|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2551
|
|
3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของพีดีเอโฟนและสมาร์ทโฟนเริ่มน่าสนใจมากขึ้น จากยอดขายที่อยู่หลักพันต่อปีสู่หลักหมื่นในปีที่สอง และหลักแสนปีที่ 3 เป็นการเติบโตก้าวกระโดดถึง 3 พันเปอร์เซ็นต์ ในปีนี้คาดหมายจะมียอดขายรวม 350,000 เครื่อง
ตลาดพีดีเอหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (Personal Digital Assistant: PDA) เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่คุณสมบัติของพีดีเอโฟนเริ่มสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะรองรับการทำงานเมื่ออยู่นอกสำนักงาน อาทิ ติดต่องานผ่านอีเมล จัดทำเอกสารโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ บริการซื้อขายสินค้าและระบบได้มีการพัฒนาการใช้งานง่ายมากขึ้นด้วยหน้าจอที่ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นระบบสัมผัส
บริการอีเมลบนพีดีเอโฟน เป็นบริการที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโดยเฉลี่ยมีการใช้บริการ 35 ชั่วโมงต่อเดือนต่อเครื่อง
ระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบัน เอไอเอส ดีแทค และทรู มีส่วนช่วยสนับสนุนให้พีดีเอโฟนใช้งานง่าย ล่าสุดทั้ง 3 ค่ายมีแผนนำระบบ 3G ที่รองรับบริการภาพ เสียง ข้อมูล ด้วย ความเร็วสูงมาให้บริการ ทำให้พีดีเอโฟนสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นไม่ติดขัดเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ตลาดพีดีเอโฟนยังเป็นตลาดใหม่ของไทยที่เพิ่งเริ่มต้น จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตและจำหน่ายหลายๆ รายเริ่มเข้ามา แข่งขันกันอย่างจริงจังมากขึ้น อาทิ อัสซุส เอชพี ปาล์ม เอชทีซี โมโตโรล่า แอลจี โซนี่ หรือแม้แต่กบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำพีดีเอโฟนยี่ห้อ sense จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย
พีดีเอโฟนที่ครองส่วนแบ่งการตลาด มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นอันดับหนึ่งในตลาดไทยปัจจุบันคือยี่ห้อเอชทีซี (htc) จากไต้หวัน ที่เริ่มทำตลาดเป็นครั้งแรกในไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา
บริษัท เอชทีซี คอร์ปอเรชั่น จากไต้หวัน บริษัทแม่ของบริษัท เอชทีซี ไทยแลนด์ จำกัด ก่อตั้งปี 2540 เป็นผู้พัฒนา รับจ้างผลิตพีดีเอโฟนและสมาร์ทโฟนให้กับ บริษัทธุรกิจสื่อสารที่ผลิตในรูปแบบโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer: OEM) อาทิ ดูพอด โวดาโฟน ออเรนซ์ สปรินท์ เวอร์ริซอน และเอ็นทีที โดโคโม
เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา บริษัทได้หยุด ผลิตโออีเอ็ม เพราะมองเห็นโอกาสมหาศาล ของตลาดที่อยู่เบื้องหน้า บริษัทจึงเริ่มผลิต ภายใต้ยี่ห้อเอชทีซีของตัวเองจำหน่ายไปทั่วโลก ยุโรป อเมริกา และเอเชีย
ในอดีตบริษัทได้ผลิตยี่ห้อดูพอด โดยมีบริษัท เอชทีซี คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ถือ หุ้นใหญ่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีเป้าหมาย จำหน่ายใน 41 ประเทศ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในที่สุดดูพอดก็หยุดการผลิตไปแล้วเช่นเดียวกัน จะเหลือจำหน่ายอยู่ในประเทศจีนเพียงประเทศเดียวเพราะติดเงื่อนไขธุรกิจ
บริษัท เอชทีซีได้ใช้เงินจำนวน 1,500 ล้านบาทในการควบรวมกิจการกับดูพอดและรีแบรนด์พร้อมกับเปิดตัวพีดีเอโฟน ยี่ห้อเอชทีซี รุ่นเอชทีซี ทัช เป็นครั้งแรกพร้อมกันทั่วโลกเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเริ่มจำหน่ายยี่ห้อเอชทีซีเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ดูพอดเข้ามาทำตลาดใน ประเทศไทยเมื่อปี 2548 ภายใต้ชื่อบริษัท ดูพอด อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ในตอนนั้นดูพอดทำตลาดค่อนข้างโดดเด่น ในขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ เริ่มถอยออกจากตลาด ไปบางส่วนเพราะมีปัญหาการให้บริการหลังการขาย
เมื่อบริษัทมีการควบรวมกิจการและรีแบรนด์ใหม่ทำให้ดูพอดต้องหยุดทำตลาดและนำเอชทีซีเข้ามาแทน ทว่าการบริหารงานยังเป็นทีมงานเดิม แต่เปลี่ยนให้ บริษัท เอชทีซี ไทยแลนด์ จำกัด รับหน้าที่ ดูแลต่อไป
ดูพอดจึงเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย เพียงระยะเวลาสั้นๆ 4 ปีกว่าเท่านั้น
ณัฐวัชร์ วรนพกุล เป็นหนึ่งในทีมงานของดูพอดที่เข้ามาร่วมงานเมื่อปี 2549 และเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเขานั่งอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอชทีซี ไทยแลนด์ จำกัด พร้อมกับทีมงาน อีก 3 คน ผู้จัดการฝ่ายช่องทางจำหน่าย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการบริการ
ณัฐวัชร์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบแผน ธุรกิจ วางแผนกลยุทธ์การขายและการตลาด สร้างแบรนด์พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย สร้างพันธมิตรธุรกิจ
แม้ว่าจะมีทีมงานเพียง 4 คน แต่บริษัท เอชทีซีไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจจากศูนย์ เพราะธุรกิจได้โอนย้ายมาจากบริษัทดูพอดที่เข้ามาทำตลาดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา และเป็นการสานต่อธุรกิจเดิมให้ได้รับการยอมรับในตลาดกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงปรับภาพลักษณ์ให้รู้ว่าเจ้าของยี่ห้อเอชทีซีเข้ามาทำตลาดเอง
การโอนย้ายธุรกิจบริษัทยังเป็นผู้ดูแลเครื่องพีดีเอดูพอดที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน เมื่อผสมผสานกับยอดขายของเอชทีซีที่เข้ามาทำตลาดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จึงทำให้บริษัทมียอดจำหน่ายเป็นอันดับ หนึ่งอยู่ในปัจจุบัน
การสร้างแบรนด์เอชทีซีในตลาดไทยต้องเริ่มต้นใหม่ถึงแม้ว่าเอชทีซีจะมีชื่อเสียงอยู่ในตลาดอเมริกาหรือยุโรปมาแล้วก็ตาม แต่ในเมืองไทยยังเป็นตลาดใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้ว่าเอชทีซีจะพยายามย้ำอยู่เสมอว่าเป็นแบรนด์ที่ผลิตและมีอินโนเวชั่นเป็นของตัวเองก็ตาม
วิธีการสร้างแบรนด์ในไทยบริษัทได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกแนะนำสินค้า ช่วงที่สองแนะนำแบรนด์
ในระยะแรกปี 2550-2551 เน้นการสร้างแบรนด์จะเลือกใช้สินค้านำ เพื่อต้องการให้ลูกค้าสัมผัสทดลองสินค้าด้วยตัวเอง เกิดการจดจำ บริษัทจะแนะนำสินค้าจากการเปิดตัวรุ่นของสินค้า อาทิ รุ่นทัช และรุ่นทัช ไดมอน มากกว่าที่จะแนะนำยี่ห้อเอชทีซี ยุทธวิธีดังกล่าวบริษัทใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวพีดีเอโฟนไปแล้ว 12-13 รุ่น
การแนะนำสินค้าจะทำไปพร้อมกับการร่วมกิจกรรมกับพันธมิตร จัดงานนิทรรศการในห้างสรรพสินค้าหรือในมหาวิทยาลัยรวมทั้งออกบูธในต่างจังหวัด และใช้งบโฆษณาผ่านสื่อรถไฟฟ้าหรือตามโรงภาพยนตร์
ในช่วงที่ 2 เริ่มต้นปี 2552 จะใช้แบรนด์เอชทีซีเป็นตัวนำ เพื่อให้เห็นภาพสินค้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์เอชทีซีทั้งหมด
เหตุผลที่บริษัทเลือกแนะนำสินค้าก่อนมากกว่าแนะนำแบรนด์เป็นเพราะว่า ณัฐวัชร์มีประสบการณ์ทำตลาดโทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่งมาก่อน
ค่ายโทรศัพท์มือถือที่เขาได้ร่วมงาน ในอดีต เลือกใช้วิธีแนะนำแบรนด์เป็นอันดับแรก และไม่ประสบความสำเร็จเพราะลูกค้าไม่สามารถจดจำแบรนด์และมีคำถามตลอดเวลาเกี่ยวกับธุรกิจที่ให้บริการอยู่ ลูกค้าบางคนคิดว่าขายสีหรือบางคนคิดว่าขายเบเกอรี่
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ ณัฐวัชร์เรียนรู้ว่าการทำตลาดไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัว แต่ต้องเรียนรู้ตลาด รู้จังหวะและโอกาส
เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าตอนนี้บริษัทเดินมาถูกทางที่ใช้สินค้านำ เพราะในช่วงแรกลูกค้าเรียกว่า ทัช ปัจจุบันเริ่มเรียก เอชทีซี ทัช หรือทัช ไดมอน
กลุ่มเป้าหมายของบริษัทแบ่งออก เป็น 3 กลุ่มแยกตามราคาของสินค้า กลุ่ม แรก เครื่องราคาไม่เกิน 13,000 บาท ผู้ใช้ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มที่สอง ราคาไม่เกิน 20,000 บาท กลุ่มคนทำงาน กลุ่มที่สาม ราคาเกิน 20,000 บาทขึ้นไป กลุ่มผู้บริหาร
การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ
ด้านตัวแทนจำหน่าย 200 รายทั่วประเทศโดยเฉพาะฝ่ายขายบริษัทมองว่ากลุ่มนี้เป็นหน้าด่านที่พบปะกับลูกค้าโดยตรง ฉะนั้นความเข้าใจในบริษัทเอชทีซีและสินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสื่อสารให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า โดยเฉพาะบริการหลังการขายเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าจงรักภักดีต่อสินค้า ดังนั้นบริษัทจึงได้จัดอบรมวิธีใช้พีดีเอโฟนทุกเดือน
รวมไปถึงการผุดขึ้นของศูนย์บริการ หรือร้านเอชทีซี แคร์ เมื่อปลายธันวาคมที่ผ่านมา ณ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวเวอร์ จึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลลูกค้าโดยตรง ขายสินค้า ให้ความรู้ และเป็นศูนย์ซ่อม
ร้านค้าเอชทีซี แคร์มีเพียง 1 แห่งในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของเอชทีซีทั่วโลก
แม้ว่าบริษัทจะมีตัวแทนจำหน่ายถึง 200 รายก็ตาม แต่บริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาเปิดโลกทัศน์การทำธุรกิจ สินค้าเทคโนโลยีให้กว้างมากขึ้น เหมือนเช่น ที่บริษัทเอชทีซีได้เลือกบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจไอทีมากกว่า 30 ปี ที่ร่วมเป็นพันธมิตรที่มากกว่าคำว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายเพราะเอสไอเอส มีหน้าที่จัดส่งสินค้าภายในประเทศให้กับบริษัทดูแลเครดิตสินค้าและเครดิตลูกค้า
นอกเหนือการบริหารความสัมพันธ์ตัวแทนจำหน่าย การบริหารความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ ดีแทค เอไอเอส และทรู เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะเอชทีซีที่นำเข้ามาแต่ละรุ่นเทคโนโลยี จะต้องรองรับการทำงานระบบเครือข่ายโทรศัพท์ของผู้ให้บริการได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 3G ที่ค่ายเหล่านี้อยู่ระหว่างการทดสอบ
แม้แต่การรองรับแพลทฟอร์มวินโดวส์ โมบายส์ของไมโครซอฟท์ที่รองรับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างเช่น บริการพุชเมล (push mail) ซึ่งพีดีเอโฟนต้องทำงานร่วมกับระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการมือถือในปัจจุบัน
นอกจากความร่วมมือกับบริษัทเอกชน แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็เป็นอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอ
เหมือนเช่นที่ผ่านมาบริษัทเอชทีซี ได้จัดสัมมนาวินโดวส์ โมบาย ร่วมกับสำนักงานวิจัย กทช. เอไอเอส ดีแทคให้กับ ลูกค้าบริษัทประมาณ 300 ราย ซึ่งบริษัทมี เป้าหมายจัดงานสัมมนาประจำปีละ 1 ครั้ง
ความได้เปรียบของบริษัท เอชทีซี คอร์ปอเรชั่น คือเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี นอกเหนือจากการเป็นผู้จำหน่ายเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการมีพันธมิตรอย่าง ค่ายไมโครซอฟท์ร่วมพัฒนาผลิตวินโดวส์ โมบายส์ มากว่า 10 ปี มีทีมงานของเอชทีซี 300 คน ประจำอยู่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในบริเวณเดียวกับสำนักงานของไมโครซอฟท์ แสดงให้เห็นเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยี ของพีดีเอโฟนที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงความร่วมมือกับกูเกิ้ล โมโตโรล่า เอชทีซี พัฒนาแพลทฟอร์ม แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งกูเกิ้ลต้องการขยายการใช้งานของลูกค้าที่ใช้อยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้สามารถใช้บนโทรศัพท์มือถือได้เช่นเดียวกัน ทำให้กูเกิ้ลต้องการผลิตระบบปฏิบัติการของตัวเองเพื่อรองรับการใช้งาน แต่แพลทฟอร์มแอนดรอยด์ยังมีข้อจำกัดการใช้งานจึงยังไม่สามารถนำออกสูตลาดได้ในปัจจุบัน
แม้ว่าตลาดพีดีเอโฟนจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถที่จะเข้ามาทดแทนตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยเพราะช่องว่างของราคาที่แตกต่างกันกว่าหนึ่งหมื่นบาท ทำให้ยอดขายของพีดีเอ โฟนรวมมีเพียง 2-3% เมื่อเทียบกับยอดขาย โทรศัพท์มือถือ 8-9 ล้านเครื่องต่อปี
แต่ตลาดพีดีเอโฟนได้พยายามบ่งชี้ให้เป็นทางเลือกที่เหนือกว่าโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะเครื่องที่มีราคาเท่าเทียมกัน ความคุ้มค่าของเงินและคุณสมบัติการใช้งาน ที่เหนือกว่ามากกว่าการใช้โทรศัพท์เพื่อโทรเข้า หรือโทรออกเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลที่มากกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือจัดเก็บรายชื่อได้ 200 ชื่อ แต่พีดีโอโฟนจัดเก็บรายชื่อได้ 5,000 ชื่อ และติดต่อสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ต
ยุทธศาสตร์การทำตลาดของบริษัท เอชทีซี ในช่วง 2-3 ปีนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่คุ้นเคยให้มากที่สุด เพราะบริษัทเชื่อว่าการลงมือทำก่อนบริษัทคู่แข่งในตลาดย่อมสร้างความได้เปรียบ โดยเฉพาะการรักษาความเป็นที่หนึ่งเป็นสิ่งจำเป็น
เอชทีซีรู้ดีว่าแม้บริษัทแม่จะมีความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตที่มีโรงงานและมีอินโนเวชั่น แต่คู่แข่งที่มีชื่อเสียงและมีช่องทางการจำหน่ายที่เหนือกว่ายังมีอีกหลายรายที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะการเล่น "สงครามราคา" ยังเป็นไม้เด็ดที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
ต้องลุ้นว่า บริษัทเอชทีซีจะครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดไว้ได้นานแค่ไหน
|
|
|
|
|