ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน-หุ้นโลกถล่มทลาย กบข.อาการน่าเป็นห่วง มูลค่าทรัพย์สินลดวูบ 4 เดือนหายวับไปกับตา 74,000ล้าน! ผลตอบแทนเป็นลบนับแต่ก่อตั้งมา 11 ปี สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ ‘เสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง’ เน้นนโยบายลงทุนขนเงินออกไปเล่นหุ้น-ตราสารต่างประเทศตามก้นฝรั่ง
จากปัญหาวิกฤตการเงินโลกซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างรุนแรงมาต่อเนื่อง ปรากฏว่า นักลงทุน กองทุนทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เว้นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดของไทย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.
จากการสำรวจของ “ผู้จัดการรายวัน” พบว่า สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มาถึงล่าสุดปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกบข.หายไปถึง 74,056.83 ล้านบาท
ทั้งนี้ กบข.เคยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 376,286.32 ล้านบาท (30 มิถุนายน 2551) เพียงแค่ 4เดือนเท่านั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกบข.กลับลดลงมาเหลือแค่ 302,229.49 ล้านบาท (27 ตุลาคม 2551) หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไป 19.68%
กบข.ได้อธิบายถึงตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินที่ขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ว่า เป็นการวัดค่าความสามารถในการหาผลตอบแทนแก่สมาชิกซึ่งบางครั้งลดลงต่ำว่าเป็นเพราะ กบข.จัดพอร์ตการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานสากล ยึดหลักการบันทึกค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark to Market) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนในแต่ละช่วง ตามสภาพแท้จริงของตลาดในสิ้นวันที่กำหนด
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากบริษัทจัดการกองทุนรวม เปิดเผยว่า แม้ กบข.จะอธิบายดังกล่าวแต่ก็คงไม่คาดว่า ความผันผวนของวิกฤติการเงินจะทำให้ กบข.จนลงในพริบตา 7 หมื่นกว่าล้านบาท ที่น่าสนใจกว่านี้คือ จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอย่างไร
เขาระบุว่า จากพอร์ตการลงทุนของ กบข.ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยประมาณ 12% ในช่วงต้นปีนี้ ก่อนจะลดสัดส่วนมาถือเงินสดเพิ่มเป็น 8% ในขณะที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศอยู่ที่ 10% ก่อนจะลดมาอยู่ที่ 8% เช่นกัน ทั้งนี้ หากดูจากพอร์ตการลงทุนดังกล่าวแล้ว เงินลงทุนของ กบข.น่าจะขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นไปแล้วประมาณ 8-10% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นทั่วโลก รวมถึงหุ้นไทยปรับลดลงไปแล้วกว่า 50% ซึ่งแน่นอนว่าพอร์ตการลงทุนของกบข. คงได้รับผลกระทบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสินทรัพย์ทั้งหมดของ กบข.ประมาณ 3.7 แสนล้านบาทในช่วงต้นปี ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาทต้นๆ ในปัจจุบันนั้น คิดเป็นจำนวนเงินที่หายไปกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมด แต่จากพอร์ตการลงทุนข้างต้น พบตัวเลขการขาดทุนรวมกันเพียง 10% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ทราบว่าอีก 10% ที่หายไปนั้นเกิดจากอะไร
พิษโกอินเตอร์ตามก้นฝรั่ง
ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ มูลค่าทรัพย์สินของกบข.หากจะมีเคลื่อนไหวขึ้นลงบ้างก็ไม่มีส่วนต่างมากนักแกว่งตัวไม่มาก ถือว่าเป็นกองทุนที่มีฐานะการเงินมั่นคงมีเสถียรภาพไม่วูบวาบ
ขณะที่ผลตอบแทนก็เป็นบวกมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 11 ปีก่อน (ปี 2539) ยกเว้น ผลการดำเนินงานล่าสุด (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551) อัตราผลตอบแทนการลงทุนย้อนหลัง 12 เดือน (กรกฎาคม 2550-มิถุยายน 2551) ติดลบร้อยละ 0.70
กบข.ขาดทุนเป็นครั้งแรก!
หากคิดรวมมูลค่าทรัพย์สินที่หายไป 7 หมื่นกว่าล้านบาทในอีก 4 เดือนต่อมาดังกล่าว กบข.ก็ไม่น่าจะรอดพ้นจากการขาดทุนที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก
แหล่งข่าวกล่าวว่า จริงอยู่ภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นกับกบข.เป็นไปตามภาวะตลาดโลก แต่ คำถามคือ หาก กบข.ยังเน้นกลยุทธ์เน้นการลงทุนเหมือนๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือ เน้นการลงทุนที่ไม่เสี่ยงสูง ปักหลักลงทุนอยู่ในประเทศ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่น่าจะขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาลดังที่ปรากฏตามมูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงฮวบฮาบ
กบข.ภายใต้การกำกับดูแลของนายวิสิฐ ตันติสุนทร เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ
นายวิสิฐ เชื่อว่า กลยุทธ์การลงทุนของ กบข. หากจะให้ดีต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ มากๆ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงที่กองทุนบำเหน็จบำนาญในระดับสากลทำกัน และการที่จะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญในระดับสากลนั้นจะมองเพียงการลงทุนในประเทศอย่างเดียวไม่ได้
“วิสัยทัศน์ของ กบข.วางตัวเองไว้ว่า ต้องเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญในระดับสากล ที่มองภาพการลงทุนในประเทศเช่นเดียวกับที่ต่างประเทศมองเข้ามา” เลขาธิการ กบข.เคยพูดถึงวิสัยทัศน์ตนเองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่า ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ (Sub-Prime) ยังคุกรุ่น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน เศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มมีส่งสัญญานร้ายก็ตาม
กบข.เริ่มทำตามเจตนารมณ์ของนายวิสิฐ โดยต้นปี 2551 ได้เข้าหารือกับนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น เพื่อขอเพิ่มเพดานวงเงินในการออกไปลงทุนต่างประเทศ จากเดิม 15% เป็น 25% ซึ่งก็สำเร็จในที่สุดในเวลาต่อมา
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ.....ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยมีสาระสำคัญเพิ่มวงเงินลงทุนในหุ้น หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญและใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นจากเดิม 30% เป็น 35% ของเงินกองทุน และเพิ่มวงเงินลงทุนในต่างประเทศจากเดิม 15% ป็น 25% ของเงินกองทุน โดยการกำหนดสัดส่วนในการนำเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไปลงทุนหาผลประโยชน์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 ไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ว่ากันว่า ในการเจรจาขอให้คลังอนุญาตเพิ่มสัดส่วนไปลงทุนต่างประเทศครั้งนั้น นายวิสิษฐ์ต้องการขอให้ได้มามากถึง 30 % ด้วยซ้ำเพราะมั่นใจในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม จังหวะการโกอินเตอร์ของกบข.ดูเหมือนจะไม่เอื้ออำนวย โดยที่ไม่มีใครคาดคิด ระยะกว่าปีที่ผ่านมานี้ ตลาดการเงินโลกผันผวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่างเลแมนบราเดอร์ล้มละลาย และ อีกหลายรายต้องควบรวมกิจการ ตลาดหุ้นร่วงกราวมองไม่เห็นก้นเหว กองทุนต่างๆ เทขายทรัพย์สินที่ถือครองอยู่เพื่อถือเงินสดคล้ายๆกัน จนสภาพวิกฤติลุกลามไปทั่วโลก
เปิดพอร์ตดูลงทุนนอกเน้นเสี่ยงสูง
จากการติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี Eurekahedge Hedge Fund Index ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้กิจกรรมการลงทุนของกองทุนเฮจด์ฟันด์ทั่วโลก พบว่า ขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน จากการสำรวจผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนในประเทศ หรือ FIF ของไทย พบว่า หลายกองทุนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยรายงานจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ระบุว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี ถึง 30 กันยายน 2551 เฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรมติดลบ คือ -28.32% ในขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทน -0.49%
นักวิเคราะห์การลงทุนต่างสงสัยว่า บนความสูญเสียกว่า 7 หมื่นล้านของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกบข. จะแบ่งเป็นการขาดทุนในต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
จากการรวมรวมข้อมูล “ผู้จัดการรายวัน” พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ที่กบข. มีสินทรัพย์สุทธิทั้งสิ้น 376,286.32 ล้านบาทนั้น หากคิดตามสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของ กบข.เต็มเพดานที่คลังอนุญาต ที่ 25% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดแล้วจะคิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 80,000 ล้านบาท!!
สัดส่วนดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ล้านบาทจากเพดานเดิมที่สามารถลงทุนได้ 15%ของกองทุนในช่วงก่อนหน้านี้
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นต่างประเทศล่าสุดได้ลดสัดส่วนลงเหลือ 7-8% จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 9% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท จากสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด 16-17% หรือประมาณ 63,000 ล้านบาท ที่รายงานล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งนอกจากการลงทุนในหุ้นแล้ว กบข.เอง ยังมีการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกด้วย โดยในส่วนนี้ ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการออกไปลงทุนต่างประเทศของ กบข.ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปตราสารทุนซึ่งขณะนี้ถือว่า เสี่ยงสูงมากถึง 8.36% ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด ขณะที่ตราสารหนี้ต่างประเทศที่นายวิสิฐบอกว่ามีความเสี่ยงต่ำนั่นกลับอยู่ที่ 4.08% ที่เหลือเป็นเงินลงทุนที่อยู่ในรูป อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือก (ดูตารางสัดส่วนการลงทุนของ กบข. ณ สิ้นไตรมาส 2/2551 ประกอบ)
หลังจากวิกฤตการเงินโลกลุกลามยืดเยื้อ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไม่แน่นอน นายวิสิฐ กล่าวว่า กบข.ต้องปรับกลยุทธ์ลงทุนรับมือโดยจะ เน้นหุ้นพื้นฐานแกร่ง-มีปันผล พร้อมถือเงินสดมากขึ้นลดความเสี่ยงการลงทุน
“ในขณะนี้ว่า กบข.ให้ความสำคัญกับความระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้หันมาถือเงินสดมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุน และรอจังหวะการลงทุนในช่วงที่เหมาะสม เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน”
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นของ กบข.อยู่ที่ร้อยละ 12 ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่ปัจจุบันเริ่มลดลง โดยหันมาถือเงินสดมากขึ้นร้อยละ 1.2 และเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุน
เขายังยอมรับว่า ผลตอบแทนของกองทุนในปีนี้คงจะไม่เป็นบวก เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีผลตอบแทนเป็นบวก 9% แต่แม้ในปีนี้จะลดลง หรือเป็นลบก็สามารถนำผลตอบแทนในอดีตมาชดเชยได้ และคาดว่าแนวโน้มในช่วง 2 ปีข้างหน้า กบข.คาดว่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท
|