ความพยายามของสหรัฐฯในการบีบให้ไทยเปิดตลาดบุหรี่ให้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ
ได้กำลังเข้มข้นขึ้นแทนที่ประเด็นความขัดแย้งในเรื่องสิทธิบัตร ซึ่งผ่านการเจรจามาหลายรอบแล้ว
แต่เรื่องบุหรี่เพิ่งจะเริ่มต้น
ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 2 สิงหาคมนี้ คณะผู้แทนสหรัฐฯจากสำนักงานผู้แทนการค้าเดินทางมาเจรจากับผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์
เป็นการเจรจาต่อเนื่องกันจากหลายครั้งที่ผ่านมาในเรื่องของสิทธิบัตร แต่เรื่อบุหรี่เพิ่งจะมีการคุยกันก็ในคราวนี้
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกบุหรี่ของสหรัฐฯซึ่งประกอบไปด้วยผู้ผลิตบุหรี่ข้ามชาติ
7 รายได้ทำหนังสือยื่นต่อนางคาร์ล่า ฮิลล์ ตัวแทนการค้าพิเศษของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ใช้มาตรา
301 ในกฎหมายการค้าของสหรัฐฯปี 2531 ต่อรองให้ไทยยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ
กระทรวงการคลังมีคำสั่งห้ามนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2519 ปัจจุบันบุหรี่ที่นำเข้ามาโดยถูกต้องนั้น
มีเพียงบุหรี่ที่ขายในร้านค้าปลอดภาษีและนำเข้าโดยเอกสิทธิ์ทางการทูต ซึ่งมีประมาณ
230 ล้านมวนต่อปี ที่วางขายทั่วไปในท้องตลาดนั้นเป็นบุหรี่เถื่อนหนีภาษีที่ประมาณว่ามีจำนวน
60 ล้านซองต่อปี
การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในสหรัฐฯที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง และได้ผลมาเป็นเวลาหลายปี
ทำให้ยอดขายของอุตสาหกรรมนี้ลดลงเรื่อย ๆ นับแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ต้องหาทางเพื่อความอยู่รอด
หนึ่งในวิธีการต่าง ๆ คือ การเจาะเข้าไปในตลาดของประเทศในเอเชีย
แม้ว่าหลายประเทศจะมีมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ แต่สหรัฐฯก็ใช้นโยบายทางการค้าโดยเฉพาะการขู่ว่าจะใช้มาตรา
301 ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าและตั้งเงื่อนไขจำกัดการนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้มาบีบบังคับให้เปิดตลาดได้สำเร็จ
ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น
คณะรัฐมนตรีนั้นยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนออกมาในเรื่องนี้ในระยะแรกกระทรวงการคลังเห็นด้วยกับการเปิดให้นำเข้าโดยเสรี
โดยอ้างว่าทุกวันนี้ถึงจะห้ามนำเข้า ก็มีบุหรี่หนีภาษีเกลื่อนตลาดอยู่แล้ว
สู้ให้นำเข้าอย่างถูกต้องจะดีกวา นอกจากจะลดความขัดแย้งกับสหรัฐฯแล้ว ยังจะมีรายได้เพิ่มอีกปีละ
600 - 700 ล้านบาท จากภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้า
ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขคัดค้านอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลว่าเป็นการสวนทางกับนโยบายการต่อต้านการสูบบุหรี่
นอกจากนี้ยังมีแรงต้านจากกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วย
คณะรัฐมนตรีซึ่งเคยมีทีท่าว่าจะเปิดตลาด จึงกลับมีแนวโน้มว่าจะยังคงยึดถือนโยบายเดิมที่ห้ามการนำเข้าต่อไป
ว่ากันว่านี่คือเทคนิคของการต่อรองกับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยก็ไม่ได้ละเลยกับความต้องการของสหรัฐฯ
แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่มาก เป็นวิธีการยืดเวลาออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
กฎหมายการค้ามาตรา 301 กำหนดไว้ว่าเมื่อมีผู้ร้องเรียนในเรื่องความไม่เป็นธรรมทางการค้า
คณะผู้แทนการค้ามีเวลา 12 - 18 เดือนที่จะสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนนั้น
ก่อนที่จะชี้ขาดออกมาและงัดมาตรา 301 ขึ้นมาใช้
ช่วงนี้จึงเป็นการซื้อเวลาของไทยเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็คงต้องยอมให้บุหรี่นอกเข้ามาได้โดยเสรี
เพราะมาตรา 301 นั้นคือไม้ตายที่สหรัฐฯใช้ได้ผลมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ