|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คลังได้ฤกษ์เซ็นค้ำเงินกู้ ธ.ก.ส. งวดแรก 2 หมื่นล้านบาทจ่ายเงินเกษตรกรโครงการรับจำนำข้าว สัญญาเงินกู้ 1 ปีครึ่ง ดอกเบี้ย 4.95% ระบุหากโครงการเสียหายจะต้องใช้เงินงบประมาณอุดหนุน เผยยอดรับจำนำข้าว ขาดดุลกลางปีดันยอดหนี้สาธารณะเป็น 38% จี้ธปท.สางหนี้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มความยืดหยุ่นหน่วยงานอื่นกู้เงินได้บ้างหลังพบงบชำระหนี้ใช้จ่ายแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทางธ.ก.ส.จะเบิกจ่ายเงินงวดแรก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่เริ่มรับจำนำไปแล้วตั้งแต่ 1 พ.ย.2551
ทั้งนี้ สัญญาเงินกู้มีระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 4.95% ตลอดอายุสัญญา โดยธ.ก.ส.จะเบิกจ่ายเงินตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลได้ให้นโยบายเร่งระบายขายข้าว เพื่อนำเงินมาใช้เงินกู้ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า การกู้เงินมีความโปร่งใส เนื่องจากมีการบันทึกเป็นหนี้สาธารณะทันที โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท หากมีการเบิกจ่ายเงิน 2 หมื่นล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และหากโครงการรับจำนำมีความเสียหายไม่สามารถขายข้าวมาใช้เงินกู้ได้ทั้งหมด ก็จะต้องขอเงินงบประมาณมาใช้แทน หรือใช้วิธีการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธ.ก.ส. ในฐานะรักษาการผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า การลงนามสัญญากู้เงินทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าโครงการดำเนินการได้ หลังจากที่มีการรับจำนำมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2551 แต่ยังไม่มีการโอนเงิน นอกจากนี้ ในแง่ของการตลาดจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น
โดยแผนเดิมจะมีการเบิกเงินกู้ในเดือนพ.ย. 2551 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท และเดือนต่อไปเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ต้องมีการปรับเพราะได้เงินกู้ช้า ดังนั้น เดือนพ.ย.นี้ จึงเบิกเงินเพียง 2 หมื่นล้าน และเดือนธ.ค. เบิก 3.6 หมื่นล้านบาท และเดือนต่อไปเฉลี่ยเดือนละ 1-2 หมื่นล้านบาท สำหรับการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 4.3 ล้านบาท จะต้องนำเงินมาใช้คืน ธ.ก.ส. ส่วนข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 จะต้องนำมาใช้หนี้ใหม่ โดยจะมีการแยกบัญชีอย่างชัดเจนว่าขายส่วนใดไปบ้างแล้ว
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย.51 มีจำนวน 3,408,231 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.22% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2.1 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 9.8 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.3 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะเพิ่ม 46,470 ล้านบาท โดยหนี้รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่ม 11,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่ม 11,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่ม 4,951 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่ม 1,304 ล้านบาท
ทั้งนี้แม้หนี้ปัจจุบันจะอยู่ที่ 36.22%ต่อจีดีพี อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกรอบวินัยทางการคลังที่สามารถเพิ่มหนี้ได้ถึง 50% ต่อจีดีพี แต่จากแผนก่อหนี้ปี 52 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท ยังมีหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 6 แสนล้านบาท ทั้งจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ งบขาดดุลกลางปีและโครงการรับจำนำข้าว จะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะในปีหน้าพุ่งขึ้นไปที่ 38%ต่อจีดีพี หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท แต่ในการตั้งงบชำระหนี้รัฐบาลจัดสรรไว้เพียง 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณ 11% จากกรอบวินัยการคลังที่ไม่ควรเกิน 15% โดยแบ่งเป็นภาระจ่ายดอกเบี้ยถึง 1.2 แสนล้านบาท และชำระต้นเงินกู้ได้เพียง 6 หมื่นล้านบาท แต่ในปีหน้าภาระหนี้ใกล้เคียงเพดานที่ 15% แล้วดังนั้นรัฐบาลจึงควรระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่มในปี 52 โดยเฉพาะไม่ควรเพิ่มการขาดดุลอีก เนื่องจากปีหน้าจะมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาระหนี้หลายประการ ทั้งจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ ค่าเงินเยนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาททำให้ยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้น และการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงการคลังได้มีนโยบายหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯชำระต้นเงินกู้จากที่มียอดรวมทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาทบ้าง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะให้หน่วยงานอื่นสามารถกู้เงินเพิ่มได้บ้าง อีกทั้งอาจต้องทบทวนกรอบวินัยทางการคลังที่ให้ก่อหนี้ได้ 50%ต่อจีดีพี ซึ่งจากหนี้ที่มีอยู่ปัจจุบันสามารถเพิ่มหนี้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เหมาะสมกับยอดหนี้ที่แท้จริง เพราะงบชำระหนี้แต่ละปีน้อยมากและส่วนมากก็ต้องนำไปชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จึงต้องดูว่าในต้นปี 52 รัฐบาลจะจัดสรรงบชำระหนี้เพิ่มให้อีกได้หรือไม่"นายพงษ์ภาณุกล่าว
อย่างไรก็ตาม การลดภาระหนี้ส่วนหนึ่งจะทำได้จากรัฐบาลต้องเร่งขายข้าวจากโครงการับจำนำ เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณมากเกินไป รวมถึงสบน.ได้วางแผนทยอยแปลงหนี้เงินเยนเป็นเงินบาทเพราะปัจจุบันหนี้ต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท เป็นหนี้เงินเยนสูงถึง 80%
|
|
|
|
|