Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2532
โครงการบ้านนายพลส่วนผสมของธุรกิจกับสวัสดิการ             
โดย บุญธรรม พิกุลศรี
 

   
related stories

วิชัย กฤษดาธานนท์ เขาไม่ใช่นักปีนป่ายเขาสูงคนล่าสุด

   
search resources

วิชัย กฤษดาธานนท์
ชวลิต ยงใจยุทธ
Real Estate




จากจิตสำนึกอันแรงกล้าของนักการทหารอย่าง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องการให้ทหารหาญของกองทัพนี้มีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองเมื่อยามแก่เฒ่า เข้ามาผนวกผสมกับความสำนึกอันเสียสละสูงส่งของนักธุรกิจอย่าง วิชัย กฤษดาธานนท์ ได้ก่อให้เกิดโครงการ "บ้านนายพล" ขึ้นมาเป็นรูปร่าง อันเป็นการผสมผสานกันระหว่างธุรกิจกับสวัสดิการเพื่อให้เป้าประสงค์ของทั้งสองฝ่ายบรรลุผล และจะได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทหารกับนักธุรกิจนั้นเข้ากันได้อย่างกลมกลืนแค่ไหน การขึ้นมาเป็นผู้นำของกองทัพของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดในห้วงสองปีเศษได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกองทัพไม่น้อยทีเดียว

ไม่เฉพาะด้านยุทธศาสตร์และการปรับปรุงกองกำลังเท่านั้น ด้านขวัญกำลังใจและสวัสดิการของเหล่าทหารที่นอกเหนือไปจาก "สิทธิกำลังพล" ซึ่งได้รับเป็นปกติ เช่นข้าราชการทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลฟรีทั้งครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตรธิดา และบ้านพักหรือค่าเช่าบ้านในกรณีที่ไม่มีบ้านพักเป็นต้น

พลเอกชวลิตยังได้พยายามสรรหาเพิ่มเติมให้เกิดความเพียงพอในส่วนที่ขาดวิ่นไป โดยวิธีการที่จะรบกวนงบประมาณของรัฐให้น้อยที่สุด

"คุณก็รู้ว่าสวัสดิการสำหรับข้าราชการนั้นมันกระท่อนกระแท่นเหลือเกินเพราะข้อจำกัดในด้านงบประมาณของรัฐ" นายทหารระดับเสนาธิการคนหนึ่งเอ่ยกับ "ผู้จัดการ"

ความพยายามที่จะไม่รบกวนงบประมาณของรัฐนั้น พลเอกชวลิตได้นำรูปแบบของธุรกิจเอกชนเข้ามาใช้ผสมผสานให้กลมกลืนกันที่สุดกับรูปแบบของสวัสดิการ ความหมายก็คือว่าลดการการค้าเอากำไรตามแนวทางธุรกิจของผู้ประกอบการลงมาพบกับการยอมเสียสละส่วนของตัวเองบ้างของข้าราชการ เพื่อแลกกับสวัสดิการที่จะได้มาก ต่างกับสวัสดิการที่ให้กันฟรี ๆ

การจัดทำโครงการประกันชีวิตทหารขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นผลงานชิ้นหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มความคุ้มครองการสูญเสียของทหารหาญขึ้นมาให้มากกว่า "สิทธิกำลังพล" โดยปกติ โดยให้เอกชนเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงในรูปแบบของการประกันชีวิต และกองทัพเองก็ต้องยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันไปบ้างตามสัดส่วนที่เหมาะสม

แม้จะดูเหมือนว่าบริษัทผู้รับประกันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับการรับประกันอย่างเป็นกอบเป็นกำสมน้ำสมเนื้อ นั่นยังไม่รวมถึงคุณค่าแห่งความเสียสละที่บริษัทได้รับยกย่องจากองทัพและประชาชนจากภาพพจน์ที่ออกมาซึ่งประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้

โครงการบ้านนายพลก็ถูกตั้งแท่นขึ้นมาภายใต้แนวคิดพื้นฐานเดียวกัน เพียงแต่เจาะเฉพาะกลุ่มนายพลและได้ขยายแนวกว้างออกไปสู่นายพลตำรวจด้วย

"หนึ่งในปัจจัย 4 นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตรับราชการทหารของพวกเราก็คือที่อยู่อาศัย ซึ่งทุก ๆ คนปรารถนาที่จะมีให้แก่ครอบครัว ภายใต้ความจำกัดทางด้านงบประมาณของกองทัพที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะจัดหาและตอบสนองเรื่องที่อยู่อาศัยของทางราชการให้แก่กำลังพลทุกนายให้ครบถ้วนได้ ถึงแม้จะตอบสนองได้เกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่ครอบครัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามใกล้เวลาเกษียณอายุราชการด้วยความเป็นห่วงครอบครัวย่อมต้องคิดและมีความปรารถนามากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกในด้านขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง ในชีวิตรับราชการของผมที่ผ่านมานั้น ผมได้ตระหนักและคิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ได้ตั้งปณิธานและความปรารถนาของตนเองไว้ว่า หากบุณพาวาสนาส่งให้ผมได้มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องที่อยู่อาศัยของลูกหลานในอนาคต" ผลึกความคิดของผู้บัญชาการทหารบก และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ถูกถอดออกมาเป็นวาจาในโอกาสกล่าวเปิดโครการบ้านนายพลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่สำหรับคนที่ตีปณิธานของ พลเอกชาวลิต ยงใจยุทธ ไม่แตกกลับมองว่า พลเอกชวลิตพยายามชักนำธุรกิจเข้ามาพัวพันกับทหาร กระแสที่โจมตีมักจะกล่าวว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของการออกมาชักนำทุนเข้าสู่วงจรอำนาจของพลเอกชวลิต ซึ่งเป็นรูปแบบของการแสวงหาผลประโยชน์สู่การเกื้อกูลการดำรงอยู่ในอำนาจของตนสืบไป

พลเอกชวลิตเองก็รู้เรื่องราวที่ถูกกล่าวโจมตีนี้ดี ซึ่งก็ได้แต่กำชับกับคนใกล้ชิดด้วยความห่วงใยว่าห้ามไม่ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เข้าไปแตะต้องกับผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และพยายามแบ่งขอบเขตการประสานงานและระบบการทำงานให้รัดกุมที่สุด

"ขอบเขตของเรามีแค่เพียงเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างเจ้าของโครงการกับนายพลที่มีสิทธิ์ซื้อเท่านั้นหน้าที่ตรง ๆ ก็คือขายที่ดินที่เขาจัดสรรให้และขายในราคาที่กำหนดเท่ากันทุกคน" นายทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบโครงการนี้คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มอบหมายนโยบายให้ตั้ง "ศูนย์ประสานงานโครงการบ้านนายพล" ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ที่ผ่านมา โดยมี พลโทสพรั่ง นุตสถิตย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยนายทหารระดับนายพลอีกหลายคนเป็นกรรมการ และให้ พลตรีเชื่อมศักดิ์ จุละจาริตต์ เป็นเลขานุการศูนย์ฯ

ส่วนผู้ปฏิบัติการตามโครงการนี้จริง ๆ คือ พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์

ศูนย์นี้มอบให้เป็นงานฝากชั่วคราวในสำนักงานเสนาธิการกองทัพบกซึ่งมีพลเอกจรวย วงศ์สายัณ เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

"ตอนนี้ผมก็ยังไม่ทราบเลยว่าตัวโครงการหมู่บ้านซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกฤษดานครนั้นไปถึงไหนแล้ว เพราะเราเองจะเข้าไปแตะต้องมากไม่ได้ ประเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าทางเรามีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่ในส่วนของเราที่มีหน้าที่ในการจัดสรรส่วนที่ได้มาให้แก่ผู้ซื้อที่เป็นนายพลนั้นเรียบร้อยกันหมดแล้ว รอแต่ทางกฤษดานครว่าจะพร้อมโอนกันเมื่อไหร่เท่านั้นเอง" พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการกับ "ผู้จัดการ"

วิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานกลุ่มกฤษดานครปฏิเสธที่จะคุยเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" แต่เท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ของโครงการจริง ๆ นั้นยังไม่ได้พัฒนาไปมากนัก เมื่อเทียบระยะเวลานับแต่วันเปิดโครงการมากกว่าเดือนเศษและการโหมกระหน่ำโฆษณาตั้งแต่ก่อนเปิดโครงการเสียอีก

แม้ในส่วนที่เปิดขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเจ้าของโครงการเป็นผู้รับผิดชอบขายเองนั้นได้มีคนมาลงชื่อจองไว้แล้วจำนวนค่อนข้างมาก นั่นคงได้เงินมัดจำไปจำนวนไม่น้อยทีเดียว

โครงการบ้านนายพลกับโครงการกฤษดานคร 25 เป็นเจตนาของเจ้าของโครงการที่จะใช้ชื่อทั้งสองควบกันเพื่อผลทางด้านการตลาด เจ้าของโครงการคือบริษัทเคหภูมิจำกัด ซึ่ง วิชัย กฤษดาธานนท์ ซื้อบริษัทนี้มาจาก ดร.อำนวย วีรวรรณ กับกลุ่มตระกูลสารสินเมื่อต้นปีมานี้เอง

บริษัทเคหภูมิจำกัด เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะก่อตั้งขึ้นมากันจริง ๆ ตั้งแต่กลางปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจที่ดินกำลังบูมเป็นผีพุ่งใต้

ในระหว่างการเตรียมการนั้นดูเหมือนเกริกชัย ซอโสตถิกุล แห่งเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างจะเป็นผู้วิ่งเต้นทั้งหมดรวมทั้งแอบกว้านซื้อที่ดินในย่านมีนบุรีไว้อย่างเงียบ ๆ โดยผู้ร่วมมือกับเกริกชัยนั้นคือ พิศณี มนตรีวัต ทายาทของขุนวิชัยและขุนธรรมพินิจ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเศรษฐีที่ดินย่านมีนบุรีคนหนึ่งทีเดียว

เมื่อกว้านซื้อที่ดินได้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่แน่ชัดว่าเท่าใด แต่มั่นคือที่ดินบริเวณที่จะขึ้นโครงการบ้านนายพลอันโด่งดังนั่นเอง แต่ตามเอกสารที่สืบค้นได้พบว่าซ้อมาด้วยเงินทั้งหมดกว่า 226 ล้านบาท โดยได้ยื่นขอวงเงินกู้จากธนาคารจำนวน 212 ล้านบาท ก่อนที่จะตั้งบริษัทขึ้นมารับโอนและจดจำนองในเดือนมีนาคม 2532 ที่ผ่านมานี้นี่เอง

ซึ่งถ้าคำนวณจากข้อมูลที่นักค้าที่ดินบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าที่ดินในย่านดังกล่าวนั้นซื้อมาจากต้นมือจริง ๆ ไม่น่าจะเกินไร่ละแสนบาท เพราะที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นบ่อที่เกิดจากการขุดหน้าดินขายไปแล้วอย่างมาก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเงินจำนวน 200 กว่าล้านบาทก็น่าจะซื้อที่ดินได้ร่วม ๆ 3,000 ไร่ทีเดียว แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกลุ่มกฤษดานครให้ข้อมูลใกล้เคียงกันอีกว่าวิชัยซื้อที่ดินแปลงนี้มาในราคาเพียงไร่ละ 120,000 บาทเท่านั้นเอง

ข้อต่อช่วงนี้ขาดหายไปอย่างน่าเสียดายข้อจำกัดของ "ผู้จัดการ" ที่ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ ดร.อำนวย วีรวรรณ แล้วแต่เลขาฯ บอกว่าท่านไม่ว่าง

เพราะเพียงข้ามเดือนต่อมาหลังจากตั้งบริษัทแล้วถึงเดือนพฤษภาคม 2532 กลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าทั้งหมดได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ โดยอ้างว่าได้โอนขายหุ้นให้แก่ วิชัย กฤษดาธานนท์ ไปหมดแล้วพร้อมกับการเข้ามาเป็นกรรมการใหม่แทนของกลุ่มกฤษดานคร แต่ตามรายงานเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ยื่นไว้ต่อกรมทะเบียนการค้าล่าสุดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ข้อมูลจึงยังไม่ชัดเจนว่า "โครงการบ้านนายพล" นั้นแท้ที่จริงแล้วได้มีการตั้งแท่นขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันวงในว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ ก็เป็นนักธุรกิจวิชาการคนหนึ่งที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ๆ และข่าวเรื่องการตั้งโครงการบ้านนายพลก็มีมานมนานตั้งแต่ปีที่แล้ว

หรือว่าการโอนกิจการบริษัทเคหภูมิจากกลุ่มดร.อำนวยมาเป็นกลุ่มวิชัยยังมีอะไรมากกว่าที่ปรากฎให้เห็นออกมา

แหล่งข่าวที่รู้เรื่องการเริ่มต้นโครงการบ้านนายพลดีคนหนึ่งพูดเป็นนัย ๆ กับ "ผู้จัดการ" ว่าเดิมทีเจ้าของโครงการฝ่ายเอกชนเสนอมาว่าส่วนที่จะขายให้แก่นายพลของกองทัพนั้นตกไร่ละ (หนึ่งแปลง) 800,000 บาท แต่ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกว่าเกินกำลังที่นายพลจะซื้อได้ วิชัยซึ่งเป็นผู้เสนอราคาขายเพียง 550,000 บาทต่อไร่จึงเข้ามาซื้อกิจการนี้ไป

ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน

แต่นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายที่ดินคนหนึ่งให้ข้อสังเกตอย่างน่าฟังว่าน่าจะเป็นการซื้อขายกิจการกันจริง ๆ เพราะดูจากลักษณะการทำธุรกิจของวิชัยแล้วไม่ปรากฎว่าเขาดำเนินธุรกิจในรูปแบบเป็นตัวแทนให้คนอื่น โดยที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของเองทั้งหมด เพียงแต่วิธีนี้เป็นวิธีการซื้อ-ขายที่ดินที่ประหยัดภาษีและค่าธรรมเนียมมากที่สุดเท่านั้นเอง กล่าวคือดูผิวเผินจะเหมือนกับการซื้อ-ขายที่ดินกันนั่นเองเพราะบริษัทไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจหรือสินทรัพย์อื่นเลยนอกจากที่ดินที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น

"วิธีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนและภาษีให้แก่กรมที่ดิน ซึ่งจะปรากฎเห็นกันมากในเมืองไทยในสองสามปีที่ผ่านมา" นักกฎหมายคนเดียวกันกล่าว

เนื้อที่โครงการบ้านนายพลทั้งหมดมากกว่า 3,000 ไร่ ในเขตมีนบุรีที่ติดกับตำบลลำลูกกาเลยโครงการเสมาฟ้าครามไปไม่มากนัก นับว่าเป็นโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้

ภายในโครงการประกอบด้วยสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม 72 พาร์ ระยะทาง 7,200 หลา บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่และสปอร์ตคลับที่กินเนื้อที่อีกถึง 60 ไร่ ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำ 2 สระแบบมาตรฐานโอลิมปิกและแบบธรรมดา สนามเทนนิส 10 สนาม สนามแบดมินตัน 6 สนาม ทั้งกลางแจ้งในร่ม สนามควอช 4 คอร์ตห้องสนุกเกอร์ ห้องอบซาวน่า สระน้ำวนสกีน้ำ วินด์เซิร์ฟ ศูนย์การค้าครบครันที่เปิดบริหารเฉพาะสมาชิกหมู่บ้านเท่านั้นนับเป็นเมืองสวรรค์ของผู้มีระดับโดยแท้ทีเดียว

นอกจากส่วนประกอบของโครงการที่กล่าวแล้ว พื้นที่ของโครงการถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนระหว่างส่วนที่จะขายให้แก่ประชาชนผู้มีระดับกับนายพลทั้ง 5 เหล่า

ด้านหน้าโครงการเนื้อที่ประมาณไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ ถูกออกแบบอย่างสวยงาม ด้านหน้าติดสนามกอล์ฟ ด้านหลังติดบึงน้ำจืดเกือบทุกแปลง ส่วนนี้จัดไว้ขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ด้านหลังตั้งแต่บริเวณสปอร์ตคลังเป็นต้นไป จนถึงท้ายสุดของโครงการเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ถูกแบ่งออกเป็นแลงละ 1 ไร่ จัดไว้ขายให้กับนายพลผู้ทรงเกียรติ โดยศูนย์ประสานงานที่ดินบ้านนายพลเป็นผู้จัดสรรให้แก่แต่ละเหล่ามากน้อยตามกำลังพลให้เป็นผู้จัดสรรกันเองอีกชั้นหนึ่ง

กองทัพบกซึ่งมีกำลังพลมากกว่าใครได้รับส่วนแบ่งไป 300 แปลง รองลงมาจัดสรรให้กับท่านนายพลในกองทัพเรือกับกองทัพอากาศเหล่าละ 100 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 100 แปลงแบ่งกันเหล่าละครึ่งระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุดกับนายพลของกรมตำรวจ

วิชัย กฤษดาธานนท์ บอกกับคนใกล้ชิดว่า เนื้อที่จำนวน 600 ไร่ที่เขาเสียสละให้กับกองทัพนั้น เขาต้องขาดทุนไปทันที 300 ล้านบาท ซึ่งคนในวงการที่ดินช่วยคำนวณให้ "ผู้จัดการ" ดูแล้วบอกว่าคงจะหมายถึงขาดทุนในส่วนกำไรที่เขาควรจะได้มากกว่าการขาดทุนจกาต้นทุนจริง ๆ

"ที่ดินที่เขาแบ่งขายให้กับนายพลในกองทัพตามโครงการนี้ตกประมาณแปลงละ (1 ไร่) 550,000 บาท รวมทั้งหมด 600 แปลงเขาก็จะได้เงินเฉพาะส่วนนี้ประมาณ 330 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าพอคุ้มทุนทั้งค่าที่ดินและค่าพัฒนา" ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินคนเดียวกันกล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามถ้านายพลท่านใดต้องการเป็นสมาชิกกอล์ฟด้วยแล้วก็จะต้องจ่ายค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 200,000 บาท (มีกำหนดอายุ 40 ปี) ต่อการซื้อที่ดินหนึ่งแปลงรวมเป็น 750,000 บาท

อย่างไรเสียก็ยังเป็นความสมน้ำสมเนื้อและสมประโยชน์ตามปณิธานของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ได้เปิดช่องทางให้นายพลซึ่งท่านเชื่อวามีน้อยคนนักที่จะมีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็อยู่บานหลวงในเวลานี้ได้มีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเองในราคาซื้อขาย พอที่ข้าราชการซึ่งมีชีวิตอย่างสมถะมาตลอดจนเกือบเกษียณอายุนั้นสู้ราคาได้

ทั้งนี้ วิชัย กฤษดาธานนท์ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารมหานครซึ่งมี เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกิจการเหล้าแม่โขง-หงส์ทอง และเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพมาก ๆ คนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยเปิดรับผ่อนชำระค่าบ้านจากท่านนายพลเป็นระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 12% ซึ่งโดยปกติเงื่อนไขการกู้เงินซื้อบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปนั้นจะกำหนดอายุของผู้กู้ต้องไม่เกิน 60 ปี เมื่อรวมระยะเวลาการผ่อนชำระเดือนละประมาณ 6,000-9,000 บาท

แม้ทางกฤษดานครจะบอกว่าขาดทุนทันทีถึง 300 บาท จากโครงการนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้กันว่าก็ได้รับกลับมาทันทีในเกียรติคุณสรรเสริญจากผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดในความเสียสละ

"โครงการที่ดินบ้านนายพลนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างจริงจังและจริงใจของ คุณวิชัย กฤษดาธานนท์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการบริษัท กฤษดานคร ซึ่งได้ทุ่มเทและยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้กับโครงกาที่ดินและบ้านแห่งนี้ น้ำใจไมตรีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคุณวิชัยในครั้งนี้จะจารึกอยู่ในความทรงจำของผมและพวกเราทุกคนตลอดไป" ถ้อยคำหวานส่วนหนึ่งในการกล่าวเปิดโครงการของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คุณค่าทางเกียรติยศเช่นนี้ยากยิ่งที่จะประเมินเป็นค่าเงินได้ ยังไม่รวมถึงชื่อโครงการบ้านนายพลซึ่งคงไม่มีใครจะใช้ชื่อเช่นนี้ได้อีกแล้ว และกำไรจากการค้าขายปกติจากส่วนที่เขาจัดไว้ขายให้แก่ประชาชนผู้มีระดับที่ใคร่จะเป็นเพื่อนบ้านกับท่านนายพลอีกนับไม่ถ้วน

เขาโฆษณาขายโครงการนี้ให้แก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ยังไม่มีการเปิดกันอย่างเป็นทางการ จากพื้นที่ทั้งหมดมีคนจองไปแล้วค่อนข้างมาก แม้ว่าจะขายในราคาที่สูงลิบลิ่ว

เนื้อที่อีกประมาณ 1,500 ไร่ บริเวณรอบ ๆ สนามกอล์ฟ และบึงน้ำจืดอันกว้างใหญ่ ทางกฤษดานคร แบ่งเป็นแปลงละหลายขนาดตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไปในสนนราคาตารางวาละ 1,200,000 บาทขึ้นไป ยังไม่รวมค่าสมาชิกกอล์ฟอีกต่างหากประมาณ 600,000 บาท

รวมรายได้ที่กฤษดานครจะได้จากโครงการนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 6,900 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการรับจ้างสร้างบ้านอีกในราคาสนนราคาหลังละ 2-20 ล้านบาท แล้วแต่ความชอบของผู้ซื้อว่าจะเลือกชอบแบบแพงแค่ไหนให้สมเกียรติ

กฤษดานครใช้คำว่า "บ้านนายพล" เป็นจุดขายจนบางครั้งก็ทำให้คนในกองทัพสยิวใจเหมือนกัน โดยเฉพาะการลงภาพแบบบ้านราคาเรือน 10 ล้านในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ 2 หน้าเต็ม ทำให้คนที่ไม่ทราบรายละเอียดเที่ยวถามใครต่อใครว่านายพลเมืองไทยที่รวยขนาดนี้เชียวหรือนี่

แต่คนในกองทัพที่รู้รายละเอียดดีก็ชี้แจงอะไรมากไม่ได้

"ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เราจะทำอะไรเขาได้ เขาเป็นผู้ลงทุนเราพยายามจะแตะต้องเขาให้น้อยที่สุดนะครับไม่ยุ่งไม่เกี่ยว บางครั้งก็ต้องยอม ๆ เขาไปบ้าง แต่ผมอยากจะให้ประชาชนเข้าใจความจริงว่าจริง ๆแล้วโครงการนี้ทั้งโครงการเราได้รับส่วนแบ่งมาขายให้เราเฉพาะที่ดินแปลงละไร่เท่านั้น ส่วนบ้านใครจะปลูกอย่างไรก็ตามแต่ฐานะของแต่ละท่านไปพูดก็พูดท่านเหล่านั้นไม่มีเงินขนาดจะสร้างบ้านกันคนละสิบล้านยี่สิบล้านหรอกครับ เว้นแต่บางคนมีเมียรวย "นายพลท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แบบติดตลกในตอนท้าย

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเรื่องนี้เล่าให้ฟังอีกว่าการเอาต้นฉบับคำกล่าวเปิดโครงการของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไปลงในเนื้อที่โฆษณาเมื่อไม่นานมานี้ทางกฤษดานครก็ทำไปโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าตัวมาก่อนตอนหลังจึงมีคนไปกระซิบบอก วิชัย กฤษดาธนานนท์ ไม่ให้เอาลงจึงหยุดไป

มันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ยากนัก ในเมื่อจุดขายของทางกฤษดานครนั้นคือ "หมู่บ้านของเหล่านายพล" ผู้ทรงบารมีมากล้นแต่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ทรงเกียรติด้านฐานะอย่างที่ใช้ในคำโฆษณาว่า "ผู้มีระดับ" เข้าไปเป็นเพื่อนบ้านท่านนายพลได้อย่างสมเกียรติ ซึ่งมีที่เดียวเท่านั้นในประเทศไทย

แต่ในความปรารถนาดีของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นั้นคนใกล้ชิดทุกคนเชื่อว่าเขามีความบริสุทธิ์ใจที่จะสรรหาสวัสดิการให้แก่กองกำลัง ซึ่งนอกจากบ้านนายพลแล้วยังจะมีสำหรับนายทหารระดับรองลงมาอีกเรื่อย ๆ แม้บางครั้งจะต้องสูญเสียความเป็นทหารลงไปบ้างท่านก็ต้องยอม

"อย่างที่ท่านกำชับมากก็คือ ท่านห่วงใยในปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนจึงมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการทุกอย่าง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นและขอร้องท่านทั้งหลายที่ซื้อไปแล้วก็อยาได้ขายให้แก่บุคคลอื่น ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องขายจริง ๆ เพราะรับภาระไม่ไหวก็ขอให้ขายคืนให้แก่กองทัพเพื่อกองทัพจะได้นำไปขายให้แก่นายพลคนอื่นที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเองต่อไป" พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์ พูดกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความระมัดระวัง

แต่แม้จะมีความพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ตามที่จะผสมผสานระหว่างธุรกิจ ซึ่งเคยมีแต่คำว่ากำไรเข้ากับคำว่าสวัสดิการ ซึ่งมีแต่เคยให้กันฟรี ๆ ให้ดูกลมกลืนที่สุดของนักการทหารที่ชื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กับนักธุรกิจอย่าง วิชัย กฤษดาธนานนท์

บางคนก็ยังอดไม่ได้ที่จะออกความเห็นบ้างว่าขุนศึกหรือจะสู้พ่อค้าได้ เพราะนี่มันคือสนามธุรกิจ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us