การประชุมรัฐมนตรีเอเปก SME วันแรก สีสันอยู่ที่งานแสดงสินค้าสุดยอด OTOP ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมระดับนานาชาติ
นายกรัฐมนตรีเป็นพยานลงนาม กับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศ 3 ราย เปิดศักราชส่งสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลกอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ การประชุมรัฐมนตรีราบรื่น เตรียมออกแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปก SME เชียงใหม่
วันนี้
การประชุมรัฐมนตรีเอเปก SME ครั้งที่ 10 ที่จังหวัดเชียงใหม่วานนี้ (7 ส.ค.)
2546 ได้ผ่านวาระประชุมสำคัญ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมในเขตเอเปกเกือบทั้งหมด
นายเปี่ยมศักดิ์ มิลินทจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการเอเปก กล่าวว่า การประชุมวันแรกได้ผ่าน
วาระที่กำหนดไว้เร็วกว่าความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถแถลงรายละเอียดใดๆ
ได้เพราะจะต้องให้รัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมเสียก่อน โดยทั้งหมดจะมีการแถลงสรุปในบ่ายวันนี้
(8 ส.ค.) หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม
ในช่วงบ่ายคณะรัฐมนตรีเอเปก และผู้เข้าร่วมประชุม ได้เดินทางจากโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง
ไปยังหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมงานแสดงสินค้าค้นหาความเป็นเลิศ
OTOP ไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกจัดเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานเอเปก SME ได้แสดงความชื่นชมความสำเร็จในการส่งเสริมสินค้าSME
ตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาก่อนแล้ว
ศ.เดนนิส แม็คนารามา จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า การพัฒนาสินค้า SME ของไทยมีแนวโน้มที่ดีมาก
และ OTOP เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องการพัฒนาธุรกิจชุมชนพื้นฐานแม้ยังจะต้องปรับปรุงอยู่บ้างก็ตาม
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวในการเปิดงานแสดงสินค้า "ค้นหาความเป็นเลิศ OTOP ไทย"
ว่า การส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี
2544 จากการที่ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในแต่ละชุมชน ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย
ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้า โดยใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาผสมผสานกับภูมิปัญญา
ที่สืบทอดกันมา แล้วผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป
ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นการดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่แล้ว มาพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานระดับสากล
และผลักดันให้สินค้าไทยมีความโดดเด่นในตลาดโลก
ทั้งนี้ ในด้านการผลิตผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีศักยภาพในการส่งออกจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพสินค้า
และบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับสากล ขณะที่ด้านการขายและการตลาด
ที่ผ่านมาพบว่ายังมีจุดอ่อน คือ ไม่ทราบว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วจะจำหน่ายให้แก่ผู้ใด
ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประทศ
ตลอดจนการช่วยพัฒนาผู้ผลิตสินค้าให้มีความสามารถในการส่งออก ทำให้ผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจในด้านการตลาดและอนาคตสามารถทำการตลาดได้ด้วยตนเอง
สำหรับสินค้าไทยนั้น รัฐบาลมั่นใจว่ามีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์ที่งดงาม เรียบง่าย
ดูเป็นธรรมชาติ สามารถใช้งานได้จริง และเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ซึ่งความงดงามของสินค้าไทยนั้น
มีเรื่องราวความเป็นมา สืบสานแนวความคิดมาจากบรรพบุรุษที่ไม่มีให้พบเห็นในการผลิตภาคอุตสาหกรรม
"ผมเชื่อมั่นว่างานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกของการเปิดตัวสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยไปสู่ตลาดโลก
และเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันให้สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยก้าวไปสู่สายตาประชาคมโลก"
นายกรัฐมนตรีกล่าว
ลงนามส่งOTOPไปตลาดโลก
ในโอกาสเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือในการส่งเสริมการตลาดสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และผู้นำเข้าจากต่างประเทศ 3 รายได้แก่ ห้าง Selfridges&
CO. ห้างสรรพสินค้าชื่อดังจากประเทศอังกฤษ บริษัท Jupiter Shop Channel เคเบิลทีวีจากประเทศญี่ปุ่น
และบริษัท T.F.T Decoration ผู้นำเข้าสินค้าหัตถกรรมไทยจากประเทศเนเธอร์แลนด์
งานแสดงสินค้า "ค้นหาความเป็นเลิศ OTOP ไทย" ที่จัดขึ้นนี้ จัดแสดงสินค้าแบ่งเป็น
3 ประเภท ได้แก่ ประเภทของขวัญ ของชำร่วย ของตกแต่ง และเครื่องใช้ในบ้าน ประเภทเสื้อผ้า
เครื่องประดับ และสินค้าแฟชั่น และประเภทอาหาร สมุนไพร และเครื่องดื่ม รวมประมาณ
300 รายการ บนพื้นที่ 1,300 ตารางเมตรของหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สินค้าที่เข้าร่วมงานประกอบด้วย สินค้าจากผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จากทั่วทุกภาค
ของไทย แบ่งเป็นสินค้าจากภาคกลาง 48 รายการ ภาคเหนือ 76 รายการ ภาคใต้ 35 รายการ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 รายการ นอกจากนี้เป็นสินค้าจากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกที่มีสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดย่อม
ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการจัดงาน 32 บริษัท และ สินค้าจากกลุ่ม Intertrader
จำนวน 10 ราย เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำการตลาด
ในส่วนของผู้เข้าชมงานตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ จะเป็นรัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมจากกลุ่มประเทศเอเปก
นักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมเอเปกประมาณ 400 ราย คณะผู้ซื้อผู้นำเข้าจากต่างประเทศที่ได้รับการเชิญชวนจากกระทรวงพาณิชย์
250 ราย จาก 26 ประเทศ Buying Agent ในประเทศไทย ผู้ส่งออก/ผู้ซื้อ/ผู้ค้าส่งของไทย
และ ผู้สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้งานดังกล่าวจะจัดระหว่างวันที่ 7-10 ส.ค. 46 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันที่
7-8 ส.ค.46 เป็นวันเจรจาธุรกิจ ระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. และ วันที่ 9-10 ส.ค.46
เป็นวันจำหน่ายปลีก ระหว่าง เวลา 10.00-21.00 น.
อาหารค่ำ-ปาฐกถาทักษิณ
กำหนดการที่สำคัญอีกงานหนึ่ง ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปก SME วันแรก คือ
งานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับคณะรัฐมนตรีเอเปก โดยนาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ในฐานะประธานที่ประชุมเป็นเจ้าภาพ ณ ห้องแกรนด์นันทาบอลรูม โรงแรมเวสทิน ริเวอร์ไซด์พลาซ่าเชียงใหม่
และในโอกาสนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้เข้าร่วม
รายงานแจ้งว่าในงานเลี้ยงทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดโชว์มหัศจรรย์แห่งผ้าไทยรวม
5 ชุด ซึ่งจะมีผ้าโบราณอายุร่วม 100 ปี และเครื่องประดับมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
โดยนางแบบจำนวน 150 คน และมีส่วนที่มุ่งแสดงความทันสมัยสื่อว่าผ้าไทยและเครื่องประดับไทยมุ่งสู่ตลาดแฟชั่นโลก
รายงานระบุเมนูอาหารค่ำที่จัดเลี้ยงนั้น ว่าแม้เมนูหลักจะเป็นรายการอาหารยุโรปแต่ก็มี
ต้มยำกุ้งอาหารขึ้นชื่อของประเทศไทยและข้าว หอมมะลิร่วมในรายการอาหารด้วย
ภายหลังที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวรายงานแล้วนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับคณะรัฐมนตรีเอเปก SME โดยได้นำเสนอความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ
ประเทศไทย ตามนโยบายเศรษฐกิจสองแนวทาง ที่เน้นความสมดุลและยั่งยืน พัฒนาวิสาหกิจรากหญ้าพัฒนากำลังการผลิต
ในประเทศควบคู่กับการส่งออก
เป็นที่รับรู้กันดีว่า SME มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเอเปก เพราะมีการจ้างงานกว่า
80% ของงานทั้งหมดในเขตเศรษฐกิจ มีรายได้รวม 30-60% ของจีดีพี.รวม มีการส่งออกจาก
SME ถึง 35% ของการส่งออกในภูมิภาค และผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีอยู่เป็น SME ถึง
95%
สำหรับประเทศไทยนั้นแนวทางการพัฒนา และแก้ปัญหาประเทศไทย ที่ดำเนินมาตั้งแต่พ.ศ.
2544 ต้องยอมรับว่า SME เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของความสำเร็จดังกล่าว และพบว่าสัดส่วนของจีดีพี.ของประเทศไทยเป็นส่วนของSME
ถึง 39% และหากรวมเอาเศรษฐกิจรากหญ้าและด้านการ เกษตรแล้วจะมีถึง 50% ของจีดีพี
เมื่อมองถึงยอดการส่งออกของประเทศเป็นส่วนของSME ถึง 38.2% และพบว่าช่วยการสร้างงาน
ให้ประเทศถึง 69%
การพลิกฟื้นประเทศไทยด้วยนโยบายเศรษฐกิจสองแนวทาง ที่มีSME เป็นพลังสำคัญนี้
ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะพัฒนาSME อย่างจริงจัง 4 ประการคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพ
มีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วสอดคล้อง กับสภาพแวดล้อมและมีฐานความรู้ที่ชัดเจน
ประการต่อมา คือ นโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาด มีการส่งเสริมให้
SME เข้าสู่คลัสเตอร์ที่ส่งเสริมกัน เช่น ด้านการเงิน การเข้าถึงเงินทุน การตลาด
การอบรม ฯลฯ ประการที่สาม มีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องเงินทุน หมุนเวียน รวมไปถึงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน
สุดท้ายคือ การส่งเสริมความเข้มแข็งของการผลิตรากหญ้า หรือ ระดับเล็กมาก เช่นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน
OTOP ธนาคารประชาชน เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีระบุว่า การส่งเสริมการผลิตรากหญ้าของไทย อาจจะเป็นแม่แบบของการพัฒนา
เศรษฐกิจขนาดเล็กมากหรือ Micro Enterprise ที่กำลังมีการพดคุยกัน นอกจากนั้น หากพูด
ถึงประเด็นนี้แล้ว จะต้องกล่าวถึง OTOP ด้วยว่าเป็นต้นแบบที่น่าสนใจของการส่งเสริม
ME
ในปีแรกของการเปิดนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มียอดขายแค่เพียง 215.5 ล้านบาท
แต่ในปีถัดมา OTOP มียอดขายถึง 22,286 ล้านบาทเป็นยอดการเติบโตกว่า 100 เท่าตัวเลยทีเดียว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สมาชิกในเขตเศรษฐกิจ เอเปกน่าจะยังคงร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ร่วมกันโดยการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อส่งเสริมขบวนการ
SME ต่อไป อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องยืนยันกรอบความร่วมมือพหุภาคีและการยึดต่อเจตนารมณ์ของ
WTO ต่อไปด้วย
สุดท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นี่คือการ ส่งสัญญาณทางการเมืองไปยังประชาคมโลกว่า
สมาชิกเอเปกยังยึดมั่นในกรอบการค้าเสรี ความร่วมมือพหุภาคี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ต่อเนื่องสืบไป