรรพสามิตจัดการทำลาย
ผู้ผลิตสุราต่างประเทศปลอมแบ่งเป็น 5 แก๊งใหญ่ ๆ โดยแบ่งเป็นย่านเป็นเขตดูแลกัน
แก๊งดังกล่าวปักหลักอยู่แถวโรงภาพยนต์เพชรพิมานเดิม แถวสีแยกมักกะสัน แถวโรงภาพยนต์โคลีเซี่ยม
แถววงเวียนใหญ่ และบริเวณถนนลาดพร้าวอีกหนึ่งแห่ง
"จะว่าไปแล้วพวกนี้เป็นมาเฟียย่อย ๆ ก็ได้ ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่
รุ่นพ่อ ขายเหล้าจริงด้วย ทำเหล้าปลอมด้วย ปน ๆ กันไปและที่รู้กันคือ พวกเขามีอำนาจพอที่จะซื้อเจ้าหน้าที่ในกรมสรรพสามิตบางคนเสียด้วย"
แหล่งข่าวระดับสูงในกรมสรรพสามิตกล่าวยอมรับ
เรื่องนี้เป็นที่สนใจสำหรับบริษัทผู้ค้าสุราในต่างประเทศอย่างมาก พวกเขาจ้างสายสืบเป็นการเฉพาะ
เพื่อสืบเสาะหาแหล่งผลิตให้รางวัลเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ของทางการที่ให้ความร่วมมือโดยการให้รางวัลนำจับหรือส่งไปดูงานต่างประเทศ
จนในช่วงปีสองปีมานี้ ยอดสถิติการกวาดล้างสุราต่างประเทศปลอมขึ้นมาสูงมาก
จากที่เคยจับได้ปีหนึ่งไม่เกินร้อยขวด มาเมื่อไม่นานมานี้กรมสรรพสามิตถึงกับกล้าแสดงผลงานทำลายสุราต่างประเทศจำนวนกว่า
8,000 ขวดต่อหน้าสาธารณชน
ถึงแม้จะรู้แหล่งผลิตหรือต้นตอแท้จริง แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมสรรพสามิตเองก็ยอมรับว่าเรื่องสุราต่างประเทศปลอมไม่อาจจะขจัดไปได้ง่าย
ๆ เพราะบทลงโทษที่เบามาก แต่กำไรงามยกเว้นแต่จะลดภาษีสุราต่างประเทศให้ถูกลง
เพื่อราคาในประเทศจะได้ลดลงไปด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องระดับนโยบายของกระทรวงการคลังไปแล้ว
วิวัฒนาการจากการปลอมสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ปลอมสุราต่างประเทศเดี๋ยวนี้พ่อค้าไทยมีหัวเซ้งลี้หนักเข้าไปอีก
ด้วยการใช้เทคนิคยื่นขอเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าไว้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะชื่อสินค้าที่โด่งดังในต่างประเทศแต่ยังไม่มีสินค้าในไทย
ชื่อพวกนี้จะถูกจดไว้ก่อนแล้วปล่อยข่าวว่าจะผลิตสินค้านานาชนิด รอจนเจ้าของสินค้าจากต่างประเทศตัวจริงเข้ามาจะขอจดทะเบียนการค้าบ้าง
ก็จะประสบปัญหาทันทีว่า จดไม่ได้เพราะซ้ำซ้อนกับเจ้าของชื่อสินค้านี้ในไทย
"เดี๋ยวนี้กรณีนี้มีค่อนข้างเยอะ พอเจ้าของจากต่างประเทศเข้ามาเจอปัญหานี้เขาก็ต้องมีการฟ้องร้องกัน
เสียเวลาไปมากมาย วิธีการแก้ปัยหาก็คือจ่ายเงินไปให้ก้อนหนึ่งกับคนที่จดทะเบียนในไทยก่อน
เช่น กรณีล่าสุด มีห้างสรรพสินค้าเจ้าหนึ่งจากยุโรป จะมาเปิดกิจการในไทย
ก็เจอเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซ้ำซ้อนนี้เข้าฝ่ายคนไทยเราก็ไม่ยอม
ไป ๆ มา ๆ ฝ่ายคนไทยเองนี่แหละที่ออกปากเรียก 1 ล้านบาทเพื่อจบคดี"
แหล่งข่าวในสำนักงานทนายแห่งหนึ่งกล่าว
แต่ทั้งนี้การปักใจเชื่อเช่นนั้นก็ไม่แน่นอนเสมอไป เพราะบางกรณีอาจเป็นการซ้ำซ้อนโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้
เพราะบางกรณีอาจเป็นการซ้ำซ้อนโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า
ต้องดูเจตนาในการยื่นขอจดทะเบียน ถ้าหากเขาจดแล้ว นำเครื่องหมายการค้นั้นประทับตราบนสินค้าและขายหรือเผยแพร่สู่สาธารณชนจริง
ก็คงไม่ใช่เรื่องต้องการ "ดัดหลัง" เจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ
"บางทีคุณก็ต้องให้โอกาสคนไทยบ้าง ไม่ใช่ฝรั่งจะถูกเสียทั้งหมด"
เขากล่าว
คนทั่วไปมักเข้าใจไปว่า เนื่องจากช่องโหว่ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
จึงมีผู้เข้ามาทำสินค้าปลอมกันมากแต่ธัชชัย ศุภผลศิริ นักกฎหมายในมหาวิทยาลัยจุฬาฯกล่าวยืนยัยว่า
ปัญหาเรื่องสินค้าปลอมนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่ากฎหมายชราภาพแต่อย่างใด เขาเชื่อว่า
การปลอมสินค้าเป็นธรรมชาติโดยทั่วไปของการค้าการทำธุรกิจที่เมื่อมีสินค้าขายดีก็ย่อมมีคนต้องการเลียนแบบด้วยวิธีการลัด
"กฎหมายในอเมริกาที่ว่าเข้มงวดรัดกุมก็ยังมีสินค้าปลอมให้จับกันได้โครม
ๆ " ธัชชัยกล่าว
แต่เรื่องบทลงโทษนั้นเป็นข้ออ่อนที่ยอมรับกัน ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่ที่กำลังรอการพิจารณาจากรัฐสภานั้น
เพิ่มบทลงโทษจากปรับ 1 พันบาท จำคุก 6 เดือน เป็นปรับ 2 แสนบาทจำคุก 2 ปี
และเพิ่มอำนาจครอบคลุมเครื่องหมายบริการด้วย นอกนั้นก็เป็นเรื่องการจัดหมวดหมู่สินค้าให้ชัดเจนและมากประเภทขึ้นเท่านั้น
เพื่อความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียน
ปัญหาในการติดตามจับกุมสินค้าปลอมของเจ้าของแท้จริงและสำนักกฎหมายนั้น
อยู่ที่การสืบเสาะหาแหล่งผลิตซึ่งกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ไม่มีหลักแหล่งแน่นอนอีกทั้งผู้กระทำผิดก็มีมากมายเพราะลงทุนน้อยมาก
ใคร ๆ ก็ทำได้ หรือจะทำเป็นกิจการแอบแฝงในโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าอื่น
ๆ อยู่เดิมก็ย่อมได้
นอกจากนั้นการจัดการอย่างเด็ดขาดและเป็นข่าวเกรียวกราว อาจไม่เป็นผลดีต่อสินค้าของแท้ที่วางอยู่ตามท้องตลาดเพราะผู้ซื้อจะเกิดความระแวงไม่เชื่อมั่นว่าสินค้าตัวใดจริง
ตัวใจปลอม เพราะสินค้าปลอมก็อาจขายราคาแพงได้ จนพาลเลิกซื้อไปเลย
ยิ่งกว่านั้น การลงทุนในการแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องใช้จ่ายเป็นเงินไม่ใช่น้อยทั้งการว่าจ้างนักสืบ
สำนักกฎหมายเพื่อดำเนินคดี เงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางการและเมื่อจับมาแล้วก็ใช่ว่าจะคุ้มกัน
เช่นการจับนาฬิกาปลอม เวลาผลิตก็จะผลิตพร้อมกันหลายยี่ห้อหรือเมื่อวางแผงขายก็เช่นกันคนขายจะวางขายหลายยี่ห้อ
ซึ่งบางยี่ห้อไม่มีนโยบายที่จัดการเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อจับมาแล้วก็ต้องแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวออกไปจะเหลือสินค้าเป้าหมายจับกุมเพียงไม่กี่เรือนเท่านั้น
แม้การเติบโตของสำนักกฎหมายระดับสากลในไทยจะไม่ได้เติบโตมาจากการทำคดีเครื่องหมายการค้าโดยตรง
แต่เรื่องนี้ก็กำลังคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาเงียบ ๆ
คือ ธุรกิจนักสืบ ซึ่งชาวต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาในไทยประมาณ 4-5 แห่ง เช่นบริษัท
ซีทีแอส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นสาขามาจากฮ่องกง
ว่ากันว่า ธุรกิจนี้เข้ามาเพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะ พวกนี้จะมีความพร้อมกว่าคนไทย
เพราะภายในสำนักงานจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ค้นข้อมูลในเรื่องเครื่องหมายการค้า
ได้รับข้อมูลโดยตรงจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้นการสืบค้นก็สะดวกกว่า
เพราะความเป็นคนต่างชาติผู้กระทำผิดมักเข้าใจไปว่าเป็นนักท่องเที่ยวจึงติดกับดักได้ง่าย
แต่ทั้งสำนักกฎหมายและสำนักงานักสืบจะขอปิดตัวเงียบเมื่อ "ผู้จัดการ"
ขอสืบค้นเรื่องนี้
"เราเคยถูกขู่หลายครั้ง บางทีมีพวกนักเลงหรือคนแต่งชุดทหารเข้ามาจะทำร้ายร่างกายในสำนักงาน
การปิดตัวเองจะดีสำหรับเราในการทำงาน" ตัวแทนทนายคนหนึ่งกล่าว
ไม่มีใครประเมินได้ถึงมูลค่าสินค้าปลอมในปีหนึ่ง ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
กรมสรรพสามิตกล่าวแต่เพียงว่า รัฐเสียหายปีหนึ่ง ๆ เป็นร้อยล้านกับเรื่องสุราปลอม
ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็ต้องเอาจำนวนชิ้นของสินค้ามาคำนวณ ซึ่งสำนักงานทนายเกือบทุกแห่งจะปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลตัวเลขนี้
"ถ้าคุณเห็นตัวเลขจำนวนชิ้นของสินค้าปลอมทั้งหมดที่เขาจับในปีหนึ่ง
ๆ คุณอาจจะตกใจ ซึ่งตัวเลขนั้นอาจจะกระทบกระเทือนไปถึงภาพพจน์ของสินค้าตัวจริง"
แหล่งข่าวกล่าว
ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหานี้จะมืดมนเต็มที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการให้ความเห็นว่า
เรื่องสินค้าปลอมเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปในสังคมธุรกิจที่กำลังก้าวหน้าการพัฒนาตนเองต้องพึ่งพาการเลียนแบบผู้อื่นก่อน
เหมือนดังเช่นญี่ปุ่นเคยกระทำมาแล้ว
"แต่การเลียนแบบก็ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย อย่างเรื่องปลอมสุรา
ปลอมแชมพูสระผมนี่มันร้ายแรง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ บางทีมันต้องแยกแยะ แล้วการปลอมแปลงสินค้า
มันก็ไม่ใช่เป็นหนทางเดียวในการพัฒนาธุรกิจ พวกที่ปลอมก็ไม่ได้มีจิตสำนึกที่จะพัฒนาสินค้าของตัวเองเท่าไรนัก
ปลอมมายังไงก็ปลอมต่อไปอย่างนั้น" นักกฎหมายอีกท่านหนึ่งได้
ดังเช่นที่กล่าวข้างต้น เรื่องสินค้าปลอมดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในชีวิตประจำวันของสังคมไทย
หากแต่ในสายตาชาวต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้กำลังคึกคักมาอย่างเงียบ
ๆ และเป็นจริงเป็นจังขึ้นทุกขณะ