บอร์ดบีโอไอวันนี้เตรียมเข็น 2 มาตรการพิเศษดึงลงทุน ด้วยการกำหนดพื้นที่ทั่วประเทศเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเว้นกทม. ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 35 และการให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับโครงการที่มายื่นขอรับการลงทุนภายในปี 2552 จำนวน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ในวันนี้จะมีการพิจารณมาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุนในปีแห่งการส่งเสริมการลงทุนปี 2551-2552 โดยมาตรการพิเศษมี 2 มาตรการคือ 1.กำหนดให้พื้นที่ทั่วประเทศเป็นเขตการส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นกทม.ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 35 ประกอบด้วย ได้รับส่วนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุน 50% เป็นเวลา 5 ปี ให้หักค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปาได้ 2 เท่า ตามเงื่อนไข เวลาที่บอร์ดกำหนด และ ให้หักค่าติดตั้ง ค่าก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิ ไม่เกิน 25% ของเงินลงทุน
มาตรการที่ 2 คือ การให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนภายในปี 2552 แก่ 6 กิจการที่สำคัญ เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และสามารถที่จะเร่งการลงทุนได้เร็ว ประกอบด้วย 1.กิจการประหยัดพลังงาน 2.กิจการที่ใช้เทคโนโยลีขั้นสูง และ 3.กิจการผลิตที่ใช้วัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 4.กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจคต์) เพราะสอดคล้องกับนโยบายรัฐ และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
5. กิจการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งปัญหาทางด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในกลุ่มนี้ เพื่อกิจการดำเนินต่อไปได้ และ 6. กิจการที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ เพื่อช่วยเหลือทางด้านราคาพืชผลทางการเกษตร และยกระดับเทคโนโยลีการผลิตให้สูงขึ้นโ ดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับคือ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน และ ได้รับสิทธิทางภาษีตามมาตรา 35
นอกจากนี้ที่ประชุมยังจะมีพิจารณาให้การส่งเสริมลงทุนแก่กิจการ 8 โครงการ ประกอบด้วย 1.บริษัท การ์เดียนอินดัสทรีส์ คอร์ป จำกัด ผลิตกระจกแผ่นเรียบและกระจกเงา เงินลงทุน 1,560 ล้านบาท 2.บริษัท ไทยน็อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) ผลิตเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็นชนิดพื้นผิวมันเงา มูลค่า 4,600 ล้านบาท 3.บริษัท ไอชิน เอไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตชุดขับเคลื่อน 4 ล้อ มูลค่าเงินลงทุน 2,810 ล้านบาท
4.บริษัท สยาม เอ็น เอส สเตียริ่ง ซิสเต็มส์ จำกัด ผลิตชิ้นส่วนของแกนพวงมาลัยรถ มูลค่าเงินลงทุน 1,092 ล้าน 5.บริษัท มิตซูบิชิ เทอร์โบชาร์เจอร์ เอเซีย จำกัด ผลิต TURBOCHARGER, CARTRIDGE , BEARING HOUSING 6.บริษัท แดธสเปเปอร์ จำกัด ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ เงินลงทุน 1,320 ล้านบาท 7.บริษัท ไทยแอร์เอเซีย จำกัด กิจการขนส่งทางอากาศ จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุน 2,778 ล้านบาท 8.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด กิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุน 2,209 ล้านบาท เช่าเครื่องบินไอพ่นแบบ AIRBUS A319 ให้บริการขนส่งทางอากาศแบบประจำเส้นทางทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเส้นทางเป็นครั้งคราว
|