|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*เปิดเบื้องหลังสัญญาอัปยศ ร.ฟ.ท.-โฮปเวลล์ เมื่อ 16 ปีก่อน
*ต้นเหตุเกิดอนุสาวรีย์ตอม่อย่านวิภาวดี ประจานรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณยันรัฐบาลชวน หลีกภัย
*ใครผิด-ใครถูก รอศาลปกครองชี้ชะตา
กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง และเงินค่าตอบแทน รวมทั้งเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน เป็นจำนวนกว่า 11,800 ล้านบาท ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังถูก ร.ฟ.ท.บอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครหรือโครงการโฮปเวลล์ในปี 2541 ซึ่งปัญหาดังกล่าวคล้ายคลึงกับค่าโง่ทางด่วนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเกือบจะต้องเสียให้กับเอกชนเมื่อหลายปีก่อน
ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งหาหลักฐานมาพิสูจน์ตามข้อกฎหมายว่าใครเป็นผู้ผิดสัญญา เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว ทั้งกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. อาจจะกลายเป็นหน่วยงานภาครัฐรายล่าสุดที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการเสียค่าโง่ให้กับเอกชนอีกครั้ง
เตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้าน
ยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้รายงานให้บอร์ดรับทราบรายละเอียดในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว โดยที่ประชุมเห็นว่าควรคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว เพราะขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเสนอรายละเอียดประเด็นในการคัดค้านไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทำเรื่องอุทธรณ์คัดค้านที่ศาลปกครองต่อไป โดยต้องทำเรื่องอุทธรณ์คัดค้านภายใน 90 วัน หลังได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 51
“ข้อพิพาทดังกล่าวคงไม่กระทบกับการตัดสินใจของผู้รับเหมาในการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 ก.ม.ที่จะใช้โครงสร้างเสาตอม่อในโครงการโฮปเวลล์ เพราะเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ ร.ฟ.ท. จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการก่อสร้าง และขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่า ร.ฟ.ท. จะต้องจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้บริษัทโฮปเวลล์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายจากการที่โครงการไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเช่นกัน” ยุทธนากล่าว
ชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ประธานกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้หารือร่วมกันและเห็นว่าต้องคัดค้านคำชี้ขาดดังกล่าว โดยฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายในการคัดค้านต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ร.ฟ.ท.ไม่ควรจะต้องจ่ายเงินให้ เพราะบริษัทโฮปเวลล์ไม่สามารถบริหารโครงการได้ตามสัญญา
ทั้งนี้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระบุว่า การที่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เพราะไม่อาจบอกเลิกสัญญาตามสัญญาสัมปทานข้อ 27 ได้ เพราะระยะเวลาที่จะดำเนินการตามสัญญาสัมปทานข้อ 27 ได้ผ่านพ้นไปแล้วถึง 3 ระยะนั้น คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้คู่สัญญาอีกฝ่ายเลิกจ้างได้ตามกฎหมาย และการกระทำนั้นไม่ใช่เหตุเลิกจ้างตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเท่านั้น เหตุเลิกจ้างแม้เป็นเหตุตามกฎหมาย ถ้าคู่สัญญาทำข้อตกลงกันไว้ให้อยู่ในบังคับเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย ข้ออ้างของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้
เป็นผลให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ร่วมกันคืนเงินให้บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,800 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี แบ่งเป็น 1.ค่าตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้ ร.ฟ.ท. จำนวน 2,850 ล้านบาท นับแต่วันที่ได้รับเงินในแต่งวด 2.ค่าก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000 ล้านบาท นับแต่วันชี้ขาด และ 3. เงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน คิดถึงวันเสนอข้อพิพาท จำนวน 38.74 ล้านบาท นับแต่วันที่บริษัทได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแต่ละงวดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และให้คืนหนังสือค้ำประกันให้บริษัทด้วย
ด้านสุพจน์ ทรัพย์ล้อม กรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. กล่าวว่าการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองภายในเดือนหน้า ในกรณีคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้มูลว่า ร.ฟ.ท.จะต้องเสียค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการกว่า 11,800 ล้านบาทให้กับบริษัท โฮปเวลล์นั้น ร.ฟ.ท.จะอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่อนุญาโตตุลาการตัดสินว่าเป็นการบอกเลิกโดยปริยายเลยคืนสู่สภาพนั้น ในความเป็นจริงเป็นเพราะบริษัทโฮปเวลล์ ดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่ได้ทำไว้ในสัญญา
“เห็นได้จากระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2541 นานรวมระยะเวลา 8 ปีนั้น เห็นผลงานเพียงแค่เสาตอม่อเท่านั้น นอกจากนี้ผู้รับเหมายังวางแผนการทำงานค่อนข้างผิดพลาด เพราะไปเริ่มก่อสร้างในบริเวณสถานีหัวลำโพงและมักกะสันก่อน ทำให้เข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงอ้างว่า ร.ฟ.ท.เวนคืนที่ดินให้ล่าช้า เป็นเหตุให้หยุดการก่อสร้างและละทิ้งงานตามมา ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะระบุในคำค้านดังกล่าว โดยจะเรียกร้องค่าเสียโอกาสจากการที่โครงการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเป็นเงิน 2 แสนล้านบาท”
นอกจากนี้บริษัทโฮปเวลล์ยังมีประวัติเบี้ยวเงินผู้รับเหมารายย่อยหลายราย ซึ่งสามารถกันบริษัทเหล่านั้นมาเป็นพยาน ได้ ส่วนประเด็นในข้อกฎหมายนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ อาจจะเสียรูปคดี อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น
สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.เร่งรวบรวมรายละเอียดโครงการโฮปเวลล์ทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นมา จนถึงสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญา ให้เสนอมาโดยเร็วที่สุด เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับฝ่ายกฎหมาย และหาแนวทางต่อสู้คดีต่อไป
ทั้งนี้โครงการโฮปเวลล์เป็นโครงการในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการผลักดันให้มีการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งสัญญามีผลบังคับในวันที่ 6 ธ.ค. 35 กำหนดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แต่โครงการดังกล่าวกลับยกเลิกสัญญาสัมปทานในสมัยสุเทพ เทือกสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 41 เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงานและก่อสร้างงานไม่ได้ตามแผน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศ รัฐบาล และ ร.ฟ.ท. มหาศาล เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง ถือว่าเป็นผลงานที่สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลชาติชายและรัฐบาลชวนเป็นอย่างมาก
|
|
|
|
|