ภายหลังจากที่สำนักงานประกันภัยตัดสินใจใช้มาตรการหานักลงทุนมาเทคโอเวอร์บัวหลวงฯ
โดยสำนักงานฯเข้าตรวจสอบเคลียร์หนี้สินบริษัท หามูลหนี้ที่แท้จริงพร้อมกับดำเนินการเจรจาประนอมหนี้ที่มีต่อบริษัทประกันภัยด้วยกัน
และทาบทามผู้สนใจมากซื้อกิจการนั้น
ปรากฏว่าเมื่อเคลียร์หนี้สินออกมาแล้ว ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 91.2 ล้านบาท
ดังนั้นตัวเลขที่เคยทาบทามเจรจากันในราคา 35 - 40 ล้านบาท จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาชดใช้หนี้สิน
อีกทั้งการที่ตัวเลขมูลหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทำให้ผู้สนใจจะเทคโอเวอร์หลายคนชักยอด
เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะหนี้สินโผล่ขึ้นมาอีกตรงไหนเมื่อไร
ชะลอ เฟื่องอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานฯ จึงได้เรียกตัวแทนจากสมาคมประกันวินาศภัยเข้าปรึกษาหรือหาทางแก้ไขปัญหาบัวหลวงฯให้ได้
โดยชลอได้มอบเอกสารตัวเลขหนี้สินบัวหลวงฯทั้งหมดที่แต่เดิมมอบหมายให้เสริมศักดิ์
สุวรรณณาคาร ผู้อำนวยการกองกำกับและและตรวจสอบ สำนักงานประกันภัยดูแลอยู่ให้แก่
ประสาน นิลมานัตต์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ตัวแทนสมาคมฯไปศึกษาร่วมกับสมาชิกของสมาคมฯ
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ชลอต้องเรียกสมาคมฯมาร่วมแก้ปัญหาด้วยนั้น นอกเหนือจากที่วาหนี้สินมีจำนวนสูงมากแล้ว
ยังมีเหตุมาจากการที่สำนักงานเน้นความรับผิดชอบที่จะให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันที่กรมธรรม์ยังไม่หมดอายุ
การจะให้ความคุ้มครองได้อย่างต่อเนื่องนั้นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบริษัทประกันภัยอื่น
ๆ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือผลักภาระเรื่องนี้ให้แก่สมาคมฯ
โดยข้อเรียกต่อสมาคมฯก็คือให้รับช่วงการคุ้มครองกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่ยังไม่หมดอายุ
ทั้งนี้อาจมีการเฉลี่ยกันในบริษัทสมาชิกที่รับประกันรถยนต์
ตัวแทนของสมาคมฯที่ร่วมเจรจาปัญหาบัวหลวงฯครั้งนี้ก็คือ 11 บริษัทชั้นนำในการรับประกันรถยนต์
อันได้แก่ วิริยะ บางกอกสหรัฐฯนวกิจ กรุงเทพฯ นิวแฮมเชอร์ สหวัฒนา รัตโกสินทร์
ประกันคุ้มภัยนำสิน คุ้มเกล้าประกันภัย และไทยวิวัฒน์
ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก็คือประสานจากวิริยะ วิรัช อัศว์ศิวะกุลจากรัตนโกสินทร์
วรวุทธ ตั้งก่อสกุลจากประกันคุ้มภัย
ประสานได้ขอให้มีการเรียกประชุมด่วนคณะกรรมการสมาคมฯในวันที่ 25 มกราคม
2532 เพื่อปรึกษาหารือทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขให้แก่ชลอในวันรุ่งขึ้น
การประชุมเมื่อ 25 มกราคมนั้นเริ่มแต่ 15.30 น. ไปสิ้นสุดเอาเมื่อ 18.30
น. ล่วงแล้ว โดยยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ เพียงแต่มีแนวทางกว้าง
ๆ ไปคุยกับนายทะเบียนเท่านั้น
แนวทางกว้าง ๆ นั้นมาจากความเห็นของประสานและวิรัชโดยเสนอให้สมาคมฯรับเอาทั้งหนี้สิน
"เน่าๆ " และเข้าซื้อกิจการบัวหลวงฯเสียพร้อมกันไป
ประสานกล่าวว่า "ถ้าสมาคมฯต้องเสียเงิน 30 ล้านบาทเพื่อจัดการเรื่องกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุของบัวหลวงฯ
ทำไมสมาคมฯจะจ่ายอีกสัก 30 ล้านบาทเพื่อซื้อบัวหลวงฯมาไม่ได้ ซึ่งในไม่เกิน
3-5 ปีสมาคมฯก็สามารถถอนทุนคืนจากบริษัทประกันที่จะตั้งขึ้นใหม่แทนบัวหลวงฯได้"
ข้อเสนอนี้ได้รับความสนใจจากที่ประชุมสมาคมฯ แม้จะยังมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดเรื่องการรับกรมธรรม์ที่ยัไงม่หมดอายุ
และวงเงินที่บริษัทจะต้อง "ลงขันเพื่อส่วนรวม" ครั้งนี้รวมไปถึงปัญหาในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องกาเรปิดบริษัทใหม่โดยใช้ใบอนุญาตบัวหลวงฯ
และการจัดรูปแบบบริหาร
ครั้น 26 มกราคม ตัวแทนสมาคมฯ คือวิรัชและวรวุทธ ก็ได้เข้าพบกับชลอเพื่อนเสนอแนวทางกว้าง
ๆ ปรากฏว่าในวันนั้นไดมีผู้แจ้งความจำนงสนใจซื้อบริษัทบัวหลวงฯอีกหลายราย
ทั้งที่เป็นคนจากวงการประกันภัยเองโดยแหกคอกไม่ยอมร่วมกับสมาคมประกัน วินาศภัย
นอกจากนี้ก็มีคนจากวงการธนาคาร และผู้ประกอบกิจการบริษัทเงินทุน
แต่ในบรรดาข้อเสนอของผู้สนใจซื้อบัวหลวงฯทั้งหลายนั้นปรากฏว่าข้อเสนอของสมาคมฯเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจและดีที่สุด
ทั้งนี้เพราะสมาคมฯขอรับซื้อทั้งหนี้สินและใบอนุญาต ขณะที่รายอื่น ๆ นั้นสนใจแต่จะซื้อใบอนุญาตเท่านั้น
โดยความเป็นจริงผู้ที่จะช่วยสำนักงานจัดการหนี้สินและกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุของบัวหลวงฯได้ดีที่สุดก็คือสมาคมฯ
หรือนัยหนึ่งก็คือคนในวงการประกันภัย โดยเฉพาะประกันรถยนต์ด้วยกันนั่นเอง
ขั้นตอนการแก้ไขบัวหลวงฯที่สมาคมฯจะทำหลังจากมีการปิดกิจการบัวหลวง และสมาคมฯได้รับอนุญาตให้เข้าเทคโอเวอรืก็คือจะมีการระดมเงินจากบริษัทสมาชิกทั้งหมด
หรือหากมีบริษัทใดไม่ยอมเข้าร่วมก็อาจจะรดดมเอาจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
"น็อค ฟอร์น้อค" (เป็นโครงการให้ความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการที่จะไม่เรียกชดใช้ค่าเสียหายระหว่างกัน
โดยต่างฝ่ายต่างช่วยเมื่อลูกค้าเป็นคู่กรณีในกลุ่ม)
วงเงินที่จะระดมมานี้คาดวาอยู่ในราว 40 ล้านบาท โดยจะนำมาใช้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันซึ่งมีตัวเลขรวม
24.2 ล้านบาท ทั้งนี้สำนักงาฯและสมาคมฯมีความเห็นพ้องกันในการที่จะจ่ายแก่ผู้เอาประกันเหล่านี้
100% ส่วนหนี้สินในกลุ่มเจ้าหนี้นั้นจะไม่จ่ายเต็ม 100% แต่จะเจรจาลดหย่อนลงได้มาก
ประสานจากวิริยะประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทรับประกันรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเวลานี้กล่าวแก่
"ผู้จัดการ" ในค่ำวันที่ 26 มกราคมหลังจากเขาพบกับชลออย่างไม่เป็นทางการว่า
"ผมสบายใจมากที่ปัญหานี้จะแก้ไขได้อย่างเรียบร้อย ในที่สุด คืนนี้คงได้นอนหลับสบาย
หลังจากที่นอนไม่หลับมาหลายคืน"
ส่วนชลอนั้นก็เริ่มมีสีหน้ายิ้มแย้มขึ้นบ้างในงานครบรอบ 60 ปีบริษัทบางกอกสหประกันภัย
จำกัดของนายกสมาคมประกันวินาศภัยมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งภายหลังจากที่งานเลิกแล้วชลอได้ควงทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สุบินน
ปิ่นขยัน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ ชูชีพ หาญสวัสดิ์ ที่มาร่วมเป็นประธานในงานลงไปทานอาหารชั้นใต้ดินโรงแรมดุสิตธานี
คาดว่าคงทำทำการเจรจามาตรการแก้ไขปัญหาบัวหลวงฯและเสนอขอปิดบริษัทด้วย
ในงานเดียวกัน ประสานได้ทำหน้าที่ล่าลายเซ็นบริษัทที่จะร่วม "ลงขัน"
เพื่อเทคโอเวอร์บัวหลวงฯ และดูเหมือนจะได้ลายชื่อเป็นที่น่าพอใจ
หลังจากนั้นประสานในนามสมาคมประกันวินาศภัยก็จะยื่นหนังสือของสมาคมฯพร้อมลายเซ็นเหล่านี้
เพื่อขอชี้กิจการและรับผิดชอบเรื่องหนี้สินของบริษัทบัวหลวงฯต่อนายทะเบียนสำนักงานประกันภัย
หนังสือของสมาคมฯฉบับนี้ จะได้รับการอนุมัติจากนายทะเบียนวินาศภัยเป็นทางออกที่ดูเหมือนกับดีสำหรับสำนักงานประกันวินาศภัยวิกฤติการณ์ดูเหมือนกับได้รับการแก้ไขแล้ว
แต่หากมองกันให้ลึกซึ้งจะเห็นว่าเกิดมีปัญหาอีกชุดหนึ่งสืบเนื่องต่อมา
ประการแรกการที่สมาคมฯเข้าโอบอุ้มเทคโอเวอร์บัวหลวงฯครั้งนี้ เป็นผลมาจากความพยายามผลักดันของประสานแห่งวิริยะ
และกลุ่มบริษัทผู้รับประกันรถยนต์โดยเฉพาะกลุ่มน็อค ฟอร์ น็อค โดยในระหว่างการเจรจานั้นได้มีความเห็นแตกต่างกันเป็นหลายแนวทั้งนี้ก็เพราะจำนวนเงินที่แต่ละบริษัทต้อง
"ลงขันเพื่อส่วนรวม" ครั้งนี้เป็นตัวเลขมากกว่าหกหลักขึ้นไป จึงต้องมีการคิดกันให้ละเอียดรอบคอบ
หลังจากเข้าเทคโอเวอร์แล้ว สมาคมฯยังจะต้องมีการคุยกันในรายละเอีดยว่าจะเปิดบริษัทใหม่อย่างไร
ใครเป็นผู้บริหาร
แนวคิดหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมาโดยกลุ่มของประสานก็คือให้ใช้นโยบายเดียวกับการจัดตั้งบริษัทไทยรับประกันต่อ
จำกัด ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือของสมาชิกสมาคมฯ โดยให้มุ่งเน้นงานรับประกันต่อภายในประเทศ
ส่วนบริษัทไทยรับประกันต่อก้ให้หันไปผลักดันให้เข้าเป็นบริษั่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้เป็นบริษัทมหาชนอีกด้วย
อย่างไรก็ดีนั่นเป็นแนวคิดในแง่บวกในการที่จะใช้ประโยชน์จากใบอนุญาตของบัวหลวงฯ
ซึ่งหลายคนก็เปรยอกมาว่าหากไม่สามารถตกลงกันจัดการกับบริษัทที่จะตั้งใหม่ได้
ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยปล่อยใบอนุญาตนั้นว่างไว้เฉย ๆ ก็ได้
ปัญหาสำคัญที่น่าสนใจและทิ้งไว้สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับวงการประกันภัยทั้งหลาย
ก็คือคำถามที่บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งถามต่อนายทะเบียนในคราวที่มีการประชุมกัน
11 บริษัทร่วมกับสำนักงานนคือ มาตรการป้อกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในวงการประกันภัยอีกและมาตรการท่ำสนักงานจะจัดการกับผู้บริหารบัวหลวงฯอย่างเด็ดขาด
วันสุดท้ายของบัวหลวงฯในวันนี้เห็นจะไม่ทิ้งอะไรไว้เป็นอนุสรณ์ความดีงามสำหรับนามของบัวหลวงประกันภัยรวมไปถึงชื่อของผู้บริหารทุกคน
แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ให้สำนักงานฯ สมาคมฯ บริษัทประกันภัย และผู้เอาประกัน
รวมไปถึงอู่ในเครือประกันมีมากมายก่ายกอง
คนสองกลุ่มหลังคงจะเข็ดขยาดบริษัทประกันประเภทนี้ไปอีกนาน
ส่วนคนสามกลุ่มแรกคงจะได้รับประสบการณ์ในการที่จะไปปรับปรุงมาตรฐานการทำงาน
การตรวจสอบการให้บริการให้รัดกุมเข้มงวดกันมากขึ้น
หวังว่าจะไม่มีที่สุดของการเจ๊งยิ่งกว่าวันสุดท้ายของบัวหลวงฯ ให้เห็นกันอีก