|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
* อินิชิเอทีฟ มีเดียเอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ระดมงานวิจัยตลอดปีหนู วัดชีพจรสื่อ
* ฟรีทีวี เผชิญ 2 สื่อรุ่นใหม่ เคเบิลทีวี - อินเทอร์เน็ต เบียดแย่งผู้ชม
* วิทยุ-สิ่งพิมพ์ สลัดจากความซบเซาของสื่อด้วยการสร้างคอนเทนต์โดนใจ
* อินเทอร์เน็ต รอปรับสู่เทคโนโลยี 3.0 พาสื่อออนไลน์ติดจรวด
ทุกครั้งที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะดิ่งลง ผู้บริหารเริ่มหมดหนทางในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กร นักการตลาดไม่สามารถสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการขาย ถูกเปลี่ยนไปเป็นการหยุดนิ่งเพื่อประคองตัวรอด ธุรกิจโฆษณาจะกลายเป็นเป้าหมายแรกที่ได้รับผลกระทบ
งบโฆษณาที่แต่ละองค์กรตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน หลายๆ องค์กรแทบไม่ได้เพิ่มเติมขึ้นจากการใช้ในปีก่อน และในอีกหลายองค์กรใช้เงินลดลงเนื่องจากไม่มีความมั่นใจในความมั่นคงทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ สร้างผลกระทบมาถึงบริษัทโฆษณาหลายๆ บริษัท ต้องปรับตัวจากงานที่ลดลง และรายได้ที่ลดต่ำ การปิดตัว และการปลดพนักงานมีให้เห็นในวันนี้
ในส่วนของธุรกิจสื่อโฆษณา วรรณี รัตนพล ประธานบริหาร บริษัท อินิชิเอทีฟ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจสื่อนับตั้งแต่ปี 2538 มีการเติบโตที่สดใสมาโดยตลอดด้วยตัวเลข 2 หลัก แต่เมื่อเริ่มมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ตัวเลขการเติบโตเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลักเดียว และลดต่ำลงมาเรื่อยๆ ถึงเวลานี้กลายเป็นตัวเลขติดลบ ทั้งนี้ยังไม่ได้นำปัจจัยที่เจ้าของสื่อเกือบทุกประเภทมีการปรับขึ้นราคาในช่วงปีนี้
"จากสถานการณ์ในเวลานี้คาดการณ์ว่า เม็ดเงินจากการใช้งบโฆษณาของเจ้าของสินค้าคงน้อยกว่าปีที่แล้ว เหลืออยู่ในระดับ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อมองถึงปีหน้า ถ้าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ยังไม่ยุติ ประกอบกับผลกระทบที่อาจเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี คาดว่าจะเติบโตลดลงอยู่ในระดับ 4-4.5% ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไม่สงบ การเติบโตของจีดีพีอาจจะลดลงมาอีกเป็น 3.5-4% และเมื่อปัญหาเศรษฐกิจโลกยังแก้ไม่ได้ ส่งผลกระทบไปถึงภาคการส่งออกของประเทศ จีดีพีมีโอกาสเติบโตลดลงเหลือแค่ 3-3.5% ได้ แต่เชื่อว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกคงจะไม่ยืดเยื้อ สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว"
นอกเหนือจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจสื่อแล้ว ในแง่สภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของประชาชน ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต ล้วนแต่มีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงสื่อโฆษณาประเภทต่างๆ อินิชิเอทีฟ จึงได้จัดการสัมมนา "Disruption" การวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยพฤิตกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสื่อโฆษณาขององค์กรต่างๆ ในรอบปีนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงชีพจรของสื่อประเภทต่างๆ บนความเปลี่ยนแปลง และความผันผวนรอบด้าน
เคเบิลทีวี - อินเตอร์เน็ต จ่อเบียดความนิยมจากฟรีทีวี
ข้อมูลการวิจัยสื่อโทรทัศน์ จากนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มผู้ชมรายการโทรทัศน์ในวันนี้ เป้าหมายใหญ่ คือกลุ่มอายุตั้งแต่ 12-24 ปี และ 25-39 ปี เริ่มมีอัตราการเติบโตที่หยุดนิ่ง สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนในวัยทำงาน และวัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอยู่กับการทำกิจกรรมนอกบ้าน และสื่ออินเทอร์เน็ต การบริโภคสื่อโทรทัศน์ลดน้อยลง ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ วัย 40 ขึ้นไปกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีการชมโทรทัศน์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549
กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี ผู้อำนวยการสมทบฝ่ายวิจัยสื่อโฆษณา อินิชิเอทีฟ ให้คำแนะนำว่า ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ควรหันมามองกลุ่มผู้ชมในวัย 40 ขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มใหญ่ในอนาคต และอาจต้องปรับคอนเทนต์เข้าหาคนกลุ่มนี้
ข้อมูลจากนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ยังได้เปรียบเทียบรายได้ของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนสิงหาคม ในปีนี้เปรียบเทียบกับปี 2550 พบว่าทุกสถานีมีรายได้สูงขึ้น แต่เกิดขึ้นจากการแปรสภาพสถานีโทรทัศน์กลายเป็นทีวีสาธารณะ ไทยพีบีเอส ซึ่งไม่มีโฆษณา ทำให้เม็ดเงินจากไอทีวีส่วนหนึ่งกระจายไปตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยเฉพาะโมเดิร์นไนน์ทีวี ที่มีการเติบโตของส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาจาก 13% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 17% ในปีนี้ ขณะที่ช่อง 3 เติบโตจาก 25% เป็น 27% ช่อง 5 เพิ่มจาก 15% เป็น 17% ขณะที่ช่อง 7 มีการเติบโตจาก 28% เป็น 30%
แต่หากพิจารณาจากจำนวนผู้ชม นับตั้งแต่ปี 2546 ช่อง 7 และ ช่อง 3 เป็น 2 ช่องผู้นำด้านผู้ชมมาโดยตลอด โมเดิร์นไนน์ เพิ่มจำนวนผู้ชมได้ห่างจากช่อง 5 ขึ้นมาครองอันดับ 3 ส่วนอันดับ 4 แม้ช่อง 5 จะครองอยู่ แต่การพัฒนาคุณภาพรายการจนเริ่มเป็นที่สนใจของผู้ชมของไทยพีบีเอส เริ่มส่งผลให้จำนวนผู้ชมเข้ามาใกล้เคียงกับช่อง 5 แล้วในปัจจุบัน
กนกกาญจน์ กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ชมในแต่ละวันของช่อง 3 และช่อง 7 จะสูงลิ่วในช่วงละครไพร์มไทม์ แต่ช่องอื่นหากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมได้ว่า มีความต้องการอะไร สร้างคอนเทนต์รายการให้เป็นตรงตามนั้น ก็สามารถดึงฐานผู้ชมให้สูงขึ้นได้เช่นกัน
"ตัวอย่างของช่อง 5 ที่เวลานี้มีแนวโน้มจะถูกเอ็นบีที และไทยพีบีเอส แย่งคนดู แต่ถ้าเจาะลงไปในบางช่วงเวลาก็พบว่ามีจำนวนผู้ชมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงละครไพร์มไทม์ที่มีละครที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมมาเป็นระยะ ก็สามารถขยับจำนวนผู้ชมขึ้นมาถึงอันดับ 3 ได้ แสดงให้เห็นว่า ในเวลานี้ผู้ชมมองหาคอนเทนต์ที่ตรงใจ โดยไม่ได้ยึดติดกับช่อง หากผู้ผลิตรายการเลือกเวลาที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้ชม ก็จะมีโอกาสสร้างเรตติ้งที่ดีได้"
แต่ข้อมูลวิจัยจาก Synovate ที่แสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันนี้ที่น่าสนใจ คือ คนกรุงเทพฯ เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการชมโทรทัศน์ในรถยนต์สูงที่สุดในเอเชีย มีสัดส่วนราว 25% เทียบเท่ากับคนในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีไทเป ไต้หวัน และกรุงโซล เกาหลีใต้มีสัดส่วนรองลงมา อาจเป็นปัญหาที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ต้องขบคิด เพราะวันนี้ผู้ผลิตจานดาวเทียมที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากการเปิดตัวของสถานีเคเบิลทีวีของค่ายใหญ่หลายต่อหลายช่อง ได้คิดค้นจานดาวเทียมติดรถยนต์ออกวางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สื่อเคเบิลทีวีจึงเป็นสื่อที่น่าจะสร้างผลกระทบกับสื่อฟรีทีวีอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้
นอกเหนือจากทรูวิชั่นส์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกราว 1.2 ล้านครัวเรือนแล้ว วันนี้มีผู้บริโภคกว่า 2.5 ล้านครัวเรือนที่รับชมเคเบิลทีวีจากผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่น ขณะที่อีกกว่า 3 แสนครัวเรือน มีจานดาวเทียม รวมแล้วคาดการณ์ว่า ราว 4 ล้านครัวเรือน หรือ 15 ล้านคน ที่ชมคอนเทนต์ผ่านสื่อทีวีดาวเทียมทุกรูปแบบ โดยสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยมุ่งหวังว่า ภายในเวลา 5 ปีจากนี้ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือกว่า 30 ล้านคน
กนกกาญจน์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เคเบิลทีวีเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาจากปัจจัยด้านราคาที่ถูกลง ทรูวิชั่นส์มีการลดราคาแพกเกจลง รวมทั้งการขายพ่วงกับซิมทรูมูฟ ทำให้สามารถขยายฐานสมาชิกออกสู่ภูมิภาค ขณะที่ค่ายเคเบิลท้องถิ่นมีจุดขายเด่นที่มีจำนวนช่องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ค่าสมาชิกต่อเดือนถูกกว่า ส่วนผู้ประกอบการด้านจานดาวเทียม ใช้กลยุทธ์รับชมโดยไม่เสียค่าสมาชิกรายเดือน เมื่อคำนวณค่าจานดาวเทียมเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ถือว่าคุ้มกว่า ทำให้ตลาดดาวเทียมเติบโตขึ้นเช่นกัน อีกทั้งทรูวิชั่นส์เองก็หันมาทำตลาดขายจานดาวเทียม เมื่อทุกฝ่ายต่างออกมากระตุ้นตลาด ทำให้เกิดดีมานด์มากขึ้น
ในด้านผู้ผลิตคอนเทนต์ นับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้อนุญาตให้เคเบิลทีวีสามารถโฆษณาได้ 6 นาทีต่อการออกอากาศ 1 ชั่วโมง รวมถึงการกำหนดกรอบให้กับธุรกิจนี้ทำให้ผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นกว่า 500 รายทั่วประเทศที่ไม่เคยมีกฎหมายรองรับ ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เคยผลิตรายการให้กับฟรีทีวี เริ่มเห็นโอกาสในเคเบิลทีวีที่ไม่มีข้อจำกัดมากเท่าฟรีทีวี ทำให้เจ้าของคอนเทนต์หลายรายหันมาสู่ธุรกิจนี้ แม้กระทั่งผู้ให้บริการฟรีทีวี อย่างช่อง 3 และโมเดิร์นไนน์ ก็ยังลงมาเล่นในธุรกิจนี้เช่นกัน เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
ข้อมูลวิจัยจาก Synovate ยังระบุอีกว่า การสำรวจพฤติกรรมในคนกลุ่มระดับกลางถึงบนในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนถึง 63% ชมทีวีนอกบ้าน โดยในกลุ่มนี้ 33% ดูจากคอมพิวเตอร์ 25% รับชมภายในรถ ขณะที่ 13% ดูจากโทรศัพท์มือถือ และ 9% ดูผ่านเครื่องเล่น MP4
ปัจจุบันมีเว็บไซต์ราว 63 เว็บสามารถล็อกอินเข้าชมสตรีมมิ่งฟรีทีวี รวมถึงรายการจากเคเบิลท้องถิ่นได้ ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกส่วนของฟรีทีวี เมื่อคนสามารถเข้าดูออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต ดูย้อนหลังได้ บางเว็บไซต์มีการเซฟไฟล์ละครไทย เกาหลี เรียงเป็นตอนให้ดาวน์โหลดฟรีอินเทอร์เน็ตจึงถือเป็นสื่ออีกประเภทที่มีโอกาสเข้ามาคุกคามสื่อฟรีทีวีในอนาคต นอกเหนือจากทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี
สื่อวิทยุ - สิ่งพิมพ์ ร่วงผล็อย แนะสร้างคอนเทนต์เด่นเหนือสื่อ
ด้านสื่อวิทยุที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้หลายรายต่างยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำของสื่อนี้อย่างแท้จริง ซึ่งงานวิจัยจากนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ก็แสดงให้เห็นเช่นนั้น กลุ่มผู้ฟังเมื่อแบ่งแยกตามช่วงอายุ กลุ่มใหญ่ที่มีช่วงอายุระหว่าง 12-24 ปี มีตัวเลขผู้ฟังลดลงในระดับเดียวกับการลดลงของกลุ่มผู้ฟังในช่วงอายุ 25-39 ปี มีเพียงกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังคงมีจำนวนผู้ฟังคงที่ ขณะที่การสำรวจด้านพื้นที่ ทั้งกลุ่มผู้ฟังในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และในภูมิภาค ล้วนมีผู้ฟังลดลงทั้งสิ้น
นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ยังได้ทำการสำรวจลึกลงไปถึงสื่อที่ใช้รับฟังวิทยุ พบว่า จำนวนผู้ฟังที่รับฟังรายการวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุเริ่มลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับผู้ฟังวิทยุผ่านโทรศัพท์มือถือที่เติบโตมากขึ้น รวมถึงผู้ฟังผ่านอินเทอร์เน็ตออนไลน์ และผู้ฟังทั้ง 3 ช่องทาง วิทยุ โทรศัพท์มือถือ และออนไลน์ ก็มีปริมาณสูงขึ้นเช่นกัน
กนกกาญจน์ ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ผู้รับสื่อวิทยุว่า ผู้บริโภคไม่สนใจในเรื่องช่องทางการรับฟังว่าจะรับสัญญาณจากสื่อชนิดไหน สนใจแต่คอนเทนต์ที่ต้องการ เพลงที่ถูกใจ หรือได้ฟังการจัดรายการของดีเจคนโปรด ดังนั้นตัวสื่อจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ผู้บริโภคยังคงฟังเพลง แต่จะฟังจากสื่อไหนตามแต่ไลฟ์สไตล์
ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ พบว่าผู้อ่านเริ่มตกลงในกลุ่มวัยรุ่น 12-24 ปี แต่กลุ่มผู้อ่านที่อายุสูงกว่านั้นที่ให้ความสนใจข่าวสารซึ่งมีความเข้มข้นตลอดปีนี้ ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นเล็กน้อย โดยการเติบโตนี้มาจากหนังสือพิมพ์ 2 กลุ่มใหญ่ คือ หนังสือพิมพ์บันเทิง ซุบซิบ จะเติบโตมากในกลุ่มผู้หญิง ขณะที่กลุ่มผู้ชาย นอกเหนือจากการเติบโตจากข่าวสารบ้านเมืองแล้ว ยังมีการเติบโตในหนังสือพิมพ์กีฬา ซึ่งเมื่อมองในมุมกว้าง จึงสามารถสรุปภาพรวมของธุรกิจหนังสือพิมพ์ได้ว่า ยังคงเป็นสื่อที่มีโอกาสเปิดกว้างอยู่ เพียงแต่ต้องเจาะลึกลงไปให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายอ่านหนังสือพิมพ์อะไร
เมื่อสำรวจถึงพฤติกรรมการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ที่วันนี้สิ่งพิมพ์เริ่มถูกเบียดบังจากสื่อออนไลน์ นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช(ประเทศไทย) ได้สำรวจพบว่า พฤติกรรมการอ่านข่าวในทุกกลุ่มอายุ ยังคงมีสื่อหนังสือพิมพ์เป็นฐานใหญ่อยู่ ขณะที่สื่อออนไลน์ทำหน้าที่เสริม ตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งในบ้าน ในรถ ในสำนักงาน ในร้านอาหาร สื่อออฟไลน์อย่างหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ จะทำหน้าที่เสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
สำหรับสื่อนิตยสาร ผลการสำรวจของนีลเส็นฯ พบว่า จำนวนผู้อ่านลดลงในทุกกลุ่ม ทั้งการสำรวจจากช่วงอายุ แยกเพศ แบ่งตามพื้นที่ จนถึงแบ่งตามรายได้ แต่ในธุรกิจนิตยสารกลับมีนิตยสารเกิดใหม่ในรอบปีถึง 43 หัว และมีนิตยสารที่เคยวางแผงอยู่เพียง 9 หัวที่ปิดตัวลาแผงไป เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดกลับพบว่า มีนิตยสารบางกลุ่มที่มีผู้อ่านเพิ่มมากขึ้น อันเป็นกลุ่มนิตยสารซุบซิบ ปาปารัซซี่ อาทิ ทีวีพูล สไปซี่ สตาร์นิวส์ กอสซิปสตาร์ ฯลฯ
"การเติบโตของนิตยสารในกลุ่มบันเทิงเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าหนังสือแนวบันเทิงทุกเล่มจะอยู่ได้ เพราะขณะที่นิตยสารหลายเล่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นิตยสารที่เคยมียอดขายสูงบางเล่มก็ถดถอยลง อาทิ คู่สร้างคู่สม ดาราภาพยนตร์ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเจ้าของนิตยสารในการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของผู้อ่าน วันนี้เทรนด์ผู้อ่านสนใจข่าวกอซซิป ซุบซิบ คำย่อ ภาพหลุด จึงทำให้ตลาดนิตยสารกลุ่มนี้เติบโตขึ้นท่ามกลางความตกต่ำของตลาดนิตยสารโดยรวม" กนกกาญจน์กล่าว
ในส่วนของนิตยสารทั่วไปที่มีแนวโน้มผู้อ่านลดลง และหันไปอ่านบนสื่อออนไลน์มากขึ้น อันเนื่องมาจากราคานิตยสารที่ต้องจ่ายเงินซื้อสูงถึงเล่มละเกือบ 100 บาท และมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น เป็นตัวผลักให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ และรวดเร็วกว่าสื่อหนังสือพิมพ์
การปรับตัวของผู้ผลิตสื่อนิตยสารวันนี้ หลายค่ายจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ทดแทนในอนาคต นอกจากนี้ยังเกิดกลุ่มนิตยสารแจกฟรี ที่มุ่งหารายได้จากการโฆษณาเพียงอย่างเดียว โดยจากปี 2549 ซึ่งเคยมีนิตยสารแจกฟรีเพียง 6 เล่ม มาถึงปีนี้พบว่ามีนิตยสารแจกฟรีมากถึง 26 เล่ม
สื่อใหม่ เคลื่อนตัวช้ารอเทคโนโลยีติดเครื่องล้มสื่อเก่า
เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้ เพิ่มจอให้กับผู้บริโภคจากจอทีวีเดิม มาเป็นจอคอมพิวเตอร์ และเข้าสู่จอโทรศัพท์มือถือในวันนี้
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ระบุว่า วันนี้มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวน 15.4 ล้านคน คิดเป็น 23%ของประชากรทั้งประเทศ เติบโตขึ้นจากปี 2550 ราว 15% ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2550 เติบโตจากปี 2549 ถึง 18% สะท้อนการเติบโตที่ชะลอตัวจากการหยุดชะงักของเทคโนโลยีบรอดแบนด์ที่ยังขยายไปไม่ถึงทั่วประเทศ หากมีการวางระบบให้คนในทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้ได้อีกมาก
ในด้านของการใช้เวลาในการบริโภคสื่อ Synovate ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯ ช่วงอายุระหว่าง 8-24 ปี พบว่า มีการใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ใช้อินเทอร์เน็ต 3.1 ชั่วโมงต่อวัน ฟังวิทยุ 1.3 ชั่วโมงต่อวัน อ่านหนังสือพิมพ์ 0.9 ชั่วโมงต่อวัน และอ่านนิตยสาร 0.8 ชั่วโมงต่อวัน
แต่เมื่อมองถึงการให้ความสนใจต่อสื่อ ปรากฏว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจในสื่ออินเทอร์เน็ตสูงถึง 75% มากกว่าความสนใจในการชมสื่อโทรทัศน์ 67% ขณะที่สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร มีความสนใจอยู่ในระดับ 30% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสื่ออินเทอร์เน็ตในวันนี้ที่เหนือกว่าสื่อโทรทัศน์แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยราว 2 ล้านราย และเติบโตเป็น 3 ล้านรายในปีหน้า ขณะที่ Ricky Corker ผู้บริหารจาก Nokia Seimens Networks ได้คาดการณ์ไปถึงปี 2554 ว่าบรอดแบนด์ในเมืองไทยจะเติบโตขึ้นจนมีผู้ใช้ถึงระดับ 6 ล้านราย
ในแง่ของการเป็นสื่อออนไลน์ ในปี 2550 มีเม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าสู่สื่อออนไลน์ราว 900 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นในปีนี้เป็น 1,000 ล้านบาท แต่ก็ยังคงสัดส่วนเป็น 1% เมื่อเทียบกับสื่อทั้งระบบเช่นเดิม เมื่อมองดูสัดส่วนของสื่อก็ยังคงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของสื่อเก่าเหมือนดังเดิม
กนกกาญจน์ ชี้ว่า การเติบโตของสื่อออนไลน์คงต้องรอการเคลื่อนเข้าสู่เทคโนโลยีที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีเว็บ 3.0 ที่จะทำให้ซอฟต์แวร์มีขนาดเล็กลง สามารถส่งข้อมูลไปถึงได้กับทุกอุปกรณ์ รวดเร็ว และสามารถใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการ
คาด 2563 เข้าสู่โลกดิจิตอลเต็มตัว คอนเทนต์ดี แพลตฟอร์มเหมาะ พารุ่ง
กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี ผู้บริหารจากอินิชิเอทีฟ กล่าวสรุปว่า ในวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หาตัวยาก ไม่อยู่นิ่ง มีทิศทางเป็นตัวของตัวเอง และมีความเฉพาะตัวสูง ชอบไม่เหมือนกัน การใช้สื่อแมสสื่อสารไปช่องทางเดียวอาจไม่ได้ผลเหมือนก่อน ควรใช้สื่อแมสผสมผสานกับสื่ออื่นที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ปัจจุบันมีคอนเทนต์หลายประเภทที่ผู้บริโภคสามารควบคุมเอง เลือกเอง ผลิตเอง นักการตลาดไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ รวมถึงเทคโนโลยีก็สร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สื่อมีแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี คอนเทนต์หนึ่งสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง ดูทางโทรทัศน์ได้ ดูผ่านออนไลน์ก็ได้ อีกทั้งสามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือ มีเดียสามารถครอสกันได้ทั้งหมด การจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องจับเซกเมนต์จึงจะมองเห็น การกระจายภาพออกเป็นวงกว้างอาจมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด
การคาดการณ์ว่าในปี 2553 คอนเทนต์ทั้งหมดจะกลายเป็นดิจิตอลทั้งหมด และส่งผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดย World Association of Newspaper ระบุว่า ในปี 2553 นั้น สื่อราว 66% จะกลายเป็นดิจิตอล และเมื่อถึงปี 2563 จะเพิ่มเป็น 80% บทบาทความเฉพาะตัวสื่อแต่ละประเภทจึงไม่สำคัญอีกต่อไป การโฆษณาคือการสร้างคอนเทนต์ที่ดี นำเสนอผ่านสื่อที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องหว่านเงินจำนวนมากในสื่อแมสอีกต่อไป
|
|
|
|
|