Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2532
ทัพใหม่ RCL GO INTERNATIONAL !             
 


   
search resources

อาร์ ซี แอล, บมจ.
โงวฮก, บจก.
Transportation




อาร์ซีแอล GO INTERNATIONAL ด้วยการซื้อกลุ่มบริษัทเรือ 5 บริษัทของสิงคโปร์ ทำไมอาร์ซีแอลต้องซื้อ ทั้ง ๆ ที่เคยมีแผนการมาก่อน การซื้อครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอาร์ซีแอล หรือถ้าพูดให้ถูกคือจุดเปลี่ยนของกลุ่มโงวฮก ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือเก่าแก่ที่มีการปรับเปลี่ยนน้อยมากมาตลอดหกทศวรรษก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนเสียที

ปลายปี 2531 RCL ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นบริษัทเรือแห่งแรก ที่นำบริษัทเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

และกันยายน 2532 RCL ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเป็นบริษัทเรือแห่งแรกของไทยที่ได้ทำการซื้อกิจการเดินเรือของสิงคโปร์

การซื้อครั้งนี้นับว่าสร้างความฮือฮาให้กับคนในแวดวงเดินเรือไม่น้อย และสำหรับคนนอกวงการที่ไม่รู้จัก RCL ก็พากันสงสัยไม่น้อยว่าแท้จริงแล้วกลุ่ม RCL นี้คือใครกันแน่ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรในการซื้อขายกันครั้งนี้และจะส่งผลต่อสถานะของ RCL อย่างไร

RCL เป็นชื่อย่อของบริษัท REGIONAL CONTAINER LINES ประกอบกิจการรับส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในระบบ "คอนเทนเนอร์" ประเภทเรือ FEEDER เพื่อนำไปขนถ่ายลงเรือที่ไม่สามารถเข้ามาในน่านน้ำเจ้าพระยาได้ก่อนที่จะบรรทุกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

RCL ถือกำเนิดขึ้นในปี 2523 โดยการร่วมทุนระหว่างฝ่ายไทยคือบริษัทโงวฮกและ SINGAPORE SHIPPING CORKPORATION (SSC) ฝ่ายสิงคโปร์ ในสัดส่วน 75:25

โงวฮกเป็นบริษัทเดินเรือที่มีอายุอย่างเข้าสู่ปีที่ 61 เข้าไปแล้ว นับว่าเป็นบริษัทเดินเรือที่มีอายุยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เก่าแก่กว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเพิ่งจะมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น

ความที่เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานคนเก่าแก่ที่อยู่ทันยุคสมัยแรก เริ่มล้มหายตายจากไปเกือบสิ้นแล้ว ทำให้ประวัติช่วงบุลสุข ประธานกรรมการของ RCL ซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปีแล้ว แต่ก็ยังมาเซ็นเช็คที่บริษัททุกวันเล่ากับ "ผู้จัดการ" ว่า

"ผมเองก็ไม่ทราบแน่ชัดเพราะไม่ได้มาร่วมงานแต่แรก คนที่รู้ดีว่าผมส่วนใหญ่ตายไปหมดแล้ว คนที่ริเริ่มบริษัทคือตันจิ้นเก่งหรือจิตติน ตันธุวนิตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานอยู่กับตระกูลหวั่งหลี ขณะนั้นทำการค้าขายระหว่างไทยกับจีนโดยทางเรือ มีความคิดว่าน่าจะมีธุรกิจบริการขนส่งทางน้ำที่เป็นของไทยเอง จึงชัดชวนเถ้าแก่โรงสี 4 คนเข้ามาร่วมคือ มาเลียบคุนหรือมาบูลกุล, เจียร กอวัฒนา, ตันลูเช็ง, โล่วเตี๊ยกชวน (พ่อของเท้ง) รวมตันจินเก่งเป็น 5 คนตั้งชื่อว่า โงวฮก"

นั่นคือที่มาของชื่อโงวฮก ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า "โชคทั้งห้า"

เล่ากันว่าผู้ที่มาลงขันร่วมทุนทั้ง 4 คนนั้น แต่ละคนก็มีฐานะจัดอยู่ในระดับเจ้าสัวทั้งสิ้น ดังจะได้ยินผู้คนเรียกขานชื่อต่อท้ายคนเหล่านี้เช่น "โล่วเตี๊ยกชวนเอี๊ย" ซึ่งหมายถึงเจ้าสัวโล่วเตี๊ยกชวน ขณะที่ตันจินเก่งนั้นเป็นคนธรรมดา ที่ไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนัก อาศัยมีฝีมือและความเฉลียวฉลาดบริหารกิจการเดินเรือจนเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย แล้วตันจินเก่งก็ค่อย ๆ เริ่มซื้อหุ้นเป็นของตนบ้างจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยคนหนึ่งไปในที่สุด

พงษ์ศักดิ์ เมฆใจดี ลูกน้องเก่าของตันจินเก่งที่ร่วมงานกับโงวฮกมาหลายสิบปีกล่าวถึงตันจินเก่งว่า "การทำกิจการเดินเรือระหว่างประเทศไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ เราไม่มีเรือของเราเอง ต้องเช่ามาจากหลายประเทศเช่นนอร์เวย์ เครดิตเราต้องดีมาก เขาถึงจะเชื่อใจ ซึ่งตันจินเก่งนั้นเป็นคนที่เอาใจใส่ในการบริหารเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่รักของคนงาน เรือเข้าตีหนึ่ง ตีสองนี่เขาจะต้องลงไปดูแล นานาชาติให้ความเชื่อถือเรามีเรือมากมายที่ทาสีปล่องเป็นสีน้ำเงินมีดาว 5 ดวง เป็นธงบริษัทโงวฮก"

SSC ก็เป็นบริษัทที่ทำกิจการเดินเรือมาช้านานแม้ว่าจะไม่เก่าแก่เท่าโงวฮกก็ตามแต่ผู้ก่อตั้งของทั้งสองบริษัท เช่น มร.กัวกับตันจินเก่งก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในฐานะที่ทำธุรกิจร่วมกันมาไม่น้อย โดยที่ SSC เป็นเอเยนต์ให้แก่โงวฮก

และความสัมพันธ์นี้ก็ยังดำรงต่อมาแม้ว่าตินจินเก่งเสียชีวิตไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2510 กว่า ๆ ยงกิตต์ โสธิกุล เพื่อนที่ร่วมงานบุกเบิกมาด้วยกันกับตันจินเก่งขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่สืบสานงานต่อไป จนกระทั่งลูก ๆ ของตันจินเก่งเรียนจบและเริ่มเข้ามาบริหารงานต่อไป ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโงวฮก

นับเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษที่มนุษย์ทำการขนส่งทางทะเลที่เรียกกันว่าระบบ CONVENTIONAL หรือก็คือการขนถ่ายสินค้าเทกอง

ปลายทศวรรษที่ 19 มนุษย์คิดค้นระบบการขนส่งแบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบคอนเทนเนอรืพูดง่าย ๆ ก็คือนำสินค้าบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่จะนำลงเรือ

การเปลี่ยนระบบครั้งนี้มันมีผลต่อการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญในวงการเรืออธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"เมื่อก่อนเรือคอนเวนชั่นนอล เป็นเรือที่ต้องเช่ามาขนถ่ายสินค้าโดยเฉพาะและต้องมีจำนวนมาก ๆ ทำให้ต้องซื้อขายเยอะ แล้วต้องมีอินเวนทอรี่มาเก็บไว้มากแต่เดี๋ยวนี้คอนเทนเนอรืเป็นที่ยอมรับ เป็นการขนส่งในระบบ JUST IN TIME (ทันเวลาพอดี) แล้วมาประจำอาจจะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง มันทำให้ไม่มีสินค้าคงเหลือหรือมีก็น้อยมาก ระบบนี้มันทำให้อะไรถูกลงไปได้เยอะ ลดต้นทุนการผลิต การขนส่งในระบบคอนเทนเนอร์เหมือนรถเมล์ที่มีระยะเวลามาแน่นอน เช่น 10 นาทีคันหนึ่ง ขณะที่แบบ CONVENTIONAL เหมือนรถแท๊กซี่ซึ่งต้องเรียกถึงจะมา"

ช่วงสิบกว่าปีก่อนมีคนเริ่มนำระบบนี้มาใช้ในเมืองไทย ซึ่งโงวฮกก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ตัดสินใจว่าจะต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบใหม่ทั้ง ๆ ที่บริษัทเรือส่วนใหญ่ก็ยังเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้กันไม่มากนัก

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงนั้น โงวฮกมีผู้นำคนใหม่ซึ่งเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงซึ่งเป็นลูกชายแท้ ๆ ของตันจินเก่ง ชื่อสุเมธ ตันธุวนิตย์ ซึ่งกว่าที่ตันจินเก่งจะได้ลูกชายนั้น เขาได้ทำบุญอยางมโหฬารตามคำทำนายของซินแสผู้หนึ่ง ซึ่งตันจินเก่งได้ทำงานในฐานะประธานมูลนิธิปอเต็กตึ๊งนานหลายสมัย ช่วยหาเงินเข้าสถานเสาวภาก็ไม่น้อย จนมีชื่อเสียงโด่งดังได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถอยู่เนือง ๆ จนได้ชื่อและนามสกุลพระราชทานว่า "จิตติน ตันธุวนิตย์"

สุเมธนั้นเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์เกียรตินิยมจากจุฬาฯ และปริญญาโทวิศวกรรมจากเอไอที. เขารักงานด้านวิศวกรรมมาก หลังจากเรียนจบแล้วก็ร่วมทุนกับเพื่อนตั้งบริษัทวัฒนาเอ็นจิเนียริ่งซึ่งรับงานใหญ่ ๆ หลายแห่งเช่นวางระบบไฟฟ้าให้กับสนามบินอู่ตะเภา โดยที่ไม่เคยคิดว่ตนเองจะต้องโดดเข้ามาในธุรกิจเรือจนกระทั่งพ่อสิ้นลม ชีวิตสุเมธก็ต้องหักเหครั้งสำคัญด้วยการเข้าทำงานในบริษัทที่พ่อเขาสร้างขึ้นมากับมือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

พร้อม ๆ ไปกับการตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นระบบคอนเทนเนอร์ สุเมธเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่โงวฮกควรจะมีเรือเป็นของตัวเอง (คนเก่าแก่ของโงวฮกแย้งว่าเมื่อก่อนโงวฮกก็เคยมีเรือของตัวเองเช่นกัน) แทนที่จะเช่าเขาร่ำไป

นั่นก็คือที่มาของบริษัท RCL ซึ่งโงวฮกร่วมทุนกับ ssc ในปี 2523 เป็นบริษัทซึ่งเริ่มแรกเป็นเจ้าของเรือ 2 ลำ เรือลำแรกของบริษัทคือ "เรือศิริภูมิ" ซึ่งสั่งต่อใหม่ให้เหมาะสมกับเรือขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ โดยเฉพาะ ปี 2526 บริษัทซื้อเรือใช้แล้วจากญี่ปุ่นมาวิ่งเพิ่มและในปลายปี 2530 บริษัทได้เปิดเส้นทางสายใหม่ สายกรุงเทพฯ-เกาจุง (ประเทศไต้หวัน)

หากเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจเดินเรืออาจจะจินตนาการไม่ออกว่าการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่แต่ละครั้งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ นักสุเมธอรรถาธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"สมมติเราจะเปิดเส้นทางใหม่ เราต้องดูก่อนว่าเส้นทางนั้นเป็นแบบไลน์เนอร์ (วิ่งเป็นประจำเส้นทาง) หรือเปล่า เราต้องตรวจสอบดีมานด์ว่ามันมีหรือเปล่า ถ้ามีมาจากไหน แล้วเราจะแย่งลูกค้าจากคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งลูกค้าต้องการอย่างน้อย 3 ประการ หนึ่ง-ประหยัด สอง-สะดวก สาม-พึ่งพาได้ (RELIABLE) ถ้าดูปัจจัยทุกตัวแล้วมันเป็นบวกเราก็เปิดได้ ซึ่งตอนแรกจะต้องขาดทุนก่อน กว่าเราจะ CONVINCE ให้ลูกค้ามาทางเรา นกนั้นกว่าจะยอมทำรังมันต้องกินเวลา คนอื่นเขาก็วิ่งด้วยก็ต้องฟาดฟันกัน แล้วถ้าเราอยู่รอดคนอื่นเขาก็อาจจะต้องเลิก ระหว่างการต่อสู้เราก็ต้องยอมขาดทุน เส้นทางต่าง ๆ กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ต้องผ่านกระบวนการและความลำบากไม่น้อย ลำพังท่าเรือเกาจุงที่ไต้หวันกว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังก็เกือบสองปี การขยายแต่ละเส้นทางกินเวลาไม่น้อยเลย"

หลักคิดของ RCL แต่เดิมนั้นก็ถือว่ากรุงเทพฯเป็นฐานที่มั่น จะขยายตัวออกไปเส้นทางใดก็จะยึดกรุงเทพฯเป็นหลักเสมอแล้วค่อย ๆ ขยายไปทีละเส้นทาง ซึ่งจนกระทั่งถึงปี 2532 RCL ได้ทำการเดินเรืออยู่เพียง 2 เส้นทางคือกรุงเทพฯ-สิงคโปร์และกรุงเทพฯ-เกาจุง

กระทั่งต้นปี 2532 กลุ่ม ssc ได้ขายหุ้นทั้งหมด 25 เปอร์เซ้นต์ที่มีอยู่ใน RCL ออกไปจนหมดสิ้น ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ RCL ก็ดูเหมือนจะก่อรูปขึ้นอีกครั้ง

ย้อนหลังกลับไปที่สิงคโปร์เมื่อเกือบสองปีก่อนผู้บริหารกลุ่ม ssc ได้ตัดสินใจขายหุ้นของตนทั้งหมดใน ssc ให้แก่นักลงทุนจากประเทศออสเตรเลียด้วยเหตุผลไม่แจ่มชัด เพีนงแต่คาดกันว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกลุ่ม ssc มีธุรกิจอื่นที่นอกจากกิจการเดินเรือเช่นการทำเรียลเอสเตรด ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าธุรกิจเดินเรือ จึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นักธุรกิจจากออสเตรเลียเพื่อนำเงินไปลงทุนในด้านอื่น

กลุ่มออสซี่ซึ่งเป็นผู้บริหารใหม่ของ ssc นั้น เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีธรรมชาติเป็นผู้ทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป หวังกำไรจากมูลค่าเพิ่มของการซื้อขายกิจการมิได้มีความชำนาญในธุรกิจเดือนเรือแต่อย่างใดนั่นนับว่าสร้างความลำบากใจให้กับผู้ปฏิบัติงานดั้งเดิมของ ssc ซึ่งถือว่าพวกตนเป็นมืออาชีพที่ทำธุรกิจนี้มานานนับสิบปี ความขัดแย้งภายในจึงปรากฏอยู่เนือง ๆ

ต้นปี 2532 RCL ตัดสินใจบอกเลิกการให้ ssc เป็นเอเยนต์ทั้งที่เป็นกันมานานนับสิบปี สุเมธให้เหตุผลการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะรุนแรงต่อฝ่าย ssc กับ "ผู้จัดการ" ว่า

"เราเปลี่ยนเอเยนต์เพราะสิงคโปร์ชิปปิ้งเขาทำไม่ดี 1) แพง 2) ไม่ตั้งใจทำงานคือเขามักจะคิดอยู่เรื่อยว่า เขานี่เป็นหุ้นส่วนเรา เพราะฉะนั้นเราคงไม่เปลี่ยนเขา เขาก็เลยทำงานแบบชุ่ยๆ ซึ่งผมก็ว่าเขาหลายครั้งแล้วแต่เขาไม่เชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้มันเกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจของเรา ตอนนั้นเราคิดว่าปล่อยไปอย่างนั้นเรามีแต่จะเสียเราก็ยื่นโนตีสก่อนนะ ไม่ใช่เปลี่ยนพรุ่งนี้เลย ให้เวลา 3 เดือนหลังจากนั้น"

ถ้าหากว่า RCL เปลี่ยนเป็นเอเยนต์อื่นเลยตามที่มีหลายบริษัทเข้ามาเสนอตัวกับ RCL เรื่องก็จะไม่บานปลายต่อไปอีก

SSC เป็นบริษัทเดินเรือที่จัดว่าใหญ่บริษัทหนึ่งทีเดียวรับเป็นเอเยนต์ให้กับสายการเดินเรือทั่วโลก ลำพังแผนกเอเยนต์เรือ FEEDER ก็มีพนักงานเกือบร้อยคนเข้าไปแล้ว พนักงานเหล่านี้มีความไม่ค่อยพอใจผู้บริหารใหม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดเรื่องกับ RCL พนักงานเหล่านี้เกิดมีความคิดว่าน่าจะไปตั้งบริษัทใหม่แล้วรับเป็นเอเยนต์ให้ RCL เหมือนเดิม

นั่นก็คือที่มาของบริษัท เกรท รีเจ้นท์ ซึ่งพนักงานทั้งแผนก FEEDER ของ SSC พากันยกยวงออกมาทั้งแผนก โดยกล่าวกันว่าพนักงานลงขันกันเอง โดยมีกระแสข่าวที่ไม่ยืนยันว่า RCL ลงขันหรืออยู่เบื้องหลังด้วยหรือไม่

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าของชาวออสซี่เป็นอันมากที่ต้องเสียทั้งธุรกิจและคนของตน ซึ่งทำให้เขาแทบจะต้องเลิกธุรกิจในด้านนี้ไปเลย ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างทันควันก็คือการขายหุ้นทั้งหมดของ SSC ใน RCL โดยที่ผู้บริหารของ RCL ไม่รู้เรื่องเลยจนกระทั่งทะเบียนผู้ถือหุ้นที่เปิดเผยออกมาที่ตลาดหุ้นนั้นเปลี่ยนไปเสียแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2532

ณ ร้านอาหารบริเวณลานจอดรถชั้นล่างของอาคารปัญจภูมิ วันนั้นเป็นวันเสาร์ สุเมธและสต๊าฟของเขาเริ่มคุยกันทีเล่นทีจริงในระหว่างอาหารมื้อกลางวันว่า "เขาขายหุ้นทิ้ง ด้วยเจนตาอันใด หรือเขาจะเลิกทำธุรกิจ เขาอาจจะขายให้คนอื่น เอ้ เราซื้อบริษัทเขาขึ้นมาเลยจะดีไหม จะไหวเหรอ ลองดูสักตั้ง" คือส่วนหนึ่งของบทสนนาเมื่อปลายเดือนมีนาคมซึ่งทุกคนก็ยังรู้สึกว่ามันคงจะเป็นฝันที่เป็นจริงไปได้ยาก

หลังจากนั้นแผนการซื้อกลุ่มบริษัทของ ssc ก็เริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือทางด้านการเงินจากธนสยามซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใน RCL ถึง 13.2 เปอร์เซ็นต์และเป็นผู้ที่เคยทำ UNDERWRITE ให้กับ RCL เมื่อคราวเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2531 ธนสยามโดยสุขุมสิงคาลวนิช ให้ความสนับสนุนเต็มที่โดยส่งศิริพงษ์ สมบัติศิริ ผู้จัดการฝ่ายการลงทุนของธนสยาม ร่วมกับคุณากร เมฆใจดี ผู้ช่วยของสุเมธเข้าเจรจาต่อรองในขั้นต้นกับเจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์ชิปปิ้ง ก่อนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสุเมธในท้ายที่สุดซึ่งกว่าจะเจรจาตกลงกันได้ใช้เวลาถึงเกือบ 5 เดือน

คุณากร เมฆใจดี ได้สรุปถึงสาเหตุของความล่าช้าว่าสืบเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ

หนึ่ง-เนื่องจากธุรกิจนี้มันยังดำเนินอยู่ การประเมินมูลค่าของทรัพย์สินตลอดจนการพิจารณามูลค่าทางธุรกิจ ก็ต้องอาศัยพีชมาร์วิคที่สิงคโปร์เป็นคนเข้าไปตรวจสอบตัวเลขประเมิน ตัวเลข NET TANGIBLE ASSET และเป็นผู้เสนอแนะว่า RCL ควรจะเข้าไปซื้อในรูปแบบใดจึงจะเหมาะที่สุด

การประเมินราคาตลาดนั้นต้องใช้ถึง 3 บริษัท กล่าวคือ SGS SINGAPORE ผู้ประเมินราคาของผู้ขาย INTECO MARITIME SERVICES ผู้ประเมินราคาฝ่ายผู้ซื้อ ในที่สุดต้องให้ RITCHIE BISEI (FAREAST) บริษัทที่ได้รับการเห็นด้วยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

สอง-ด้านกฎหมายนั้นก็ต้องทำอย่างรัดกุม RCL จึงต้องจ้างบริษัท JUDE BANNY เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ซื้อแล้วก็ต้องกันไว้ทุกทางเช่นมีข้อหนึ่งระบุไว้เลยว่าธุรกิจที่ ssc ขายให้ RCL แล้ว ssc จะไม่ทำขึ้นมาแข่งอีกต่อไป

สาม-ปัญหาเรื่องสถานที่อยู่ไกลเนื่องจากเจ้าของจริง ๆ อยู่ถึงออสเตรเลียซึ่งเขาให้ผู้จัดการชาวสิงคโปร์มาคุยกับเราคนที่มาต่อรองด้วยนั้นไม่มีอำนาจอยู่ในมือเป็นแค่คนมารับข่าวสาร เรื่องมันก็เลยล่าช้า

ในที่สุด RCL ได้เข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท RCL INVESTMENT ขึ้นเป็น HOLDING COMPANY โดยที่ RCL ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ใน RCL INVESTMENT และ RCL INVESTMENT เป็นผู้เข้าไปซื้อกลุ่มกิจการของ RCL 5 บริษัทซึ่ง ssc เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

สนนราคาที่ RCL ต้องจ่ายทั้งหมดเพื่อการซื้อสิ่งที่ RCL เรียกว่า GROUP OF COMPANIES ในครั้งนี้คือ 19 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย แต่สำหรับกลุ่มออสซี่ก็ได้กำไรไปไม่น้อยทีเดียวและเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้อีกด้วย สำหรับ RCL นั้นสิ่งที่ RCL จะได้เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายก็นับได้ว่าผู้บริหารของ RCL นั้นมีสายตายาวไกลไม่น้อยทีเดียว

แหล่งเงินทุนนั้นก้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอย่าง RCL จึงไม่ต้องแปลกใจที่ RCL ประกาศเพิ่มทุนอีก 14 ล้านบาท ซึ่งหลังจากขายหุ้นทั้งหมดแล้วก็จะได้เงินทั้งสิ้นประมาณ 364 ล้านบาท และในระหว่างที่ยังเรียกชำระได้ไม่หมดแต่บริษัทจะต้องชำระเงินแก่ ssc ธนสยามและไทยพาริชย์ก็เป็นแหล่งเงินกู้ระยะสั้นให้ไปก่อน เป็นอันตัดปัญหาเรื่องการเงินไปได้

กลุ่มบริษัทดังกล่าวนั้นทำกิจการเดินเรือเกือบจะครบวงจร กล่าวคือเป็นเจ้าของเรือ 4 ลำ คือ นันทภูมิ, ปิยภูมิ, กิตติภูมิและวีระภูมิ และมีเรือเช่าอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเอเยนต์ให้กับบริษัทเดินเรือทั่วโลก ตลอดจนสิทธิประโยชน์อีกมากมายในฐานะบริษัทของสิงคโปร์

กล่าวโดยสรุปแล้วสิ่งที่ RCL จะได้รับทันทีก็คือ

หนึ่ง-เส้นทางการเดินเรือซึ่งขยายครอบคลุมประเทศในเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดรวมทั้งอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย จากเดิมซึ่งมีเพียงสองเส้นทางเท่านั้น เป็นการขยายเส้นทางโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์และไม่ต้องสุ่มเสี่ยงเพราะฐานธุรกิจเดิมนั้นมีอยู่แล้ว

สอง-การได้ซึ่งความเชี่ยวชาญของการจัดการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทั้งในด้านเทคนิค การบริหาร การตลาด ตลอดจนการควบคุมเทคโนโลยีชั้นสูง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับงานด้านเอกสาร ด้านตารางเดินเรือ ด้านการจัดวางสินค้า และด้านข้อมูลสำหรับการบริหาร เป็นต้น

สาม-บริษัทได้รับสิทธิพิเศษในการใช้ท่าเรือจากการท่าเรือสิงคโปร์และท่าเรือกรุงเทพฯโดยได้รับสิทธิพิเศษ ในการเทียบท่าโดยไม่ต้องรอ และมีส่วนลดทางค่าใช้จ่ายด้วย และการที่บริษัทเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้รับสิทธิการเทียบท่าซึ่งทำให้บริษัทดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ

นอกจากนั้นแล้วกำไรจากการดำเนินงานของ GROUP OF COMPANIES จากเรือที่ชักธงสิงคโปร์ได้รับการยกเว้นภาษี และเงินปันผลของผู้ถือหุ้นก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน

จังหวะและโอกาสงาม ๆ อย่างนี้สำหรับบริษัทเรือไทยระดับกลาง ๆ อย่าง RCL หรือบริษัทอื่นก็ตามคงไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

และลำพังความคิดที่จะ GO INTERNATIONAL ด้วยฐานของตัวเองสำหรับบริษัทเรือไทยนั้นเป็นไปด้วยความยากยิ่งเพราะการส่งเสริมด้านพาณิชย์นาวีของรัฐบาลน้อยเต็มทีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ในปัจจุบันเรามีเรือเดินทะเลที่ทำการขนส่งของไทยอยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมด และการพัฒนากองเรือของเราเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอยางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปิ้นส์ล้วนแล้วแต่พัฒนารุดหน้าไปกว่าบ้านเรามากนัก มิพักต้องพูดถึงสิงคโปร์ที่นำหน้าเราไปไกลลิบโลกแล้ว

ในความเป็นจริงแล้วสิงคโปร์ยังคงความเป็นศูนย์กลางการเดินเรือของประเทศในแถบนี้ การที่ RCL สามารถบุกเข้าไปตั้งฐานที่มั่นได้นับเป็นการทำลายข้อจำกัดภายนอกที่ขัดขวางการ GO INTERNATIONAL ของ RCL ไปได้ระดับหนึ่ง ปัญหาคือสภาพภายในของ RCL พร้อมหรือไม่สำหรับขบวนทัพใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว

ห้าทศวรรษแรกของกลุ่มโงวฮกในปัจจุบันมีเพียงบริษัทเดียวคือโงวฮกจำกัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นเอเยนต์และเช่าเรือมาเพื่อทำการขนส่งสินค้า

ความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ จัง ๆ นั้นอาจกล่าวได้ว่าล้วนอยู่ในช่วงที่สุเมธเข้าบริหารคือ ช่วงประมาณ 10 ปีนี่เอง

สงขลาโงวฮกและสงขลาคอนเทนเนอร์ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 และ 2524 เพื่อทำการขนถ่ายสินค้าในภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีท่าเรือ จำต้องขนถ่ายกันกลางแม่น้ำซึ่งนับว่าโงวฮกเป็บริษัทแรกที่ลงไปบุกเบิกธุรกิจด้านนี้ในภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ตั้งบากอกเทอร์มินัล เซอร์วิส ขึ้นมาบริการขนถ่ายสินค้าที่ต้องการมาทางรถไฟสู่กรุงเทพฯ หรือส่งไปถึงมาเลเซียเลยก้ได้

ปี 2523 ก่อตั้งบริษัท RCL และเพื่อขยายบานการลงทุนให้ได้รวดเร็วขึ้น ผู้บริหารยุคสุเมธก็ตัดสินใจนำบริษัท RCL เข้าตลาดฯในปี 2531

ปี 2524 โงวฮกได้ตัดสินใจสร้างตึกขนาดใหญ่ 12 และ 15 ชั้นคู่กันบริเวณสาธรใต้ แต่เป็นตึกที่ไม่มีป้ายชื่อติดเหมือนอาคารพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป หลายคนยังเข้าใจว่าเป็นตึกของ CITIBANK ซึ่งติดป้ายตัวโตไว้ด้านหน้า ทั้ง ๆ ที่ธนาคารเพียงแต่เช่าที่บางส่วนของโงวฮกเท่านั้น นั่นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นอีกประการว่าโงวฮกนั้นเป็นกลุ่มที่ LOW PROFILE เพียงใด

ปัจจุบันบริษัทที่บริหารตึกทั้งสองนี่ก็คือบริษัทปัญจภูมิ ในยุคที่ราคาดินเป็นทองในปัจจุบัน ตึก 2 หลังบนเนื้อที่ 1,009 ตารางวา ปัจจุบันราคาประมาณ 2.5 แสนบาทต่อตารางวา ทรัพย์สินของบริษัทที่เป็นที่ดินก็ปาเข้าไป 200 กว่าล้านบาทแล้ว

ปี 2528 โงวฮกเอเยนซี ถือกำเนิดขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแทนโงวฮกเอเยนซี่กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุดในเครือคือประมาณ 140 คน

และเพื่อทำธุรกิจด้านการขนส่งทางเรือให้ครบวงจร และสนองนโยบายการแก้ปัญหาการแออัดอย่างหนักในท่าเรือคลองเตยโงวฮกจึงได้ตั้งอีก 2 บริษัทในปี 2532 กล่าวคือบริษัท ไทยพอสพอริตี้เทอมินัลและบริษัทสินธนโชติ

ไทยพอสพอริตี้ เทอมินัล โงวฮกร่วมทุนกับค้าสากลซิเมนต์ไทย ซึ่งเป้นบริษัทในเครือของปูนซิเมนต์ ร่วมทุนกัน 50:50 ท่านี้เรียกกันว่าท่าปูนฯ (ท่าเรือหมายเลข 10) อยู่ทีพระประแดง นั่นหมายความว่าสินค้าสามารถผ่านท่าปูนฯ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปผ่านท่าเรือคลองเตย นั่นหมายความว่าสินค้าสามารถผ่านท่าปูนฯโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปผ่านท่าเรือคลองเตย

สินธนโชติ เป็นบริษัทลูกของโงวฮกซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 เป็นสถานีตรวจและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้สร้างอยู่บนเนื้อที่กว่า 38 ไร่ อาคารคลังสินค้ามีพื้นที่บรรจุสินค้าได้กว่า 15,000 ตารางเมตรสามารถบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอรืเพื่อการส่งออกได้ปีละ 102,700 ทีอียูหรือ 1.3 ล้านตัน

CONTAINER FREIGHT STATION หรือที่เรียกกันสั้น ๆว่า CFS เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่มากสำหรับบ้านเรา สินธนโชติเปิดบริการเป็นบริษัทที่สี่

ความที่เป็นธุรกิจใหม่และสุเมธต้อการให้สินธนโชติดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานสากล จึงได้ว่าจ้างบริษัท P&O AUSTRALIA ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจด้านนี้ เป็นบริษัทที่มีกิจการเดินเรือ บริหารท่าเรือ และมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ทั่วโลก ให้เข้ามาจัดวางระบบเป็นเวลา 2 ปี

TREVOR HAGEN BRYANS ซึ่งเป็น MANAGING DIRECTOR INTERNATIONAL PORT MANAGEMENT SERVICES ของ P & O ซึ่งได้มาร่วมพิธีเปิดสินธนโชติด้วยนั้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า

" P & O นั้น ตั้งมากกว่า 150 ปี เป็นผู้บุกเบิกด้าน CONTAINER ตั้งแต่มีการเริ่มระบบนี้ในยุโรป แม้โงวฮกจะตั้งมากกว่า 60 ปี แต่ก็ไม่เคยทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนสุเมธตดต่อเราเพราะต้องการ INTERNATIONAL PRACTICE ดูแล้วมันอาจจะง่ายแค่ขนสินค้าเข้าตู้ แต่จริง ๆ แล้วมันซับซ้อนไม่น้อย ลูกค้าแต่ละรายสินค้าต่างกัน มีรายละเอียดมากมายในแง่ที่ตั้งของสินค้าจะมาถึงเมื่อไหร่ จะส่งมอบเมื่อไหร่ จะจัดพื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าที่เราตั้งไว้ ซึ่งการใช้ระบบ MANUAL มันล้าสมัยมาก เรานำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมการขนถ่ายสินค้าและการเคลื่อนย้ายตู้รวมทั้งระบบการจัดเอกสารเพื่อให้ทันตามกำหนดนัดหมายของเรือที่จะมารับสินค้า"

สุเมธกล่าวถึงแผนการที่จะจ้างกลุ่ม P&O ให้เข้ามาบริหารท่าปูนฯ ซึ่งขณะนี้ตกลงในหลักการเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นทางการเท่านั้น เพื่อสิ่งที่เรียกว่า "INTERNATIONAL PRACTICE"

ในขณะเดียวกัน RCL ก็ต้องเตรียมการที่จะเข้าไปบริหาร GROUP OF COMPANIES ในสิงคโปร์ ทั้งยังต้องจัดระบบการสื่อสารข้อมูลระหว่าง RCL ที่สิงคโปร์กับ RCL หรือโงวฮกที่กรุงเทพฯ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วมากสำรหับกลุ่มโงวฮกคำถามคือ ผู้บริหารเตรียมจัดระบบภายในและบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

โงวฮกนั้นมีข้อเด่นที่สุดตรงที่มีบุคลากรที่มี "ความชำนาญ" (SKILL) สูง แต่จุดอ่อนก็คือความล้าหลังของระบบการบริหารที่ยังเป็นแบบเก่า พนักงานส่วนใหญ่รวมทั้งผู้บริหารเป็นคนสูงอายุที่อยู่มานาน เพราะที่นี่ไม่มีกำหนดเกษียณอายุเรียกว่าจ้างกันจนตายไปคาโต๊ะทำงานเลยบริหารงานแบบช่วย ๆ กัน ยังไม่มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนไม่มี ORGANIZATION CHART ว่ากันว่าเวลาประชุมกรรมการของโงวฮกเอเยนซีนั้นระเบียบวาระการประชุมยังไม่มีเลย

แผนกบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเป็นสำหรับทุกองค์กรไม่เคยมีในกลุ่มโงวฮกผู้บริหารเพิ่งจะตั้งแผนกบุคคลขึ้นมาในโงวฮกเอเยนซีเมื่อประมาณ 4 เดือนก่อนโดยจ้าง ดร.กิตติ อริยพงศ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของบริษัท 3 M เข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่าย ซึ่ง ดร.กิตติก็ต้องมาจัดทำประวัติพนักงาน ทำ JOB DISCRIPTION เตรียมงานด้านฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งพยายามผลักดันเอาระบบการจัดการสมัยใหม่เข้ามา

สุเมธผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารของ RCL ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างทันสมัยและผู้บริหารของกลุ่มโงวฮกด้วยได้กล่าวถึงความจำเป็นของบริษัทที่ถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้วว่า

"เราพยายามที่จะปรับตัวเองจาก FAMILY BUSINESS ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกให้มากกว่าเก่า ทุกอย่างมันกำลังเหมาะเศรษฐกิจโตเร็วมาก บริษัทเราก็โตเร็วมากเช่นกัน ถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบจะลำบาก แต่จะเปลี่ยนได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากภายนอกภายในมันจะไปสมดุลกันที่จุดไหน ก็คงเปลี่ยนแปลงแค่นั้นภายในนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความพร้อม ความสามารถ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมี IRRITATION (ความหงุดหงิด) เป็นของธรรมดา เพราะการเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดช่องว่าง และต้องมีบางคนไม่พอใจเป็นของธรรมดา แต่ก็ต้องพยายามให้มันราบรื่นที่สุด"

23-24 กันยายน กลุ่มโงวฮกจัดสัมมนาบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรกที่ระยอง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ดร.กิตติพูดถึงการสัมมนาครั้งนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า

"เราบอกถึงปรัชญาของการเป็น PROFESSIONAL ว่าเขาเป็นกันอย่างไร การทำงานเป็นทีมสำคัญอย่างไร ต้องอาศัยปัจจัยอะไร เราพูดถึงกฎระเบียบข้อบังคับและการใช้เอกสารในการสื่อสารแทนการใช้วาจาเตรียมปรับค่าครองชีพ รวมทั้งพูดถึงการประเมินผลงานอย่างเป็นระบบ (APPRAISAL) มิใช่ปรับเงินเดือนตามความรู้สึกอีกต่อไปก็เป็นการให้เข้ารับรู้ทิศทางใหม่ของบริษัทที่จะเป็นระบบสากลยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นซึ่งจะเป็นจริงได้ในภาคปฏิบัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งผู้บริหารและพนักงาน ว่าจะเข้าใจถึงสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด อนาคตของบริษัทที่เริ่มจะ GO INTERNATIONAL นั้นจะไปได้ไกลเพียงใดคำตอบก็อยู่ที่ตรงนี้ด้วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us