Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์17 พฤศจิกายน 2551
ซูเปอร์สปอร์ต ซอยเซกเมนต์ ผุด Work Out เจาะตลาดบ้านใหญ่             
 


   
search resources

ซี อาร์ ซี สปอร์ต ,บจก.
Sports




ซูเปอร์สปอร์ตทุ่มงบ 10 ล้านบาท (งบรวมการตกแต่งร้านและต้นทุนสินค้า) ผุดโมเดลร้านกีฬาใหม่ภายใต้ชื่อ Work Out ประเดิมสาขาแรกที่โฮมเวิร์ค ภูเก็ต ใช้พื้นที่ 150 ตารางเมตร เน้นเฮลธ์สปอร์ต ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภควัย 30 ปีขึ้นไป

กระแสความห่วงใยในเรื่องสุขภาพส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักในเรื่องของสุขภาพ อาหารการกิน และการออกกำลังกายมากขึ้น โดยปัจจุบันธุรกิจร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท โดยมีซูเปอร์สปอร์ตเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 25% ในขณะที่สปอร์ตเวิลด์ และสปอร์ต มอลล์ มีส่วนแบ่งไล่เลี่ยกันคือประมาณรายละ 10%

โดยการแข่งขันในตลาดดังกล่าวอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าของใครขายแพงก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นราคาของแต่ละร้านจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ปัจจัยความสำเร็จจึงอยู่ที่ว่าใครดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการได้มากกว่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งซูเปอร์สปอร์ตและสปอร์ตเวิลด์ต่างพยายามสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาเพื่อขยายตลาดให้กว้างออกไป

ก่อนหน้านี้ ซูเปอร์สปอร์ตมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการใช้เซเลบริตี้เปลี่ยนมาใช้นักกีฬาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อเป็นฮีโร่ในการสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา กระตุ้นการบริโภคชุดและอุปกรณ์กีฬา พร้อมโหมกิจกรรมนอกร้าน สร้างพฤติกรรมการเล่นกีฬา โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้เกาะกระแสมหกรรมกีฬาใหญ่แห่งปี ฟุตบอลยูโร 2008 และ กีฬาโอลิมปิค ผุดแคมเปญ เชียร์ทีมไทย คว้าเหรียญทอง ภายใต้กลยุทธ์ Idol Marketing ที่ใช้สื่อสารกับผู้บริโภคที่สนใจกีฬาโดยมีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผ่านสื่อใบปลิว Leaflet เช่น ดนัย อุดมโชค กับ Concept : Racket Time และจ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับ Concept : Tee of Time

เช่นเดียวกับสปอร์ตมอลล์ที่มีการทำแคมเปญ Hero Marketing โดยใช้ เรวดี วัฒนสิน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในสื่อโฆษณาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เยาวชนเห็นว่าความสำเร็จด้านกีฬาเป็นเรื่องที่จับต้องได้ ทำให้เด็กๆเหล่านั้นอยากดำเนินรอยตาม หรืออย่างแคมเปญโอลิมปิคที่จบลงไปก็เชิญ สมรักษ์ คำสิงห์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ตลาดอุปกรณ์กีฬามีการเติบโต

พร้อมงัด Experience Marketing จัดอีเวนต์ทั้งนอกห้างและในห้างเพิ่มยอดขาย เช่น กิจกรรม Sports Mall Olympic 2008 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬาไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆภายใต้กิจกรรมกีฬาที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคกลุ่มนั้นๆ เช่น Kid's Olympic สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี กิจกรรม Victor Campus Invitation Cup เป็นการแข่งขันแบดมินตันระดับมหาวิทยาลัย Pan Futsal Supermatch 2008 แข่งฟุตซอลสำหรับนักเรียนมัธยมอายุไม่เกิน 18 ปี และ Extreme Sport Circuit Thailand 2008 เป็นกิจกรรมกีฬาสำหรับประชาชนทั่วไป

แม้จะมีกิจกรรมที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทว่าสปอร์ตมอลล์ก็มีข้อจำกัดในการขยายสาขา เนื่องจากบริษัทแม่คือเดอะมอลล์กรุ๊ป ยังไม่มีนโยบายที่จะแยกธุรกิจดังกล่าวออกมาตั้งสาขานอกห้างเดอะมอลล์ ประกอบกับตัวเดอะมอลล์เองก็ไม่ได้มีการขยายสาขาใหม่ๆเพิ่มเติม จึงเป็นข้อเสียเปรียบที่ทำให้สปอร์ตมอลล์ไม่สามารถท้าชิงเจ้าตลาดอย่างซูเปอร์สปอร์ตได้

อย่างไรก็ดี สปอร์ต มอลล์ ได้หันมาโฟกัสสินค้าที่สร้างยอดขายได้ดีด้วยการให้ความสำคัญกับ 5 แบรนด์หลักซึ่งประกอบด้วย ไนกี้ อาดิดาส คอนเวิร์ส พูม่า รีบอค ซึ่งในปีนี้จะมีการรีโนเวตโดยเพิ่มพื้นที่ให้กับผลิตภัณฑ์กีฬาของ 5 แบรนด์หลักในรูปแบบ shop in shop จากเดิมที่แต่ละแบรนด์มีพื้นที่ 50-60 ตารางเมตร ก็จะเพิ่มเป็น 100-150 ตารางเมตร โดยหลังการปรับเปลี่ยนแล้วคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 50% ทั้งนี้หากนับเฉพาะสินค้าแฟชั่นกีฬาอย่างเสื้อผ้า รองเท้า และหมวกแล้ว สินค้าจาก 5 แบรนด์หลักจะสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 70% ของหมวดแฟชั่นกีฬา และการโฟกัสไปที่ตลาดอุปกรณ์กีฬาพรีเมียมนี้เองที่ทำให้สปอร์ต มอลล์ มียอดขายไม่แพ้สปอร์ตเวิลด์ที่มีสาขามากกว่าเป็นเท่าตัว

การสร้างอีเวนต์กีฬา ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กับร้านอุปกรณ์กีฬา ซึ่งในส่วนของซูเปอร์สปอร์ก็มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นงานกอล์ฟแฟร์ งาน Shoe Show งานซูเปอร์สปอร์ตแฟร์ และกิจกรรมนอกร้านค้าเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่นเดียวกับที่คู่แข่งทำ ทว่าซูเปอร์สปอร์ตเหนือกว่าคู่แข่งในเรื่องการขยายสาขา โดยในปีนี้คาดว่าจะมีการขยายสาขาเพิ่ม 7 แห่ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จตัวหนึ่งที่ทำให้ซูเปอร์สปอร์ตสามารถสร้างการเติบโตได้ 10% ในปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันซูเปอร์สปอร์ตมีสาขา 60 สาขา และกำลังจะเปิดที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะเป็นสาขาที่ 61 ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ในขณะที่สปอร์ตเวิลด์มีสาขาเพียง 18 แห่ง ซึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้บริษัทหันมาเน้นการพัฒนาสาขาเดิมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการขาย โดยมีการใช้กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy ในการปรับปรุงองค์กร เช่น การปรับเปลี่ยนสินค้าในแต่ละสาขาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการสร้างพฤติกรรมให้ผู้บริโภคชื่นชอบการออกกำลังกายด้วยการทำกิจกรรมภายในร้านที่เป็นสาขาใหญ่ เช่น กิจกรรมปีนเขา เครื่องตีกอล์ฟซีมูเลเตอร์ แป้นบาสเกตบอลให้ลูกค้าได้ทดสอบลูกบอล แป้นน็อกบอร์ดสำหรับทดสอบอุปกรณ์เทนนิส

นอกจากนี้สปอร์ตเวิลด์ ยังมีการพัฒนาชอปในรูปแบบโมเดลที่เล็กลงเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยในปีนี้บริษัทมีการทุ่มงบ 20 ล้านบาทเพื่อรีโนเวตสาขาแฟชั่นไอซ์แลนด์ให้เป็นสโตร์คอนเซ็ปต์ใหม่ ในขณะที่สปอร์ตเวิลด์ เมกะสโตร์ ซึ่งใช้พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ลงทุนสาขาละ 30 ล้านบาท มีไลน์อัพสินค้ากีฬาครบ โดยจะมีการขยายสาขาเพิ่ม2 แห่ง ร้านแอคทีฟ สปอร์ต ซึ่งใช้พื้นที่ 200-300 ตารางเมตร ลงทุนสาขาละ 3-5 ล้านบาท เน้นเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา จะขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง ร้านฟุตเกียร์ ใช้พื้นที่เพียง 100-150 ตารางเมตร ลงทุนสาขาละ2-3 ล้านบาท จะเพิ่มสาขาอีก 1 แห่ง และยังมีร้านรูปแบบใหม่เป็นร้านแบรนด์ชอปซึ่งได้ลิขสิทธิ์จากอาดิดาส ใช้พื้นที่ 100-150 ตารางเมตร ลงทุนสาขาละ 1-1.5 ล้านบาท โดยจะเปิดในปีนี้ 2 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการขยายสาขาและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมี เอฟบีทีและแกรนด์สปอร์ตซึ่งมีร้านอุปกรณ์กีฬาต้นแบบของตัวเองอยู่ไม่กี่สาขา ทว่าก็ไม่ได้เน้นการขยายสาขาเหล่านั้นมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายอื่นๆเช่นร้านกีฬาเนื่องจากบทบาทของเอฟบีทีและแกรนด์สปอร์ตจะเด่นในเรื่องของการเป็นซัปพลายเออร์หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์กีฬาภายใต้แบรนด์ของตนเองมากกว่าการทำเชนร้านกีฬา โดยเอฟบีทีมีดีลเลอร์กว่า 250 ร้านค้า ส่วนแกรนด์สปอร์ตมีดีลเลอร์มากถึง 400 ราย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดโครงการ เช่น โรงเรียน ศูนย์ฝึกซ้อมกีฬา สโมสรกีฬา สมาคมกีฬา หรือการเป็นสปอน์เซอร์การแข่งขันกีฬาต่างๆ โดยเอฟบีทีมีคู่ค้าที่เป็นตลาดค้าส่งหรือตลาดองค์กรมากถึง 1,000 ราย ในขณะที่แกรนด์สปอร์ตก็พยายามเจาะตลาดหน่วยงานด้านกีฬาระดับประเทศโดยใช้สโลแกนว่า “ทีมชาติไทยเลือกใช้แกรนด์สปอร์ต”

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และการที่ดีลเลอร์รายเล็กเป็นเน็ตเวิร์กของแกรนด์สปอร์ต และเอฟบีที ตลอดจนแผนพัฒนาโมเดลร้านค้าใหม่ๆของสปอร์ตเวิลด์ ส่งผลให้ซูเปอร์สปอร์ตต้องเร่งพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆออกมาตามความเหมาะสม โดยก่อนหน้านี้ซูเปอร์สปอร์ตเคยมีการแตกโมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อร้าน Fit ซึ่งจะเน้นสินค้าประเภทรองเท้ากีฬาเนื่องจากมองเห็นโอกาสว่ารองเท้ากีฬาไม่ใช่สินค้าที่ใช้ใส่เฉพาะในการเล่นกีฬาเท่านั้น หากแต่ยังสามารถใส่เดินเล่น ใส่ทำกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการทำแบรนด์ชอปแฟชั่นกีฬาอย่างไนกี้และอาดิดาส ตลอดจนร้านรองเท้า CROCS

สำหรับโมเดลร้านค้าที่เป็นร้านซูเปอร์สปอร์ตจะใช้พื้นที่ประมาณ 600-5,000 ตารางเมตร ภายใต้งบลงทุน 10-70 ล้านบาท ส่วนร้าน Fit ซึ่งเป็นร้านที่เน้นรองเท้าแฟชั่นกีฬาใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายใต้งบ 2 ล้านบาท ปัจจุบันมี 5 สาขา นอกจากขยายร้านค้าของตัวเองแล้วซูเปอร์สปอร์ตยังมีการทำแบรนด์ชอปเสื้อผ้าแฟชั่นกีฬา เช่น ไนกี้ ใช้พื้นที่ 100-300 ตารางเมตร ภายใต้งบลงทุนสาขาละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันมี 4 สาขา ส่วนร้านอาดิดาสเพิ่งเริ่มในปีนี้ที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ชอปรองเท้า CROCS ซึ่งเปิดไปแล้วที่สยามเซ็นเตอร์ และกำลังจะเปิดที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ และเซ็นทรัล พัทยา

“การซอยย่อยร้านอุปกรณ์กีฬาทำให้เราสามารถขยายสาขาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากการจะหาพื้นที่ที่จะมารองรับร้านซูเปอร์สปอร์ตต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้การขยายสาขาค่อนข้างลำบาก แต่หากเรามีร้านค้าเล็กๆก็จะทำให้เราสามารถขยายสาขาได้ง่ายขึ้น โดยเราดูจากศักยภาพของสินค้าในการทำตลาด อย่างเช่นร้านรองเท้า Fit ที่เราแยกออกมาก็เนื่องจากมียอดขายสูงสุดในร้านคิดเป็นสัดส่วน 30% ขณะที่อุปกรณ์กอล์ฟ และเสื้อผ้าแฟชั่นกีฬามีสัดส่วนรายได้อย่างละ 18% แต่ที่เราไม่ได้แยกร้านออกมาเนื่องจากทั้ง 2 แผนกมีการใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะในร้านซูเปอร์สปอร์ตอยู่แล้ว ส่วนเครื่องออกกำลังกายทำรายได้ให้เรา 15% ถือว่ามีศักยภาพสูงและเราก็เห็นโอกาสในการทำตลาดดังกล่าวจึงเกิดโมเดลของร้าน Work Out ขึ้นมา” ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซี อาร์ ซี สปอร์ต กล่าว

ทั้งนี้ซูเปอร์สปอร์ตได้ทุ่มงบ 10 ล้านบาท ผุดร้าน Work Out โดยเกาะติดไปกับสาขาของโฮมเวิร์คที่ภูเก็ต เนื่องจาก Work Out เน้นสินค้าที่เป็นเครื่องออกกำลังกายและสินค้าตรวจสุขภาพเช่นเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดระดับไขมัน เครื่องชั่งน้ำหนัก ตลอดจนเก้าอี้นวด ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่วัย 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มมีครอบครัวไม่ค่อยเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ออกกำลังกายที่ฟิตเนสเหมือนคนหนุ่มสาว แต่จะอยู่กับครอบครัวที่บ้าน ออกกำลังกายที่บ้าน ซึ่งต้องเป็นบ้านที่มีพื้นที่ใหญ่พอสมควรที่จะตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายได้ ซึ่งการตั้งสาขา Work Out ในโฮมเวิร์ค จึงถือเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งในปีหน้าบริษัทก็มีแผนที่จะเกาะติดไปกับโฮมเวิร์คอีก 2 สาขา โดยบริษัทคาดว่ายอดต่อบิลจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท ไปถึงหลักหมื่นบาท เนื่องจากเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ และก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีบ้านใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งเครื่องออกกำลังกายก็มีรุ่นใหม่ออกมาในราคาที่ไม่แพงเช่นกัน

“เครื่องออกกำลังกายและเก้าอี้นวด เป็นกลุ่มสินค้าที่ขายดีอันดับต้นๆ ของซูเปอร์สปอร์ต และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ประกอบกับในตลาดขณะนี้ยังไม่มีร้านจำหน่ายสินค้ากีฬาฟิตเนสที่ครบวงจร ร้าน Work Out จึงได้เปิดดำเนินการขึ้น โดยจุดเด่นที่แตกต่างของร้าน Work Out คือเป็นร้านจำหน่ายสินค้ากีฬาฟิตเนสครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ตและเมืองไทย โดยวางสัดส่วนของสินค้า ไว้ที่ 90 % สำหรับสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกาย, เก้าอี้นวด,สินค้าสำหรับการตรวจเช็คสุขภาพ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก, เครื่องวัดระดับไขมัน ฯลฯ และอีก 10 % เป็นสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า, รองเท้ากีฬาฟิตเนส โดยได้จับมือกับ Nike ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจจัด Nike Fitness Corner ขึ้นภายในร้าน และเนื่องจากสินค้าภายในร้านจะเน้นหนักไปที่เครื่องออกกำลังกายและเก้าอี้นวด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สะดวกในการขนย้ายสำหรับลูกค้านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ จึงทำให้กลุ่มเป้าหมาย 70 % เป็นชาวภูเก็ตรวมถึงชาวต่างชาติที่มาทำงานและอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต และอีก 30 % เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3 ล้านบาทต่อเดือน” ณัฐ วงศ์พานิช กล่าว

อย่างไรก็ดีแม้จะมีสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้ใหญ่ แต่ Work Out ก็ยังมีสินค้าชิ้นเล็กราคาไม่แพงที่เด็กๆสามารถซื้อได้ เช่น แฟชั่นกีฬา หรืออุปกรณ์กีฬาชิ้นเล็กราคาประมาณ 200-500 บาท ซูเปอร์สปอร์ตใช้งบการตลาดในปีนี้ 80 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 20% โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายในปีนี้ได้ 4,000 ล้านบาท   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us