กลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล ยึดที่มั่นใจกลางราชประสงค์ หลังชื่อหายไปจากธุรกิจโรงแรมในไทยนานปีเศษ
มั่นใจรับมือสองโรงแรมน้องใหม่ที่จะเกิดในเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซา และสยามพารากอนได้
ขณะที่กลุ่ม ไฮแอท เตรียมขยายพื้นที่จัดเลี้ยงสัมมนาปิดจุดอ่อน และรับมือคู่แข่งอย่างอินเตอร์คอนติเนนตัล
กรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่รองรับได้มากกว่า
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงแรม 5 ดาวย่านใจกลางราชประสงค์ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน"
ถึงการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมย่านราชประสงค์ว่า จะมีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล
เข้ามาบริหารสองโรงแรมของบริษัท เพรสิเด้นท์ โฮเต็ล และทาวเวอร์ จำกัด คือ โรงแรมรอยัล
เมอริเดียน ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว และโรงแรมเมอริเดียน เพรสิเด้นท์ ระดับ 4
ดาว ในปีนี้ และการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นอีก เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เข้ามาบริหารโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
เดิมและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซา ซึ่งจะมีโรงแรมระดับ 5 ดาวในโครงการดังกล่าวด้วย
ขณะที่กลุ่มสยามพารากอน ก็มีโครงการจะขึ้นโรงแรมระดับ 6 ดาว ในปี 2548 เช่นเดียวกัน
สำหรับการแข่งขันในปัจจุบันพบว่า หลังจากที่อินเตอร์คอนฯ หมดสัญญาการบริหารโรงแรม
สยาม อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ เมื่อกลางปี 2545 เป็นต้นมาชื่ออินเตอร์คอนติเนนตัลได้หายไปจากตลาดเมืองไทยนานปีเศษ
ซึ่งการกลับมาเข้าอีกครั้ง กับสองโรงแรมของกลุ่มเพรสิเด้นท์ ย่อมต้องอาศัยเครือข่ายและการตลาดที่แข็งแกร่ง
แต่ด้วยชื่อเสียง มาตรฐานบริการ และกลุ่มลูกค้าที่มีแบรนด์ ลอยัลตี้สูง ทำให้เป็นจุดแข็งที่จะนำมาใช้ในการรุกธุรกิจโรงแรมในครั้งนี้
ขณะที่กลุ่มไฮแอท ซึ่งบริหารโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ก็ถือโอกาสปรับตัว โดยมีกระแสข่าวมาว่า
กลุ่มไฮแอท ได้เตรียมขยายพื้นที่ห้องจัดเลี้ยง ประชุม สัมมนา เพื่อจับกลุ่มตลาดประชุมสัมมนา
ที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะขยายพื้นที่เข้าไปยังเอราวัณ โซโก้ (เดิม) ซึ่งเป็น
พื้นที่ของกลุ่มอัมรินทร์ พลาซา ที่ปัจจุบันได้ปิดปรับปรุงหลังจากหมดสัญญาการใช้ชื่อโซโก้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตามองกันว่า การประกาศจะขึ้นโรงแรมระดับ 6 ดาวนั้น จะมีความ
โดดเด่นกว่า โรงแรมระดับ 5 ดาวที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ เช่น อินเตอร์คอนติเนนตัล
กรุงเทพฯ, ไฮแอท เอราวัณ หรือ รีเจนท์ ได้อย่างไร
"เชื่อว่าในด้านมาตรฐานโรงแรม บริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงแรมคงไม่ต่างไปจากโรงแรมที่มีอยู่ขณะนี้มากนัก
แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเชนที่จะเข้ามาบริหารโรงแรมในพารากอนว่ามีเครือข่ายมากพอหรือไม่
เพราะถ้าเครือข่ายไม่แข็งแกร่งไปกว่ากลุ่มอินเตอร์คอนฯ ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการดึงแขกที่เข้ามาพักมากนักและการแข่งขันคงไม่น่ากลัวมาก"แหล่งข่าวกล่าวและว่า
สำหรับโรงแรมในโครงการเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซานั้นหากพิจารณาในขณะนี้จะเห็นว่า
กลุ่มเซ็นทรัลใช้เชนโซฟิเทล บริหารโรงแรมในเครือ ซึ่งหากให้กลุ่มโซฟิเทล เข้ามาบริหารโรงแรมที่เซ็นทรัลเวิลด์อีก
เซ็นทรัลจะสร้างความแตกต่างจากโซฟิเทล เซ็นทรัล ลาดพร้าวได้อย่างไร หากไม่แตกต่างกันมาก
ก็อาจแย่งลูกค้ากันเองได้
อินเตอร์คอนฯแยกสองโรงแรมจับคนละตลาด
ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มโรงแรม อินเตอร์ คอนติเนนตัล โรงแรมรอยัล เมอริเดียน
ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2546
ขณะที่โรงแรมเมอริเดียน เพรสิเด้นท์ จะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมเพรสิเด้นท์ จากนี้ต่อไปก่อนจนถึงเดือนมกราคม
2547 จากนั้นจะปิดโรงแรมเพื่อปรับปรุงเป็นเวลา 10 เดือน ด้วยงบประมาณ 500 ล้าน
บาท และจะเปิดให้บริการใหม่ ในเดือนตุลาคม 2547 ในชื่อใหม่คือ ฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ
โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ และโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ จะเน้นบริการ
2 รูปแบบ ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้มาแต่เดิม โดยโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล
กรุงเทพฯ วางตำแหน่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ส่วนฮอลิเดย์ อินน์ เป็นโรงแรมระดับ
4 ดาว ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานในเครือกลุ่มโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล ซึ่งมีเครือข่ายโรงแรมกว่า
3,300 แห่งทั่วโลก และมีห้องพักรวมกันมากกว่า 5 แสนห้อง
นายเอ.แพทริค อิมบาร์เดลลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล
เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่าการเปลี่ยนโฉมสู่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
จะใช้เวลาต่อจากนี้อีก 6 เดือน ด้วยการปรับปรุงล็อบบี้ และห้องอาหาร เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของอินเตอร์คอนติเนนตัล
และสร้างบริการพิเศษที่เรียกว่า ไอคอน โปรแกรม (ICON Program) ได้แก่ บริการด้วยความฉับไว
ซึ่งคำร้องขอของลูกค้าจะได้รับการตอบสนองทันที เพื่อให้ผู้พักไม่ขาดการติดต่อทั้งด้านธุรกิจและครอบครัว
ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ทันสมัย และลูกค้าจะได้รับบริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร
ศูนย์ออกกำลังกาย(ไม่รวมสปา) บิสซิเนสเซ็นเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่มบริการอินเทอร์เน็ตให้ครบทุกห้อง
พักด้วย
อาศัย "ไพรออริตี้ คลับ รีวอร์ด" ดึงลูกค้า
สำหรับการเปิดตัวโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัลกรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะช่วยให้นักเดินทางจากทั่วโลก
โดยเฉพาะสมาชิกโครงการ "ไพรออริตี้ คลับ รีวอร์ด" อีก 15 ล้านคน มีโอกาสเข้าพักในโรงแรมแห่งนี้
และยังมีสมาชิกในโครงการซิก อินเตอร์คอนติเนนต์ คลับ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงมาก
เข้ามาใช้บริการด้วย โดยตั้งแต่ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการเข้ามา บริหารของกลุ่มอินเตอร์คอนฯ
พบว่า มีลูกค้าที่ถือบัตร ซิกคอนติเนนต์ คลับ เข้ามาใช้บริการแล้วถึง 3 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงโดยไม่สนใจเรื่องราคา
การบริหารงานในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ารายรับของโรงแรมปรับตัวเพิ่มขึ้น
อันเป็นผลมาจากการปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยห้องพักรอยัล สวีต ซึ่งเป็นห้องพักราคาแพงที่สุดมีอัตรา
1,700 เหรียญสหรัฐต่อคืน หรือประมาณ 73,000 บาทเศษ ส่วนห้องแบบมาตรฐาน หรือดีลักซ์
ราคา 240 เหรียญสหรัฐหรือ 10,000 บาทเศษ ซึ่งในช่วงนี้จนถึง 21 ก.ย. 2546 โรงแรมจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับห้องดีลักซ์
ราคา 140 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000 บาท พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ที่ ส่วนอัตราการเข้าพักในขณะนี้ยังไม่มีอัตราเพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม