อสังหาฯในตลาดหุ้น ยังโชว์ศักยภาพบริษัทขนาดใหญ่ในการทำยอดขายหนุนรายได้ในไตรมาส 3 "แสนสิริ"รับผลบวก!!รับรู้โครงการคอนโดฯเพิ่มขึ้น ดันรายได้จากการขายโครงการสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4,021 ล้านบาท กำไรสุทธิ 511 ล้านบาท แต่ส่วนงวด 9เดือน รายได้รวมเกินหมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 439 ล้านบาท ค่ายก๊วนแลนด์ฯ "AP" ชี้กำไรขั้นต้นโครงการคอนโดฯสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 50% ขณะที่งวด 9 เดือน รวมรายได้ 6,656.81 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิสูงถึง 1,100 ล้านบาท ส่วนฐานธุรกิจตระกูลชินวัตร "SC" กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ 192 ล้านบาท โบรกฯคาดแนวโน้มอุปทานใหม่ลดลงต่อเนื่อง
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 51 ปรากฎว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 20% ซึ่งผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกือบประมาณ 4 เท่า โดยมีผลกำไรที่ 511 ล้านบาท( หลังจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนกำไร 129.7 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเป็นผลของรายได้จากการขายโครงการที่เติบโตขึ้นในมูลค่าที่สูงขึ้นประมาณ 1,122 ล้านบาท เป็น 4,021 ล้านบาท สืบเนื่องจากการรับรู้โครงการคอนโดฯเพิ่มมากขึ้น ประกอบอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้ลดลง 14% เทียบกับ 22% หรือลดลงถึง 37%
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบในงบการเงินที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในงวด 9 เดือน ปรากฎว่า รายได้จากการขายโครงการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9,572 ล้านบาท จาก 8,119 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 50 และเมื่อรวมรายได้แล้ว ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10,167.8 ล้านบาท เทียบกับ 8,702.6 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในงวด 9 เดือนอยู่ที่ 9,274.4 เทียบกับ 8,219.9 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 439 ล้านบาท เทียบกับ 205.2 ล้านบาท
นายพิเชษฐ วิภวศุภกร กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ ระบุว่า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 244.2 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 50 เป็น 452.5 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี51 หรือเพิ่มขึ้น 85.3% (ส่วนไตรมาส 2 ปี 51 กำไรสุทธิอยู่ที่ 496 ล้านบาท) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้รวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,708.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.7% เทียบกับ 2,109.05 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 50
อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 33.4% เป็น 34.3%ในไตรมาส 3 ปี 51 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดฯ ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงในสัดส่วน 50% ของรายได้รวม ขณะที่ในไตรมาสเดียวกันปี 50 การรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดฯ 43% เท่านั้น
ขณะที่งวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,554 ล้านบาท (เทียบ4,906 ล้านบาท) รวมรายได้ 6,656.81 ล้านบาท (4,960.99 ล้านบาท) รวมค่าใช้จ่าย 5,019.64 ล้านบาท (4,137.56 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท (500.8 ล้านบาท)
SCกำไรเพิ่ม
นายอรรถพล สฤษฏิพันธาวาทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานสนับสนุนบริษัทเอสซี แอสเสทฯ กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปี 51 บริษัทมีกำไรสุทธิ 192.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 121.21 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี50 ขณะที่ในงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 472 ล้านบาท (เทียบ 450.9 ล้านบาท)
ด้านนายทัศพร คุปตารักษ์ กรรมการบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง การผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน ภาวะการแข่งขันที่สูง ราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ทำให้ในไตรมาส 3 ปี 51 มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 23 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 60 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 9 ล้านบาท ขณะที่ในงวดเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 939 ล้านบาท
คาดยอดการขายได้ลดต่อเนื่อง
ขณะที่บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุภาพรวมโครงการอสังหาฯในเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า ยอดอุปทาน(สินค้า)ใหม่ของโครงการอสังหาฯลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปี 50 แต่เพิ่มขึ้น 26% จากเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าโครงการรวมลดลง 49% จากต.ค.50 และ 26% จากเดือนก.ย. ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยปรับลงเหลือ 2.3 ล้านบาท/หน่วย เทียบกับ 2.4 ล้านบาทในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม พบว่า ราคาขายเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ ยังเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านบาท เทียบกับ 2.4 ล้านบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปี 50 โครงการใหม่ที่เปิดส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์ (37%) และคอนโดฯ (34%) ขณะที่ราคานั้นพบว่า 56% ของยอดขายอยู่ในช่วงราคา 1-2 ล้านบาท
สำหรับด้านอุปสงค์(ความต้องการ)นั้น ยอดการขายได้(Take-up) ลดลงจาก 22% ในเดือนต.ค.50 และ 14% ในเดือนก.ย.เหลือเพียง 9% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงในกลุ่มคอนโดฯ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวถึงปี52
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด นำเสนอบทวิเคราะห์ "สถาบันการเงิน..เร่งกระตุ้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยโค้งสุดท้ายปีหนู"ว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปี51ที่ผ่านมา ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบมีอัตราการเติบโตจากไตรมาสสอง สาเหตุน่าจะมาจากจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จบางประเภทเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น ประเภทคอนโดฯที่มีการเปิดโครงการไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้ว่าสถาบันการเงินต่างยังคงเดินหน้าทำตลาดที่เข้มข้นในการกระตุ้นธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางชะลอตัว ดังนั้น ศูนย์วิจัยฯคาดว่า การชะลอตัวของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปี 51 อาจจะมีผลต่อเนื่องไปสู่ปี 52 โดยปัญหาวิกฤตทางการเงินโลกมีแนวโน้มส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ยิ่งภาคการส่งออกและธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอาจจะประสบปัญหา และมีผลมาสู่การจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆเหล่านั้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อรายได้ และกระทบถึงอำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย
|