นักวิเคราะห์เชื่อผลการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินระหว่างทีพีไอโพลีนและเจ้าหนี้ 13
ส.ค. นี้ อาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เหตุท่าทีของเจ้าหนี้พอใจกับแผนเพิ่มทุนและการชำระหนี้ของ
SCCC มากกว่า อีกทั้งศาลล้มละลายกลางได้ส่งสัญญาณ ให้รู้ว่าผลสรุปของการเจรจา จะมีความคืบหน้าไม่มากนัก
เนื่องจากศาลได้ระบุว่าการเจรจาตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องเจรจาร่วมกันประมาณ
6-7 ครั้ง จึงจะสำเร็จ
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน ให้ความเห็นหากมีการแฮร์คัตหนี้ 30% ของ
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ซึ่งมีมูลหนี้ประมาณ US$1,130 ล้าน
(หนี้เงินต้นประมาณ US$975 ล้าน และดอกเบี้ยค้างชำระประมาณ US$155 ล้าน) หรือราว
47,460 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 42 บาท/US$ จะทำให้ TPIPL มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ
US$292.5 ล้านหรือราว 12,285 ล้านบาท และจากที่ KTB ได้ระบุว่าฐานะปัจจุบันของ
TPIPL สามารถรองรับภาระหนี้ได้ประมาณ US$500 ล้าน ดังนั้น หนี้อีกประมาณ US$837.5
ล้านจะถูกชำระโดยการที่ TPIPL จะขายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LDPE/EVA (กำลังผลิต
80,000 ตัน/ปี) ของ TPIPL เพื่อแลกกับหุ้น TPIPL จำนวน 249,007,294 หุ้นหรือ 49.07%
ที่ TPI ถืออยู่ ซึ่งต้องมีการประเมินราคาโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LDPE/EVA ก่อนว่าควรมีมูลค่าเท่าใด
แต่หากพิจารณาจากการที่ TPIPL ขอแฮร์คัต 30% ของเงินต้น นั่นคือ เมื่อนำมูลหนี้
US$ 1,130 ล้านหักด้วยแฮร์คัตและหนี้ที่เหลือที่ KTB จะปล่อยกู้ US$500 ล้าน จะได้ราคาขายของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก
LDPE/EVA ที่ประมาณ US$337.5 ล้านหรือประมาณ 14,175 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแลกกันระหว่างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก LDPE/EVA และหุ้น
TPIPL ในมือของ TPI ยังคงอยู่ในช่วงการเจรจาระหว่าง KTB และ TPIPL
ส่วนประเด็นที่ TPIPL จะเพิ่มทุนไม่เกิน US$200 ล้านหรือประมาณ 8.4 พันล้านบาท
ณ อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 42 บาท/US$ พร้อมกับที่ ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าจะมีการนำสำรองตามกฎหมายมาล้างขาดทุนสะสมออกไปส่วนหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้ BV หลังเพิ่มทุนและล้างขาดทุนสะสมบางส่วนอยู่ที่ประมาณ 30.17 บาท/หุ้นอย่างไรก็ตาม
ผลการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินระหว่าง TPIPL และเจ้าหนี้ในวันที่ 13 ส.ค. นี้อาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
เนื่องจาก
1) ท่าทีของเจ้าหนี้ที่พอใจกับแผนเพิ่มทุนและการชำระหนี้ให้ TPIPL ของ SCCC ที่ระบุว่าเจ้าหนี้จะใช้เงื่อนไขการขอร่วมทุนของ
SCCC เป็นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งเงื่อนไขใหม่ควรดีกว่าเงื่อนไขที่ SCCC เสนอมาในครั้งแรก
เช่น เงื่อนไขการขอซื้อหนี้ในส่วนลดนั้น SCCC ได้เสนอว่าจะขอแฮร์คัตเฉพาะดอกเบี้ยค้างจ่าย
30% เท่านั้น และหลังร่วมทุนแล้วจะทยอยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้โดยไม่มีการตัดหนี้
2) ศาลล้มละลายกลางได้ Imply ให้รับรู้ว่าผลสรุปของการเจรจาในวันที่ 13 ส.ค.
2546 นี้จะมีความคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากศาลได้ระบุว่าการเจรจาตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องเจรจาร่วมกันประมาณ
6-7 ครั้ง จึงจะสำเร็จ และหากต้องมีการเจรจากัน 6-7 ครั้ง ผลสรุปของการเจรจาครั้งสุดท้ายน่าจะออกมาในช่วงเดียวกับที่แผนฟื้นฟูใหม่ของ
TPI แล้วเสร็จอย่างไม่เป็นทางการพอดี
ฝ่ายวิจัยคาดว่าแผนฟื้นฟูใหม่ของ TPI น่าจะออกมาไม่เกินกลางเดือน ต.ค. 2546 นี้
ต่อจากนั้น ผู้บริหารแผนจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูใหม่ให้เจ้าหนี้ TPI ลงมติโหวตว่าจะรับแผนใหม่หรือไม่
ซึ่งคาดว่าเจ้าหนี้ TPI จะใช้เวลาพิจารณาและลงมติรับแผนภายในไม่เกินสิ้นเดือน ต.ค.
2546 นี้ (ในกรณีที่เจ้าหนี้เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูใหม่ แต่หากเจ้าหนี้ และ/หรือ
ลูกหนี้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟู อาจต้องใช้เวลานานกว่านี้) จากนั้นผู้บริหารแผนเจ้าหนี้
และลูกหนี้จะต้องเสนอแผนฟื้นฟูเพื่อขออนุมัติจากศาลล้มละลายกลาง ซึ่งเชื่อว่าศาลล้มละลายกลางจะสามารถมีคำสั่งอนุมัติแผนฟื้นฟูใหม่ได้ภายในไม่เกิน
1 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารแผนสามารถนำแผนฟื้นฟูใหม่ไปปฏิบัติได้จริงนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุมัติ
ดังนั้น จึงคาดว่าหากไม่มีอุปสรรคใดที่สำคัญ แผนฟื้นฟูใหม่ของ TPI จะออกมาอย่างเป็นทางการในราวไม่เกินกลางเดือน
พ.ย. 2546 นี้
ดังนั้น จึงต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาไกล่เกลี่ยในวันที่ 13 ส.ค. นี้ระหว่างเจ้าหนี้และ
TPIPL ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหา TPIPL ที่ได้มีภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไข (โดยมาในนามของ
KTB) ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าได้แม้จะมีการยืดเยื้อเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น
เราจึงยังคงแนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" สำหรับ TPIPL