แบงก์กรุงศรีอยุธยา ยกเครื่องครั้งใหญ่ ตั้งงบประมาณ 3 พันล้านบาท ปรับปรุงโครงสร้างสาขา
ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการให้บริการ เพื่อสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาสำเร็จแล้วในปีนี้
ระบุแผนต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ต้นปีหน้า หวังปรับแบงก์โฉมใหม่ ให้บริการลูกค้าดีขึ้น
ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ตั้งเป้า มีสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมด ด้านสาขารีเอ็นจีเนียริ่งใหม่แบ่งเป็น
2สายงาน ด้านปฏิบัติการ และ ด้านพัฒนาธุกิจ
นายจำลอง อติกุล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
ธนาคารมีแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างธนาคารทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
การให้บริการ รวมทั้งรองรับการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิช์
ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ
3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นปีละ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากแผนการลงทุนปรับปรุงด้านระบบเทคโนโลยีทั้งหมด
ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 และจะสิ้นสุดโครงการภายในปี 2546 นี้ โดยการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีได้ใช้งบรวมทั้ง
3 ปี ประมาณ 2,400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้รวม
3,000 ล้านบาท
"โครงการใหม่นี้จะเป็นการปรับปรุงทุกๆ ด้าน เช่นสาขา ระบบการทำงาน ผลิตภัณฑ์ของแบงก์ที่จะต้องปรับปรุง
หรือเสริมขึ้นมาใหม่ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่ของแบงก์ที่จะให้บริการที่ดีขึ้น
สะดวกรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ปรับปรุงขั้นพื้นฐาน เสร็จเรียบร้อยแล้วที่ได้มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยสนับสนุนธุรกิจของแบงก์ได้อย่างเต็มที่"
กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว
หลังจากโครงการปรับปรุงสำเร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่
ตามทำเลที่ตั้ง เปลี่ยนป้ายสาขา เอทีเอ็มที่จะเป็นสีที่สดใส เป็นที่สนใจของลูกค้าทุกๆ
กลุ่ม เป็นการสอดคล้องกับการให้บริการรูปแบบใหม่ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันจะส่งผลให้ธนาคารมีการให้บริการที่ทันสมัย
ครบวงจร รวดเร็ว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เป็นการเสริมรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารให้เพิ่มขึ้น
จากเป้าหมายของธนาคารจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด
โดยขณะนี้มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 22% และสิ้นปี 2546 นี้ จะเพิ่มสัดส่วนเป็น
30%
ด้านนายพงศ์พินิต เดชะคุปต์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า
ธนาคารมีแผนการปรับปรุงสาขา เริ่มจากการเปลี่ยนป้ายสาขาให้เป็นสีที่สดใส เป้าหมายปีนี้จะเปลี่ยนประมาณ
180 สาขา และในปีหน้าก็จะเปลี่ยนให้ครบทุกสาขา นอกจากนี้ ยังมีแผน ที่จะรีเอ็นจีเนียริ่งสาขาทั้งหมดให้สอดคล้องกับระบบเทคโนโลยีที่หลักการปรับปรุงสาขาจะเป็นไปตามทำเลที่ตั้ง
เช่น สาขาสุขุมวิท 33 ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้ปรับโฉมใหม่ ธนาคารก็มีโครงการปรับปรุงให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารจะให้สาขาสยามสแควร์ เป็นสาขารูปแบบใหม่ที่จะเป็นสาขาต้นแบบของทุกๆ
สาขา ซึ่งอาจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อให้เหมาะสมตามทำเลในแต่ละสาขา รวมทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสาขาใหม่
โดยสาขาจะแบ่งออก เป็น 2 ส่วนคือ 1.ด้านปฏิบัติ ดูแลลูกค้า หารายได้ พัฒนาธุรกรรม
ซึ่งจะเป็นสายงานที่ดูแลลูกค้าที่เดินทางมาใช้บริการในสาขาของธนาคาร ที่จะต้องเพิ่มความสะดวก
รวดเร็ว เป็นที่ประทับใจของลูกค้า และ 2. ด้านพัฒนาธุรกิจหาลูกค้า จะเป็นสายงานที่เดินไปหาลูกค้าในนอกสถานที่
เพื่อเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มฐานลูกค้าในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
สำหรับสาเหตุที่แบงก์ต้องปรับปรุงสาขา เนื่องจากธนาคารมองว่าสาขามีบทบาทที่สำคัญใน
การสร้างเครือข่าย สร้างรายได้การขายผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า เพิ่มลูกค้าใหม่ที่ปัจจุบันลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น
ทั้งแบงก์พาณิชย์และไม่ใช่แบงก์พาณิชย์
ล่าสุด ธนาคารได้เพิ่มช่องทางหารายได้และ เพิ่มธุรกรรมใหม่ให้กับสาขาคือ Bancassurance
หรือดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต ด้วยการจับมือกับริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี
ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตที่เชี่ยวชาญในระดับสากล ในช่วงแรกเปิดให้บริการ
ในสาขากรุงเทพและปริมณฑลถึง 168 สาขา และในไตรมาส 2 ของปี 2547 จะสามารถให้บริการ
ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
โดยธุรกรรม Bancassurance ธนาคารมีกรมธรรม์ให้ลูกค้าใช้บริการได้ถึง 7 รูปแบบตาม
ความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้า ธนาคารได้เตรียมความพร้อมในการด้านบุคคลากรให้มีประสิทธิภาพและเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการออมการลงทุน
โดยจัดฝึกอบรมพนักงานพร้อมผ่านการสอบและได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตแล้วถึง
280 คน และสิ้นปี 2546 จะได้รับอนุญาตเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 450 คนทั่วประเทศ