“สันติ พร้อมพัฒน์” เดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจกต์ทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน ถนน มูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท เด้งรับนโยบายนายกฯผลักดันรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวและสีชมพูมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท พ่วงท้ายโครงการถนนปลอดฝุ่น มูลค่า 34,290 ล้านบาท ปูทางเอาใจคนรากหญ้า
โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้มีการก่อสร้างโดยเร็วเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร และเพื่อเป็นผลงานของรัฐบาลที่จะใช้เป็นแนวทางในการหาเสียงเลือกตั้งในสมัยหน้า แต่ทั้งนี้ด้วยจำนวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างทั้งหมด 9 เส้นทาง จะต้องใช้เม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีเงินมากขนาดที่จะใช้เงินในประเทศก่อสร้างทั้ง 9 เส้นทางได้ ดังนั้นแนวทางที่รัฐบาลหาทางออกคือการขอกู้เงินจากแหล่งเงินต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุนซึ่งสูงถึง 1.304 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
กระทรวงคมนาคม เป็นกระทรวงที่มีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ต้องรับผิดชอบและมีใช้เม็ดเงินลงทุนสูงกว่าทุกกระทรวง โดยโครงการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีการบรรจุโครงการไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี2552 มูลค่า 81,028 ล้านบาท เพื่อเสนอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาหาแหล่งเงินกู้ เช่น โครงการก่อสร้างทางสายหลัก 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 ที่กรมทางหลวงรับผิดชอบ(ทล.) ซึ่งจะใช้เงินกู้จากADB World Bank มูลค่า 5,620 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถ.นนทบุรี 1 รับผิดชอบโดยกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า มูลค่า 2,657 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ซึ่งมีโครงการที่รับผิดชอบ 10 โครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต แอร์พอร์ตลิงค์ การปรับปรุงทางระยะที่ 5 เป็นต้น ซึ่งทั้ง 10 โครงการถือว่าเป็นโครงการหลักและโครงการต่อเนื่อง อยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ มีมูลค่าการลงทุนแบ่งเป็นกู้ในประเทศ 25,970 ล้านบาท และกู้ต่างประเทศ 20,258 ล้านบาท
ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)รับผิดชอบ 2 โครงการ ประกอบด้วย สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และโครงการต่อเนื่องสายเฉลิมรัชมงคล โดยใช้เงินกู้ต่างประเทศ 9,500 ล้านบาทและเงินในประเทศ 900 ล้านบาท ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)รับผิดชอบ 3 โครงการใช้เงินกู้ในประเทศทั้งหมด 4,300 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี โครงการทางพิเศษรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกทม.และโครงการทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ รวมใช้เงินลงทุน 81,027 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการเร่งด่วนที่จะต้องขอกู้เงินอีก 82,410 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ในแผนกู้เงิน 3 ปี(2553-2555)โดยกระทรวงฯจะเสนอต่อสศช. มูลค่า 175,521 ล้านบาท รวมถึงโครงการระบบรถไฟฟ้าที่ต้องใช้เงินกู้อีก(2551-2558) 965,400ล้านบาท
สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยสบน.จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเงินกู้ทั้งใน และต่างประเทศมาใช้ก่อสร้างระหว่างปี 2552-2558 รวมมูลค่า 1.304 ล้านล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องปี 2551-2558 มูลค่ารวม 965,400 ล้านบาท มีโครงการที่ต้องเร่งรัด 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ 2. สายสีเขียวเข้มหมอชิต-สะพานใหม่ 3.สายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 4. สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต และ 5.สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งจะประกวดราคาทั้ง 5 เส้นทาง ภายในปีนี้
ทั้งนี้กระทรวงจะเสนอก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 เส้นทาง ในส่วนของงานโยธา 40,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาอนุมัติ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ซึ่งเบื้องต้นจะใช้วิธีการออกพันธบัตร ในดอกเบี้ยไม่เกิน 5%
ส่วนสายสีน้ำเงินนั้น กระทรวงการคลังจะเจรจากับไจก้า เพื่อเร่งรัดปล่อยเงินกู้ และให้เปิดประกวดราคาในส่วนของงานโยธาก่อน หลังจากนั้นจึงประกวดราคางานระบบรถไฟฟ้า ขณะที่สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต กระทรวงจะให้ ร.ฟ.ท. เป็นผู้รื้อย้ายผู้บุกรุก ตามข้อเสนอของไจก้า
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอขอใช้เงินกู้ระยะเร่งด่วนเพิ่มเติม อีก 2 เส้นทาง คือ ช่วงพหลโยธิน-พรานนกส่วนต่อขยายสายสีเขียว มูลค่า 65,900 ล้านบาทและช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนต่อขยายสายสีชมพู 75,000 ล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนส่วนต่อขยาย 140,900 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ต้องเร่งรัดตามแผนระยะเร่งด่วนอีก 2 โครงการ คือ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา มูลค่า 48,120 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้างและรูปแบบการลงทุนว่าจะใช้วิธีการลงทุนแบบรัฐบาลและเอกชนลงทุนร่วมกัน คือ พีพีพี (Public private Partnership : PPP) หรือจะเลือกวิธีการกู้เงินมาใช้สำหรับดำเนินโครงการ และโครงการยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท (ถนนปลอดฝุ่น) ระยะทางกว่า 7,200 กม. มูลค่าประมาณ 34,290 ล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอครม.พิจารณา
ด้านสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าสนข.อยู่ระหว่างดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทางในปี 2552 ในวงเงิน 140,900 ล้านบาท คือ สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงพหลโยธิน-พรานนก โดยเริ่มจากพหลโยธิน บริเวณเซ็นทรัลลาดพร้าวตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตต่อไปยังมักกะสัน-หลานหลวง เข้าสู่ถนนราชดำเนินและก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมไปยังศิริราช และสิ้นสุดโครงการที่พรานนก 18 สถานี ระยะทา 17 กม. แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 9 กม. และทางยกระดับ 8 กม. เงินลงทุน 65,900 ล้านบาท และโครงข่ายส่วนต่อขยายสายสีชมพู เริ่มจากแคราย-ปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ-ศูนย์ราชการ-หลักสี่-รามอินทรา-มีนบุรี เพื่อเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในอนาคต 22 สถานี ระยะทาง 35 กม. เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทางและใช้รถไฟฟ้าแบบ HEAVY RAIL เงินลงทุน 75,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ในส่วนของสายสีชมพู สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการเบื้องต้นแล้ว จะได้ข้อสรุปประมาณต้นปี 2552 โดยสายสีชมพูจะเป็นสายที่รองรับการเดินทางของประชาชน ที่จะมาทำงานภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งในเดือน มี.ค.2552 จะมีศูนย์ราชการเกิดขึ้นรวม 29 หน่วยงาน และจะมีบุคลากรไม่ต่ำกว่า 20,000 คนต่อวันมาทำงานที่ศูนย์ราชการ ส่วนสายสีเขียวจะรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตธุรกิจ อีกทั้งบริเวณถนนราชดำเนินไม่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับ ทั้งนี้ทั้ง 2 เส้นทางจะสามรถเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตได้
|