“คีรี กาญจนพาสน์” ประกาศแผนลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และรถไฟฟ้าเต็มสูบ หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เผยแผนเคลียร์หนี้ 67,751 ล้านบาท ผ่านฉลุย แถมเหลือเงินกว่า 7,600 ล้านบาท ใช้ขยายกิจการเดินรถไฟฟ้าหากกทม.ไฟเขียว
ก้าวแรกของการหวนคืนสู่บังลังก์ผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) จำกัด เจ้าของฉายา “มังกรพลัดถิ่น” กำลังจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกจากแผนฟื้นฟูตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2551 เพราะจะทำให้การดำเนินงานของ คีรี ง่ายยิ่งขึ้น และไม่ต้องกังวลกับการจัดการปัญหาหนี้สินของ BTS ที่มีจำนวนสูงถึง 67,751 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ต้องคอยปกป้องกับธุรกิจที่ตัวเองสร้างมากับมือ แล้วปล่อยให้รัฐบาลฮุบไปครองตามความพยายามของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชที่มีความพยายามอย่างมากที่จะยึดกิจการเดินรถ BTS ให้ได้
วันนี้ คีรี ทำสำเร็จแล้ว สำหรับแผนปกป้องธุรกิจรถไฟฟ้า BTS เพราะสามารถหาเงินมาเคลียร์หนี้สินจำนวนกว่า 67,751 ล้านบาทได้สำเร็จ อีกทั้งกิจการเดินรถยังสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ด้วย ยิ่งทำให้ คีรี ฮึกเหิมยิ่งขึ้น และมีความพร้อมที่จะลุยทั้ง 2 ธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ คีรี อีกครั้ง หลังจากที่ต้องล้มลงเมื่อครั้งขยายการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า BTS 2 สายแรกของเมืองไทย คือ สายสุขุมวิท และสายสีลม รวมระยะทาง 23.5 กม. มูลค่ากว่า 56,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธ.ค. 2542
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 67,751 ล้านบาท เป็นเงินต้น 48,238 ล้านบาท ดอกเบี้ย 19,513 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำเงินสดชำระให้กับเจ้าหนี้ 23,280 ล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุน 16,340 ล้านบาท และหลังจากออกจากฟื้นฟูกิจการ บริษัทยังมีเงินฝากธนาคาร 7,600 ล้านบาท และมีหนี้เหลือเพียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะทยอยคืนหนี้ภายใน 8 ปี กับสถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ ดอยช์แบงก์ 8,500 ล้านบาท บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบริษัทเงินทุนธนชาติ รวมกันประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนเงินสดที่เหลือ 7,600 ล้านบาท บริษัทจะเก็บไว้ลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าในอนาคตหรืออาจจะนำไปชำระหนี้
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ BTS ภายหลังการฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย คือ 1. กลุ่มคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้นผ่านบริษัท สยามเรลล์ทรานสปอร์ต แอนด์ อินฟรา สตรัคเจอร์ จำกัด รวม 53.65% 2. กลุ่มคอนซอร์เตียม ระหว่าง Ashmore Investment Management Limited และ Noondays Asset Management ถือหุ้นรวม 38.50% และ 3. กลุ่มของ ดร.เชง ประธาน กลุ่มนิวเวิลด์ ฮ่องกง ถือหุ้น 2.67% ลดลงจากเดิมที่กลุ่มนิวเวิลด์ถือหุ้น BTS เกือบ 20% รวมทั้ง 3 กลุ่มถือหุ้น BTS 94.82% ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน
ทั้งนี้ Ashmore Investment Management Limited เป็นกองทุนที่เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของโลก ที่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน มีจุดประสงค์เพื่อลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก และ Noohdays Asset Management เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนบริหารโดยนูนเดย์ แอสเส็ท แมนเนจเม้นท์ พีทีอี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์
คีรี กล่าวถึงแผนจะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า จะเน้นลงทุนโครงการตามแนวรถไฟฟ้าBTSเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนกิจการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งจะลงทุนเองและเข้าในซื้อกิจการต่อจากเจ้าของเดิม โดยตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการ มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยBTS ถือหุ้นน้อยกว่า 50% เพราะ BTS เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งในอนาคตอาจจะดึงพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คีรี ได้วางตัวกวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายเป็นผู้ดูแลอย่างเต็มตัว ซึ่งการลงทุนจะลงทุนในธุรกิจเพื่อขาย และให้เช่า ประเภทคอนโดมิเนียม และโรงแรม โดยธุรกิจโรงแรมจะลงทุนในกรุงเทพฯต่างจังหวัด ยึดเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมถึงขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้งสามารถสร้างรายได้แบบระยะสั้นและระยะยาวด้วย
ด้านแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้านั้น บริษัทฯจะเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.)และรัฐบาล เพื่อขอลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งที่เป็นของรัฐบาลและของกทม. ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาลไม่ต้องกู้เงินมาลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า ขณะเดียวกัน คีรียังมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คาดว่าจะสรุปผลได้ในปีหน้า
|