|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2551
|
|
Bhutan เป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจของคนไทยมิใช่น้อย โดยเฉพาะเมื่อสามปีก่อน มกุฎราชกุมาร เจ้าชายจิกมีวังชุก ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีครองราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ในหลวงของเรา มาบัดนี้ท่านทรงขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าอยู่หัวของชาวภูฐานเรียบร้อยแล้ว ในครั้งนั้นคนไทยชื่นชมหลงรักในพระจริยวัตรที่สุภาพสง่างามของพระองค์ท่าน จนเกิดเป็นกระแส "Prince Charming" กันอยู่พักใหญ่
Bhutan หรือที่ชาวไทยเรียกว่า ภูฏานบ้าง ภูฐานบ้าง ผู้เขียนขอเรียกภูฐาน เพราะออกเสียงง่ายกว่าและคุ้นหูคนส่วนใหญ่มากกว่า ภูฐาน ประเทศที่สวยงามแห่งเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา ขนาบด้วยจีน อินเดีย และเนปาล เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกว่า "Land of the Thunder Dragon" มีสัญลักษณ์เป็นรูปมังกรพ่นไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภูฐานมิใช่เป็นประเทศเล็กๆ แต่มีความยิ่งใหญ่ที่น่ายำเกรงอยู่ในขุนเขาหิมาลัยมิใช่น้อย บางส่วนของโลกรู้จักภูฐานว่าเป็น "valley of the medicinal herbs" แปลตรงตัวก็จะได้ความว่า หุบเขาแห่งสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภูฐานเป็นแหล่งที่มีธรรมชาติสมบูรณ์หลากหลายหาได้ยากในโลก ตรงกับข้อมูลที่ภูฐานมีพื้นที่ป่าไม้อยู่เกือบถึง 70% เว็บไซต์บางแห่งถึงกับยกย่อง ภูฐานว่าเป็น one of the world's ecological wonders หรือสิ่งมหัศจรรย์ทางระบบนิเวศแห่งหนึ่งของโลก
ความเหมือนและแตกต่างกับประเทศไทย
จุดที่ทำให้ภูฐานเป็นที่สนใจของคนไทยส่วนมากคือ การนับถือพุทธศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวดเหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณ จึงมีส่วนคล้ายกันมาก นอกจากนั้นทั้งภูฐานและไทยยังมีความเป็นเอกราชเสมอมา มีอธิปไตยที่ไม่เคยขึ้นกับมหาอำนาจตะวันตกใดๆ เช่นกัน แต่ในความเหมือนก็มีความแตกต่าง พุทธศาสนาของไทยเป็น แบบมหายานหรือเถรวาท ส่วนของภูฐานเป็นแบบวชิรญาณด้วยอิทธิพลที่ได้รับมาจากทิเบต ความเชื่อที่ผิดกันเล็กน้อยทำให้ วัฒนธรรมและศิลปกรรมแตกต่างกัน แต่พุทธศาสนาของทั้งสองนิกายก็หล่อหลอมให้คนไทยและคนภูฐานมีความอ่อนโยน มีเมตตา มีน้ำใจ รักสงบ และเชื่อในบาปบุญคุณโทษเช่นเดียวกัน
ความแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่สภาพภูมิประเทศ เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มติดทะเล ส่วนภูฐานอยู่บนที่สูงแวดล้อมด้วยภูเขา ปัจจัยทางกายภาพนี้ทำให้ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันต่างกัน ประชากรภูฐานมีร่างกายแข็งแรง อดทน ต่อสู้กับงานหนัก คนไทยมีความเป็นอยู่อย่างสบายๆ ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ แม้จะแตกต่างกันด้วยความเป็นอยู่ตามลักษณะภูมิประเทศ แต่ประชากรส่วนใหญ่ ก็เป็นเกษตรกรเช่นเดียวกัน จึงมีชีวิตอยู่กับ ธรรมชาติ พึ่งพาดิน น้ำ ลม ฝน เช่นกัน วัฒนธรรมและพิธีกรรมหลายอย่างจึงเป็นเรื่องของการขอลมขอฝนคล้ายกัน
ในด้านเศรษฐกิจ มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในขณะที่ไทยกำลังก้าวขึ้นมาเป็น capitalism มากขึ้น ภูฐานก็พยายามปลีกตัวออกจากการพัฒนาทางวัตถุนิยมและการลงทุนในอภิมหาโปรเจ็กต์ โดยพยายามเปิดสู่โลกภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในรูปแบบที่ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน สินค้าออกที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์จากไม้ สมุนไพร หินอ่อน ยิปซัม การขายไฟฟ้าจากพลังน้ำ แม้จะมีมูลค่าไม่สูงนักแต่ภูฐาน ก็ไม่สนใจ เพราะไม่ได้ยึดถือ GDP แต่ยึดหลักให้ประชากร 1.2 ล้านคนอยู่ดีกินดี
การพัฒนาที่ยั่งยืน
พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่แล้วของภูฐานทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทันโลก และเป็นประชาธิปไตย แต่พระองค์มิได้เดินตามก้นของประเทศตะวันตกอย่างหลับหูหลับตา ท่านทรงมีพระราชวินิจฉัยศึกษาแบบอย่างประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ อย่างรอบคอบ รวมทั้งประเทศไทย ทรงเข้าใจถึงจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศ จึงได้ทรงวางรากฐานการปกครองการพัฒนาประเทศได้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของภูฐาน และทรงกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเมื่อปี 2005 พระองค์ก็ทรงสละราชบัลลังก์ให้คนหนุ่มอย่างเจ้าชายจิกมีขึ้นมา พร้อมกับเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง โดยพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการ สร้างกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและภาพพจน์ใหม่ๆ ให้ประชาชนตระหนัก โดยได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ ด้วยการเน้นถึงความสุขมวลรวมของประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) แทนที่จะเป็น GDP ด้วยทรงเล็งเห็นว่า GNH จะนำไปสู่ความยั่งยืนและมั่นคงกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนและการส่งออกแบบ capitalism
การพัฒนาที่เน้นตัวชี้วัดเป็น GNH มีหลักการที่เน้นการอนุรักษทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการมีสุขภาพ อนามัยดีถ้วนหน้าของประชากร และเน้นการรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาติ ทรงประกาศว่า จะต้องไม่มีผู้ใดอดตายในภูฐาน และน่าภูมิใจที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงของเราได้รับความชื่นชมและยึดถือเป็นแบบอย่างในภูฐาน นับเป็นสิ่งสำคัญที่นำคนไทยและคนภูฐานเข้ามาใกล้ชิดกัน
ประชาธิปไตย vs ราชาธิปไตย
โชคดีที่ตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมา ทั้งภูฐานและไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมเห็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลักเสมอมา มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่า ในหลวงรัชกาลที่เจ็ดทรงเตรียมการเปลี่ยนผ่านประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี 2475 น่าเสียดายที่การเตรียมการวางรากฐานประชาธิปไตยยังมิทันจะสุกได้ที่ดี ก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน ประชาธิปไตยของไทยจึงล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หากเราน่าจะพึงสังวรไว้ว่า ในหลวง รัชกาลที่เจ็ดได้ทรงย้ำไว้ว่า การสละราชบัลลังก์และการมอบอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทยของพระองค์ท่านตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า อำนาจอธิปไตยที่ทรงมอบให้จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะของกลุ่ม บุคคลใดหรือคณะใดไม่ได้
ในขณะที่ไทยมีประชาธิปไตยมาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว ส่วนภูฐานเพิ่งจะได้รับเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปครบถ้วนกระบวนการ มีการวางแผนอย่างดี ทั้งในระบบการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนจากนี้ไปเราก็คงจะต้องเฝ้าความก้าวหน้าและความสำเร็จของภูฐาน ที่จะนำประชา ธิปไตยบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่สังคมโลกได้อย่างไร นักวิจารณ์ได้ให้มุมมองไว้ว่า ความสำเร็จของภูฐานขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจและวิธีการในการมีส่วนร่วมของประชาชนหลังจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีคุณภาพ ซึ่งยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและประโยชน์ส่วนรวมมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ประเทศไทยแม้จะเป็นพี่ เพราะมีประชาธิปไตยเกิดมาก่อนเจ็ดสิบปี ก็ไม่น่าจะรู้สึกเสียหน้า ถ้าจะเรียนรู้จากภูฐานว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นมิได้จะมาจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องคอยควบคุมรัฐบาลให้ซื่อสัตย์และบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยรวม
สิ่งแวดล้อม
ไม่มีแห่งใดในโลกที่จะเป็นสวรรค์บนดินไปได้ เพราะสรรพสิ่งในโลกเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แม้ภูฐานจะมีภูมิประเทศ ที่สวยงาม มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็ยังหนีไม่พ้นที่จะต้องผจญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่อง จากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูฐานเป็นภูเขาภูฐานจึงมีพื้นที่ทำการเกษตรได้เพียง 13% เท่านั้น การเพาะปลูกทำได้ลำบาก ต้องทำ ในที่ลาดชันซึ่งมีดินร่วนหยาบไม่สมบูรณ์ ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมาก มีการตัดภูเขาทำเป็นที่เพาะปลูก จึงก่อให้เกิดการชะล้างพังทลาย ของดินจากที่ลาดชันไปสะสมเป็นตะกอนดินอยู่ในแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ยิ่งกว่านั้นยังมีมลพิษจากปุ๋ยเคมีปนเปื้อนมากับน้ำฝนและดินที่ถูกชะล้าง ก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำแถมมาด้วย ปัญหาดินและน้ำจากการเกษตรยังมีผลพวงต่อเนื่องไปถึงการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดในการ อุปโภคบริโภคของประชากร
อย่างไรก็ตาม สภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ ก็เอื้อประโยชน์ให้กับประเทศ ด้วยการเป็น จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ภูฐานมิได้ ถือเอาข้อได้เปรียบนี้สร้างรายได้ให้มากที่สุดด้วยการขยายรีสอร์ต สร้างสถานบันเทิงเริงรมย์ให้อลังการ แต่กลับจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปีมิให้มีจำนวน มากเกินไป และยังมีกฎหมายควบคุมให้นักท่องเที่ยวรักษาความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม และเคารพในประเพณีอีกด้วย ภูฐานเลือกที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืน อนุรักษ์ขนบธรรม เนียมของท้องถิ่นให้คงอยู่
สภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ยังให้ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งแก่ภูฐาน คือ "carbon credit trading" หรือการขายเครดิตจากการมีป่าไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ ตามข้อตกลงของ Kyoto Protocol ซึ่งอนุญาตให้ประเทศพัฒนาที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมาก จ่ายเงินค่าดูดซับก๊าซให้แก่ประเทศที่มีป่าไม้สีเขียวและใช้พลังงานน้อย การขายเครดิตนี้น่าจะทำให้ภูฐานได้เงินมา พัฒนาประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะ ประเทศร่ำรวยหลายประเทศปฏิเสธที่จะลดการใช้เชื้อเพลิง ด้วยจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยลง
ผลพลอยได้จากสิ่งแวดล้อมที่ดีคือ ประชากรมีสุขภาพดีถ้วนหน้า จน WHO (World Health Organization) ยกย่องให้เป็นประเทศที่มีสุขอนามัยดีที่สุดในเอเชียใต้ ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ประชากรอยู่ดีมีสุข อย่างแรกก็น่าจะเป็นเพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามมาด้วยการมีทรัพยากรสมุนไพร อากาศบริสุทธิ์ที่หนาวและแห้ง (มีเชื้อโรคน้อย) และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มากนัก ตราบใดที่ประเทศภูฐานสามารถยึดแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยวิถีประชาธิปไตยที่เพิ่งได้รับมา ก็จะทำให้ภูฐานมีสภาพที่ไม่ต่างไปจาก "สวรรค์บนดิน" เลยทีเดียว
|
|
|
|
|