|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความสำเร็จของศิลปินนักร้องจากเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น เรน ดงบังชินกิ หรือซูเปอร์จูเนียร์ ที่สามารถนำเสียงเพลงที่เป็นภาษาของตน ไปสร้างความโด่งดังในประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ลงมาถึงประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ได้ ถือเป็นมิติใหม่ของตลาดเพลง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่แสดงให้เห็นว่า วันนี้ตลาดเพลงไม่มีพรหมแดน เพียงแต่ค่ายเพลงสามารถสร้างศิลปินที่มีผลงานโดนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย วางกลยุทธ์การตลาดให้ถูกต้องกับตลาดในแต่ละประเทศ ศิลปินนักร้องจากประเทศหนึ่งก็สามารถครองใจผู้ฟังในอีกประเทศได้ไม่ยาก
จุดนี้เองที่ทำให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจเสียงเพลงสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิก ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจดนตรีมากว่า 25 ปี ผนวกกับบทบาททางธุรกิจต่างประเทศที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นตัวแทนทางการตลาดให้กับค่ายเพลงจากเกาหลี ญี่ปุ่น ในการทำตลาดเมืองไทย วันนี้ แกรมมี่จึงใช้ความแข็งแกร่งที่มีอยู่ ทั้งผลงานเพลงที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ สะท้อนผ่านผลงานเพลงจำนวนมากที่ถูกนานาประเทศซื้อลิขสิทธิ์นำไปดัดแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาท้องถิ่น ผนวกกับแผนการตลาดที่มีพันธมิตรค่ายเพลงในประเทศต่างๆ เป็นผู้ดูแล หันหัวกลับรุกตลาดเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มตัว
สุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตลาดต่างประเทศที่บริษัทฯ มองไว้ ประกอบด้วย 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง อินโดนีเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยวางแนวทางการทำธุรกิจไว้ 2 ส่วน ประกอบด้วย กลุ่ม Home Sick Business ทำตลาดเพลงไทย จำหน่ายให้กับคนไทย และคนลาวที่เข้าไปอยู่ในประเทศที่แกรมมี่เข้าไปทำตลาด และกลุ่ม Pop Music ทำตลาดเพลงไทยให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังในประเทศนั้นๆ ผ่านช่องทางทั้งสินค้า Physical ซีดี วีซีดี และดีวีดี, Digital, Artist Management รวมถึงการจัดโชว์ แสดงคอนเสิร์ต
ข้อมูลจากการสำรวจมูลตลาดเพลงทั่วโลกของ International Federation of the Phonographic Industry หรือ FPI ในปี 2006 ประมาณมูลค่าได้ราว 28,121 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสถานการณ์ความซบเซาของสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ว่าถึงปี 2008 มูลค่าก็คงไม่ต่างไปจากปี 2006
ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดเพลงที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4,495 ล้านเหรียญ ซึ่งทั่วโลกมีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีตลาดเพลงที่ใหญ่กว่า จุดนี้เองทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ มีการร่วมมือกับค่ายเพลงในประเทศญี่ปุ่นนำศิลปินในสังกัดอย่าง กอล์ฟ-ไมค์ และไอซ์ ศรัญญู วินัยพานิช ไปเปิดตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
มูลค่าตลาดเพลงประเทศญี่ปุ่น เมื่อผนวกเข้ากับประเทศต่างๆ รอบข้าง ตั้งแต่เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง อินโดนีเชีย สิงคโปร์ มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย จะมีเงินหมุนเวียนสูงถึงปีละ 5,012 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับตลาดเพลงเมืองไทยที่มีอยู่เพียงปีละ 72.1 ล้านเหรียญ
Home Sick Business ยกทีมลูกทุ่งเจาะแรงงานไทย-ลาว
กลุ่มคนไทยที่ย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไปทำงานในต่างแดน โดยเฉพาะในย่านเอเชียแปซิฟิก มีจำนวนที่น่าสนใจ เมื่อผนวกกับคนลาวที่คุ้นเคยกับศิลปินไทยไม่แพ้กัน จึงกลายเป็นขนาดตลาดที่น่าลงทุน สุรชัย กล่าวว่า ในไต้หวัน มีจำนวนคนไทยทั้งที่เข้าไปใช้แรงงาน ทำธุรกิจ ศึกษา และแม่บ้านอยู่ราว 1 แสนคน เช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ มีคนไทยทำงานอยู่ในโรงงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนเช่นกัน ขณะที่บนเกาะฮ่องกง มีแม่บ้านชาวไทยใช้ชีวิตอยู่ราว 5 หมื่นคน เช่นเดียวกับสิงคโปร์
รูปแบบการทำตลาดถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของตลาดในประเทศนั้นๆ ในประเทศไต้หวัน ที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน ตลาดจึงเป็นของสินค้า Physical แกรมมี่เลือกให้ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นในไต้หวัน เป็นผู้ทำตลาด โดยในปีที่ผ่านมา อัลบั้มเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินลูกทุ่ง สามารถจำหน่ายได้ในไต้หวันถึง 1 แสนแผ่น ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพึงพอใจ
ขณะที่ในตลาดสิงคโปร์ กลุ่มคนไทยมีพฤติกรรมไม่ต่างจากในประเทศไทย คือ เน้นบริโภคคอนเทนต์ผ่านช่องทางดิจิตอล จึงให้ความสำคัญกับการหารายได้จากช่องทางดาวน์โหลด เน้นที่การดาวน์โหลด True Tone และเสียงเพลงรอสาย นอกจากนั้น ยังมีการร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมในสิงคโปร์ เพื่อสร้างกิจกรรมสนับสนุนการตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยล่าสุดร่วมมือกับสิงเทล ที่มีการสำรวจพบว่า กลุ่มคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายนี้สูงสุด ออกบัตรเติมเงินมือถือรูปต่าย อรทัย 3 แบบ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายคนไทยสะสมให้ครบ แลกบัตรชมคอนเสิร์ต ต่าย อรทัย ในสิงคโปร์ เป็น 2 โมเดลการตลาดใน 2 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมา
สุรชัยวางเป้าหมายต่อไปว่า จะเข้าไปบุกตลาดดิจิตอลในไต้หวัน นำความสำเร็จให้เทียบเท่ากลุ่ม Physical ขณะที่ตลาดในประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น ก็จะเริ่มเดินหน้า นอกจากนั้นในตลาดดิจิตอล จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีการมอบหมายให้บริษัทที่ทำตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลทั่วโลก The Orchard ดำเนินการทำตลาดดิจิตอลให้กับคนไทยในยุโรป สหรัฐอเมริกา แลออสเตรเลีย โดย Orchard จะทำหน้าที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายคนไทยในประเทศต่างๆ และติดต่อกับบริษัทโทรคมนาคมในประเทศนั้นๆ เพื่อร่วมทำตลาดให้กับแกรมมี่
"The Orchard เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลในอเมริกา และยุโรป โดยผลงานที่ทำให้กับแกรมมี่ที่ผ่านมา คือการเจาะหาคนไทยในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์ Vodaphone ที่คนไทยใช้มากที่สุดที่นั่น ประสบความสำเร็จมาแล้ว จากนี้ Orchard จะเป็นส่วนสำคัญในการรุกตลาดดิจิตอลให้กับแกรมมี่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ที่มีคนลาวอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น Orchard ยังจะทำหน้าที่ประสานงานในการนำเพลงของแกรมมี่ ขึ้นขายใน iTunes เพื่อให้เพลงของแกรมมี่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนไทย และคนลาวทั่วโลกได้ ในเร็วๆ นี้ด้วย
ประสานพันธมิตรทั่วเอเชีย พาศิลปินป๊อปแกรมมี่เปิดตลาด
อีกตลาดหนึ่งที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ให้ความสนใจมาโดยตลอด คือการนำศิลปินไทยออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในอดีตการทำตลาดเพลงต่างประเทศถูกมองว่า ต้องผลิตอัลบั้มออกมาในรูปแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางเท่านั้นจึงจะสามารถเจาะเข้าถึงประเทศต่างๆ เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่วงดนตรีสตริงจากเกาะฮ่องกง นาม The Wynner เคยออกอัลบั้มภาษาอังกฤษ มีเพลงฮิตอย่าง Sha La La La หรือ I'll Never Dance Again ประสบความสำเร็จมหาศาล เพราะการที่จะให้นักร้องจากประเทศไทย ร้องเพลงภาษาอื่น เข้าไปขายในประเทศนั้นๆ คงไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ทั้งสำเนียงการร้องเพลงภาษาท้องถิ่น หรือทำนองดนตรีที่นิยมต่างกัน
แต่วันนี้โลกทั้งใบถูกทะลายกำแพงที่กั้นขวางศิลปะด้านเสียงเพลงลง เพลงจากญี่ปุ่น เกาหลี สามารถเข้าถึงผู้ฟังในประเทศอื่นๆ อย่างไม่ยาก ตลาดผู้รับฟังเพลงภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาของตนในประเทศต่างๆ เริ่มมีสัดส่วนสูงขึ้น ในสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดเพลงภาษาถิ่น กับเพลงภาษาต่างประเทศ สัดส่วนสูงถึง 50/50 ขณะที่ญี่ปุ่นแม้มีตลาดเพลงต่างประเทศในสัดส่วน 20% แต่ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงลิ่ว ทำให้ตลาดนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เดินเกมการตลาดเพลงไทยในต่างประเทศด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในพื้นที่ประเทศต่างๆ ถึง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย Avex ค่ายเพลงอันดับ 1 ในญี่ปุ่น, Ocean Butterfly ค่ายเพลงที่มีความชำนาญในกลุ่มประเทศที่มีการใช้ภาษาจีนกลาง ได้แก่ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย และ Musica ค่ายเพลงในประเทศอินโดนีเชีย ที่ครองส่วนแบ่งเพลงภาษาท้องถิ่นถึง 50% ในอินโดนีเชีย และมาเลเซีย นอกจากนั้น ในมาเลเซีย ก็มีการร่วมมือกับพันธมิตร 4 บริษัท ในการทำตลาดเพลงไทยให้กับแกรมมี่
สุรชัยกล่าวว่า การเข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้มุ่งไปที่การขายอัลบั้ม แต่เป็นการออกไปสร้างรายได้ 360 องศา ทั้งการนำอัลบั้มเพลงไทยไปวางจำหน่าย เช่นผลงานของไอซ์ ศรัญญูในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่กอล์ฟ-ไมค์ มีอัลบั้มเพลงภาษาญี่ปุ่น ด้านชิน ชินวุฒิ ก็สามารถเข้าสู่ตลาดในมาเลเซีย โดยการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้า Sony Cyber Shot ทำตลาดบีโลว์เดอะไลน์ และเริ่มวางอัลบั้มเพลงไทย ตามด้วยการตระเวนทัวร์คอนเสิร์ต พร้อมออกอัลบั้มพิเศษที่เพิ่มเพลงภาษาจีนกลางเข้าไป เช่นเดียวกับกอล์ฟ-ไมด์ ที่จะออกอัลบั้มภาษาจีนกลางในปีหน้า และจะหันมาขยายตลาดในมาเลเชีย หลังจากประสบความสำเร็จจากญี่ปุ่นมาแล้ว ขณะที่ตลาดสิงคโปร์ในปีหน้ามีแผนที่จะนำศิลปินไทยอาทิ ดา เอนโดรฟิน หรือวงแคลชไปจัดคอนเสิร์ต 5 รายการต่อปี
นอกจากนี้ ในตลาดอินโดนีเชีย เพลงภาษาท้องถิ่นก็เป็นอีกตลาดที่แกรมมี่เตรียมจะเข้าไป โดยเล็งเป้าไปที่ตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ การดาวน์โหลดเพียงรอสาย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โดยเริ่มจากการส่งเพลงของศิลปินไทย แต่ร้องเป็นเวอร์ชั่นภาษาท้องถิ่น ทั้ง เจมส์ เรืองศักดิ์ และชิน ชินวุฒิ
ขณะที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่น หลังจากประสบความสำเร็จกับการนำไอซ์ ศรัญญูไปทำตลาดในปีนี้ ในปีหน้า ครึ่งปีแรกจะนำกลุ่มศิลปิน เป๊ก ออฟ ไอซ์ เข้าไปเปิดตลาด ส่วนครึ่งปีหลัง มีแผนนำบี้ เดอะสตาร์ เข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นเช่นกัน
สุรชัยกล่าวว่า ธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อินเตอร์ฯ ในปีนี้ คงสร้างรายได้ราว 40 ล้านบาท แต่ในปีหน้า คงจะมีการเติบโตขึ้นอีกมากจากการวางแผนรุกตลาดอย่างเต็มรูปแบบใน 9 ประเทศเป้าหมาย โดยตลาดที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุด จะอยู่ที่ธุรกิจ Publication การขายลิขสิทธิ์เพลงเพื่อให้ต่างประเทศนำไปใส่เนื้อร้องภาษาของตน ธุรกิจ Home Sick จะเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ติดตามมา ขณะที่กลุ่มตลาดเพลงป๊อป คงเป็นกลุ่มที่ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างการเติบโต
|
|
|
|
|