Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2532
ดุลยเดช บุนนาค"ผมไม่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ทิพย์แล้ว"             
 


   
search resources

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
ทิพย์พัฒน อาเขต, บจก.
ดุลยเดช บุนนาค
Shopping Centers and Department store




พันธุ์ทิพย์พลาซา ศูนย์การค้าเจ้าปัญหาในวันนี้ตกเป็นสมบัติในมือของยอดนักซื้ออย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลือควันหลงประปรายให้พาดพิงไปถึงคนที่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยในกาลต่าง ๆ กัน

ดุลยเดช บุนนาค เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นที่แม้จะเลิกราจากพันธุ์ทิพย์ไปหลายปีแล้ว ก็ยังถูกจับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นไปของศูนย์การค้าแห่งนี้ในบทบาทที่เขาบอกว่า คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่

ดุลยเดชเข้าไปในพันธุ์ทิพย์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทไพบูลย์สมบัติ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารทรัพย์สินของตระกูลบุนนาคให้ออกดอกออกผล ไพบูลย์สมบัติ เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับบริษัททิพย์พัฒนอาเขตที่ ศรายุทธ อัศวไพบูลย์ เป็นเจ้าของโครงการในเวลานั้น

"ผมเข้าไปทำด้านการตลาด" เลือดเนื้อเชื้อไขชั้นที่สี่ของเจ้าพระยาพิชัยญาติพูดถึงบทบาทของตน

หลังจากพันธุ์ทิพย์พลาซา เปิดดำเนินการได้เพียง 5 - 6 เดือนก็ประสบปัญหาขาดเงินทุนที่จะทำกิจการต่อ เจ้าของโครงการเดิมมีความคิดว่า จะเลิกล้มรามือไป ทางไพบูลย์สมบัติก็เลยเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัททิพย์พัฒนอาเขต ด้วยเหตุผลที่ดุลยเดชบอกว่า "กลัวเขาจะทรุดลงไปมากกว่านี้ ก็เลยเข้าไปซื้อทั้ง ๆ ที่ถ้าเราไม่เข้าไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร"

ดุลยเดชในฐานะผุ้บริหารคนหนึ่งของไพบูลย์สมบัติก็เคยควบฐานะผู้บริหารของทิพย์พัฒนอาเขตเข้าไปอีกบทบาทหนึ่งด้วยลำดับความเป็นมาเช่นนี้ ด้วยฐานะของผู้บริหารคนหนึ่ง เมื่อมีการพูดถึงพันธุ์ทิพย์พลาซาคราใดจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีชื่อของเขาเข้าไปพัวพันอยู่ด้วย แต่หลาย ๆ ครั้งบทบาทนี้ถูกขยายเลยไปถึงการเป็นผู้ค้ำประกันฐานะทางการเงินของบริษัททิพย์พัฒนอาเขตต่อบรรดาเจ้าหนี้

"ผมไม่ได้เซ็นค้ำประกันใด ๆ ทั้งสิ้น" เป็นคำพูดที่ดุลยเดชขอประกาศให้รู้กันตรงนี้ และยืนยันให้ชัดเจนกันอีกว่า ณ วันนี้ ตัวเองปลอดจากพันธะและความสัมพันธ์ใด ๆ กับพันธุ์ทิพย์พลาซา "ผมลาออกเมื่อสี่ปีที่แล้ว"

สาเหตุที่จำต้องเลือกทางของตัวเองนั้นก็เพราะแผนการแก้ปัญหาที่เขาเสนอเข้าไปในขณะนั้น ไม่ได้รับการสนองตอบและดำเนินการอย่างจริงจังในจุดที่เป็นต้นตอของปัญหา ดังเช่นนโยบายแนวความคิดที่ต้องทบทวนกันใหม่หรือการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเขาเห็นว่าจะกอบกู้ฐานะของพันธุ์ทิพย์พลาซาขึ้นมาได้

"อยู่ที่ว่าทำกันจริง ๆ จัง ๆ หรือเปล่า การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องการไปทาสีตึกใหม่ หรือเปลี่ยนตัวคนบริหารซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น"

เส้นทางใหม่หลังจากโบกมืออำลาพันธุ์ทิพย์พลาซาของดุลยเดช คือ การทำธุรกิจของตัวเองด้วยความรู้ทางด้านบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และประสบการณ์ในบริษัทไพบูลย์สมบัติ ซึ่งทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ด้วยชักนำให้เขาเข้าไปสู่ธุรกิจที่เป็นกระแสนิยมของการลงทุนในบ้านเรา คือ ธุรกิจเรียลเอสเตทด้วยการก่อตั้งบริษัท นิว เรียลเอสเตท ขึ้นพัฒนาโครงการที่พักอาศัยราคาแพงสำหรับผู้มีอันจะกิน

ดุลยเดชปักหลักโครงการของตนอยู่ที่หัวหินเสียเป็นส่วนใหญ่ เริ่มกันจากโครงการบ้านเฉลียงลมซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศจำนวน 30 ยูนิต ในวงเงินลงทุน 150 ล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียมบ้านชมวิวจำนวน 53 ยูนิต มูลค่าเท่า ๆ กับโครงการแรก และที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง คือ โครงการบ้านทิวคลื่น ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมเช่นกันจำนวน 64 ยูนิต

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีนี้มา วงการธุรกิจและสถาบันการเงินจะเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตของธุรกิจคอนโดมิเนียมว่า จะสดใสเหมือนที่เคยวาดภาพกันเอาไว้แต่ก่อนหรือไม่ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของซัพพลายเป็นจำนวนมาก จนเกรงกันไปว่า กำลังซื้อจะไม่เพียงพอ แต่ดุลยเดชเป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นสวนทางกับข้อสังเกตนี้ เขายังเชื่อว่า กรุงเทพฯ กำลังขยายตัวเติบโตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบ แนวความคิดใหม่เน้นความสะดวกสบายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

"อยู่ที่ว่าเราทำโครงการออกมาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราหรือไม่" นี่เป็นจุดสำคัญที่เขาเชื่อว่า เป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละโครงการอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการที่หัวหินซึ่งขายไปได้เกือบหมดแล้วในทุกโครงการ คงจะเป็นสิ่งสนับสนุนความมั่นใจเช่นนี้ ดุลยเดชยืนยันความเชื่อมั่นด้วยแผนการลงทุนใหม่กับโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 200 ล้านใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้างปลายปีนี้ และอีกสองโครงการ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการวางแผนขั้นสุดท้าย

พันธุ์ทิพย์พลาซาในวันนี้ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน แม้จะหาคำตอบสำหรับหนทางข้างหน้าของตัวเองได้ชัดขึ้น ในขณะที่ผู้ตัดสินใจแยกทางออกมาก่อนกำลังเดินหน้าไปบนเส้นทางใหม่อย่างราบรื่น วันนี้ของดุลยเดชเป็นผลของการตัดสินใจเมื่อสี่ปีที่แล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us