Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์3 พฤศจิกายน 2551
สมรภูมิ “เสื้อผ้าแฟชั่น” ร้อนระอุ อิมพอร์ตแบรนด์เปิดศึกชิงเค้ก             
 


   
search resources

Clothings




ตลาดแฟชั่นแบรนด์เมืองไทยร้อนฉ่าอีกระลอก เมื่ออินเตอร์แบรนด์ตบเท้าเข้ามาปักธงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “ฟอร์เอฟเวอร์ 21” แบรนด์ดังสัญชาติอเมริกา ก็เข้ามาเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงให้สูงขึ้น ด้วยการทุ่มงบ 150 ล้านบาท ผุดแฟลกชิปพื้นที่มากที่สุดในโลก มุ่งเจาะลูกค้าระดับกลาง-บน วางราคาเริ่มต้น 190 – 2,800 บาท และนี่อาจเป็นคลื่นลูกยักษ์อีกครั้งสำหรับผู้เล่นในตลาดเสื้อผ้าบ้านเรา หลังจากที่ปีก่อนโดนแรงกระแทกจาก “ZARA” อย่างจัง

อันที่จริง การแข่งขันในตลาดเสื้อผ้าบ้านเรา หากมองในมุมผู้เล่นที่เป็นโลคัลแบรนด์ด้วยกัน ทุกวันนี้ก็สู้กันจนหน้าดำหน้าแดงอยู่แล้ว และยิ่งลดภาษีนำเข้าเสื้อผ้าลงไปอีก ส่งผลให้การต่อสู้ในสมรภูมินี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการมาของ ZARA เมื่อต้นปีก่อน ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชนิดที่ไม่ใช่กระทบต่อโลคัลแบรนด์เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังอินเตอร์แบรนด์หลายรายที่เข้ามาปักหลักอยู่ก่อนหน้านี้

ล่าสุด การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง “ฟอร์เอฟเวอร์ 21” หรือ XXI เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีดีกรีเป็นสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลโดยกลุ่มบริษัทชาราฟ ผู้ได้ไลเซนส์จากบริษัทแม่ให้ทำการตลาดได้ในประเทศแถบตะวันออกกลางและในเอเชีย อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ จอร์แดน ดูไบ ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย

สำหรับ เมืองไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศอันดับต้นๆในการเปิดตัวแบรนด์ดังกล่าว ทว่า สิ่งที่เป็นตัวจุดพลุเรียกความสนใจจากผู้บริโภคและคู่แข่งในตลาดได้ตั้งแต่วินาทีแรก เห็นจะเป็นการทุ่มเม็ดเงิน 150 ล้านบาท เพื่อคว้าพื้นที่กว่า 3,450 ตารางเมตร สำหรับเปิดชอปแห่งแรกบนเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนับว่าเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ โดยพฤติกรรมการเปิดรับแฟชั่นของกลุ่มผู้บริโภคในบ้านเราที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นในไทยที่ตอนนี้มีมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านบาท เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการเข้ามาของผู้เล่นรายนี้

“บริษัทเชื่อว่าฟอร์เอฟเวอร์21จะได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ปัจจุบันพบว่าให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าการแต่งกายและเปิดรับแฟชั่นมากขึ้น” อาตูล ตะวักลีย์ กรรมการบริหาร กลุ่ม ชาราฟ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านแฟชั่นค้าปลีก

นอกจาก รูปแบบและขนาดของชอปที่สร้างจุดสนใจแล้ว การเข้ามาปักธงในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นบ้านเราครั้งนี้ ดูเหมือนว่า ฟอร์เอฟเวอร์21 ต้องการยึดหัวหาดในทุกเซกเมนต์ ไล่ระดับไปตั้งแต่บนลงล่าง โดยดูจากการวางราคาสินค้าที่เริ่มต้นตั้ง 190 – 2,800 บาท เรียกว่าเป็นราคาที่เย้ายวนผู้ซื้อทุกกลุ่ม โดยมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นสินค้านำเข้าจาก “สหรัฐอเมริกา” นับว่าเป็นจุดแข็งที่เชื่อว่าจะสร้างแรงจูงใจและการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี หรือตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าที่เป็นโลคัลแบรนด์

แม้การเปิดฉากบุกในครั้งนี้ กลุ่มผู้เล่นที่เป็นโลคัลแบรนด์จะได้รับผลกระทบมากสุด ซึ่งนอกจากการพัฒนาดีไซน์ของตนเองให้มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว เครื่องมือที่ผู้เล่นในกลุ่มนี้ เช่น พีน่าเฮ้าส์, AIIZ, เอ็กซ์แซ็กท์, ยึดเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดผู้บริโภค คือ การ “SALE” ชนิดที่มีการดั๊มราคาลดสูงสุดถึง 80% รวมทั้งเพิ่มความถี่การจัดรายการลดราคาให้มากขึ้น บางรายมีการจัดสินค้าลงกระบะเพื่อลดราราคามากกว่า 50% ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา และเริ่มมีความเข้มข้นขยายลุกลามไปสู่ผู้เล่นรายอื่นๆมากขึ้น เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “ซาร่า” แบรนด์ดังจากสเปน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาปักหมุดที่เมืองไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดชอปที่สยามพารากอนเป็นแห่งแรก ภายใต้การดูแลของ บริษัท กากัน (ประเทศไทย)

จากดีกรีที่เป็นแบรนด์ดังของซาร่า ในฐานะผู้เขย่าวงการแฟชั่นเสื้อผ้าในหลายประเทศ ด้วยกลยุทธ์ “ราคา” , “ดีไซน์” และ “ความรวดเร็ว” ของการหมุนเวียนของสินค้าภายในร้านมาเป็นจุดขาย จึงเป็นความชัดเจนครั้งแรก ที่ผู้บริโภคบ้านเราได้เห็นการปรับตัวของผู้เล่นอินเตอร์แบรนด์หลายราย โดยแบรนด์ที่มีความเคลื่อนไหวเตรียมตัวสร้างกำแพงรับมือเป็นรายแรกๆ เห็นจะเป็นค่ายไมเนอร์ แฟชั่น ผู้ที่มีแบรนด์เนมดังอยู่ในมือ เช่น เอสปรี, บอสสินี, อีดีซี โดยมีการปรับกระบวนรบครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่ “ดีไซน์” ซึ่ง “เอสปรี” (Esprit) ได้เพิ่มจำนวนคอลเลคชั่นใหม่เข้ามาจำหน่ายในปริมาณมากขึ้น 30 – 40% หรือเพิ่มจาก 28,000 – 30,000 ชิ้นต่อเดือน เป็น 50,000 ชิ้นต่อเดือน โดยสินค้าใหม่จะถูกลำเลียงเข้ามาจำหน่ายในร้านทุกๆ 10 วัน เร็วกว่าปรกติที่จะนำเข้าเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนแบรนด์ “อีดีซี” (edc by Esprit) ก็มีการเพิ่มจำนวนคอลเลคชั่นใหม่มากขึ้นอีก 3 เท่า จากเดิมที่นำเข้าเพียง 19,000 ชิ้นต่อเดือน

ขณะที่ “ราคา” ก็มีการจัดระเบียบใหม่เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ จากเดิมที่มีอยู่ 40 ราคา ก็เหลือเพียง 15 – 17 ราคา แบ่งเป็น 3 ระดับในทุกหมวดสินค้า คือ ระดับเบสิค ระดับกลาง และระดับพรีเมียม ซึ่งการวางราคา Price Point ที่ดีจะช่วยสร้างการรับรู้ว่าแบรนด์อยู่ในระดับใด ทำให้ราคาใหม่ที่ไมเนอร์ฯกำหนดขึ้นมีความใกล้เคียงคู่แข่งอย่าง “ซาร่า” และ “แมงโก้” จากเดิมที่จะวางราคาสูงกว่า 20 – 30% เมื่อเทียบกับสินค้าในหมวดเดียวกัน

กลับมาที่ผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง “ฟอร์เอฟเวอร์ 21” แม้ผู้เล่นในตลาดตอนนี้จะได้รับแรงสั่นสะเทือนไปตามๆกัน เพราะความสดใหม่ที่เข้ามายั่วใจขาชอป แต่เมื่อมองระยะยาวแล้วคู่แข่งที่เป็นคู่ชกโดยตรงคงหนีไม่พ้น “ซาร่า” อย่างแน่นอน

เริ่มตั้งแต่ การเลือกทำเลที่ตั้ง ทางกลุ่มชาราฟเลือกจะเปิด XXI สาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเปิดขนาบคู่กับ “ซาร่า” ชนิดที่ง่ายต่อการเปรียบเทียบของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ร้าน ซึ่งหากมองกะด้วยสายตา XXI ดูมีพื้นที่ใหญ่กว่าราว 2 - 3เท่า และด้วยความใหญ่โตของชอปที่สามารถจัดเรียงสินค้าได้เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะเป็นจุดดึงดูดสำคัญในการเรียกลูกค้าเข้าร้าน นอกจากนี้ ความตั้งใจให้มีบันไดเลื่อนในชอป กลายเป็นข้อได้เปรียบซาร่าอย่างชัดเจน เพราะนั่นหมายความว่าลูกค้าที่เดินขึ้น – ลง บันไดเลื่อนจะได้เข้ามาชมสินค้าในชอปโดยปริยาย นับว่าเป็นการสร้างให้ลูกค้ามีโอกาสเข้ามาสู่ชอปได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ดีไซน์ และ ราคา ที่ทาง XXI วางเป็นจุดแข็งในการบุกเข้าถึงผู้บริโภค ค่อนข้างตรงกับจุดขายของ “ซาร่า” โดย “ดีไซน์” จุดขายข้อแรกทางผู้บริหารฟอร์เอฟเวอร์ 21 บอกว่า จะเป็นการจัดการภายใต้แนวคิด “New arrival everyday!” เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค โดยเป็นการส่ง message ผ่านจำนวนเสื้อผ้าหลากดีไซน์ที่มีมากกว่า 50,000 แบบต่อปี ขณะที่ “ซาร่า” แบรนด์ที่เป็นทั้งผลิตและผู้ค้าปลีกจะมีสินค้าออกมาราว 20,000 แบบต่อปี แม้จะเป็นความเร็วที่เหนือคู่แข่งอย่าง Gap และ H&M แต่เมื่อเทียบกับ XXI จะเห็นว่า ซาร่า ยังผลิตได้น้อยกว่าหลายเท่า

แต่เมื่อมามองที่ความเร็วในการหมุนเวียนสินค้าเข้าสู่ชอป จะเห็นว่าซาร่ามีศักยภาพในการนำสินค้าใหม่เข้าสู่ร้านทุกๆ 2 – 3 วัน ขณะที่ XXI จะปรับเปลี่ยนคอลเลกชั่นใหม่ประมาณ 2 – 4 อาทิตย์ ด้วยความรวดเร็วดังกล่าว จึงไม่แปลกที่ทำให้ลูกค้ามองว่าแฟชั่นเสื้อผ้าของซาร่าดูทันสมัยที่สุด โดยนิตยสาร POSITIONING ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2549 ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ความสำเร็จของ ZARA ไว้ว่าเป็นเรื่องของความเร็ว ที่ทำให้ลูกค้าวนเวียนกลับมาที่ร้านของซาร่าเฉลี่ย 17 ครั้งต่อปี และนี่อาจเป็นจุดแข็งสำคัญอีกข้อของซาร่าที่ทำให้ XXI ต้องออกแรงสู้ไม่ใช่น้อย

ทว่า จุดขายสำคัญสำหรับ XXI ที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้เล่นรายอื่นสะท้านสะเทือนไปตามๆกัน เหมือนครั้งที่ซาร่าเข้ามา เห็นจะเป็นกลยุทธ์ “ราคา” โดยแบรนด์นี้ได้กำหนดราคาสินค้าที่ง่ายต่อการเข้าถึงของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยกำหนดตั้งแต่ 190 – 2,800 บาท แต่ราคาส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 900 – 1,400 บาท ขณะที่ซาร่าผู้ที่วางโพซิชันนิ่งตนเองเป็นแบรนด์หรูในคอนเซปต์ Luxury Shop แต่วางราคาเป็นแบบ Value for money ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่คนไทย และคนทั่วโลกกำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ โดยตั้งราคาขายอยู่ในระดับเดียวกันทั่วโลก อาทิ เสื้อยืดจะมีราคาเริ่มต้น 1,000 บาท เสื้อสูทจะอยู่ระหว่าง 3,000 บาท หากเป็นชุดแซกสำหรับออกงานราคาจะอยู่ประมาณตัวละ 2,000 บาท แม้จะเป็นการวางราคาที่ดูสูงกว่า XXI แต่กลยุทธ์การจัดระดับราคาที่ชัดเจนตามหมวดหมู่ของสินค้าก็เป็นสิ่งที่ทำให้ซาร่าสามารถไต่ระดับขึ้นเป็นแบรนด์ที่สร้างยอดขายในระดับแถวหน้า แซงคู่แข่งหลายรายในแต่ละประเทศ

สำหรับ การเข้ามาของฟอร์เอฟเวอร์ 21 ในครั้งนี้ คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า จะสามารถสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้เล่นในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นบ้านเราได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแค่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการเพียง 10 วัน แบรนด์นี้ก็สามารถปั๊มยอดขายได้ราว 4 ล้านบาทต่อวัน แต่ในระยะยาวที่แบรนด์นี้มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่ง ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน จะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่องระยะยาวหรือไม่นั้น การตั้งเป้ายอดขายของสาขาแรกเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือนนับจากนี้ น่าจะเป็นสัญญาณบอกได้ไม่มากก็น้อย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us