|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บลจ.เอ็มเอฟซี จับจังหวะตลาดหุ้นโลกนิ่ง ขยับน้ำหนักลงทุนกองเอฟไอเอฟเป็น 55% จากสัดส่วนเดิมที่ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 30-35% ระบุไม่ใช่การปรับพอร์ตถาวร หากเห็นโอกาสทำกำไร ก็ขายออกมาก่อน เน้นประคองผลตอบแทนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ชี้เศรษฐกิจโลก เป็นตัวแปรสำคัญ จะกลับเข้าไปลงทุนได้เต็มพอร์ตอีกครั้งเมื่อไหร่ ประเมินไตรมาส 2 ของปีหน้า ได้เห็นกองทุนเอฟไอเอฟกองใหม่ แต่ยังต้องลุ้นว่าจะลงทุนแบบไหน หากตลาดหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงคอมมอดิตียังไม่ฟื้น
นายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศของกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30-35% นั้น ล่าสุด ขณะนี้ ได้เพิ่มน้ำหนักลงทุนกลับเข้าไปอีกครั้งเป็น 55% เนื่องจากช่วงระยะสั้นที่ผ่านมา หลายตลาดเริ่มนิ่ง และการที่ราคาหุ้นปรับลดลงไปค่อนข้างเยอะ จึงเป็นเหมาะกับจังหวะที่เราจะเข้าไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งนอกจากการกลับเข้าไปลงทุนดังกล่าวแล้ว กองทุนจะบริหารพอร์ตควบคู่ไปด้วย โดยหากดัชนีหุ้นปรับขึ้นมา กองทุนก็จะขายทำกำไรออกมาบ้าง
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงได้อีกหลังจากนี้ ตามสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากดัชนีหุ้นปรับขึ้นแบบรวดเร็ว เราคงจะไม่ตาม เพราะเราไม่คิดว่าราคาหุ้นจะวิ่งกลับไปที่ระดับเดิมในเร็ววันนี้ ในทางกลับกัน ตลาดยังมีโอกาสผันผวนต่อไปอีก และอาจแกว่งตัวลงไปได้อีก เพราะขณะนี้สภาพเศรษฐกิจโลกไม่ดีหมด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่
"ในช่วงนี้ตลาดยังมีความเสี่ยงเยอะพอสมควร ถึงแม้เราจะขยับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 55% แต่เราก็ยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ซึ่งการเพิ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนแบบถาวร โดยเราจะดูว่าจังหวะไหนควรจะลดถือต่อไป หรือจังหวะไหนที่เราควรจะลดสัดส่วนลง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรที่เรามั่นใจ"นายศุภกรกล่าว
ส่วนจะกลับเข้าไปลงทุนได้เมื่อไหร่นั้น นายศุภกรกล่าวว่า การกลับเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ มองว่าเศรษฐกิจโลกเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบนี้ เป็นภาพของเศรษฐกิจจริง ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่เป็นวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ก่อนจะก้าวข้ามไปสู่วิกฤตสถาบันการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสินทรัพย์ประเภทใดน่าลงทุนมากที่สุด เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี) ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์นั้น ราคาน้ำมันก็ยังสูงอยู่ แต่พอเกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย น้ำมันก็ลดลงทันที ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงสินค้าคอมมอดิตีหลายตัวปรับลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนต่างประเทศ เรามีเป้าหมายในการประคองผลตอบแทนของกองทุนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนของกองทุนติดลบหรือติดลบน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน หากสามารถทำกำไรในช่วงระยะสั้นได้ ก็จะพยายามทำไปก่อน เพราะมุมมองในระยะยาว เรามองว่าการลงทุนในหุ้นถือว่าน่ากลัวอยู่ ดังนั้น เราคงไม่เพิ่มสัดส่วนในจำนวนที่มากเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากนี้ ก็อาจจะมีการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศลงบ้าง
นายศุภกรกล่าวว่า ในมุมมองของเรา เชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกถดถอยจะยาวไปถึงไตรมาส 3 ของปีหน้า ซึ่งหลังจากนั้น จะเห็นความชัดเจนว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวได้หรือไม่ โดยเฉพาะจากนโยบายเศรษฐกิจของนายบารัค โอบามา ประธานาธบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะมีมาตรการใดเข้ามาบ้าง ซึ่งการที่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้จริงนั้น จะต้องมาจากการกระตุ้นการบริโภคในประเทศรวมถึงนโยบายด้านการลงทุน ซึ่งต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การลงทุนดังกล่าว จะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศยังมีแนวโน้มเหมือนกับไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า เพราะนักลงทุนยังกลัวความเสี่ยงทำให้ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน ซึ่งกองทุนใหม่น่าจะได้เห็นอีกครั้งประมาณไตรมาส 2 ของปีหน้า หรือจนกว่าจะมองเห็นโอกาสที่ต่างจากกองทุนที่มีมีอยู่เดิม ก็อาจจะมีกองทุนใหม่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนั้นแล้วก็ยังมองไม่ออกว่าอะไรจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจและลงทุนได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน ถ้าการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงคอมมอดิตียังไม่ฟื้น ซึ่งกองทุนที่จะออกมานั้น คงต้องเน้นการลงทุนที่มีกระแสเงินสดและมีความมั่นคงให้กับนักลงทุนเป็นหลัก
|
|
|
|
|