Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2532
ธุรกิจ "เหนือโลก" ของ ทักษิณ ชินวัตร             
โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 


   
search resources

ทักษิณ ชินวัตร
Telecommunications
TV




ชั่วเวลาเพียง 2 ปีหลังจากอำลาชีวิตตำรวจ ทักษิณ ชินวัตรสามารถก้าวทะยานมาเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว สินค้าของเขาหลายตัวคือภาพพจน์ของการแสวงหาและเริ่มต้นรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ ในเมืองไทย แม้ห้วงเวลานี้โดยแท้จริงคือระยะผ่านแห่งการสะสมบารมีและสายสัมพันธ์ แต่ถ้าเขาผ่านขวากหนามช่วงนี้ไปได้ เขาอาจไปเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด…..จับตาเขาไว้ให้ดี

"ผมเป็นคนราศีกันย์ ภาษาหมอดูเขาบอกว่าคนราศีนี้เป็นคนชอบทำการใหญ่" ทักษิณ ชินวัตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในงานเปิดตัว "เคเบิลทีวี" อีกธุรกิจหนึ่งที่เขาเป็นเจ้าของ

ทักษิณ ชินวัตร อายุ 41 ปี เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เติบโต และถูกหล่อหลอมมาในโลกที่แวดล้อมไปด้วยคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอันทันสมัย เขาซึมซับถึงความเจริญก้าวหน้านั้นและตระหนักว่า โลกในอนาคตคือโลกของคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่รุดหน้าโดยเฉพาะกับประเทศไทยซึ่งล้าหลังและมีช่องว่างมากมายที่จะให้เขากระโดดลงมาเล่น

ธุรกิจที่ทักษิณสร้างขึ้นหรือมีบทบาทเข้าไป ล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารแทบทั้งสิ้น ทั้งธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้การประมูลเข้าไปเป็นใบเบิกทาง และธุรกิจที่ทักษิณได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว ธุรกิจที่ว่านี้ นอกเหนือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเขาแล้ว ก็เป็นธุรกิจอื่นที่น่าสนใจไม่น้อย เช่น "เคเบิลทีวี" ที่ทักษิณพยายามผลักดันจนเปิดดำเนินการอย่างถูกกฎหมายเป็นคนแรก "บัสซาวน์" วิทยุบนรถเมล์, "เอส.โอ.เอส." เครื่องสื่อสารขอความช่วยเหลือจากตำรวจ, "ซิตี้คอลล์" วิทยุชาวบ้าน, "แพ็คลิ้ง" ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทักษิณก็เป็นตัวแทนของเอทีแอนด์ทีในการขอสัมปทานระบบ "ดาต้าคิต" จากองค์การโทรศัพท์ฯ ทั้งนี้ยังไม่รวมการเข้าไปมีบทบาทใน อ.ส.ม.ท. แบบหลังฉากอีกด้วย

ตระกูล "ชินวัตร" เป็นตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้บุกเบิกการค้าไหมอยางเป็นล่ำเป็นสัน และเติบโตเป็นบริษัทชินวัตรไหมไทย ที่มีกิจการค้าไหมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งขงประเทศ นอกจากนั้น ชินวัตรยังเคยเป็นกัมปะโดให้กับธนาคารนครหลวงไทยในอดีต เป็นเจ้าของกิจการและธุรกิจมากมายในเชียงใหม่ เช่น กิจการโรงเรียน กิจการโรงภาพยนต์ รถเมล์ ห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญตระกูลชินวัตรยังเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งโดยเฉพาะบริเวณบ้านสันกำแพง

คูชุ่นเส็ง เป็นต้นตระกูล "ชินวัตร" แต่ตระกูลนี้มาขยายตัวมากในรุ่นสองคือ เชียง ชินวัตร และพอในรุ่นที่สาม ตระกูลชินวัตรก็ยิ่งขยายตัวแตกกระจายมากขึ้น เพราะรุ่นลูกของเชียงมีด้วยกันหลายคน

พ่อเลี้ยงเลิศ ชินวัตรเป็น "ชินวัตร" อีกคนหนึ่งในรุ่นนี้ ซึ่งขยายบทบาทเข้าไปเล่นการเมืองด้วย เพราะพ่อเลี้ยงเลิศเคยเป็นส.ส.เชียงใหม่ เป็นเจ้าของธุรกิจในเชียงใหม่หลายประเภท เช่น บริษัทเฉลิมพลเดินรถ โรงภาพยนต์ชินทัศนีย์ โรงทอศรีวิศาล และเคยเป็นผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ พ่อเลี้ยงเลิศมีภรรยาชื่อยินดี และมีบุตรชายชื่อทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณสำเร็จการศึกษาจากมงฟอร์ดวิทยาลัย สอบเข้านักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 แต่แทนที่เขาจะได้เป็นทหารเขากลับไปสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 26 และจบออกมรติดยศนายร้อย ในปี 2516 ด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของรุ่น

ทักษิณออกมาเป็นผู้หมวดประจำกองกำลังการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. อยู่ได้ 6 เดือนก็ได้รับทุนจากกรมตำรวจในฐานะที่สอบได้ที่หนึ่งของรุ่น ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์น เคนตั๊กกี๊สหรัฐอเมริกา ที่นั่น ทักษิณเรียนได้ "เอ" ทุกวิชา และได้รับปริญญาโท M.S. (CRIMINAL JUSTICE) ในปี 2517 กลับมาติดยศ ร.ต.อ. เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนนายร้อยสามพราน หลังจากนั้นถูกดึงตัวไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ทำให้สัมผัสนักการเมืองมากมาย

ในเวลาเดียวนั้นเองทักษิณก็แต่งงานกับพจมาน ดามาพงศ์ลูกสาวของพลตำรวจโทเสมอ ดามาพงศ์ ซึ่งต่อมาทั้งคู่ได้มีส่วนสำคัญในชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก

ต่อมาทักษิณเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่แซมฮุสตันเสตท รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้รับ PH.D. (CRIMINAL JUSTICE) ในปี 2522

แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ เขาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์

ชีวิตหลังจากนั้น ทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้องคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจนในฐานะเป็นวิชาชีพ เขากลับมาเมืองไทยนั่งตำแหน่งรองผู้กำกับการศูนย์ประมวลข่าวกลาง (ศูนย์คอมพิวเตอร์) กรมตำรวจ จนเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรีในปี 2525 พอขึ้นปี 2527 เลื่อนยศเป็นพันตำรวจโท กระทั่งได้เป็นรองผู้กำกับนโยบายและแผนกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่พอมาปี 2530 เขาก็ลาออกจากชีวิตตำรวจ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจของเขาขยายตัวมากเกินกว่าที่จะเป็นงานพิเศษนอกเวลาไปแล้ว

ทักษิณเป็นตำรวจที่อยู่ในแวดวงคอมพิวเตอร์ ทำให้รับทราบความเคลื่อนไหวในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาทักษิณเริ่มทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ในปี 2526 ก่อนลาออกจากตำรวจ 4 ปีโดยการประมูลงานราชการสำคัญ ๆ สินค้าของเขาคือไอบีเอ็ม ว่ากันว่าในช่วงนั้นไอบีเอ็มกำลังประสบปัญหาที่วาไม่สามารถประมูลงานราชการได้เลย เพราะ "เข้าไม่ถึง" ระบบราชการแต่ทักษิณล้มล้างความล้มเหลวอันนี้ให้ไอบีเอ็ม และกลายเป็นตำรวจแทนจำหน่ายที่สำคัญในเวลาต่อมา

"ขายคอมพิวเตอร์มันไม่ต้องใช้เวลามาก ผมใช้ติดต่อโทรศัพท์เป็นหลัก และภรรยาผมเป็นคนดำเนินการ อีกอยางผมเลือกประมูลไม่กี่รายการ ปีหนึ่ง 3-4 รายการเท่านั้น" ทักษิณกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ทักษิณก็ยังร่วมประมูลในจำนวนครั้งเพียงเท่านี้

ในความเป็น "ชินวัตร" นั้นคือผู้ค้ากิจการผ้าไหมรายใหญ่ที่มีอายุยืนยาวกว่า 50 ปี แต่ทักษิณปฏิเสธที่จะทำธุรกิจนี้ ดูท่าทางเขาไม่ค่อยชอบธุรกิจนี้นัก แม้ว่าญาติผู้ใหญ่และพี่น้องของเขาจะทำธุรกิจนี้เกือบทุกคน มีเขาเพียงคนเดียวที่ออกมาอยู่นอกวงเขากล่าวอย่างขำ ๆ และสั่นศีรษะเล็กน้อย เมื่อรำลึกถึงความหลังว่าปู่บังคับให้พ่อของเขาลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาขายผ้าไหม

เท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจ พบว่าทักษิณมีธุรกิจอยู่ในเครือข่าย 11 บริษัท บางบริษัทมีบทบาทแท้จริง บางบริษัทตั้งไว้เฉย ๆ หรือรอดำเนินธุรกิจในอนาคต จำนวนบริษัทเท่านี้ ทักษิณก็ค่อนข้างจะไล่ไม่ถูกเหมือนกันเมื่อถูกตั้งคำถาม แต่บริษัทหลักของเขาจริง ๆ คือ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์และชินวัตรเทเลคอมมิวนิเคชั่น ส่วนบริษัทอื่น ๆ ก็เช่น บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้งดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวี, บริษัทซิสเต็ม เน็ทเวอร์ทำบัสซาวน์ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส ทำซิตี้คอลล์, บริษัทเซฟตี้ออร์เอร์ ซิสเต็ม ทำเครื่องเอส.โอ.เอส. บริษัทดิจิตอล เพจจิ้ง เซอร์วิสทำธุรกิจกับ ร.ส.พ.เป็นต้น นอกจากนั้นก็เป็นบริษัทที่ทักษิณกล่าวว่าเป็นธุรกิจเล็ก ๆ นอกเส้นทางที่เขาตั้งใจไว้ คือบริษัทยูเนียน เรียลเอสเตท ให้ขสมก.เช่าที่ดินทำอู่จอดรถที่หลักสี่, บริษัทพีทีคอร์เปอเรชั่น ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยเช่าที่ดิน, บริษัทวิดิโอลิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับฝรั่งช่วงแรกก่อนมาเป็นเคเบิลทีวี และห้างหุ้นส่วนจำกัดไอซีเอสไอ ซึ่งไม่ปรากฎชัดเจนว่าทำธุรกิจใด

ปัจจัยที่สามารถทำให้ทักษิณ ชินวัตรโดดเด่นและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้นมีด้วยกัน 3 ประการใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง - ความเป็นผู้นำด้านการตลาด สอง - การได้รับสัมปทานเพียงเจ้าเดียว สาม - สายสัมพันธ์

ในประการแรก เป็นความเฉลียวฉลาดของทักษิณที่รู้จักที่จะเลือกตัวสินค้ามาเสนอขาย โดยเฉพาะสินค้าหรือบริหารซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในสังคมที่กำลังพัฒนาไปสู่สังคมข่าวสารและข้อมูลมากเป็นลำดับ

ในความจริง ความเป็นผู้มาก่อนกาลของทักษิณเคยปรากฎนานแล้ว เมื่อเขากลับมาจากสหรัฐใหม่ ๆ เขาเตรียมทบโรงภาพยนต์ราชวัตรรามา ซึ่งเป็นมรดกที่เขาได้มาจากคุณพ่อเพื่อสร้างราชวัตรคอนโดมิเนียม ในยุคต้น ๆ ที่คนยังไม่ค่อยรู้จักคอนโดมิเนียมด้วยซ้ำว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ประสบปัญหาทางราชการห้ามก่อสร้างเนื่องจากจะกลายเป็นตึกสูงใกล้พระราชฐาน

แพ็คลิ้งที่แปซิฟิก เทเลซิส เอ็นจิเนียริ่ง นำเข้าในช่วงต้น ๆ ที่เริ่มปรากฏในเมืองไทยก็ผ่านมาโดยการร่วมทุนกับทักษิณ เพียงแต่ในช่วงหลัง ๆ ทักษิณเกิดแตกคอกับบริษัทดังกล่าว ด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏแต่ทักษิณกล่าวเพียงว่า ทนทำงานกับคนไทยในนั้นไม่ได้

เอทีแอนด์ทีนำเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ "ดาต้าคิต" มาเสนอขายองค์การโทรศัพท์ฯ ทักษิณก็รับเป็นตัวแทนจำหน่ายในนามของชินวัตรเทเลคอมมูนิเคชั่นและเข้าไปเจรจากับทศท.จนสำเร็จเมื่อไม่นานมาน้ ดาต้าคิตเป็นระบบการสื่อสารพร้อมเสียงและข้อมูลในเวลาเดียวกัน สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์ถึงกัน ซึ่งยังไม่มีใครทำในลักษณะนี้มาก่อนในไทย โดยทักษิณลงทุน 500 ล้านบาทเพื่อติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมกับคู่สายของทศท.บริการด้านการตลาด ประโยชน์ให้ทศท. 5 ปีแรก 10% ของรายได้ ปีที่ 6-7 เป็น 12% ปีที่ 8-10 เป็น 45% หลังจากนั้นจึงยกอุปกรณ์และสัมปทานคืนให้ทศท.

นั่นเป็นธุรกิจที่ทักษิณเป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย แต่ธุรกิจที่ทักษิณพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองที่น่าสนใจมี 4 ตัว ซึ่งในมุมมองนี้ "ผู้จัดการ" ให้ความสำคัญกับทักษิณในแง่ที่ว่า แม้ทักษิณจะไม่ใช่เป็นผู้ประดิษฐ์สินค้าหรือบริการนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกในโลก แต่ทักษิณเป็นผู้ค้นพบช่องทาง โอกาส และพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทยคนแรก และที่สำคัญมันเป็นที่ยอมรับและ "ขายได้"

"ผมเป็นคนชอบคิดในทางนี้ ผมเป็นคนชอบอย่างนี้ คืออะไรที่คนอื่นเขาทำกันแล้ว ผมก็พยายามคิดอะไรที่คนอื่นเขายังไม่ทำ" ทักษิณเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงลักษณะเด่นทางธุรกิจของเขา

สืบเนื่องมาจากแพ็คลิ้งและเพจจิ้งทำให้ทักษิณเริ่มตระหนักว่า "คลื่นความถี่วิทยุ" นั้นมีความสำคัญในแง่ของธุรกิจอย่างไร ทักษิณจึงเริ่มมาใช้กับบัสซาวน์อีกครั้ง

บัสซาวน์เป็นธุรกิจที่มาจากการติดต่อของประมุท สูตะบุตรอดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ซึ่งได้รับการติดต่อจากขสมก.ให้ไปช่วยทำวิทยุบนรถเมล์ให้ ซึ่งเป็นช่วงที่สมัคร สุนทรเวชเป็น รมต.คมนาคมอยู่พอดี ทักษิณจึงเข้าไปทำในปี 2530 หลังจากรอเรื่องอนุมัติอยู่นาน เขาลงทุนไปประมาณ 20 ล้าน แต่ถูกยับยั้งจากบว.เพราะคลื่นที่ทักษิณใช้นั้นเป็นคลื่นเอสซีเอซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน และเป็นคลื่นแทรกที่ควบคุมไม่ได้อันจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

แต่ไม่นานบัสซาวน์ก็กลับมาได้อีกด้วยการอ้างสถิติความต้องการของประชาชนที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่าประชาชนต้องการให้ติดตั้งบัสซาวน์ในรถเมล์สูงถึง 90%

แม้จะมีเรื่องวุ่นวายในช่วงต้นในเรื่องผู้จัดทำรายการและผู้หาโฆษณา ทักษิณก็ฟันฝ่ามาได้จนถึงวันนี้ และกล่าวอย่างสบายอารมณ์ว่า "รายได้ดี ๆ " โดยตามเป้าหมาย ทักษิณมีสัญญาทั้งสิ้น 5 ปี ต้องจ่ายให้กับขสมก.เดือนละ 1 แสนบาท

เอส.โอ.เอส.เป็นธุรกิจเอกเทศของทักษิณเองที่ใช้ชื่อดำเนินการโดยบริษัทเซฟตี้ ออร์เดอร์ ซิสเต็ม เอส.โอ.เอส. เป็นเครื่องมือเรียกความช่วยเหลือจากตำรวจ เป็นธุรกิจที่ต้องสร้างเครือข่ายกับกรมตำรวจอย่างแน่นหนาจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ ในช่วงแรกการตลาดของเอส.โอ.เอส.ไม่เฟื่องนัก จนได้บริษัทที.เอส.อีคอมมูนิเคชั่นของกำพล วัชรพลมาช่วยการตลาดให้เอส.โอ.เอส จึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่บูมมาก ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

"ซิตี้คอลล์" หรือวิทยุชาวบ้านที่ทักษิณกล่าวว่า เขาศึกษาตัวอย่างมาจากญี่ปุ่น และพบว่าประการแรก มันช่วยแก้ปัญหาวิทยุเถื่อนที่ประชาชนลอบใช้ ประการที่สอง มันเป็นตัวสอดแทรกระหว่างแพ็คลิ้งกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในตัวมันเองขณะที่แพ็คลิ้งสามารถส่งเพียงสัญญาณ แต่ไม่สามรถสนทนากันได้ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็กำลังประสบปัญหาช่องสัญญาณไม่ว่าง ทักษิณจึงมาเสนอซิติ้คอลล์แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย

ทักษิณเสนอเรื่องนี้ไปในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรมซึ่งมีสุรพันธ์ ชินวัตร อาของเขาเป็นรมช.คมนาคม จึงถูกโจมตีมากว่า ทักษิณใช้เส้นสายเพื่อผูกขาด และรัฐมนตรีพรรคชาติไทยเตรียม "ทิ้งทวน" ก่อนลงจากตำแหน่ง ด้วยกระแสการเมืองเรื่องนี้จึงถูกพับไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อย่างหนักหน่วง

"เคเบิลทีวี" เป็นธุรกิจอีกตัวหนึ่งที่อาจนับเป็นตำนานคลาสสิกของทักษิณก็ว่าได้ เพราะทักษิณต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการเป็นเวลาเกือบ 6 ปีกว่าเคเบิลทีวีจะเกิดขึ้นมาได้

แต่เดิมเรื่องนี้มาจากประมุท สูตะบุตร คนโตจากอ.ส.ม.ท.อีกเช่นกัน ประมุทไปชวนวิลเลียมมอนเซน จากบริษัทเคลีย์วิว อินเตอร์เนชั่นแนลสหรัฐอเมริกามาลงทุนทำเคเบิลทีวีในเมืองไทยตั้งแต่ราวปี 2525 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีเสียงคัดค้านเนื่องจากเป็นของใหม่ ทางคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาโดยรอบคอบ ต่อมาประมุทก็แนะนำให้มอนเซนรู้จักกับทักษิณ ชินวัตร ในปี 2528 โดยหวังว่าทักษิณจะสามารถช่วยเหลือโครงการนี้ผ่านออกมาได้

แม้ทางทักษิณจะสามารถขอคลื่นความถี่วิทยุมาได้แล้วก็ตาม เรื่องก็ถูกดองไว้อีกในสมัย รมต.ชาญ มนูธรรม ทักษิณพยายามผลักดันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนมีเสียงพูดกันว่าทักษิณเบื่อหน่ายเรื่องนี้มาก และมีแนวโน้มอาจจะเลิก ขณะเดียวกันทาง อ.ม.ส.ท.ก็ได้รับการติดต่อให้รับโครงการนี้ต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จอีก เรื่องนี้เงียบไปนานจนกระทั่ง เฉลิม อยู่บำรุง มาคุม อ.ส.ม.ท. นั่นแหละเคเบิลทีวีจึงฟื้นขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็ว โดยมีทักษิณเป็นผู้ได้รับสัมปทานไป

แต่เรื่องนี้คนที่แค้นมากที่สุดคือวิลเลียม มอนเซนเขาตำหนิทักษิณอย่างรุนแรงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอย่างสาหัสสากรรจ์ เพราะเขาคิดว่าเขาควรมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการนี้ต่อไปด้วย ในฐานะผู้เริ่มต้นแต่แรก ไป ๆ มา ๆ ทักษิณได้ไปคนเดียว รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องส่งที่มอนเซนอ้างว่ามีมูลค่า 5 ล้านบาท มอนเซนลงไป 2 ใน 3 ส่วน แต่ทักษิณกลับนำกลังตำรวจไปบุกออฟฟิศนำอุปกรณ์เหล่านั้นไปแถมยังฟ้องลูกน้องมอนเซนในข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็นความกันอยู่

ขณะเดียวกันทักษิณโต้ว่า สาเหตุที่เขาไม่ยอมสังฆกรรมกับฝ่ายมอนเซนเป็นเพราะตกลงในเรื่องการลงทุนไม่ได้ ทักษิณรู้สึกว่ามอนเซนเอาเปรียบและไม่มีหลักประกันที่น่าเชื่อถือ

"ตอนแรกที่ร่วมงานกัน เราก็ยอมเขา ตอนหลัง คุยกันยากเราะนึกว่าเพราะนึกว่าเราไม่เป็น เขาพยายามเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ผมก็บอกผมทำเอง แต่ให้เขาป้อนอุปกรณ์และโปรแกรม ก็ตกลงกันไม่ได้อีก เพราะเขาไม่มีหลักประกันอะไร ผมถามเขาว่า เขาเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุน เขาก็บอกว่ามาจาก PRIVATE INVESTOR ซึ่งในเมืองไทยเราเรียกว่า แลกเช็ค แล้วผมทำสัญญากับ อ.ส.ม.ท. ค้ำประกันตั้งร้อยกว่าล้าน แล้วถ้าเขาหนี ผมไม่ตายหรอก อีกอย่างสัญญากับ อ.ส.ม.ท.ก็ไม่ยอมให้ผมทำ SUBCONTRACT กับคนอื่นด้วย สรุปคือ หนึ่ง สัญญากับ อ.ส.ม.ท.ห้าม SUBCONTRACT ทำเองทั้งหมด เขาให้ผมแค่ 1.5% เท่านั้น" ทักษิณ โต้ตอบแบบร่ายยาว นอกจากนี้ แม้ทักษิณจะได้รับอนุญาติให้ดำเนินการได้ แต่ทางคุณหญิงสุพัตรามาศดิตถ์ รมต.สำนักนายกฯ ก็คัดค้านเรื่อยมา อีกทั้งคนในกระทรวงคมนาคมก็กล่าวว่า เรื่องนี้มันผิดขั้นตอนกันไปหมด ตั้งแต่เมื่อมติครม.ที่ว่าให้เปิดเคเบิลทีวีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่เอาเข้าจริงคำว่า "นักท่องเที่ยว" ก็ถูกตีความกว้างไปถึงตามบ้านเรือนทั่วไปอีกทั้ง ททท.ก็ไม่ได้มีแผนอะไรชัดเจน เรื่องกฎกระทรวงก็ยังไม่ได้ออกมาควบคุมอย่างชัดเจน

"เรื่องส่งเสริมต้องการอะไรก็บอกมา เราจะให้ใช้เวลาโดยไม่คิดว่าตอบแทนแล้วเรื่องเคเบิลทีวีก็ไม่ต้องผ่านกบว.อนุมัติหรอก เพราะเป็นไปตามมติครม. ปี 2529 และ 2532 และกฎกระทรวงที่จะออกมา 9 ฉบับนั้น ผมก็ดำเนินการไปตามนั้นอยู่แล้ว แม้จะยังไม่ออกมาเป็นทางการก็ตาม ในกฎกระทรวงบอกว่า ให้เซ็นเซอร์โดยกรมตำรวจ ก็มีแล้ว ให้มีผู้อำนวยการสถานีก็มีแล้ว คุหญิงสุพัตราไม่ได้ค้านว่าไม่ให้มีหรอก แต่ท่านอยากให้กบว.ควบคุม แต่คำถามก็คือ สถานีนี้เป็นของเอกชนหรือไม่ ไม่ เป็นของรัฐบาลใช่ไหม ใช่ เป็นของ อ.ส.ม.ท. หรือไม่ใช่ และ อ.ส.ม.ท.มีสิทธิ์ทำธุรกิจไหม มีและถามว่ามีการควบคุมโปรแกรมไหม ก็ควบคุม ควบคุมโดยอะไร ก็ควบคุมโดยกฎกระทรวงที่คุณหญิงเป็นคนร่างเองนั่นแหละ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถามว่าจะเอาอะไรกันอีก" ทักษิณ กล่าวอย่างเบื่อหน่าย

ซึ่งผลการต่อสู้ของทักษิณก็คือ เคเบิลทีวีเริ่มดำเนินการเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาเฉพาะตามโปรแกรม และตามบ้านก็เริ่มในเดือนตุลาคม

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ทักษิณสร้างขึ้นมา อาจจะเป็นธุรกิจที่บางคนคาดไม่ถึง ทุกตัวจะมีลักษณะเหมือนกันคือ ใช้ "คลื่นความถี่วิทยุ" ซึ่งต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติหรือกบว. ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะนำไปสู่ธุรกิจได้มากมายเท่าทักษิณได้ค้นพบ ซึ่งข้อนี้เองที่เป็นคุณสมบัติที่ได้เปรียบของทักษิณที่สำคัญมาก ๆ

ทักษิณจะหัวเราะทุกครั้งที่มีคนพูดว่า เขาเป็น "เจ้าพ่อคลื่นวิทยุ"

"ก็พวกหนังสือพิมพ์นั่นแหละตั้งให้ผม" ทักษิณกล่าวแต่ดูเหมือนจะในยุคปัจจุบันก็ยังไม่ใครค้นพบทรัพยากร และนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้มากมายเช่นเขา

ปัจจัยประการที่สอง ของความสำเร็จของทักษิณคือ การได้รับสัมปททานแต่เพียงผู้เดียวในธุรกิจที่เขาลงไปทำเป็นส่วนใหญ่ซึ่งหลายคนสรุปง่าย ๆ ว่า เขาพยายามใช้เส้นสายเข้าไป "ผูกขาด"

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทักษิณได้รับการโจมตีมากที่สุด แต่ก็เป็นลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของธุรกิจของเขาเช่นกัน โดยสังเกตได้เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เขาเป็นผู้บุกเบิก หรือแม้แต่ธุรกิจที่เขาเป็นนายหน้า เช่น ดาต้าคิต ก็เป็นลักษณะสัมปทานเช่นกัน

กรณีบัสซาวน์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดจะทำแข่งด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่ามันไม่คุ้มกับการลงทุน หรือต้องใช้เวลานานมากในการคืนทุน กับโดยลักษณะการบริหารงานกิจการรถเมล์ก็เป็นลักษณะผูกขาดโดยขสมก.อยู่แล้ว จึงไม่ต้องคิดเรื่องแบ่งโซนกันทำวิทยุบนรถเมล์ให้เปลืองสมอง

"บางทีก็ไม่ใช่เรื่องสัมปทานหรือผูกขาดโดยชัดเจนหรือเจตนา อย่างเช่น เรื่องเอส.โอ.เอส ใครเขาจะกล้าสู้คุณทักษิณคนที่มาแข่งจะต้องฝ่าด้านอะไรบ้างก็คิดดู อย่างแรกต้องขออนุมัติจากกบถ. (คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุ) ขอคลื่นมาให้ได้เสียก่อน ต้องสร้างเครือข่ายการประสานงานกับตำรวจให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แล้วยิ่งตอนนี้ เขาให้ไทยรัฐมาช่วยด้านการตลาด แค่นี้คุณก็จะเอาอะไรมาสู้" แหล่งข่าวในวงการสื่อสารให้ความเห็น

กรณี "ซิตี้คอลล์" เป็นกรณีที่ทักษิณไม่พออกพอใจมากที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาพยายามผูกขาดธุรกิจนี้เพียงคนเดียว

"อ้างเหตุผลไม่ให้ผมเข้ามาว่าเป็นเรื่องความมั่นคง แล้วที่เป็นทุกวันนี้คือคนมีความต้องการใช้วิทยุแบบนี้เยอะ คนก็ต้องเอาวิทยุเถื่อนเข้ามา เก็บภาษีก็ไม่ได้ ใต้โต๊ะกันมั่ง ใช้ประโยชน์กันไม่ได้ เพราะคลื่นมันแทรกเข้าไปในคลื่นทหาร ตำรวจ ก็ดักฟังกัน แล้วแบบนี้ไม่เรียกความมั่นคงหรือ พอผมพยายามทำให้มันถูกกฎหมาย ก็อ้างเรื่องความมั่นคง หากว่าผมเข้ามาคนเดียวตอนที่ผมคิด ทำไมไม่รู้จักคิดกัน คุณคิดกันซิ คิดมาแล้วประกาศออกมาซิ แล้วผมจะเข้าประมูลด้วย แล้วที่นี้พอผมคิดแล้ว ผมพาผู้ใหญ่ไปดูงานต่างประเทศ พอเห็นด้วยก็บอกว่าให้เอามาประมูล แล้วอย่างนี้มันถูกที่ไหน" ทักษิณกล่าวอย่างแค้นเคือง

พอถึงเวลานี้ เรื่องแต่ครั้งก่อนสงบลง "ซิตี้คอลล์" ก็ได้รับการรื้อฟื้อขึ้นมาใหม่ โดยมีเสียงทักท้วงน้อยมาก และดูเหมือนว่าทักษิณจะมั่นใจว่า ในเร็ววันนี้จะผ่านการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมอย่างแน่นอน

"อะไรที่มันใหม่เกินไป ก็ต้องพยายามทำให้คน่เข้าใจ บางครั้งต้องมีคนมองทั้งแง่ลบและแง่บวก มันต้องใช้เวลาสักพักถึงจะเข้าใจ" ทักษิณกล่าว ซึ่งนับเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของเขาคือใจเย็น อดทน รอคอย และมองโลกในแง่ดี เพราะธุรกิจของเขาล้วนต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น

กรณีเคเบิลทีวี ก็ดูเหมือนว่า หลังจากที่ทักษิณต่อสู้มาหลายปี ท่ามกลางเสียงทักท้วงตลอดเวลา แม้เวลานี้ก็ตาม ทักษิณก็เชื่อว่าจะไม่มีคู่แข่งโดยตรงในธุรกิจนี้ หรือมีบริษัทอื่นได้รับสัมปทานทำนองนี้อีก

ทักษิณให้เหตุผลในเชิงเทคนิคว่า กบถ. จัดสรรคลื่นมา 5 ความถี่ก็จริง เขาได้มาสามคลื่น ซึ่งก็เพียงพอแล้ว เพราะอีก 2 คลื่นจะไม่มีการให้คนอื่นเพราะจะเป็นการแทรกคลื่นกันไปภายหลัง เช่น เขาได้คลื่นหมายเลข 1, 3, 5 คลื่น และ 2 และ 4 ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะต้องเว้นระยะเพื่อไม่ให้คลื่นรบกวนกัน

อีกประการหนึ่งทักษิณอ้างมติครม.ที่ให้อ.ส.ม.ท.เป็นผู้ดูแลกิจการเคเบิลทีวีซึ่งแน่นอน และในแง่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจก็ไม่เอื้ออำนวยให้รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นทำธุรกิจประเภทนี้เพราะมี อ.ส.ม.ท. คอยควบคุมดูแลอยู่แล้วดังนั้นโดยการตีความของทักษิณเอง ธุรกิจเคเบิลทีวีจึงควรดำเนินการโดยบริษัทของเขาเพียงผู้เดียวภายใต้การปกป้องคุ้มครองจาก อ.ส.ม.ท.

ทักษิณกล่าวว่า ที่เขาเปิดตัวธุรกิจใหม่ ๆ มากมายในช่วงนี้ไม่ใช่เป็นการขยายตัว แต่เป็นเพราะเป็นเรื่องที่ขอมานานแล้วแต่อนุมัติมาในช่วงนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี ซึ่งเขากล่าวว่า มาพร้อม ๆ กันแบบนี้เขาเหนื่อยมาก แต่สายตา "ผู้จัดการ" แล้วเขาอาจจะเหนื่อยมากในการทำตลาดช่วง 5 ปีแรก แต่หลังจากนี้คือช่วงแห่งการเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ยาวนานเป็นสิบยี่สิบปีทีเดียว

ปัจจัยประการที่สาม คือ สายสัมพันธ์ ทักษิณกล่าวว่าเขาเป็นคนมีเพื่อนมาก

"ในสังคมไทย การรู้จักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่รู้จักกันต่างหากเป็นเรื่องผิดปกติ" ทักษิณกล่าวเปรียบเทียบให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

หน่วยงานที่เขาย่อมต้องมีสายสัมพันธ์ค่อนข้างดีคือ คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติหรือ กบถ. หน่วยงานนี้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้หน่วยงานรัฐและเอกชนไปใช้ เพราะคลื่นความถี่วิทยุก็เหมือนแนวถนนที่ต้องมีการวางแนว ปักกันเขตให้ชัดเจน เพื่อมิให้มีการล้ำแดนหรือเกิดคลื่นแทรกกัน บทบาทในการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ครอบคลุมคลื่นความถี่สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ วิทยุสื่อสารตำรวจวิทยุมือถือที่ได้รับอนุญาต วิทยุสื่อสารของเอกชน เช่น หนังสือพิมพ์ - ธุรกิจเอกชนใหญ่ ๆ รวมไปถึงแพ็คลิ้ง, เคเบิลทีวี, เอส.โอ.เอส., บัสซาวน์, ซิตี้คอลล์ เป็นต้น

กบถ.ประกอบด้วยคณะกรรมการ 12 คน ที่สำคัญคือรมต.คมนาคมเป็นประธาน รมช.คมนาคมเป็นรองประธาน หลายปีมานี้ ส.ส.จากพรรคชาติไทยมาคุมกระทรวงนี้สม่ำเสมอ ช่วงหนึ่งสุรพันธ์ ชินวัตรเคยเป็นรมช.และดูแลกบถ.อยู่ ซึ่งมีเสียงค่อนแคะไปถึงทักษิณว่า "อาย่อมต้องช่วยหลาน"

"ความเป็นชินวัตรไม่ได้ช่วยอะไรผมเลย ตอนที่อาของผมเป็นรมช. งานของผมก็ติดขัดไปหมด ผมกับอาไม่ได้มีธุรกิจเกี่ยวข้องกัน" ทักษิณมักย้ำคำนี้เสมอ

แต่เป็นที่รู้กันว่า เรื่องเคเบิลทีวีนั้น ที่เฉลิมให้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้งของทักษิณเป็นผู้รับสัมปทานไปเพราะมักจะกล่าวอ้างเสมอว่า บริษัทนี้ได้เคยลงทุนไปมากแล้ว และเป็นบริษัทเดียวที่มีคลื่นพร้อมสำหรับดำเนินการได้ทันที

ทั้งที่ในช่วงที่เฉลิมออกโรงมาหนุนทักษิณนั้น ก็ยังมีความสับสนอยู่ในกบถ.บางคน เพราะในสมัยรัฐบาลเปรมที่ยับยั้งเคเบิลไปแล้ว ก็มีการตีความว่า คลื่นที่ขอไว้เพื่อการนี้น่าจะยับยั้งไปด้วยเรื่องต้องนับหนึ่งกันใหม่ เจ้าหน้าที่บางคนถึงกับกล่าวว่าทักษิณจะกล่าวอ้างเรื่องนี้อีกไม่ได้ แต่ก็ไม่มีการท้วงติงเป็นเรื่องเป็นราวจนมติครม.อนุมัติให้ดำเนินการได้ ซึ่งอ.ส.ม.ท.และทักษิณก็ถือมติครม.นี้เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างเสมอมาและคลื่นความถี่ที่กบถ.ชุดล่าสุดอนุมัติให้อ.ส.ม.ท.ใช้กับเคเบิลทีวี 3 คลื่น ก็เพิ่งอนุมัติอย่างแท้จริงสิ้นสงสัย 10 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง

ธุรกิจอื่น ๆ ของทักษิณก็ใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นหลักเกือบทุกตัว กบถ.จึงเปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรที่มีค่าแต่ไม่ใครมองเห็น มีก็เพียงทักษิณเท่านั้นที่จับทิศทางของมันได้ ดังนั้นทักษิณจึงต้องมีความใกล้ชิดกันกรรมการกบถ.เป็นธรรมดากรรมการคนหนึ่งของบกถ.คือ ไกรสร พรสุธี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารความถี่วิทยุ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้มานานถึง 10 ปีรู้คุณค่าและประโยชน์ของคลื่นความถี่วิทยุนี้ดีต่อมาเขาถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจการประจำกระทรวง แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ อ.ส.ม.ท. ชุดล่าสุด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงสนับสนุนจาก ทักษิณ ชินวัตร

ประยูร จินดาประดิษฐ์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทักษิณอยู่มากประยูรสนิทกับตระกูล "ชินวัตร" ตั้งแต่ตัวเองอยู่ฝ่ายตรวจสอบของธนาคารชาติ เพราะประยูรเดินทางไปตรวจสอบธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ ซึ่งมีพอ่เลี้ยงเลิศ พ่อของทักษิณเป็นผู้จัดการ และต่อมาทักษิณก็มาเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทยช่วงที่ประยูรเป็นกรรมการผู้จัดการ ด้วยความผูกพันนับถือเป็นพ่อทักษิณจึงเชิญประยูรมาเป็นประธานกรรมการบริษัทเซฟตี้ ออร์เดอร์ซิสเต็ม

ประยูรกล่าวถึงทักษิณอย่างชื่นชมมากว่า ทักษิณ เป็นคนหนุ่ม ที่ฉลาดมาก และในสมองของทักษิณจะต้องคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา

"คุณคอยดูเขาให้ดีเขาจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้นำธุรกิจด้านการสื่อสารในเมืองไทยในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้านี้" ประยูรกล่าวถึงทักษิณอย่างเชื่อมั่น แสดงถึงหลักประกันให้แก่ทักษิณอย่างเต็มที่

ในงานเปิดตัวเครื่องเอส.โอ.เอส.เมื่อไม่นานมานี้ มีพลตำรวจเอกเภา สารสิน เป็นประธานและที่สำคัญกว่านั้นป๊ะกำพล วัชรพลเจ้าของไทยรัฐก็มาด้วยในฐานะประธานบริษัทที.เอส.อี.คอมมูนิเคชั่น ซึ่งรับจัดจำหน่ายและทำการตลาดให้เอส.โอ.เอส.

บางกระแสกล่าวว่า การสร้างสายสัมพันธ์กับป๊ะกำพลนี้ผ่านทางประยูร จินดาประดิษฐ์ แต่ทักษิณกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่เขารู้จักกับยุวดี บุญครอง ซึ่งคุมโฆษณาไทยรัฐเมื่อทักษิณทำบัสซาวน์ บริษัทมีเดียออฟมีเดียของยุวดีก็เป็นโบรกเกอร์หาโฆษณาให้ในระยะแรก แต่มาเลิกในภายหลังเพราะทักษิณต้องการจัดระบบการทำงานใหม่ในบัสซาวน์ เมื่อยุวดีมาอยู่ไทยรัฐแรงผลักดันที่จะดึงทักษิณเข้ามาร่วมธุรกิจจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกมากสำหรับไทยรัฐ ที่รับเป็นฝ่ายตลาดให้กับสินค้าที่ตนเองไม่คุ้นแบบนี้มาก่อน

การสร้างสายสัมพันธ์กับ "ไทยรัฐ" เป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคต ใคร ๆ ก็ย่อมรู้

ประมุท สูตะบุตรอดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นคนเก่งและเป็นคนที่รวดเร็วมากในการคิดวางแผนโครงการใหม่ ๆ เมื่อมาพบกับทักษิณจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมมาก ประมุทเป็นคนคอยเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจหลายอันให้ทักษิณ เช่น เคบิลทีวีและบัสซาวน์ ความสนิทสนมนี้ ทำให้ทักษิณเข้านอกออกใน อ.ส.ม.ท. ได้อย่างคุ้นเคย ทั้งในฐานะคนรู้จักผู้บริหารทุกระดับและคนค้าขายกับ อ.ส.ม.ท. ความสนิทสนอมเลยผ่านมาจนถึงยุคเฉลิมเรืองอำนาจ ทักษิณเป็นตัวเก็งคนหนึ่งที่จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.คนใหม่ แต่ทักษิณปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. สู้ทำการค้ากับ อ.ส.ม.ท.ไม่ได้ และที่สำคัญตาม พ.ร.บ. ห้ามผู้มีธุรกิจคล้ายคลึงกับ อ.ส.ม.ท.มาเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร อ.ส.ม.ท.

แต่ในช่วงที่ราชันย์ ฮูเซ็น เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ถึงกับมีการนินทากันว่า ผู้อำนวยการอ.ส.ม.ท.ตัวจริงคือทักษิณ จะติดต่อขอช่วงเวลา ขอรายการไม่ว่าโทรทัศน์หรือวิทยุให้ติดต่อได้ที่ทักษิณ

เฉลิม อยู่บำรุงเป็นอีกสายสัมพันธ์หนึ่งที่ทำให้ทักษิณสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในเรื่องเคเบิลทีวี เฉลิมหนุนแทบสุดตัวจนคิดว่าทักษิณเป็นคนของพรรคมวลชน แต่โดยแท้ที่จริงต้องตระหนักว่าทักษิณเป็นนักธุรกิจ สิ่งสำคัญคือไม่ควรไปผูกติดกับนักการเมืองคนใดหรือพรรคใดมากเกินไปเป็นอันขาด

ดังนั้นในช่วงมื้อเที่ยงของบางวัน หลายคนอาจจะมีโอกาสได้พบทักษิณ ชินวัตรที่ห้องอาหาร EMPRESS ในโรงแรมปริ๊นเซสกับปองพล อดิเรกสาร บางวันกับเฉลิม อยู่บำรุง นอกจกนี้ความสัมพันธ์แบบง่าย ๆ ก็เริ่มต้นได้กับนักการเมืองคนอื่น ๆ ณ ห้องอาการแห่งนั้นได้เช่นกัน

ความที่เขาเป็นเขยตระกูล "ดามาพงศ์" ก็ถูกเพ่งมองอยู่ไม่น้อย และเชื่อมโยงไปได้หลายระดับ ความสัมพันธ์นี้ไม่ชัดเจนนัก และไม่มีความจำเป็นที่ "ผู้จัดการ" จะต้องพิสูจน์ มีเพียงแค่ครั้งหนึ่งช่วงที่ทักษิณเซ็งสุดขีดกับเคเบิลทีวี อยากจะขายให้กับอ.ส.ม.ท.ไปให้หมดเรื่องหมดราว จิรายุ อิศรางกูร รมต.สำนักนายกฯ ขณะนั้นซึ่งต่อมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคนติดต่อประสานงานไปทางบุญเสริม วีสกุล รักษาการ ผอ.อ.ส.ม.ท.

ในท่ามกลางกระแสการเมือง ทักษิณถูกคัดค้านเรื่องเคเบิลทีวีอย่างหนักจากคุณหญิงสุภัตรา มาศดิตถ์ รมต. ซึ่งดูแลกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อถามว่าคุณหญิงคัดค้านเขาด้วยสาเหตุใด ทักษิณจะทำหน้างอน ๆ แหงนหน้ามองฟ้าแล้วตอบห้วน ๆ ว่า "ไม่รู้"

"ไม่รู้เป็นอะไร การเมืองมายุ่งทุกครั้ง แต่ตอนนี้ผมไม่ห่วงผมไม่เล่นการเมือง คือคนเราก่อนจะค้าน ต้องจิตให้ว่าง และพิจารณาเฉพาะเรื่องนั้นจริง ๆ อย่ามามองหน้าผม แล้วพิจารณาว่าเรื่องนี้เหมาะสมไหม อย่ามองหน้าผมว่าผมเป็นใคร และข้างหลังมีใครบ้าง" ทักษิณขอความเห็นใจ

หากใครได้มีโอกาสพบกับทักษิณ จะรู้ทันทีว่าทักษิณเป็นคนอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง แต่งกายดีมาก ๆ สูบไปป์ในบางโอกาส

เขาย้ำหลายครั้งว่า เขาเป็นคนมีเพื่อนมาก ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่าย ๆ และเขายังกล่าวด้วยว่า เขาเป็นคนเผชิญกับทุกสิ่งได้แบบ "ไม่มีปัญหา"

"ผู้จัดการ" ถามเขาว่า เท่าที่ทำโครงการมาทั้งหมด ชอบโครงการไหนมากที่สุด เขาตรึกตรองอยู่นานมากก่อนกล่าวว่าเขาเป็นคนเบื่อง่าย แต่ถ้าตอนนี้ก็คงต้องเป็น เคเบิลทีวี

ขณะนี้ทักษิณลงเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านสำหรับโครงการเคเบิลทีวี และค่าโปรแกรมอีกเดือนละ 4-5 ล้าน มีบางคนกล่าวว่า เคเบิลทีวีจะจำกัดตลาดเพียงแต่ตลาดระดับสูงหรือผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น และก็ไม่มีโฆษณา มีรายได้จากแค่ค่าบอกรับเป็นสมาชิก โดยสมาชิกประเภทโรงแรมเดือนละ 150 ต่อห้อง ส่วนสมาชิกตามบ้านเดือนละ 600 บาท

"อย่าประมาทโครงการนี้ มันก็คือสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นั่นแหละ อ.ส.ม.ท. เคยประเมินว่าโครงการนี้จะคุ้มทุนในช่วงแค่ 3 ปี ต่อจากนั้นคือกำไร ในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้คือเงินจำนวนมหาศาล…มหาศาลมาก" คนในวงการย้ำ

นอกจากนี้ต้องพิจารณาว่า ทักษิณได้สัมปทานโครงการนี้ถึง 20 ปี ความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชาชนยอมรับในวงกว้างมากที่สุดย่อมเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงรายได้อีกไม่รู้เท่าไร

"ความได้เปรียบของเคเบิลทีวีในอนาคตคือ ประชาชนจะไม่รู้สึกถูกยัดเยียดรายการทางทีวีเช่นเขารู้สึกทุกวันนี้ แต่เขาจะมีโอกาสเลือกรายการดีที่เขาอยากจะดูได้มากขึ้น พูดในแง่หนึ่งมันก็เป็นเสรีภาพในการรับรู้ แต่ทั้งนี้มันขึ้นกับว่าเคเบิลทีวีต้องมีรายการที่ดี ๆ ป้อนสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร ถ้ามีเงิน" คนในวงการทีวีให้ความเห็น

เรื่องเงินนั้นไม่ใช่ปัยหาสำหรับทักษิณอย่างแน่นอน มีบางคนกล่าวว่า ขณะนี้ทักษิณมีฐานะดีมาก ๆ เฉพาะแค่เงินที่ได้จากการประมูลต่าง ๆ ผลตอบแทนจาการลงทุนในสัมปทานต่าง ๆ ก็อาจมีตัวเลขนับพันล้านและรายได้ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตก็คงไม่ใช่น้อย

"ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่ผมคิดว่าปีหน้าจะพักผ่อนผมจะไม่ขยายตัวอีกแล้ว ที่ขยายตัวตอนนี้ก็เป็นเรื่องเก่าที่ค้างมา" ทักษิณกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต แต่ทักษิณซึ่งเป็นคนหนุ่ม คิดตรึกตรองตลอดเวลา จะใช้เวลหมดไปกับการหยุดอยู่กับที่คงไม่ใช่เรื่องปกตินัก

แต่ถ้าถามเขาเรื่องการเมืองที่มักมายุ่งกับเขา ทักษิณตอบแบบนักการเมืองอาชีพว่า "ตอนนี้ผมไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็อย่าเอาผมไปเกี่ยว ผมยังไม่คิดเล่นการเมือง แต่การเมืองเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องคิด เรื่องพรรคาไทยหรือพรรคมวลชนนั้น ผมไม่คิด ผมไม่มีพรรค ผมมีแต่พวก"

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ธุรกิจของทักษิณเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยระบบสัมปทาน ระบบนี้จะเฟื่องฟูช่วงหนึ่งและอาจมีความไม่แน่นอนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนนักการเมืองมากำกับดูแล ดังนั้นระบบสัมปทานนี้จะมั่นคนได้ก็ด้วยอำนาจทางการเมือง

ทักษิณอาจต้องเล่นการเมืองเต็มตัวเข้าสักวัน หรือไม่เช่นนั้นการเมืองก็เล่นเขา

เอาแค่ง่าย ๆ ถ้าวันข้างหน้า รมต.คมนาคมคนใหม่ขอให้กบถ.จัดสรรความถี่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสถานีเคเบิลทีวีทีจะเพิ่มขึ้นหรืออ.ส.ม.ท.เปลี่ยนนโยบายให้มีบริษัทที่สองมาทำธุรกิจเคเบิลทีวีก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้ารัฐมนตรีคุม อ.ส.ม.ท. คนใหม่ไม่ใช่เฉลิมเพียงเท่านี้การแข่งขันที่ดุเดือดก็เริ่มขึ้นโดยมีทักษิณเป็นเป้า

คนใกล้ชิดทักษิณกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ปีหน้าที่ทักษิณขอพักผ่อน ก็คือการกลับไปเชียงใหม่เพื่อปูคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นอกจากนั้นก็ต้องยอมรับว่า ทักษิณเป็นคนหนุ่มที่มีอนาคตไกล มีความคิดสร้างสรรค์ การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของเขาอย่างเต็มตัว อาจหมายถึงการได้ใช้ความรู้ความสมารถในตัวเขาให้มีพลังเปล่งประกายอย่างเต็มที่ก็ได้ โครงการอีกหลายโครงการในความคิดของเขา จะได้มีโอกาสแสดงถึงศักยภาพและคุณประโยชน์ให้ประจักษืแก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง

ดูเหมือนว่า ทุกสิ่งจะพร้อมสำหรับเขาหมดแล้ว ทั้เงินจากธุรกิจที่ปูทางไว้แต่บัดนี้ สายสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกระชับแน่นฐานทางการเมืองจากหลายพรรค และลีลาการพูดจาที่มีท่วงทำนองเหมือนนักการเมืองโดยเฉพาะการพูดแบบเฉลิม อยู่บำรุงเข้าไปทุกที

ก็ไม่แน่นัก เลือกตั้งสมัยหน้าเราอาจมีรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ชื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรก็เป็นได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us